คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ข้อ 2

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1614/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แม้เป็นชาวต่างชาติ แต่ลูกจ้างในไทยมีสิทธิคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน หากมีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น
แม้การจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 6 จ้างแรงงานก็ตาม แต่ลักษณะและพฤติการณ์แห่งการจ้างดังกล่าวนั้นก็หาพ้นความหมายของคำว่า 'นายจ้างลูกจ้างลูกจ้างประจำ' ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ไม่ แม้โจทก์เป็นชาวต่างประเทศแต่ได้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย สถานประกอบการอยู่ในประเทศไทย มีข้อพิพาทแรงงานกันในประเทศไทยจึงชอบที่จะฟ้องร้องและบังคับกันได้ตามประมวลกฎหมายไทยทุกฉบับที่เกี่ยวข้องเมื่อประเทศไทยประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นการเฉพาะอยู่แล้วการจะหวนกลับไปใช้ ป.พ.พ. อันเป็นกฎหมายทั่วไปแต่ฉบับเดียวหาชอบไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างและความรับผิดชอบจากอุบัติเหตุ พนักงานขับรถ
บริษัทจำเลยกำหนดให้พนักงานขับรถยนต์ส่วนกลางเข้าทำงานวันละ 24 ชั่วโมง หยุดพักวันรุ่งขึ้น 24 ชั่วโมง ต่อมาจำเลยดำริให้เปลี่ยนเป็นทำงานเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง แต่พนักงานขับรถยนต์ของจำเลยขอให้กำหนดเวลาทำงานเช่นเดิมโดยอ้างว่าต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเลยก็ได้ตกลงยินยอมกำหนดเวลาทำงานของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับได้ หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยในภายหลังก็ย่อมต้องถูกผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว การทำงานของโจทก์จึงมิใช่เป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติอันจะมีสิทธิเรียกเอาค่าล่วงเวลาจากจำเลยได้
ระเบียบของจำเลยกำหนดว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุและได้รับการพิจารณาถึงที่สุด พขร.(พนักงานขับรถ)เป็นฝ่ายผิดพขร.ที่ทำหน้าที่ขับรถจะต้องรับผิดชอบร้อยละหกสิบ ส่วน พขร.ที่นั่งคู่จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมร้อยละสี่สิบดังนี้เมื่อ ส.ขับรถยนต์ของจำเลยด้วยความประมาทเลินเล่อเกิดอุบัติเหตุทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขณะที่โจทก์เป็นพนักงานขับรถที่นั่งคู่ จำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในอัตราร้อยละสี่สิบของค่าเสียหายทั้งหมดได้ ตามระเบียบดังกล่าว และเมื่อโจทก์ได้ยินยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยผ่อนชำระให้แก่จำเลยจึงเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีสิทธิบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าพาหนะ ที่พัก อาหาร และซักรีด ไม่ถือเป็นค่าจ้างสำหรับคำนวณค่าชดเชย หากไม่ใช่การจ่ายประจำหรือแน่นอน
ลูกจ้างจะได้รับค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าซักรีดจากนายจ้างก็ต่อเมื่อนายจ้างได้อนุมัติให้ลูกจ้างไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดและลูกจ้างมิได้ไปปฏิบัติงานในต่างจังหวัดเป็นประจำหรือแน่นอนทุกเดือน ดังนี้เงินทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวมิใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2ลูกจ้างจึงไม่มีสิทธินำเงินจำนวนดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 913-915/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างหรือไม่? สัญญาจ้างกำหนดสิทธิประโยชน์ชัดเจน มีผลเหนือกว่าข้ออ้าง
ค่าครองชีพที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นรายเดือนโดยมีจำนวนที่แน่นอน ย่อมเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างในเวลาทำงานปกติ ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามความหมายของคำนิยามคำว่า ค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และจะถือว่าเป็นค่าจ้างต่อเมื่อนายจ้างมีข้อตกลงที่จะจ่ายให้แก่ลูกจ้างด้วย
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยประเภทพนักงานบริการ ตามสัญญาเข้าทำงานของพนักงานบริการ ข้อ 4(3) มีข้อความว่า พนักงานบริการไม่มีสิทธิในเงินตอบแทนของเงินประกันและเงินสวัสดิการอื่นใดที่บริษัทให้นอกเหนือจากค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุด และสัญญาดังกล่าวได้กำหนดค่าจ้างเป็นรายวัน เป็นอัตราที่แน่นอนตายตัวไว้แล้ว แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยอย่างชัดแจ้งว่าจำเลยไม่ประสงค์จะจ่ายค่าครองชีพให้แก่โจทก์ด้วยดังนั้น คำว่าค่าจ้างตามข้อสัญญาดังกล่าว ซึ่งมิได้หมายความรวมถึงค่าครองชีพ.(ที่มา-เนติ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงาน: การจ่ายค่าจ้างรายเดือนและอำนาจออกระเบียบข้อบังคับบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง
จำเลยจ้างโจทก์ให้สอนหนังสือนักเรียน จ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือน และมีอำนาจออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดวันเวลาสอนหนังสือ หากโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนจำเลยมีอำนาจลงโทษได้การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างมิใช่หวังผลสำเร็จของการสอนหนังสือแม้โจทก์จะมีอิสระในการสอนตามวิชาชีพ แต่ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานมิใช่จ้างทำของ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประสบอันตรายจากการทำงาน: การเดินทางไปทำงานยังไม่ถือเป็นอันตรายจากการทำงาน
วันเกิดเหตุโจทก์ต้องทำงานกะเช้า ซึ่งปกติต้องมาทำงานเวลา 5 น. แต่โจทก์ไปสาย พนักงานจ่ายงานของจำเลยจึงสั่งให้โจทก์มาทำงานในกะบ่ายและให้โจทก์ลงชื่อทำงานไว้ในใบลงชื่อทำงานประจำวันงานตอนบ่ายเริ่มเวลา 13.20 น. โจทก์ได้กลับไปบ้านพักของโจทก์ก่อนต่อมาเวลา 11 น. เศษ โจทก์ออกเดินทางเพื่อไปทำงานกะบ่ายโดยขับรถจักรยานยนต์ไป ระหว่างทางรถจักรยานยนต์ของโจทก์ชนกับรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นและโจทก์ขาหัก ดังนี้เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ทำงานตามที่นายจ้างมอบหมาย จะถือว่าโจทก์ได้รับอันตรายแก่ร่างกายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหาได้ไม่กรณีของโจทก์จึงมิใช่การประสบอันตรายตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นและการสืบตำแหน่งนายจ้างในสัญญาจ้างแรงงาน
การที่จำเลยที่ 2 ซื้อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 นั้นมีผลเพียงเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1. เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าดำเนินกิจการโรงแรมซึ่งบริษัทจำเลยที่ 1เช่ามาจากผู้อื่น. จึงเป็นการดำเนินกิจการโรงแรมในฐานะผู้ซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1. เท่ากับบริษัทจำเลยที่1 ยังเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงแรมอยู่นั่นเอง. บริษัทจำเลยที่ 1 ยังคงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานโรงแรมนี้อยู่. จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นให้ดำเนินกิจการโรงแรมแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล. ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ตามบทนิยามคำว่า'นายจ้าง' ในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน. แม้จำเลยที่ 2 จะเข้ามาดำเนินกิจการโรงแรมเมื่อจำเลยที่2 ซื้อหุ้นจากบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตาม. แต่โจทก์ก็ได้ทำงานต่อเนื่องกันมา. จึงต้องนับอายุงานของโจทก์ที่ทำงานอยู่กับบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อเนื่องกันมาด้วย.จะนับอายุงานของโจทก์เพียงเท่าที่จำเลยที่ 2 เข้าดำเนินกิจการโรงแรมหาได้ไม่.
of 5