คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 196 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อต่างประเทศ: การตีความขอบเขตการใช้ทุนและการโอนย้ายสังกัด
ตามสัญญาของข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศของจำเลยข้อ 3ระบุว่า เมื่อจำเลยสำเร็จการศึกษาหรือไม่ จำเลยจะรับราชการต่อไปในสังกัดกรมอาชีวศึกษาโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรและข้อ 4 ระบุว่า หากจำเลยผิดสัญญาในข้อ 3 หรือไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆจำเลยยินยอมชดใช้เงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับในระหว่างไปศึกษาพร้อมเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ สัญญาดังกล่าวมิใช่ว่าจำเลยต้องรับราชการในสังกัดโจทก์เท่านั้น ทั้งตามหนังสือขอโอนข้าราชการโจทก์เป็นผู้เห็นสมควรให้จำเลยโอนไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยจึงมิได้ปฏิบัติผิดสัญญา จึงไม่ผิดนัดและไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาข้อ 4 แก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้แม้จะทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ยอมอนุมัติให้จำเลยโอนไปรับราชการอื่นได้ ก็ไม่มีภาระผูกพันหรือทำให้มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามที่รับสภาพไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาใช้ทุนการศึกษา-การรับราชการ: การโอนย้ายสังกัดไม่ถือเป็นการผิดสัญญา
ตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ข้อ 3 ว่า "เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะรับราชการต่อไปในสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่ระยะเวลาใดจะมากกว่ากัน" และข้อ 4 ว่า "หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในข้อ 3 หรือจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับในระหว่างไปศึกษาพร้อมเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้" ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือที่กระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร แต่จะต้องปฏิบัติราชการให้ครบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา มิใช่ต้องรับราชการในสังกัดโจทก์เท่านั้น เพราะถึงแม้จำเลยที่ 1 รับราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง หรือกรมอื่น จำเลยที่ 1 ก็สามารถนำความรู้ที่ศึกษาจากต่างประเทศมาปฏิบัติราชการให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอันเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ หากโจทก์ประสงค์ให้ผู้ลาไปศึกษาต้องกลับมารับราชการใช้ทุนเฉพาะที่กรมโจทก์ โจทก์สามารถทำได้โดยกำหนดเงื่อนไขของสัญญาให้มีข้อความผูกมัดคู่สัญญาไว้ให้ชัดแจ้งแต่โจทก์หาได้กระทำไม่ ทั้งตามหนังสือขอโอนข้าราชการ โจทก์เป็นผู้เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และยังคงปฏิบัติราชการในหน่วยงานดังกล่าวตลอดมาจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ โดยจำเลยไม่เคยลาออกจากราชการเลย จำเลยจึงมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว เมื่อไม่มีการผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดนัดและไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาข้อ 4 แก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้แม้จะทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ยอมอนุมัติให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่อื่นได้ ก็ไม่มีภาระผูกพันหรือทำให้มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามที่รับสภาพไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ และตามหนังสือรับสภาพหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้บัตรเครดิต: เริ่มนับใหม่เมื่อมีการชำระหนี้บางส่วน แม้จะมีการผ่อนผันการชำระหนี้ทั้งหมด
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกซึ่งทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปใช้จ่ายค่าสินค้าที่ซื้อจากร้านค้าหรือค่าบริการที่ใช้จากสถานบริการแทนการชำระด้วยเงินสด การที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนหรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็เป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ทดรองไป จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7)
จำเลยใช้บัตรซิตี้แบงก์วีซ่าครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนดต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 12 กันยายน 2540 และจำเลยใช้บัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ดครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2540 ครบกำหนดต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 22สิงหาคม 2540 ซึ่งวันที่จำเลยต้องชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งสองใบดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระได้ ต่อมาจำเลยชำระหนี้บางส่วนตามบัตรซิตี้แบงก์วีซ่าให้โจทก์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2540 และชำระหนี้บางส่วนตามบัตรซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ดให้โจทก์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2540 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) และมาตรา 193/15 โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2543 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2540 และวันที่ 27 ธันวาคม 2540 อันเป็นวันเริ่มนับอายุความใหม่ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
นับแต่จำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ครั้งสุดท้ายแล้ว จำเลยไม่เคยใช้บัตรเครดิตของโจทก์อีก ทั้งโจทก์มิได้ออกเงินทดรองให้แก่จำเลย ใบแจ้งยอดบัญชีที่โจทก์ส่งให้จำเลยแต่ละเดือนต่อมาล้วนแต่เป็นการคิดบวกรวมดอกเบี้ยที่จำเลยผิดนัด เบี้ยปรับที่จำเลยชำระหนี้ล่าช้าเข้ากับต้นเงินที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น การที่โจทก์ยังให้โอกาสจำเลยนำเงินมาชำระให้โจทก์ต่อไปอีกก็มิได้หมายความว่าโจทก์ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ติดค้างดังกล่าวแล้วให้แก่โจทก์โดยทันที เพียงแต่โจทก์ผ่อนผันไม่บังคับสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยเท่านั้น ทั้งโจทก์ก็คิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่ชำระหนี้ล่าช้าเป็นการตอบแทนที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามวันที่ถึงกำหนดชำระอายุความจึงเริ่มนับอีกครั้งเมื่อจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายตามหนี้บัตรเครดิตแต่ละใบมิใช่เริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดโดยไม่ผ่อนผันให้จำเลยค้างชำระหนี้อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9221/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ สัญญาค้ำประกันยังคงมีผล ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้
จำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และมิใช่เป็นการทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระหนี้และวิธีการชำระหนี้จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับ หนี้ตามสัญญาค้ำประกันการเช่าซื้อย่อมไม่ระงับเช่นกันจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไม่ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ยินยอมค้ำประกันการชำระหนี้ตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ด้วยก็ตามเพราะโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินที่ค้างชำระตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันและหนี้ยังไม่ระงับนั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8805/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกหนี้บัตรเครดิต: เริ่มนับจากผิดนัดชำระ และการชำระหลังขาดอายุความไม่เป็นการรับสภาพหนี้
การที่โจทก์ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องนำเงินไปชำระทันที โจทก์เป็นผู้ชำระแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากสมาชิกภายหลังหรือสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ โดยโจทก์เรียกค่าธรรมเนียมจากสมาชิกเป็นกรณีที่โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์ จึงมีอายุความ2 ปี โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนด ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 8พฤษภาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 7 พฤษภาคม2542 การที่จำเลยชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2542 นั้นเป็นการชำระหนี้ภายหลังจากขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกคืนไม่ได้ตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1)เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 สิงหาคม 2543 ซึ่งหลังครบกำหนดอายุความแล้วฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7405/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ภาษีไม่แน่นอน โจทก์ยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ แม้จำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แต่ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้มีคำวินิจฉัย ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่ง ของเจ้าพนักงานประเมินได้ หนี้ค่าภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินที่โจทก์นำมาฟ้องจึงเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ แม้คดีของโจทก์ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 แต่ก็ต้องอยู่ในบังคับแห่งมาตรา 17 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 55 เมื่อหนี้ยังไม่แน่นอนจึงหาอาจถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้วได้ไม่ แม้การที่จำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7308/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความในคดีล้มละลาย: ผลของการยกคำขอรับชำระหนี้และการสะดุดหยุดของอายุความ
แม้การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายคดีก่อนจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(3) แต่ก็ปรากฏว่าศาลในคดีดังกล่าวเห็นชอบตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ค่าสินค้าที่ลูกหนี้ค้างชำระ ซึ่งเจ้าหนี้มิได้อุทธรณ์ คำสั่งศาลในคดีดังกล่าวจึงถึงที่สุด ต้องถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/17และมาตรา 193/18 ดังนั้น เมื่อเจ้าหนี้นำหนี้ค่าสินค้าดังกล่าวมาฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปมูลหนี้ดังกล่าวจึงขาดอายุความตามมาตรา 193/34(1) จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6404/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้ต้องปราศจากข้อโต้แย้ง หากมีข้อโต้แย้งอายุความไม่สะดุด
การรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) ลูกหนี้จะต้องมีเจตนาใช้หนี้นั้นต่อเจ้าหนี้โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ แต่ตามรายงานประจำวันซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำไว้ที่สถานีตำรวจระบุว่าได้ชำระค่าจ้างงวดที่ 1 ให้แล้ว ยังคงค้างงวดที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้ตกลงกับจำเลยที่ 2 ว่าการจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละงวด จำเลยทั้งสองจะต้องชำระคนละครึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชำระงวดที่ 1 และงวดที่ 2 ให้โจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ชำระทั้งสองงวด การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินงวดที่ 2 อีก จำเลยที่ 1 ขอปฏิเสธ จึงเป็นการยอมรับเพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการชำระเงินค่าจ้างงวดที่ 2 เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่ทำให้อายุความค่าจ้างงวดที่ 2 สะดุดหยุดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6282/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องต้องมีสิทธิถูกโต้แย้ง: ลูกหนี้ร่วมไม่มีสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้ร่วม
โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ขนส่งอื่น เมื่อสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งของจำเลย โจทก์และจำเลยจึงต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งอย่างลูกหนี้ร่วมตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 45 โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ ประกอบกับโจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทผู้รับตราส่งหรือบริษัทผู้รับประกันภัยสินค้าโจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้ ดังนั้น แม้โจทก์จะทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยปฏิเสธ ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55ทั้งผู้มีสิทธิที่จะฟ้องเพื่อตั้งหลักฐานแห่งสิทธิเรียกร้องเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงเนื่องจากหนี้จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) จะต้องเป็นเจ้าหนี้เช่นเดียวกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5314/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน การฟ้องล้มละลาย & การรับสภาพหนี้ ผลต่ออายุความ
มูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินมีอายุความ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1001 การที่เจ้าหนี้ได้นำหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายก่อนที่ตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับจะครบกำหนดอายุความ เป็นการฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้อง ไม่ใช่เป็นเพียงเพื่อให้จัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ผู้ล้มละลายแต่อย่างเดียว ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173(เดิม) แม้ต่อมาเจ้าหนี้ได้ถอนฟ้องคดีล้มละลายอันเป็นผลให้ไม่นับว่าเป็นเหตุให้อายุความสะดุดลงตามมาตรา 174(เดิม) ก็ตาม แต่เมื่อพ้นกำหนดอายุความตามตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว ลูกหนี้ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ยอมรับผิดชดใช้หนี้ต่อเจ้าหนี้ถือได้ว่าลูกหนี้ได้ละเสียซึ่งอายุความที่ครบบริบูรณ์และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันรับสภาพหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ก่อนครบกำหนดอายุความซึ่งมีกำหนดเวลา 3 ปี เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้
of 20