คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 448

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 769 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14086/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งหลังมีคำพิพากษาคดีอาญาหมิ่นประมาท และการกำหนดค่าเสียหายที่เหมาะสม
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก่อนที่จะได้ยื่นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นการฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอันสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดที่มีโทษตาม ป.อ. ดังกล่าว อายุความในการฟ้องคดีนี้จึงอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ที่ว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ ดังนั้นคดีนี้จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม
เมื่อคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยถึงที่สุดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2549 และโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 13 ตุลาคม 2549 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คดีนี้จำเลยรับข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการมีอยู่ของคำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำรับของจำเลยแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าอ้างเอกสารเป็นพยานตาม ตาราง 2 ท้าย ป.วิ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะฟ้องคดีนี้อีก
ผลของคดีอาญาทำให้โจทก์ได้รับการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงในระดับหนึ่งแล้ว คดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบเลยว่าความเสียหายของโจทก์จากการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายต่อชื่อเสียงมีเพียงใด และเมื่อคำนึงสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่เกิดเหตุกับฐานะของโจทก์และจำเลยที่เป็นมูลเหตุให้มีการกล่าวหมิ่นประมาทแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้เพียง 30,000 บาท
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ฟังได้ว่ามีความเสียหายแก่ชื่อเสียงเพียงใดนั้น เห็นว่า การนำสืบฟังได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับเรื่องที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดดอกเบี้ยให้นับแต่วันทำละเมิดซึ่งเกินคำขอ เป็นการไม่ชอบ ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13956/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิดจากการยึดทรัพย์โดยมิชอบ โจทก์ต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่รู้ถึงการละเมิด
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลล่างทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดบ้านโจทก์ที่ 2 ทั้งที่โจทก์ที่ 2 มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จำเลยที่ 1 นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศยึดทรัพย์โจทก์ที่ 2 วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 โดยประกาศดังกล่าวระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีที่ขอให้ยึดทรัพย์ไว้โดยชัดแจ้ง โจทก์ที่ 2 จึงควรรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2547 แล้ว โจทก์ที่ 2 มาฟ้องคดีนี้วันที่ 10 มกราคม 2550 จึงเกินกำหนด 1 ปี คดีโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ การที่โจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขัดทรัพย์และศาลมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ไม่เป็นเหตุให้อายุความละเมิดสะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9972/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด: เริ่มนับเมื่อใด? ศาลตัดสินว่าเริ่มนับจากวันพิพากษาคดีก่อน แม้โจทก์ไม่เคยอุทธรณ์
เมื่อศาลคดีก่อนพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาดังกล่าวผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมทราบนับแต่วันที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาแล้วว่า ลายมือชื่อของผู้ทำสัญญาขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อ ป. ผู้ขอใช้บริการ โจทก์ย่อมรู้ว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นและรู้ว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับคำขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวน่าจะต้องรับผิดชอบ เป็นกรณีที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วจึงไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในคดีดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8467/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากการรอนสิทธิที่ดิน: อายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ความรับผิดของจำเลยเกิดจากที่ดินที่จำเลยขายให้แก่โจทก์ถูกรอนสิทธิ หาใช่เพราะจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ อันจะอ้างอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 มาปรับใช้หาได้ไม่ ซึ่งอายุความในเรื่องการรอนสิทธิมีบัญญัติไว้ในมาตรา 481 เฉพาะกรณีที่ผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้อง เมื่อที่ดินถูกเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงไม่เข้าบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มีกำหนดสิบปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6544/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด & การประเมินราคาที่ดิน: การพิสูจน์ความเสียหายและที่ดินติดถนน
บันทึกที่ อ. เจ้าหน้าที่ของโจทก์รายงานเกี่ยวกับการประเมินราคาที่ดินโดยมิได้ระบุว่าผู้ใดต้องรับผิดในทางละเมิด และบุคคลที่ปรากฎชื่อในบันทึกรายงานดังกล่าวก็เป็นเพียงผู้อยู่ในข่ายที่จะต้องถูกตักเตือนให้ปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัดมิใช่ผู้ที่จะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อโจทก์ แม้อธิบดีผู้แทนของโจทก์จะทราบรายงานดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2539 ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอันจะทำให้ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันดังกล่าว
ซอยทองหล่อ 12 เป็นทางส่วนบุคคลซึ่งตั้งบนที่ดินโฉนดเลขที่ 122317 และไม่ปรากฏว่า เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 122316 มีสิทธิผ่านซอยทองหล่อ 12 ออกสู่ทางสาธารณะได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ย่อมถือไม่ได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 122316 อยู่ติดถนนซอยทองหล่อ 12 เพราะคำว่าที่ดินติดถนนซอยนั้นย่อมต้องหมายถึงที่ดินที่เจ้าของสามารถใช้ประโยชน์จากถนนซอยได้โดยชอบซึ่งจะมีผลทำให้ที่ดินมีมูลค่าในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8719/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อเติมอาคารชุดโดยไม่ได้รับอนุญาตและขัดต่อข้อบังคับอาคารชุด ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ
แม้โจทก์จะฟ้องตั้งเรื่องเป็นละเมิด แต่ตามทางบรรยายฟ้องเป็นกรณีโจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดและ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ดังนี้ไม่ใช่ฟ้องเรื่องละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 หากแต่เป็นการฟ้องโดยอาศัยข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดและพ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองประโยชน์และความปลอดภัยของการอยู่ร่วมกันในอาคารชุดเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอนส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมโดยฝ่าฝืนข้อบังคับและบทกฎหมายดังกล่าวได้เสมอตราบเท่าที่การก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารของจำเลยยังคงอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6112/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อการกระทำของตัวแทน และอายุความฟ้องละเมิด
เอกสารที่จำเลยที่ 3 ใช้ติดต่อกับโจทก์เป็นเอกสารที่ติดต่อกันในนามของจำเลยที่ 1 แม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า โจทก์ได้เข้าทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ดำเนินคดีให้โจทก์หรือโจทก์ได้เข้าตกลงทำสัญญากับผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เป็นทนายความประจำบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้สถานที่ของจำเลยที่ 1 เป็นที่ทำการของจำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้เอกสารติดต่อกับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 รวมตลอดถึงการที่จำเลยที่ 1 ยอมให้จำเลยที่ 3 ใช้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำงานฟ้องคดี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้ว ยอมให้จำเลยที่ 3 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสมือนว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 เมื่อจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อดำเนินการให้ ว. ฟ้องคดีให้โจทก์ล่าช้าจนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีของโจทก์เพราะเหตุขาดอายุความ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 เพราะเหตุละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 การอ่านคำพิพากษาในคดีแพ่ง ถ้าคู่ความทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลตามกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 140 (3) ศาลจะงดการอ่านคำพิพากษาก็ได้ โดยให้ศาลจดแจ้งไว้ในรายงานและให้ถือว่าคำพิพากษานั้นได้อ่านตามกฎหมายแล้ว กรณีดังกล่าวเป็นการกำหนดขั้นตอนตามกฎหมายให้กระบวนพิจารณาในคดีแพ่งสามารถดำเนินการต่อไปได้จนเสร็จสิ้นแม้กฎหมายให้ถือว่าได้มีการอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังแล้วโดยชอบตั้งแต่วันนัดฟังคำพิพากษาก็ตาม แต่คดีได้ความว่าโจทก์นำเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีที่ยืนฟ้อง ส. ไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนวันที่คดีดังกล่าวจะขาดอายุความ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้รายงานผลการดำเนินงานให้โจทก์ทราบเพียงครั้งเดียว และไม่ได้แจ้งวันที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงไม่ได้ไปฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามกำหนดนัด ดังนั้น โจทก์จึงยังไม่ทราบว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความด้วยเหตุใด และผู้ใดเป็นผู้กระทำให้คดีดังกล่าวขาดอายุความ จนกระทั่งวันที่ 27 กันยายน 2544 จำเลยที่ 3 ได้ทำบันทึกรับสภาพความรับผิดให้แก่โจทก์โดยยอมรับความผิดพลาดในการดำเนินคดีดังกล่าวว่าเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงเพิ่งทราบถึงการกระทำละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมในวันดังกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2545 จึงยังไม่พ้น 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการสหกรณ์อนุมัติซื้อรถเกินงบประมาณ ทำให้สหกรณ์เสียหาย แม้สัตยาบันภายหลังก็ยังต้องรับผิด
ในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 เป็นคณะกรรมการ ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2540 ของโจทก์มีมติอนุมัติให้ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์สองคัน ในวงเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด 1 คัน ราคา 291,970 บาท และยี่ห้อเบนซ์ 1 คัน ราคา 1,750,000 บาท เกินกว่าวงเงินตามมติของโจทก์ดังกล่าวถึง 541,970 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ และทำให้โจทก์เสียหาย เพราะโจทก์จะต้องจ่ายเงินซื้อรถยนต์ในราคาที่สูงเกินไป แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปใช้อย่างอื่นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์เป็นการไม่ประหยัดไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสิบสี่อ้างว่าโจทก์ให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำดังกล่าวแล้ว ทั้งโจทก์ยังขายรถยนต์ทั้งสองคัน โดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นนับแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์จะขายรถยนต์ทั้งสองคันโดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนก็ไม่อาจทำให้ความเสียหายของโจทก์กลับเป็นไม่มีความเสียหายอีกได้ และการให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อผู้ขายรถยนต์ทั้งสองคัน ผู้สุจริตจากการกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 ถึง 823 เท่านั้นโดยมิได้ทำให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นความรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของตนต่อโจทก์
เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่อนุมัติให้ซื้อรถยนต์ทั้งสองคัน จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราว จำเลยทั้งสิบสี่ยังมีฐานะเป็นกรรมการดำเนินการของโจทก์อยู่ จึงยังถือไม่ได้ว่าก่อนหน้าวันที่ 20 ธันวาคม 2543 โจทก์ทราบเหตุการณ์กระทำละเมิดของจำเลยทั้งสิบสี่ แต่ถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและตั้งกรรมการดำเนินการโจทก์ชั่วคราว เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 28 สิงหาคม 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15907/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีละเมิดจากสัญญาจ้างแรงงาน และการสะดุดหยุดของอายุความจากการรับสภาพหนี้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์และรถยนต์ของบุคคลภายนอกเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดกับรถยนต์โดยสารของโจทก์ จึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย มิใช่นับจากวันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้ซ่อมรถยนต์โดยสารดังกล่าว เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายถึงวันฟ้องเกินสิบปีแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์จึงขาดอายุความ
สำหรับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดแก่บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชำระค่าเสียหายดังกล่าวคืนอันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ก็ตาม แต่เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันถัดจากวันรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องก็พ้นกำหนดสิบปีแล้ว และแม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เมื่อโจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน โจทก์ย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อย่างช้าที่สุดคือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน อายุความสะดุดหยุดลงอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายก็คือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน เมื่อนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องก็เกินสิบปีแล้วเช่นกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13113/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารต้องรับผิดชำระเงินค่าเวนคืนที่ผิดพลาด หากจ่ายเงินเข้าบัญชีที่ไม่ตรงกับชื่อผู้รับเงินในเช็ค
ที่ดินของโจทก์ที่ 1 และ ก. ถูกเวนคืนทางกรุงเทพมหานครจ่ายเงินค่าเวนคืนโดยจ่ายเช็คธนาคาร ก. ให้แก่โจทก์ที่ 1 และ ก. เช็คระบุผู้รับเงินไว้คือโจทก์ที่ 1 กับ ก. และขีดฆ่าคำว่าหรือผู้ถือออก ธนาคารต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่สั่งจ่ายระบุชื่อ แม้ระหว่างชื่อของบุคคลทั้งสองมีเพียงเครื่องหมาย " , " คั่นไว้ก็ตาม ก็มีความหมายว่าธนาคารต้องจ่ายเงินให้แก่บุคคลทั้งสองมิใช่หมายถึงจ่ายเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงคนเดียว อีกทั้งเช็คมีการขีดคร่อมระบุคำว่า "A/C PAYEE ONLY" ธนาคารต้องจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้รับเงินซึ่งมีชื่อในเช็คเท่านั้น การที่ธนาคารจำเลยที่ 1 นำเงินที่เรียกเก็บตามเช็คเข้าบัญชีของโจทก์ที่ 1 หรือ ม. ย่อมเป็นความเข้าใจของธนาคารจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียวว่าสามารถกระทำได้ ทั้งๆ ที่บัญชีมีชื่อไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเช็ค อีกทั้งธนาคารจำเลยที่ 1 ยอมให้ ม. ผู้ไม่มีสิทธิรับเงินตามเช็คเบิกถอนเงินออกไปเพียงผู้เดียว ธนาคารจำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามการค้าปรกติของธนาคารย่อมไม่เป็นการกระทำที่สุจริตหรือปราศจากความประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ธนาคารจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของ ก. ฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2
แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กล่าวในคำฟ้องว่าด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 มีมูลหนี้จากการละเมิด อันจะต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายภายในอายุความ 1 ปีก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องทั้งหมดแล้วเห็นว่า เป็นการที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1000 เพื่อยกเว้นความรับผิดตามมูลหนี้ตั๋วเงิน มีอายุความ 10 ปี จะนำอายุความเรื่องละเมิด 1 ปี มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ขาดอายุความ
of 77