พบผลลัพธ์ทั้งหมด 196 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3475/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือรับสภาพหนี้ต้องสอดคล้องกับมูลหนี้เดิม หากมูลหนี้เดิมเป็นประกันภัยการขนส่ง แต่รับสภาพหนี้ตามประกันภัยการติดตั้ง จำเลยไม่ต้องรับผิด
โจทก์เอาประกันภัยการขนส่งเครื่องปั๊มน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ของโจทก์ซึ่งบรรทุกมากับเรือเดินทะเล จากประเทศญี่ปุ่นเพื่อส่งให้แก่โจทก์ ไว้กับจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย และเอาประกันภัยการติดตั้งวัสดุและอุปกรณ์ ดังกล่าวไว้กับจำเลยด้วย ต่อมาปรากฏว่าส่วนประกอบของเครื่องปั๊มน้ำเสียหายหลายรายการโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล เป็นเงิน 218,600.06 บาท จำเลยมีหนังสือตอบโจทก์ว่า สาเหตุของความเสียหายเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเลความเสียหายคงจะเกิดจากการติดตั้งและจำเลยเสนอที่จะชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 147,375.06 บาท โจทก์มีหนังสือตอบจำเลยว่าได้ตรวจสอบความเสียหายอีกครั้งหนึ่งแล้ว ตกลงที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดในการติดตั้ง และขอคำนวณค่าเสียหายใหม่เป็นเงิน 174,203.40 บาท จำเลยมีหนังสือตอบโจทก์ยืนยันว่าจะชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เป็นเงิน 147,375.06 บาท ดังนี้หนังสือของจำเลยฉบับหลังกล่าวอ้างถึงหนังสือของจำเลยตามฉบับแรกซึ่งจำเลยเคยขอเสนอชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 147,375.06 บาทและจำเลยยืนยันในหนังสือฉบับหลังอีกครั้งว่าจะชำระค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นเงิน 147,375.06 บาท ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุดแม้จำนวนเงินที่จำเลยเสนอจะต่ำกว่าที่โจทก์เรียกร้อง แต่จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งค่าสินไหมทดแทนในจำนวนเงิน 147,375.06 บาทกลับยืนยันว่าจะใช้เงินจำนวนนี้ให้แก่โจทก์ หนังสือของจำเลยตามเอกสารดังกล่าว จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม ความเสียหายของเครื่องปั๊มน้ำเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งอยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดในการติดตั้ง ไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล เมื่อโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยให้รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล แม้โจทก์จะฟ้องบังคับจำเลยตามหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย แต่โจทก์ก็กล่าวอ้างว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล เมื่อได้ความว่าจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยการเสี่ยงภัยทุกชนิดในการติดตั้งมิได้รับสภาพหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งทางทะเล เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2355/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีหนี้ - การฟ้องแทนโดยไม่ได้รับมอบอำนาจ ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ แต่เป็นหนี้มารดาโจทก์ จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ โดยโจทก์ทำแทนมารดาโจทก์ โจทก์และจำเลยจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกันโจทก์ฟ้องคดีเกี่ยวกับหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวโดยมิได้รับมอบอำนาจฟ้องจากมารดาโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องหนี้: ผลของการผ่อนชำระหลังลูกหนี้ถึงแก่กรรม และการนับอายุความใหม่
การผ่อนชำระหนี้ของจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันและอาวัลตั๋วเงินกระทำภายในกำหนด 1 ปี นับแต่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ถึงแก่กรรมจึงเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความกันใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิม นับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้กำหนดไว้ว่ามีอายุความเท่าไรจึงถือตามกำหนดอายุความทั่วไป ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 คือมีกำหนด 10 ปี อายุความที่ผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินจะฟ้องผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินมีกำหนดสามปีนับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับถึงกำหนดจ่ายเงิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001ประกอบด้วยมาตรา 940 และมาตรา 985 จำเลยที่ 3 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 8มิถุนายน 2527 และโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 จึงเป็นการฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดชำระเงินตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีภายในกำหนดอายุความ 10 ปี และฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดชำระเงินในฐานะเป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินภายในกำหนด 3 ปีนับแต่เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน กรณีไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกัน
ตามหนังสือรับรองการขายตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ปรากฏความข้อใดเลยว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาขายลดแล้ว จำเลยที่ 2จะยอมใช้เงินแก่โจทก์ หรือแม้แต่คำว่า "ค้ำประกัน" ก็ไม่ปรากฏฐานะของจำเลยที่ 2 คงระบุเพียงว่าเป็นผู้รับอาวัลเท่านั้น แม้จะระบุถึงเรื่องการผ่อนเวลาไว้ก็คงเป็นการกล่าวถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2ในฐานะผู้รับอาวัลซึ่งต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลที่ตนประกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 940 โดยไม่อาจอ้างเรื่องการผ่อนเวลาตามหลักค้ำประกันทั่วไปใน มาตรา 700ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้อยู่แล้ว ดังนี้ เมื่อเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยจึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินต่อโจทก์นอกเหนือไปจากการเป็นผู้รับอาวัลจำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน อันจะทำให้คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 เดิมหากแต่เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้รับอาวัลเท่านั้นซึ่งมีอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินตาม มาตรา 1001 ประกอบมาตรา 940 แม้ปรากฏว่าหลังจากที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินแล้วจำเลยที่ 1 ผู้ออกตั๋วจะผ่อนชำระเงินให้โจทก์ไปบางส่วน เป็นเหตุให้อายุความในส่วนของจำเลยที่ 1 สะดุดหยุดลงก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลได้ร่วมกระทำกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นเรื่องแต่เฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้น อายุความในส่วนของจำเลยที่ 2จึงไม่สะดุดหยุดลงด้วยตามมาตรา 295 ประกอบมาตรา 967,985
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 962/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความสิทธิเรียกร้องค่าจ้างก่อสร้างเริ่มต้นเมื่อส่งมอบงาน การต่ออายุสัญญาไม่สะดุดอายุความ
สิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างในการก่อสร้าง ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการส่งมอบงานกันหาใช่นับแต่วันที่ทำงานเสร็จไม่ เมื่อโจทก์ผิดสัญญาส่งมอบงานล่าช้าถูกจำเลยปรับ ต่อมาภายหลังโจทก์ขอต่ออายุสัญญา จำเลยก็ขยายระยะเวลาและคืนค่าปรับให้บางส่วนนั้น การคืนค่าปรับไม่ใช่การชำระค่าจ้างให้โจทก์ตามสัญญาถือไม่ได้ว่าจำเลยได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ อายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับสภาพหนี้ต้องมีมูลหนี้เดิม หากไม่มีมูลหนี้ เอกสารรับสภาพหนี้ก็ไม่ผูกพัน
การรับสภาพหนี้หรือแปลงหนี้ใหม่ต้องมีมูลหนี้เดิมก่อนเมื่อ ท. ไม่มีหนี้ต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้จำเลยทำบันทึกยอมใช้หนี้โจทก์แทน ท. ก็หาทำให้เอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้หรือแปลงหนี้ใหม่ไม่ ทั้งไม่ก่อให้เกิดมูลหนี้จึงไม่ผูกพันจำเลย การนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องเป็นการนำสืบในลักษณะที่อ้างว่ายังมีข้อเท็จจริงอย่างอื่นเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสาร การที่จำเลยนำสืบถึงเหตุผลที่จำเลยต้องลงชื่อในเอกสารเพื่อแสดงว่าไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิด จึงมิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาชำระหนี้แทนบุคคลอื่น: ลักษณะสัญญา, อายุความ, และการวินิจฉัยประเภทสัญญา
การรับสภาพหนี้ เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ ดังนั้นการที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอก มิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์ จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้และแม้จำเลยทำสัญญาไว้ต่อโจทก์ว่าจะชำระหนี้ ซึ่งค. เป็นหนี้โจทก์ให้โจทก์ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์เจ้าหนี้ตกลงให้หนี้ของ ค. ระงับไป จึงไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผูกพันตนเข้าชำระหนี้ที่ ค. ค้างชำระให้โจทก์ จึงเป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างโจทก์จำเลย ซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจ เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และเมื่อหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ ก็ต้องใช้อายุความ10 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5563/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความและการรับสภาพหนี้: ผลกระทบต่อสิทธิของลูกหนี้แต่ละราย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าสินค้าที่ซื้อไปจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ดังนี้โจทก์เป็นพ่อค้าฟ้องเรียกเอาเงินค่าสินค้าจากจำเลยทั้งสอง จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)(เดิม) การที่ก่อนครบกำหนดอายุความ 2 ปี จำเลยทั้งสองทำหนังสือขอผัดผ่อนค่าสินค้าย่อมเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172(เดิม) และต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ แต่หลังจากอายุความ 2 ปี ที่เริ่มนับใหม่ได้ครบบริบูรณ์แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือว่าจะนำเงินค่าสินค้าที่ค้างชำระให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนและลงลายมือชื่อเพียงผู้เดียว ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งอายุความเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ลบล้างสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในอันที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192(เดิม) เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 2 ปีนับแต่วันที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความและข้อต่อสู้เรื่องอายุความของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความหนี้มรดกและหนี้ค้ำประกัน: ผลของการรับสภาพหนี้และการสะดุดหยุดอายุความ
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ.และในฐานะผู้ค้ำประกันให้รับผิดชำระหนี้ที่ จ.เป็นหนี้โจทก์ กรณีต้องแยกวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยในแต่ละฐานะ สำหรับความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกนั้น เมื่อจำเลยลงชื่อรับสภาพหนี้ในสัญญารับสภาพหนี้ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ จ. จึงมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเฉพาะในส่วนมรดกของ จ.ที่ตกได้แก่จำเลยเท่านั้นสำหรับมรดกส่วนอื่นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่ จ.ถึงแก่ความตาย คดีจึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ส่วนการรับสภาพหนี้ของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันนั้น อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิม จำเลยไม่อาจยกข้อต่อสู้ของกองมรดกของ จ.ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ในเรื่องอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4948/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความหนี้มรดก-ผู้ค้ำประกัน: การรับสภาพหนี้ทำให้สะดุดอายุความ, แยกพิจารณาความรับผิด
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งในฐานะผู้จัดการมรดกของ จ. และในฐานะผู้ค้ำประกันให้รับผิดชำระหนี้ที่ จ. เป็นหนี้โจทก์ กรณีต้องแยกวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยในแต่ละฐานะ สำหรับความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกนั้น เมื่อจำเลยลงชื่อรับสภาพหนี้ในสัญญารับสภาพหนี้ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ จ. จึงมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเฉพาะในส่วนมรดกของ จ. ที่ตกได้แก่จำเลยเท่านั้น สำหรับมรดกส่วนอื่นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 1 ปี นับแต่จ. ถึงแก่ความตาย คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 ส่วนการรับสภาพหนี้ของจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันนั้นอายุความย่อมสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิม จำเลยไม่อาจยกข้อต่อสู้ของกองมรดกของ จ.ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ในเรื่องอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้อีก