คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 882 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยสำหรับผู้เยาว์ที่ยังไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม
ในกรณีตามปกติสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยมีกำหนดอายุความ 2 ปี โดยเริ่มนับแต่วันวินาศภัย แต่ในขณะเกิดเหตุละเมิด ผู้ร้องทั้งสองไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรม ดังนั้นในคดีนี้อายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง สำหรับการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีมีวินาศภัยยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้เยาว์มีผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20
คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการการที่วินิจฉัยโดยปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งสำหรับคดีนี้คือ เรื่องการนับอายุความ เป็นกรณีที่ปรากฏต่อศาลว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หลังเกิดการลักทรัพย์ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญา
คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาในทางแพ่ง ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาจึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในอันที่จะต้องนำมาผูกพันให้รับฟังว่าการกระทำของ บ. กับพวกเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามคำพิพากษาในคดีอาญา และคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวหาใช่คำพิพากษาที่เกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลอันจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1) วันที่ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นวันที่โจทก์ถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไป อันเป็นวันวินาศภัย โจทก์ยื่นคำเสนอให้ระงับข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (4) แม้อนุญาโตตุลาการจะพิจารณาแล้วชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาท แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยังไม่เป็นที่สุด เพราะคำชี้ขาดได้ถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในเวลาต่อมา ซึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทควรจะย้อนกลับเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย การที่วันที่ 20 มีนาคม 2562 อนุญาโตตุลาการปฏิเสธที่จะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทใหม่ตามคำร้องของโจทก์ โดยเห็นว่าอำนาจของอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุที่คดีไม่อยู่ในอำนาจของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/18 กล่าวคือ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำสั่ง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 เป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2253/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยความรับผิดของผู้ค้ำประกัน การคิดดอกเบี้ยผิดนัด และอายุความของสัญญา
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย จะเห็นได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัย คู่สัญญาอาจกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเหตุวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นที่มิใช่วินาศภัยก็ได้ แล้วแต่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยจะตกลงกัน และคำว่า วินาศภัย นั้น ป.พ.พ. มาตรา 869 บัญญัติให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนั้น ความเสียหายอันเป็นวินาศภัยย่อมต้องเป็นเหตุหรือภัยใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น มิใช่ความรับผิดตามข้อสัญญาระหว่างคู่กรณีที่มีลักษณะเป็นนิติกรรม เมื่อหนี้ที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดชําระแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงื่อนไขที่จําเลยที่ 2 จะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ในนามของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เงื่อนไขความรับผิดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจําเลยที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งจําเลยที่ 2 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุอย่างอื่นในอนาคตหากมีการกระทำอันเป็นการผิดสัญญา มิใช่กรณีเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น จึงมิใช่สัญญาประกันวินาศภัยซึ่ง ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยไว้ในลักษณะ 20 หมวด 2 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการเฉพาะตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง คือ ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกําหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย แต่กรณีดังกล่าวเป็นการทำสัญญาประกันภัยในเหตุแห่งการผิดสัญญาอันเป็นเหตุอย่างอื่นในอนาคต ซึ่ง ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 นับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสามอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยได้ตามมาตรา 193/12 การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดียังอยู่ในระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์ทั้งสามสำหรับจําเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของจําเลยที่ 1 ต่อโจทก์ที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หากจําเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชําระหนี้ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ย่อมต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 ด้วย ถือว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 แม้จําเลยที่ 1 จะเป็นคนชําระเบี้ยประกันภัยก็เป็นการชําระในนามของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ผู้เอาประกันภัย และเป็นเรื่องระหว่างจําเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่มีผลให้การเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ต้องเปลี่ยนแปลงไป สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจําเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันคู่สัญญา
ส่วนที่จําเลยที่ 2 ให้การว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามข้อบังคับโจทก์ที่ 1 นั้น จําเลยที่ 2 ไม่ได้ระบุว่าไม่ถูกต้องตามข้อบังคับอย่างไรบ้าง และที่ให้การว่าโจทก์ที่ 1 ไม่ได้แจ้งให้จําเลยที่ 2 ทราบถึงการผิดนัดชําระหนี้เงินกู้ของจําเลยที่ 1 ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ผิดนัดงวดแรก ก็ไม่ได้ระบุว่าผลเป็นประการใด ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 จึงไม่เกิดประเด็นให้ต้องวินิจฉัย
ส่วนปัญหาว่าจําเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เพียงใด นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจําเลยที่ 2 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกและโจทก์ที่ 1 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จําเลยที่ 2 รับผิด ยังไม่เต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย อีกทั้งหลังจากได้รับหนังสือทวงถามแล้ว จําเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ชําระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย ทำให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจําเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชําระรวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ชําระดอกเบี้ยที่ค้างชําระอยู่เดิมและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่รวมทั้งต้นเงินบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ในฐานะคู่สัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจําเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรับผิดชําระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ตามสัญญาประกันภัยในส่วนของจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหลืออยู่ได้ ดังนั้นจําเลยที่ 2 ต้องรับผิดชําระเงินแก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เพียงเท่าจำนวนเงินเอาประกันภัยส่วนที่เหลือโดยเฉลี่ยให้เท่ากัน พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ทวงถามให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าจําเลยที่ 2 ผิดนัด จึงให้จําเลยที่ 2 ชําระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ฎีกาขอให้จําเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจําเลยที่ 1 จึงเป็นคดีที่มีคําขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคํานวณเป็นราคาได้ โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท การที่โจทก์ทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 18 โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยเพื่อบุคคลภายนอก: การคำนวณอายุความและขอบเขตความรับผิดของผุ้รับประกัน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย จะเห็นได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัย คู่สัญญาอาจกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเหตุวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นที่มิใช่วินาศภัยก็ได้ แล้วแต่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยจะตกลงกัน และคำว่า วินาศภัย นั้น ป.พ.พ. มาตรา 869 บัญญัติให้หมายรวมเอาความเสียหายอย่างใด ๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนั้น ความเสียหายอันเป็นวินาศภัยย่อมต้องเป็นเหตุหรือภัยใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น มิใช่ความรับผิดตามข้อสัญญาระหว่างคู่กรณีที่มีลักษณะเป็นนิติกรรม เมื่อหนี้ที่โจทก์ที่ 2 และ ธ. ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงื่อนไขที่จำเลยที่ 2 จะใช้ค่าสินไหมแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ในนามของโจทก์ที่ 2 กับ ธ. เงื่อนไขความรับผิดระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นนิติกรรมสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งจำเลยที่ 2 ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในเหตุอย่างอื่นในอนาคตหากมีการกระทำอันเป็นการผิดสัญญา มิใช่กรณีเมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น จึงมิใช่สัญญาประกันวินาศภัยซึ่ง ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับการประกันวินาศภัยไว้ในลักษณะ 20 หมวด 2 และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไว้เป็นการเฉพาะตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง คือ ห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย แต่กรณีดังกล่าวเป็นการทำสัญญาประกันภัยในเหตุแห่งการผิดสัญญาอันเป็นเหตุอย่างอื่นในอนาคต ซึ่ง ป.พ.พ. หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 นับแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองอาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยได้ตามมาตรา 193/12 การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดียังอยู่ในระยะเวลา 10 ปี คดีของโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 หรือไม่ เพียงใด นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า แม้สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์ที่ 2 และ ธ. กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก และโจทก์ที่ 1 ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ที่ 1 เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามหนังสือทวงถามยังไม่เต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย อีกทั้งหลังจากได้รับหนังสือทวงถามแล้ว จำเลยที่ 2 ปฏิเสธไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาประกันภัย ทำให้โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ในต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระรวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังจากนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ที่ 2 ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่เดิมและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นใหม่รวมทั้งต้นเงินบางส่วนให้โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 ในฐานะคู่สัญญาประกันภัยย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยในส่วนของจำนวนเงินเอาประกันภัยที่เหลืออยู่ได้ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัด จึงให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6914/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าชดใช้จากผู้รับประกันภัย: กรณีผู้ขับขี่เมาแล้วชน และการผิดนัดชำระหนี้
เมื่อจำเลยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยในขณะเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์ที่ ส. ขับได้รับความเสียหาย จึงเสมือนจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามกรมธรรม์ประกันภัยหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 กำหนดให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่ยกเว้นความคุ้มครองกรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และเมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปคืนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคสาม กรณีดังกล่าวเป็นการฟ้องเรียกเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปคืนจากผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย ซึ่งแตกต่างจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความในมาตรา 882 วรรคหนึ่ง และเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกไป คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5197/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องไล่เบี้ยจากประกันภัยและการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นสองปีนับแต่วันวินาศภัย หมายความถึงว่าในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้เอาประกันภัยจะใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยจะต้องฟ้องคดีภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย แต่ในกรณีของผู้รับประกันภัยที่เข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสียหาย กำหนดอายุความต้องเป็นไปตามสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยจะพึงมีต่อบุคคลภายนอกแล้วแต่กรณี หาใช่ว่าจะต้องฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วยไม่ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของบริษัท ส. ผู้เอาประกันภัย ฟ้องไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท ส. กับไล่เบี้ยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง และสิทธิเรียกร้องสำหรับความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันในความเสียหายในการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ได้ให้ไว้แก่บริษัท ส. นายจ้าง กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ
การนำสืบข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีของศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 85 คู่ความย่อมมีสิทธินำสืบพยานหลักฐานได้ทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร การที่โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานบุคคลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยขอส่งคำเบิกความของพยานที่เคยเบิกความไว้ในศาลแรงงานภาค 6 เป็นพยานเอกสาร ย่อมเป็นสิทธิของโจทก์ที่พึงกระทำได้ ประกอบกับทนายจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยังแถลงยอมรับความถูกต้องของเอกสารว่า พยานเคยเบิกความดังคำเบิกความตามที่โจทก์อ้างส่งจริง ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจในอันที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานเอกสารดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการนำเอาคำเบิกความของพยานในคดีอื่นมารับฟังในคดีนี้ไม่
โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันพนักงาน โดยแนบสัญญาค้ำประกันพนักงานมาท้ายฟ้องด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันพนักงานข้อ 1 มีข้อความว่า จำเลยที่ 4 ยินยอมรับผิดชอบในความเสียหายอย่างลูกหนี้ร่วม ย่อมเรียกได้ว่าโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาในฟ้องและประสงค์จะให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง อันจะเป็นการต้องห้าม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3914/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดและการขาดนัดยื่นคำให้การ รวมถึงอายุความสัญญาประกันภัย
แม้คดีของโจทก์ขาดอายุความในการเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่อาจอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตามมาตรา 193/29 ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งโจทก์รับฟ้องขอให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ตามมาตรา 882 วรรคแรก กำหนดอายุความไว้ 2 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ภายในกำหนดอายุความดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 4 จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8533/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องต่างกันระหว่างเจ้าของรถผู้กระทำละเมิดกับผู้รับประกันภัยค้ำจุน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง แสดงว่าอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้ อีกทั้งมาตรา 295 บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉะนั้นการที่คดีของจำเลยที่ 1 ขาดอายุความย่อมเป็นคุณแก่เฉพาะจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับคดีของจำเลยที่ 2 ที่ยังไม่ขาดอายุความแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3307/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความไล่เบี้ย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัย: ความแตกต่างระหว่างบุคคลภายนอกกับผู้รับประกันภัยด้วยกัน
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535มาตรา 31 มีความหมายว่า ให้บริษัทหรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยซึ่งได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด มีสิทธิไล่เบี้ยเอากับบุคคลภายนอก เจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้ซึ่งอยู่ในรถหรือผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย
จำเลยเป็นเพียงบริษัทผู้รับประกันภัยรถคันที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยจึงมิใช่บุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายในเหตุที่รถชนกัน กรณีจึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง มาใช้บังคับ การที่ผู้รับประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยเรียกค่าเสียหายเอาจากจำเลยผู้รับประกันภัยด้วยกัน จึงต้องนำอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีประกันภัยและการไม่เป็นฟ้องซ้ำ กรณีเรียกจำเลยร่วมในคดีละเมิด
จำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ใช้ค่าทดแทนหากจำเลยแพ้คดีตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วม จึงเป็นกรณีที่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันประสงค์จะเรียกให้จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตามสัญญา จึงต้องฟ้องหรือหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายในกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เกิดวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความฟ้องบังคับตามสัญญาประกันภัยมาใช้บังคับ และกรณีมิใช่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยร่วมให้รับผิดในมูลละเมิดที่กระทำต่อโจทก์จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับดังนั้น เมื่อเกิดเหตุวินาศภัยวันที่ 22 มีนาคม 2534 จำเลยได้หมายเรียกจำเลยร่วมเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 22 มีนาคม 2536 ภายในกำหนด 2 ปี คดีของจำเลยย่อมไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่26 มิถุนายน 2534 โดยมูลละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดวันที่ 22 มีนาคม 2534 ยังอยู่ในอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความ การที่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนได้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคราวก่อน แต่จำเลยได้ถอนฟ้องคดีดังกล่าวไปก่อนที่ศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีนั้น แม้จำเลยจะได้เรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาร่วมรับผิดในคดีนี้เป็นครั้งที่สองก็ตาม การกระทำของจำเลยก็หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่งไม่ประกอบกับในคดีก่อนโจทก์ในคดีนี้ก็หาได้ยื่นคำฟ้องจำเลยร่วมเป็น จำเลยร่วมมาแต่ต้นไม่ ทั้งศาลก็ยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วในประเด็นแห่งคดี เพราะจำเลยได้ถอนฟ้องไปก่อนคดีในส่วนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมจึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
of 2