คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ข้อ 31

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3673/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจสหภาพแรงงานในการแก้ไขข้อตกลงสภาพการจ้าง และฐานคำนวณค่าล่วงเวลา
กรณีที่สหภาพแรงงานและนายจ้างต่างแจ้งข้อเรียกร้องฝ่ายละหลายข้อ ซึ่งต้องแบ่งข้อเรียกร้องเจรจากันเป็นคราวๆไปแม้ในการเจรจาคราวแรกจะตกลงกันได้และทำเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่ในการเจรจาข้อเรียกร้องข้ออื่นๆต่อมา สหภาพแรงงานก็มีอำนาจที่จะตกลงแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกได้ ดังนั้น เมื่อข้อตกลงในการเจรจาคราวแรกกำหนดเงื่อนไขในการไม่จ่ายเงินบำเหน็จไว้ประการหนึ่ง แล้วต่อมาทำความตกลงเพิ่มเงื่อนไขในการไม่จ่ายเงินบำเหน็จอีกประการหนึ่ง อันเป็นเงื่อนไขซึ่งจะตัดสิทธิของลูกจ้างที่จะกระทำผิดในอนาคต ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกอยู่ก่อนแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับหลังนี้จึงมีผลใช้บังคับ เมื่อค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลาฯ นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น การที่สหภาพแรงงานตกลงกับนายจ้างว่าไม่ให้นำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าว ข้อตกลงนี้จึงไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง ลูกจ้างฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากเงินบำเหน็จ ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดจากนายจ้างก่อนวันฟ้อง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่านายจ้างผิดนัดเมื่อใดจึงกำหนดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2471/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจหน้าที่ผู้จัดการสาขาธนาคารกับการได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารสาขาของจำเลย การที่ โจทก์มีอำนาจออกคำเตือนพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นหนังสือและพนักงานที่ถูกคำเตือน 3 ครั้งจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนก็ตาม แต่เมื่อหนังสือเตือนไม่ใช่โทษ เป็นเพียงมีผลให้ผู้ถูกคำเตือนอยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนจากผู้มีอำนาจในการนี้เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีอำนาจทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการลงโทษ และแม้โจทก์จะเป็นผู้เสนอขอเลื่อนเงินเดือน 2 ขั้นให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ก็มิใช่เป็นผู้มีอำนาจที่จะเลื่อนชั้นเงินเดือน 2 ขั้น จึงถือไม่ได้อีกว่าโจทก์มีอำนาจกระทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการให้บำเหน็จ ส่วนกรณีที่จะถือได้ว่าโจทก์เป็นตัวแทนในการจ้างลูกจ้างนั้น โจทก์ต้องมีอำนาจทำการแทนนายจ้างโดยตรง มิใช่เป็นกรณีผ่านการพิจารณาโดยผู้มีอำนาจมาก่อน ซึ่งผู้มีอำนาจในการรับลูกจ้างเข้าทำงานนี้ได้แก่คณะกรรมการของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้าง ดังนั้น โจทก์มิใช่ลูกจ้างซึ่งมีหน้าที่ทำการแทนนายจ้าง ตามข้อ 36(1) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ และมีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1677-1678/2526) เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด การที่จำเลยมีระเบียบกำหนดให้โจทก์ไม่มีสิทธิเบิกค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด จึงเป็นการแตกต่างไปจากที่กฎหมายบัญญัติไม่มีผลบังคับ โจทก์เบิกค่าทำงานในวันหยุด จำเลยให้โจทก์คืนเงินโดยอ้างว่าเบิกไม่ถูกต้อง โจทก์จึงคืนเงินนั้นแก่จำเลย ดังนี้ กรณีมิใช่เป็นเรื่อง จงใจผิดนัดในการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 31 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดที่คืนไป จำเลยตอบปฏิเสธ ถือได้ว่า จำเลยผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละสิบห้า ต่อปีตามข้อ 31 วรรคแรก นับแต่วันที่ จำเลยตอบปฏิเสธ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1525/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทำงานวันหยุด/พักผ่อนเป็นสินจ้าง อายุความ 2 ปี ไม่ใช่ 10 ปี
ค่าทำงานในวันหยุดและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแม้จะไม่ใช่ค่าจ้างตามความหมายของคำว่า 'ค่าจ้าง' ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2เพราะไม่ใช่เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้ในวันหยุดซึ่ง ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน แต่ก็เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทน การทำงานนอกเวลาปกติ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายตอบแทน แก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้าง มิได้หยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิ เงินทั้งสองประเภทนี้ นายจ้างผูกพันต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ถือว่าเป็นสินจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 อายุความแห่ง สิทธิเรียกร้อง เอาสินจ้างหรือเงินจ้างดังกล่าว จึงอยู่ภายใต้บังคับ ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(9) ซึ่งมีกำหนด 2 ปี หาใช่มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 ไม่ การที่จำเลยผิดนัดไม่จ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์นั้นเป็น เพราะจำเลยเห็นว่าตนไม่มีหน้าที่ต้องจ่าย ถือไม่ได้ ว่าจำเลยจงใจผิดนัดในการจ่ายเงินให้แก่โจทก์โดยปราศจาก เหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงิน เพิ่มร้อยละสิบห้า ของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเจ็ดวันให้แก่โจทก์