คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ข้อ 10

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4217/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าจ้างและค่าครองชีพของลูกจ้างรายวันหยุดงาน-วันหยุดตามประเพณี-การจ่ายเบี้ยขยัน-สิทธิการพักผ่อนประจำปี
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กำหนดว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าครองชีพเป็นเงินจำนวนหนึ่งต่อเดือนนั้น มิได้หมายความว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าครองชีพตามกำหนดเต็มจำนวน ถึงแม้ลูกจ้างมิได้ทำงานให้แก่นายจ้างก็ตาม
โจทก์สามร้อยแปดสิบสามคนเป็นลูกจ้างประจำรายวันของจำเลยมีสิทธิได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงาน โจทก์ทั้งหมดนัดหยุดงานแล้วตกลงกันได้และทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้นโดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2529 แต่จะกลับเข้าทำงานตามปกติในวันที่ 8 ธันวาคม 2529 ดังนี้ เมื่อโจทก์ทั้งหมดมิได้ทำงานระหว่างวันที่ 3 ถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2529 ซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างรายวันแล้วก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าครองชีพเฉพาะส่วนที่มิได้ทำงานจากจำเลย และเมื่อวันที่ 5ธันวาคม 2529 เป็นวันหยุดตามประเพณีซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ยังมิได้ทำงานให้แก่จำเลย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีด้วย
การหยุดพักผ่อนประจำปีตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10 โดยได้รับอนุมัติจากนายจ้างแล้วมิใช่เป็นการลาหยุด หรือเป็นเรื่องการขาดงานอันเป็นผลต่อหลักเกณฑ์ของการพิจารณาจ่ายเบี้ยขยันตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีหยุดพักผ่อนประจำปี ต้องมีการโต้แย้งสิทธิก่อน การให้การต่อสู้ภายหลังไม่ถือเป็นการโต้แย้ง
ลูกจ้างไม่เคยยื่นความจำนงขอหยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิของตนมาก่อน และไม่ปรากฏว่านายจ้างปฏิเสธมิให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี ดังนี้ นายจ้างยังมิได้โต้แย้งสิทธิของลูกจ้าง ลูกจ้างจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนที่นายจ้างให้การว่าลูกจ้างไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเพราะมีวันลา เกินกำหนดเป็นเพียงข้อต่อสู้ที่ยกขึ้นภายหลังลูกจ้างฟ้องคดีแล้ว จะถือเป็นข้ออ้างว่านายจ้างโต้แย้งสิทธิของลูกจ้างหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3683/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีและการลาออกของลูกจ้าง นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนวันหยุด
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 10 ที่กำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันแล้วครบหนึ่งปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่าปีละหกวันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดล่วงหน้าให้ นั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีเมื่อทำงานครบหนึ่งปีแล้วมิได้เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ลูกจ้างที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเลือกเอาค่าจ้างแทนการหยุดพักผ่อนประจำปี การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิและลาออกจากงานไปก่อนจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 45 ที่กำหนดว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำ โดยลูกจ้างมิได้มีความผิดตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี นั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง จะนำมาใช้บังคับกับกรณีที่ลูกจ้างลาออกจากงานหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3507-3509/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลาพักร้อนแทนวันลาป่วย: พิจารณาความจำเป็นจริงเป็นรายกรณี
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีความว่า ในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ลูกจ้างจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลาหยุดพักผ่อน เว้นแต่จะใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วยลากิจที่จำเป็นจริง ๆนั้น ไม่อาจแปลได้ว่า เป็นดุลพินิจอันเด็ดขาดของนายจ้างที่จะกำหนดเอาเองว่ากรณีใดร้ายแรงถึงขนาดที่จะถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นจริง ๆ หรือไม่ หากแต่จะต้องพิจารณาถึงสภาพความจำเป็นของผู้ลากิจ ลาป่วยเป็นเรื่อง ๆ ไป ดังนี้ เมื่อจำเลยอนุญาตให้โจทก์ลาป่วยได้ตามความเป็นจริงที่โจทก์อ้าง เพราะโจทก์แต่ละคนปวดศีรษะอย่างแรง เป็นไข้ท้องเสียอย่างแรง และเวียนศีรษะ เห็นได้ว่าเป็นความจำเป็นจริง ๆ อันโจทก์แต่ละคนย่อมไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อตกลงดังกล่าวที่โจทก์ทุกคนจะพึงใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนแทนวันลาป่วยของโจทก์แต่ละคนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3460/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี: ระเบียบลูกจ้างที่ลาป่วยเกิน 36 วัน ไม่ตัดสิทธิพักผ่อนตามกฎหมาย
การที่ระเบียบของจำเลยกำหนดว่า ลูกจ้างซึ่งไม่มีวันลาเกิน36 วัน มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ 10 วันนั้น ใช้บังคับเฉพาะพนักงานที่มิได้ลาเกินกำหนดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ถึง 10 วันเท่านั้น หามีผลเป็นการตัดสิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างที่ลาเกินกำหนดซึ่งมีอยู่ 6 วันทำงานตามกฎหมายไม่