คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ม. 47 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5192/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานละทิ้งหน้าที่ และขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยมานานหลายปี ในปีสุดท้ายที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายบริหารซึ่งเป็นตำแหน่งชั้นสูง โจทก์ควรจะมีความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ การที่โจทก์ลากิจโดยไม่มีกำหนดเวลาแสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบต่องานในหน้าที่ของโจทก์ที่ปฏิบัติอยู่ และเมื่อโจทก์ยื่นใบลาแล้วโจทก์หยุดงานทันทีโดยไม่รอฟังว่าจำเลยที่ 1 อนุมัติหรือไม่เป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการลาของจำเลยที่ 1ในที่สุดเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อนุมัติการลา จึงต้องถือว่าโจทก์ขาดงาน และโจทก์ก็ยังคงหยุดงานติดต่อกันมาจนจำเลยมีหนังสือเลิกจ้าง หากโจทก์มิได้จงใจขาดงานหรือละทิ้งหน้าที่ โจทก์สามารถติดต่อแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครทราบได้โดยสะดวกถึงความจำเป็นของโจทก์เพราะโจทก์ไปเฝ้าบุตรที่ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกัน แต่โจทก์หาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ ตั้งแต่วันที่โจทก์หยุดงานจนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้าง โจทก์ไม่เคยติดต่อจำเลย พฤติการณ์ที่โจทก์ขาดงานติดต่อกันดังกล่าวเกิน 3 วัน และเป็นเวลานานเกือบหนึ่งเดือนจนจำเลยมีหนังสือเลิกจ้าง ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งการงานไปเสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งถือได้ว่าโจทก์จงใจละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (5) และกรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายและค่าชดเชยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2263/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากคำสั่งให้หยุดงานชั่วคราว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่ขับรถยนต์ โจทก์ถูกเจ้าพนักงาน-ตำรวจยึดใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เพราะปฏิบัติผิดกฎจราจร ต่อมาหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยกล่าวแก่โจทก์ว่า หากไม่มีใบอนุญาตขับขี่ก็ไม่ต้องมาทำงาน โจทก์จึงหยุดงานไปตั้งแต่วันที่ 5 ถึง 16 เดือนนั้น โดยไม่มีการยื่นใบลา เช่นนี้ การที่โจทก์ทำหน้าที่ขับรถยนต์เมื่อ ส.ซึ่งเป็นนายจ้างกล่าวว่าหากไม่มีใบอนุญาตขับขี่ก็ไม่ต้องมาทำงานนั้นย่อมทำให้โจทก์เข้าใจว่านายจ้างสั่งให้โจทก์หยุดการทำงานไว้ก่อนจนกว่าจะได้ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์กลับคืนมา เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยมีระเบียบข้อบังคับว่าผู้มีหน้าที่ขับรถยนต์จะต้องมาปฏิบัติหน้าที่อื่นในกรณีเช่นนี้ด้วย การที่โจทก์ไม่ได้มาทำงานในระหว่างวันดังกล่าว จึงมิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมิได้มีความผิด ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ.มาตรา 582 ให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 351/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม: เหตุผลความประมาทเลินเล่อ และการคืนเงินสะสม
อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ แล้วนำไปวินิจฉัยข้อกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 44
การเลิกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรจะเลิกจ้างได้หรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 6 ทวิ และข้อ 7ระบุว่าในกรณีที่พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยมีกรณีต้องหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกสอบสวนหรือฟ้องคดีอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญา จำเลยจะต้องรอฟังผลการสอบสวนหรือพิจารณา เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนแล้วจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เสียหายแก่กิจการจำเลยอย่างร้ายแรงเป็นคำสั่งที่ชอบและเป็นธรรม ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยดังกล่าวไม่จำเป็นต้องรอฟังผลการพิจารณาคดีของศาลก่อน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันที
คดีที่จำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ยังไม่ปรากฏผลของคดี ค่าเสียหายจึงยังไม่แน่นอน จำเลยจะนำเอาค่าเสียหายดังกล่าวมาหักจากเงินสะสมของโจทก์หาได้ไม่ และไม่มีเหตุที่จำเลยจะรอการจ่ายเงินสะสมไว้ได้ จึงต้องคืนเงินสะสมให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3109-3110/2527 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การประมาทเลินเล่อของผู้จัดการ และภาระภาษีของนายจ้าง
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยรับฟังพยานยังไม่ครบถ้วน ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ ขอให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ โดยอ้างว่าโจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารสนับสนุน เป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาในศาลแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
บริษัทโจทก์ไม่ได้วางระเบียบในการจัดเก็บรักษากุญแจตู้นิรภัยและการใช้รหัสตู้นิรภัย เมื่อจำเลยดำรงตำแหน่งผู้จัดการภัตตาคารของบริษัทโจทก์แล้วก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้จัดการคนก่อน จำเลยไม่ได้สั่งงดใช้รหัสตู้นิรภัย ภัตตาคารเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนจำเลยและ น. ทำงานเฉพาะเวลาทำงานปกติ หยุดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดตามประเพณี พนักงานที่ผลัดเปลี่ยนกันทำงานไม่มีวันหยุดคนหนึ่งเคยถูกคนร้ายชิงทรัพย์ แต่บังเอิญมิได้นำกุญแจตู้นิรภัยติดตัวไปด้วย จึงตกลงกันว่าไม่เอากุญแจตู้นิรภัยกลับบ้าน จำเลยสั่งให้เก็บกุญแจตู้นิรภัยไว้ในลิ้นชักโต๊ะของจำเลย นอกจากนี้พนักงานตรวจสอบของบริษัทโจทก์ซึ่งมาตรวจสอบการปฏิบัติงานด้านการเงินของภัตตาคารก็ไม่ได้ทักท้วงหรือสั่งให้แก้ไขวิธีการในการเก็บรักษาเงินของบริษัทโจทก์ ฉะนั้นการที่จำเลยเก็บกุญแจตู้นิรภัยไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของจำเลยโดยไม่ให้ผู้มีหน้าที่เปิดปิดตู้นิรภัยนำกุญแจตู้นิรภัยติดตัวกลับบ้าน จึงเป็นการใช้ความระมัดระวังตามที่วิญญูชนพึงกระทำแล้ว จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
ค่าจ้างหมายถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงาน แม้จำเลยจะเป็นลูกจ้างรายเดือน แต่เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2524 ภายหลังจากวันที่ 15 ตุลาคม 2524 จำเลยถูกเลิกจ้างแล้ว จึงไม่ได้เป็นลูกจ้างของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้จำเลยอีก
คู่มือพนักงานของบริษัทโจทก์มีความว่าบริษัทโจทก์จะพิจารณาจ่ายเงินรางวัลประจำปีแก่พนักงานในเดือนธันวาคมของทุกปี แสดงว่าโจทก์จะพิจารณาจ่ายเงินดังกล่าวให้เฉพาะพนักงานที่มีตัวทำงานอยู่ในเดือนธันวาคมเท่านั้น จำเลยถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2524จึงไม่มีสิทธิรับเงินโบนัสหรือเงินรางวัล และเมื่อตามคู่มือพนักงานของบริษัทโจทก์มีข้อความว่า บริษัทจะรับภาระเสียภาษีเงินได้ทั้งหมดที่พนักงานได้รับจากบริษัท โดยบริษัทจะแจ้งยอดเงินการเสียภาษีให้พนักงานได้ทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ข้อความตอนท้ายที่ว่าบริษัทจะแจ้งยอดการเสียภาษีให้พนักงานทราบภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไปแสดงอยู่ในตัวว่า เงินได้ทั้งหมดที่โจทก์รับภาระจะเสียภาษีให้จำเลยนั้นต้องเป็นยอดรายได้ที่จำเลยได้รับจากโจทก์ทั้งหมดในแต่ละปี เฉพาะในปีที่โจทก์เลิกจ้างจำเลย จำเลยมีสิทธิได้รับเงินจากโจทก์คือค่าจ้างค้างจ่าย ค่าทำงานในวันหยุดโจทก์จึงต้องรับภาระเสียภาษีเงินได้ในเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลย แต่ค่าชดเชย เงินบำเหน็จ และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นผลของการเลิกจ้างไม่ใช่รายได้ที่จำเลยได้รับในแต่ละปี โจทก์จึงไม่ต้องรับภาระเสียภาษีเงินได้ในเงินทั้งสามจำนวน
ในฐานะที่จำเลยเป็นผู้จัดการภัตตาคาร ย่อมมีหน้าที่ปกปักษ์รักษาทรัพย์ของนายจ้าง หากทางปฏิบัติของผู้จัดการคนก่อน ๆ มาไม่รัดกุมพอ มีช่องทางที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้ แม้ความเสียหายยังไม่เกิดขึ้นจำเลยก็มีอำนาจที่จะวางระเบียบในการเก็บรักษาเงินของนายจ้างให้รัดกุม การที่จำเลยเพียงแต่ปฏิบัติตามผู้จัดการคนก่อน ๆไปโดยไม่ปรับปรุงการปฏิบัติงานของตนให้มีประสิทธิภาพจนกระทั่งเกิดความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจเลิกจ้างจำเลยได้ ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2527 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานประมาทเลินเล่อ จนเกิดความเสียหายร้ายแรง และประเด็นการฟ้องละเมิดจากการปิดประกาศเลิกจ้าง
โจทก์เป็นลูกจ้างโรงงานกระสอบซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งสมุห์บัญชีได้ลงชื่อและประทับตราโรงงานฯรับทราบการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. และห้างหุ้นส่วนจำกัดบ.โอนสิทธิการรับเงินค่าปอจากโรงงานฯ ให้แก่บริษัท ท. อันมีผลผูกพันตามกฎหมายที่โรงงานฯจะ ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัท ท. เท่านั้น เช่นนี้ การที่ โจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยจ่ายเงินให้แก่ห้างทั้งสองแทนที่จะจ่าย ให้แก่บริษัท ท. เป็นเหตุให้บริษัท ท. มีหนังสือทวงถามจากจำเลย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิใช้อำนาจ ตามระเบียบเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ และถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าได้ลงโทษเลิกจ้างโจทก์โดยใช้อำนาจตามระเบียบที่วางไว้ เพราะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลย การที่ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาท
คำฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยปิดประกาศคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั่วไปที่สำนักงานใหญ่และที่โรงงานเป็นการละเมิดต่อโจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย มิใช่เป็นคดีอันเกิดจากมูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานโจทก์จึงไม่มีสิทธิเสนอคำฟ้องข้อหานี้ต่อศาลแรงงาน