คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ม. 102 ตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีอากรขาเข้า: กรณีตรวจพบอากรขาด เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจเรียกเก็บเงินเพิ่ม
การได้เงินรางวัลของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่อาจว่ากล่าวกันต่อไปตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนําสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองและกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์กระทำการใด ๆ อันมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ประกอบกับตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง วรรคสาม มาตรา 15 วรรคสี่ กฎกระทรวงฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2542) ออกตามความใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ข้อ 1 และข้อ 2 คู่กรณีที่จะคัดค้านว่าเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองจะทำการพิจารณาทางปกครองไม่ได้เนื่องจากมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางตามมาตรา 16 จะต้องทำคำคัดค้านเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ผู้นั้น โดยระบุข้อคัดค้านพร้อมด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือคัดค้าน และต้องยื่นหนังสือคัดค้านก่อนได้รับแจ้งคำสั่งทางปกครอง เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนําสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า โจทก์ได้ทำคำคัดค้านเป็นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองที่โจทก์อ้างว่า มีส่วนได้เสียในการออกแบบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยระบุข้อคัดค้านพร้อมด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในหนังสือคัดค้าน และได้ยื่นหนังสือคัดค้านก่อนได้รับแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์จึงไม่อาจยกข้ออ้างดังกล่าวขึ้นในชั้นพิจารณาของศาลได้และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ให้โอกาสโจทก์ชี้แจงหรือแสดงความเห็นต่อจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 29 วรรคหนึ่งแล้ว การกระทำของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองและกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนการที่จำเลยที่ 1 จะได้นําคำชี้แจงและรายละเอียดความเห็นของโจทก์ไปพิจารณาประกอบการประเมินหรือการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เป็นขั้นตอนการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาของจำเลยที่ 1
แบบแจ้งการประเมินพิพาทและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายซึ่งมีผลอันที่จะก่อนิติสัมพันธ์ขึ้น และมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง แบบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามคำนิยามของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 และต้องทำให้ถูกต้องตามรูปแบบของมาตรา 37 โดยต้องจัดให้มีเหตุผลและเหตุผลนั้นอย่างน้อยประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ เว้นแต่เป็นกรณีเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก สำหรับแบบแจ้งการประเมินที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์สำแดงพิกัดไม่ถูกต้อง จึงประเมินภาษีอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้โจทก์ชําระภาษีอากรในส่วนที่ขาดพร้อมเงินเพิ่ม โจทก์อุทธรณ์การประเมินโดยโต้แย้งยืนยันว่าโจทก์สำแดงพิกัดและเสียภาษีถูกต้องแล้วโดยบรรยายรายละเอียดในคำอุทธรณ์ไว้อย่างชัดเจน แสดงว่าโจทก์ทราบและเข้าใจเหตุผลในการประเมินดังกล่าวเป็นอย่างดี และเมื่อพิจารณาแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีวางประกัน) ปรากฏว่าเป็นแบบแจ้งการประเมินกรณีวางประกันซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์อ้างว่า โจทก์วางประกันค่าอากร โดยใช้หนังสือค้ำประกันจากธนาคารจนคุ้มจำนวนอากรในอัตราสูงสุดที่จะต้องเสียตามประเภทย่อยที่ 8708.50.90 จำนวน 298,720 บาท เนื่องจากโจทก์ประสงค์ที่จะโต้แย้งพิกัดต่อไป แสดงให้เห็นว่าโจทก์ย่อมทราบดีว่า จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าสินค้าที่โจทก์นําเข้าควรจัดอยู่ในประเภทพิกัดใด เพราะเหตุใด กรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องจัดให้มีเหตุผลเพราะเหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก ตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จึงฟังได้ว่า แบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีวางประกัน) ฉบับดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองชอบด้วยกฎหมายแล้ว สำหรับแบบแจ้งการประเมินพิพาทอีก 113 ฉบับ มีข้อความระบุเกี่ยวกับใบขนสินค้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่อ้างถึง ชื่อยานพาหนะ วันนําเข้า และเหตุที่ทำให้ค่าภาษีอากรขาด โดยมีรายละเอียดจำนวนภาษีอากรที่ต้องชําระ ภาษีอากรที่ชําระไว้แล้ว ภาษีอากรที่ต้องชําระเพิ่ม เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจึงฟังได้ชัดเจนว่า แบบแจ้งการประเมินอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญว่าโจทก์สำแดงประเภทพิกัดผิดจนเป็นเหตุให้โจทก์เสียภาษีไม่ถูกต้องหรือชําระภาษีอากรขาดไป มีการอ้างอิงข้อกฎหมายที่ใช้ในการประเมินตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ทั้งยังได้แจ้งพิกัดอันเป็นข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามที่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าถูกต้องให้โจทก์ทราบแล้วด้วย สำหรับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ระบุเหตุผลและคำวินิจฉัยไว้ โดยเมื่อโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ก็สามารถฟ้องคดีนี้โดยโต้แย้งเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้อย่างละเอียดตรงตามประเด็นแห่งการประเมินและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าสินค้าที่โจทก์นําเข้าเป็นของตามประเภทย่อยที่ 8482.40.00 อัตราอากรร้อยละ 1 จึงฟังได้ว่าแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) 113 ฉบับพิพาท และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ชอบด้วยมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แล้ว
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มมายังโจทก์ภายในระยะเวลาประเมินตามกฎหมายหรือไม่ นั้น ป.รัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติให้ผู้รับการประเมินต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน เมื่อโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม
มาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 กำหนดสิทธิของกรมศุลกากร กรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกอากรขาดให้มีอายุความสิบปีนับจากวันที่นําของเข้าหรือส่งของออกประการหนึ่ง และในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนอากรผิดให้มีอายุความสองปีนับจากวันที่นําของเข้าหรือส่งของออกอีกประการหนึ่ง ส่วนกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากรให้มีกำหนดอายุความสิบปี ส่วนการนับอายุความกรณีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสำหรับของที่นําเข้า เริ่มนับตั้งแต่วันนําของเข้า ซึ่งกรมศุลกากรอาจใช้สิทธิเรียกเงินอากรที่ขาดได้เพราะกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ข้อพิพาทคดีนี้มิใช่เป็นกรณีจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิเรียกอากรที่ขาดไปในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดซึ่งมีอายุความสองปีนับแต่วันที่นําของเข้า แต่เป็นกรณีมีอายุความสิบปีไม่ว่าเป็นกรณีมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/ 31 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น ไม่ว่ามีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีตั้งแต่วันนําของเข้า แตกต่างเฉพาะตัวบทกฎหมายที่อ้างอิงเท่านั้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์นําเข้าสินค้าตามใบขนสินค้า รวม 18 ฉบับ ซึ่งนับแต่วันนําเข้าตามใบขนดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์ได้รับแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) ในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 จึงเป็นการแจ้งการประเมินเกินกำหนดอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นําของเข้าแล้ว เมื่อการแจ้งการประเมินเป็นหนังสือถือเป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งของการประเมินและต้องกระทำให้เสร็จสมบูรณ์ภายในอายุความแต่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 แจ้งการประเมินอากรขาเข้าเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว การประเมินอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าทั้งสิบแปดฉบับดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การจะจัดสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใดต้องใช้หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Explanatory Notes : EN) ซึ่งในภาค 2 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 พิกัดอัตราศุลกากรขาเข้า ได้ระบุสินค้าในประเภทที่ 84.82 ประเภทย่อยที่ 8482.40.00 ว่า "โรลเลอร์แบริ่งรูปเข็ม" ประเภทย่อยที่ 8482.50.00 ว่า "โรลเลอร์แบริ่งรูปทรงกระบอกอื่น ๆ" ขณะนําเข้าอัตราอากรร้อยละ 1 และประเภทที่ 87.08 ว่า "ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานยนต์ตามประเภท 87.01 ถึง 87.05" ประเภทย่อยที่ 8708.99 ว่า "อื่น ๆ" และประเภทย่อยที่ 8708.99.99 ว่า "อื่น ๆ" ขณะนําเข้าอัตราอากรร้อยละ 30 คดีนี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์นําเข้าสินค้าที่เป็นปัญหาในคดีนี้ 2 รายการ ซึ่งจากคำเบิกความพยานจำเลยทั้งสองที่สอดคล้องตรงกับเอกสารที่จำเลยทั้งสองนําสืบแสดงให้เห็นว่าสินค้าโรลเลอร์แบริ่ง (BEARING SUB - ASSY, UNIVERSAL JOINT SPIDER) ที่โจทก์นําเข้ามาพร้อมกับข้อต่อกากบาท (SPIDER SUB-ASSY, UNIVERSAL JOINT) ตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 114 ฉบับ โจทก์มีเจตนานําเข้ามาเพื่อใช้กับสินค้าข้อต่อกากบาทโดยต้องนําชิ้นส่วนทั้งสองประกอบเข้าด้วยกันในสัดส่วน โรลเลอร์แบริ่งรูปเข็ม (BEARING SUB-ASSY) 4 ชิ้น ต่อข้อต่อกากบาท (SPIDER SUB - ASSY) 1 ชิ้น และนํามาประกอบร่วมกับชิ้นส่วนภายในประเทศ ได้แก่ ก้ามปู และแหวนล็อกเพื่อผลิตเป็นข้อต่ออ่อน (UNIVERSAL JOINT) โดยโจทก์ไม่ได้นําสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้น เมื่อส่วนประกอบย่อยโรลเลอร์แบริ่งถูกนําเข้ามาพร้อมกันกับข้อต่อกากบาท แม้จะไม่มีองค์ประกอบที่จำเป็นทั้งหมด แต่อัตราส่วนที่นําเข้ามาเพียงพอที่จะประกอบเป็นข้อต่ออ่อนหนึ่งตัวได้ จึงมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของข้อต่ออ่อนแล้ว เมื่อข้อต่ออ่อนที่ประกอบแล้ว เป็นองค์ประกอบหนึ่งของระบบส่งกำลังของยานยนต์จึงจัดอยู่ในหมวด 17 ยานบก อากาศยาน ยานน้ำ และเครื่องอุปกรณ์การขนส่งที่เกี่ยวข้อง ตอนที่ 87 ยานบกนอกจากรถที่เดินบนรางรถไฟหรือรางรถราง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของยานดังกล่าว มากกว่าที่จะจัดอยู่ในหมวด 16 เครื่องจักรและเครื่องใช้กล เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า ส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว เครื่องบันทึกเสียงและเครื่องถอดเสียง เครื่องบันทึกและเครื่องถอดภาพและเสียงทางโทรทัศน์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องดังกล่าว ตอนที่ 84 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว ประกอบกับคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Explanatory Notes : EN) ตาม EN/HS 2007 heading 87.08 หน้า XVII - 8708 - 2 (F) ได้ระบุข้อต่ออ่อน (Universal Joints) ไว้ในหัวข้อส่วนประกอบและองค์ประกอบอื่น ๆ ของระบบส่งกำลัง (Other transmission parts and components) ที่ไม่ใช่ส่วนประกอบภายในของเครื่องยนต์ ให้รวมอยู่ในหมวดนี้ (คือหมวด 17) ด้วย ดังนั้น จึงฟังได้ว่าสินค้าโรลเลอร์แบริ่งพิพาทตรงกับข้อกำหนดของหลักเกณฑ์การตีความข้อ 2 (ก) ในฐานะส่วนประกอบข้อต่ออ่อนที่ยังไม่ครบสมบูรณ์และนําเข้ามาโดยยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกันตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และข้อ 6 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของฝ่ายเลขานุการขององค์การศุลกากรโลก (WCO) ที่ได้มีหนังสือลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 มีความเห็นให้จัดสินค้าโรลเลอร์แบริ่ง (BEARING SUB - ASSY) และข้อต่อกากบาท (SPIDER SUB - ASSY) เป็นของตามประเภทที่ 87.08 (ประเภทย่อยที่ 8708.99) ในฐานะข้อต่ออ่อนที่ยังไม่ครบสมบูรณ์ และนําเข้ามาโดยถอดแยกออกจากกันโดยหลักเกณฑ์การตีความ ข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 6 นอกจากนี้ส่วนที่ต้องมีกระบวนการประกอบนั้น Explanatory Notes : EN หน้า GIR - 2 ข้อ (VII) ระบุว่าไม่ต้องนํามาพิจารณา เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่า โรลเลอร์แบริ่งที่โจทก์นําเข้ามาพร้อมกับข้อต่อกากบาทนั้นเป็นส่วนประกอบของข้อต่ออ่อนของเพลากลางซึ่งเป็นระบบส่งกำลังของยานยนต์ จึงไม่ใช่ส่วนประกอบภายในของเครื่องยนต์และไม่อยู่ในข้อยกเว้นของคำว่า "ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ" ตามหมายเหตุข้อ 2 (จ) ของหมวด 17 แต่จัดเป็นส่วนประกอบของข้อต่ออ่อนตามความข้อ (ฉ) ของคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ที่อธิบายประเภทที่ 87.08 และเมื่อพิจารณาบันทึกข้อความเกี่ยวกับผลการสอบถามองค์การศุลกากรโลกและหนังสือตอบกลับจากผู้อำนวยการฝ่ายพิกัดอัตราศุลกากรและการค้าแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนต่อองค์การศุลกากรโลก (WCO) โดยจำเลยที่ 1 ได้ระบุรายละเอียดของสินค้าที่เป็นปัญหา ลักษณะการนําเข้า จำนวน ประเภทพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่เป็นปัญหา และคำถามในหนังสือสอบถามอย่างชัดเจน ส่วนองค์การศุลกากรโลกจะพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์การตีความตามหมายเหตุข้อ 2 (จ) ตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่นั้นก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงของสินค้าที่มีปัญหาว่าจะต้องใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาซึ่งองค์การศุลกากรโลกย่อมพิจารณาตามหลักเกณฑ์การตีความและหมายเหตุที่ประเทศภาคีสมาชิกถือปฏิบัติร่วมกัน ดังนั้น ความเห็นดังกล่าวของทางองค์การศุลกากรโลกถูกจัดทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญชํานาญด้านพิกัดและเป็นกลางและมีประสบการณ์ด้านการจำแนกพิกัดที่ให้คำปรึกษาแนะนําแก่ประเทศสมาชิก ที่นํามาเป็นแนวทางและความเห็นที่ได้มาโดยวิธีการอันชอบแล้ว จำเลยที่ 1 จึงสามารถนําความเห็นของทางองค์การศุลกากรโลกมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาได้ พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนําสืบมาจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังตามพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองได้ว่า โจทก์นําเข้าสินค้าโรลเลอร์แบริ่งโดยมีเจตนาเพื่อใช้กับสินค้าข้อต่อกากบาทโดยต้องนําชิ้นส่วนทั้งสองประกอบเข้าด้วยกันในสัดส่วน โรลเลอร์แบริ่งรูปเข็ม 4 ชิ้น ต่อข้อต่อกากบาท 1 ชิ้น และนํามาประกอบร่วมกับชิ้นส่วนภายในประเทศ ได้แก่ ก้ามปูและแหวนล็อก เพื่อผลิตเป็นข้อต่ออ่อน (UNIVERSAL JOINT) เมื่อโรลเลอร์แบริ่งถูกนําเข้ามาพร้อมกับข้อต่อกากบาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงอาศัยหลักเกณฑ์การตีความข้อ 2 (ก) โดยพิจารณาจากการใช้งานที่สินค้าทั้งสองชนิดนําเข้ามาพร้อมกันสำหรับประกอบร่วมกับก้ามปูและแหวนล็อก เพื่อประกอบเป็นข้อต่ออ่อน โดยให้โรลเลอร์แบริ่งที่มีปริมาณสอดคล้องกันที่สามารถประกอบเป็นของครบชุดสมบูรณ์ได้ คือ โรลเลอร์แบริ่ง 4 ชิ้น ต่อข้อต่อกากบาท 1 ชิ้น (4 ต่อ 1) เป็นของที่ยังไม่ครบสมบูรณ์ที่นําเข้ามาโดยยังไม่ได้ประกอบเข้าด้วยกัน แต่ขณะนําเข้ามีลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของข้อต่ออ่อนที่ครบสมบูรณ์แล้ว จัดอยู่ในประเภทที่ 87.08 ประเภทย่อยที่ 8708.99.99 ในฐานะเป็นส่วนประกอบของข้อต่ออ่อนอันเป็นส่วนประกอบของเพลากลางของยานยนต์ ตามประเภทที่ 87.01 ถึง 87.05 อื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 1 ข้อ 2 (ก) และข้อ 6 ส่วนโรลเลอร์แบริ่งปริมาณส่วนที่เกินตามอัตราส่วนการประกอบให้จัดเข้าประเภทย่อยที่ 8482.40.00 ในฐานะโรลเลอร์แบริ่งรูปเข็มตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 1 และข้อ 6 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อได้วินิจฉัยว่าไม่มีเหตุให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนอากรขาเข้าดังนี้แล้ว ในปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนฐานของอากรขาเข้าหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะอากรขาเข้าไม่มีการแก้ไขให้ลดลง ย่อมไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
สินค้าพิพาทที่โจทก์นําเข้าเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 โจทก์ได้ยื่นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (FORM D) ขณะนําเข้า ซึ่งเจ้าพนักงานจำเลยที่ 1 จัดสินค้าของโจทก์เข้าประเภทพิกัด 8708.99.99 และ ประเภทพิกัด 8482.40.00 สามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 21 มกราคม 2551 สำหรับใบขนสินค้าพิพาทอีก 113 ฉบับนั้น ประกาศกระทรวงการคลังและประกาศกรมศุลกากรที่ออกโดยอาศัยอำนาจของมาตรา 14 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งสำหรับผู้นําของเข้าที่ประสงค์จะใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรว่าต้องแสดงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งหากผู้นําของเข้าไม่ปฏิบัติตามให้ครบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว ผู้นําของเข้าก็ต้องชําระอากรในอัตราปกติและไม่ได้รับสิทธิพิเศษตามมาตรา 14 เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในคำฟ้องและทางนําสืบของโจทก์ว่ามีการยื่นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (FORM D) หรือขอสงวนสิทธิ์การขอใช้สิทธิพิเศษทางศุลกากรไว้ โดยโจทก์กล่าวอ้างในชั้นฎีกาทำนองว่า โจทก์ไม่จำเป็นต้องยื่นเอกสารดังกล่าว ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์มิได้ยื่นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (FORM D) ขณะนําเข้าตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าว โจทก์จึงต้องชําระอากรในอัตราปกติและไม่มีสิทธิได้รับลดหรือยกเว้นอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังตามที่โจทก์กล่าวอ้าง
จำเลยที่ 1 มิได้ประเมินเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าตามแบบแจ้งการประเมิน 113 ฉบับแก่โจทก์ และเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์จึงมิได้โต้แย้งหรือมีคำขอให้เพิกถอนประเด็นเงินเพิ่มอากรขาเข้า ดังนั้น คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงมิได้วินิจฉัยในส่วนนี้ ประกอบกับคดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับการประเมินภาษีอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มฟ้องและมีคำขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมิได้มีคำขอท้ายคำฟ้องให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชําระเงินเพิ่มอากรขาเข้าของแบบแจ้งการประเมิน 113 ฉบับ แต่อย่างใด อีกทั้งไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้โจทก์รับผิดชําระเงินเพิ่มอากรขาเข้าแก่จำเลยที่ 1 กรณีจึงไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ต้องรับผิดชําระเงินเพิ่มอากรขาเข้าให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับแบบแจ้งการประเมิน 113 ฉบับดังกล่าวหรือไม่ และปรากฏตามสำนวนว่าหลังจากศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมิน สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 114 ฉบับแล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ โดยบรรยายในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าโดยสำแดงประเภทพิกัดและอัตราอากรอันเป็นเท็จโดยอัตราอากรที่สำแดงต่ำกว่าอัตราอากรที่ตรวจพบจนเป็นเหตุให้ภาษีอากรที่โจทก์ต้องชําระขาดไป โจทก์ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอากรขาเข้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา ในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินอากรขาเข้าที่ต้องชําระนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์รับไปจนถึงวันที่นําเงินมาชําระ จึงเห็นได้ชัดว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนปัญหาว่า โจทก์ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรตามแบบแจ้งการประเมินสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A003-05212-03981 หรือไม่นั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 จัตวา และมาตรา 102 ตรี จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นํามาชําระได้เมื่อผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีเจตนายื่นใบขนสินค้าขาเข้าโดยสำแดงพิกัดและอัตราอากรอันเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดรายละเอียดของสินค้าที่นําเข้าโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี อันเป็นกรณีที่เป็นความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 2 ส่วนกรณีที่มีการเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบตามอนุมาตรา 3 จำเลยที่ 1 เรียกเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ ดังนั้น กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชําระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นําของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือฐานสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือใบขนสินค้าขาออก เป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนารายงานประชุมคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีความเห็นว่าสินค้าพิพาทที่โจทก์นําเข้ายังคงมีปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์การตีความและสภาพการนําเข้าสินค้า จึงมีมติให้หารือในสำนักพิกัดอัตราศุลกากรโดยส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการพิจารณาปัญหาพิกัดศุลกากร (กปพ.) เพื่อทบทวนและส่งเรื่องไปหารือองค์การศุลกากรโลก (WCO) ซึ่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในการพิจารณาปัญหาพิกัดศุลกากร (กปพ.) มีความเห็นว่า ข้อมูลรายละเอียดสินค้ามีความสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วและไม่มีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม จึงมีความเห็นคงเดิมและไม่มีการพิจารณาใหม่ คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงมีมติให้ส่งเรื่องไปหารือองค์การศุลกากรโลก (WCO) เพื่อให้ได้ข้อสรุปในประเด็นเรื่องหลักเกณฑ์การตีความและประเภทพิกัดสินค้า แสดงให้เห็นว่า สินค้าพิพาทมีปัญหาเกี่ยวกับประเภทพิกัดอัตราศุลกากร โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับการจำแนกประเภทพิกัดของสินค้าดังกล่าวและหลักเกณฑ์การตีความสำหรับการนําเข้าของโจทก์ พฤติการณ์ที่โจทก์สำแดงประเภทพิกัดสำหรับสินค้าพิพาทเช่นเดิมซึ่งเคยนําเข้าสินค้าพิพาทมาก่อนโดยโจทก์เห็นว่า กองพิกัดอัตราศุลกากรเคยพิจารณาประเภทพิกัดสำหรับสินค้าลูกปืนกากบาท จัดอยู่ในประเภทย่อยที่ 8482.50 และสินค้าข้อต่อกากบาทจัดอยู่ในประเภทย่อยที่ 8708.99 เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าโจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าสินค้าพิพาทจัดอยู่ในประเภทย่อยที่ 8482.50 เมื่อตามทางนําสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของโจทก์ในการชําระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่โจทก์สำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชําระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาด โดยเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 ดังนั้น โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มอากร (อากรขาเข้า) ตามแบบแจ้งการประเมินสำหรับใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ A 003-05212-03981 แต่อย่างใด เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้าจากโจทก์เกินกว่าอากรขาเข้าที่โจทก์ต้องชําระหรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พิกัดอัตราศุลกากร การประเมินภาษี เงินเพิ่ม และผลของการไม่อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงอัตราพิกัดศุลกากรไม่ถูกต้อง จึงได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระเพิ่มพร้อมเงินเพิ่ม ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความสองปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีนับตั้งแต่วันนำของเข้า และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยมีใบขนสินค้าหลายฉบับ นับจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีจะเกินสิบปี แต่เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย ส่งให้จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนดสิบปี แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้าอยู่ด้วย แต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และจำเลยได้รับแล้วมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวโดยฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 112 อัฏฐารส แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงเป็นผลให้จำเลยหมดสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำนวนภาษีจึงยุติตามการประเมินและตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว และต้องฟังว่า สินค้าพิพาทจัดเป็นของตามประเภทพิกัด 9403.20 และพิกัดประเภทที่ 9403.20.00 ในฐานะเป็นเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ทำด้วยโลหะตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
ตามมาตรา 112 จัตวา แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระได้เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมีเจตนายื่นใบสินค้าขาเข้าโดยสำแดงพิกัดและอัตราอากรอันเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดรายละเอียดของสินค้าที่นำเข้าโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1 และอนุมาตรา 2 ส่วนกรณีที่มีการเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบตามอนุมาตรา 3 โจทก์เรียกเก็บเงินเพิ่มไม่ได้ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ด้วยว่า จำเลยมิได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษี แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในข้อนี้ จึงยังไม่ยุติ เมื่อตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาที่จะสำแดงประเภทพิกัดของสินค้าพิพาทเป็นเท็จ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าความรับผิดของจำเลยในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้อง แต่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่ม เนื่องจากเป็นกรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดโดยเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3798/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินเพิ่มอากรขาเข้า: การสำแดงเท็จและข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 102 ตรี และ 112 จัตวา
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออกจนถึงวันที่นำเงินมาชำระ แต่มิให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวในกรณีที่มีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3" และเมื่อพิจารณาความในมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 แล้ว เห็นว่า กรณีที่มีการตรวจเก็บอากรขาดและเจ้าหน้าที่ผู้สำรวจเงินอากรตรวจพบอันเป็นผลให้ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกต้องชำระอากรเพิ่มเติม แต่ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกมิได้กระทำผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือสำแดงเท็จ แต่ได้สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้าหรือขาออกเป็นเหตุให้จำนวนเงินอากรขาดไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ความรับผิดของจำเลยในการชำระค่าอากรที่ขาดเกิดจากการที่จำเลยสำแดงเท็จในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาท จึงไม่ต้องด้วยกรณีที่ไม่ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มเมื่อมีการชำระอากรเพิ่มตามมาตรา 112 ตรี อนุมาตรา 3
ส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางยกคำขอให้ชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าโดยให้เหตุผลวินิจฉัยคดีประการหนึ่งว่า ตามคำฟ้องและแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 มิได้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรขาเข้านั้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ที่แก้ไขแล้วตอนท้ายได้บรรยายเกี่ยวกับเงินเพิ่มดังกล่าวแล้วว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนนับตั้งแต่วันตรวจปล่อยคำนวณถึงวันฟ้อง สำหรับแบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 แม้จะมิได้ระบุจำนวนเงินเพิ่มอากรขาเข้าที่จำเลยจะต้องชำระ แต่ความในมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เรียกเก็บเงินเพิ่มดังกล่าวเมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม โดยมิได้บัญญัติให้ความรับผิดในการเสียเงินเพิ่มดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่อันจะต้องระบุไว้ในใบแจ้งการประเมิน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะมีการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ ผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกก็ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มดังกล่าว ดังนั้นแม้แบบแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ 1 มิได้ระบุจำนวนเงินเพิ่มอากรที่ต้องชำระ จำเลยก็ต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มดังกล่าวโดยผลของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสำแดงราคาสินค้านำเข้าเท็จ การเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร
จำเลยสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายจริงอันเป็นกรณีสำแดงเท็จตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 2 ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งความนำจับหรือไม่ก็ไม่อาจเป็นกรณีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 เมื่อไม่อาจเป็นกรณีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 3 จึงเป็นกรณีที่เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนหรือเศษของเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่งและวรรคสามได้ แม้จะมิได้ระบุการเรียกเก็บมาในแบบแจ้งการประเมินก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 281/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสั่งจ่ายเงินรางวัลของอธิบดีกรมศุลกากรและการใช้ดุลพินิจตามระเบียบ หากถูกต้องตามขั้นตอนและไม่ประมาทเลินเล่อไม่ต้องคืนเงิน
เมื่อโจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยที่ 2 ที่อนุมัติให้จ่ายเงินรางวัลตามบันทึกเสนอของจำเลยที่ 5 เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งห้าสิบเจ็ดจึงต้องคืนเงินรางวัลแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยแต่ละคนรับไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามฟ้องจึงตั้งฐานมาจากคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยแต่ละคนมีจำนวนเงินที่แน่นอน แต่โจทก์ก็ยังมีคำขอให้จำเลยที่ 2และที่ 5 ร่วมกันชดใช้เงินรางวัลทั้งหมดแทนจำเลยอื่น ทั้งศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันชดใช้แทนจำเลยอื่นด้วย จำเลยทุกคนจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีอันมีทุนทรัพย์ทั้งหมดตามที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทุกคนซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 50 ถึงที่ 57 จึงมิใช่อุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ทั้งจำเลยที่ 50 ถึงที่ 57 ก็ได้อุทธรณ์ด้วยว่า อำนาจการสั่งจ่ายเงินรางวัลเป็นอำนาจโดยเฉพาะตัวของอธิบดีกรมศุลกากรเป็นอำนาจทางด้านการบริหารราชการและเป็นอำนาจเด็ดขาดของอธิบดีกรมศุลกากรไม่อาจถูกเพิกถอนได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมาย ซึ่งหาได้ต้องห้ามอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์จำเลยที่ 50 ถึงที่ 57 และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดของจำเลยที่ 50 ถึงที่ 57 ด้วยเหตุที่อ้างว่าอุทธรณ์จำเลยที่ 50 ถึงที่ 57ต้องห้ามอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง กรณีไม่ต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 50 ถึงที่ 57
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี บัญญัติว่า"ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนและรางวัลตามระเบียบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด..." และระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลพ.ศ. 2517 ข้อ 4 (1) กำหนดว่า "กรณีตามมาตรา 102 ตรี อนุมาตรา 1คือความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือของต้องห้ามต้องกำกัดในการนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในกรณีที่มีผู้แจ้งความนำจับ ให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนร้อยละ 30 เป็นเงินรางวัลร้อยละ 25 กรณีที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับให้หักจ่ายเป็นรางวัลร้อยละ 30 โดยคำนวณจากค่าปรับ" ส่วนข้อ 6 (5) กำหนดว่า"เงินรางวัลตามข้อ 4 (1) และ (2) ให้จ่ายแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้...(5) เงินรางวัลจะไม่จ่ายให้ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาเห็นว่าความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้วเช่น เป็นความผิดเกี่ยวกับพิธีการหรือเอกสาร เป็นต้น" บทบัญญัติของกฎหมายและข้อกำหนดในระเบียบดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าอธิบดีกรมศุลกากรเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตามจำนวนในข้อ 4 (1)ส่วนข้อยกเว้นที่จะไม่จ่ายเงินรางวัลคงเป็นไปตามข้อ 6 (5) คือในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาเห็นว่า ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้วเท่านั้น ซึ่งเป็นการให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรที่จะใช้ดุลพินิจได้โดยลำพังว่า ความผิดที่เกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้มีการจ่ายเงินรางวัลนั้นเป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้วหรือไม่ บทบัญญัติดังกล่าวหาเป็นเงื่อนไขเด็ดขาดที่จะต้องงดการจ่ายเงินรางวัลดังเช่นที่กำหนดไว้ในข้อ 11และข้อ 12 แห่งระเบียบดังกล่าวข้างต้นไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการกระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือของต้องห้ามต้องกำกัดในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร อันมีผลทำให้มีการจ่ายเงินรางวัลตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ. 2517 ข้อ 4 (1) และจำเลยที่ 2ซึ่งใช้อำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาสั่งให้จ่ายเงินรางวัลโดยไม่ได้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งใช้อำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรหรืออธิบดีกรมศุลกากรในขณะนั้นได้พิจารณาเห็นว่า ความผิดที่เกิดขึ้นจากการตรวจจับสินค้ารายพิพาทนี้เป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้ว และสั่งมิให้จ่ายเงินรางวัลแต่ประการใดคำสั่งให้จ่ายเงินรางวัลของจำเลยที่ 2 จึงหาเป็นคำสั่งที่ผิดต่อระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2517 ไม่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 57 จึงไม่ต้องคืนเงินรางวัลแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง /เมื่อ
เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมศุลการปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลการได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุที่จะอนุมัติจ่ายเงินรางวัลได้ตามระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พ.ศ.2517 และเห็นว่ามิใช่เป็นกรณีความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้ว จึงได้มีคำสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินรางวัลแก่จำเลยทั้งห้าสิบเจ็ดไปเมื่อจำเลยที่ 2 ได้ใช้ดุลพินิจสั่งอนุมัติจ่ายเงินรางวัลโดยทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจับกุมสินค้าและการเสนอขออนุมัติเบิกเงินรางวัลได้กระทำโดยถูกต้องตามขั้นตอนตามระเบียบการปฏิบัติราชการแล้ว จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ดุลพินิจโดยประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 281/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการสั่งจ่ายเงินรางวัลของอธิบดีกรมศุลกากร การใช้ดุลพินิจต้องไม่ขัดระเบียบ และการพิสูจน์ความผิดตามปกติวิสัย
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าคำสั่งของจำเลยที่2ที่อนุมัติให้จ่ายเงินรางวัลตามบันทึกเสนอของจำเลยที่5เป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายจำเลยทั้งห้าสิบเจ็ดจึงต้องคืนเงินรางวัลแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยแต่ละคนรับไปสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามฟ้องจึงตั้งฐานมาจากคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่2แม้โจทก์จะเรียกร้องจากจำเลยแต่ละคนมีจำนวนเงินที่แน่นอนแต่โจทก์ก็ยังมีคำขอให้จำเลยที่2และที่5ร่วมกันชดใช้เงินรางวัลทั้งหมดแทนจำเลยอื่นทั้งศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยที่2และที่5ร่วมกันชดใช้แทนจำเลยอื่นด้วยจำเลยทุกคนจึงมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีอันมีทุนทรัพย์ทั้งหมดตามที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทุกคนอุทธรณ์ของจำเลยที่50ถึงที่57จึงมิใช่อุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมาย อุทธรณ์ที่ว่าอำนาจการสั่งจ่ายเงินรางวัลเป็นอำนาจโดยเฉพาะตัวของอธิบดีเป็นอำนาจทางด้านการบริหารราชการและเป็นอำนาจเด็ดขาดของอธิบดีไม่อาจถูกเพิกถอนได้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเป็นข้อกฎหมายซึ่งหาได้ต้องห้ามอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ ระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลพ.ศ.2517ข้อ4(1),6(5)ออกโดยมาตรา102ตรีแห่งพระราชบัญญัติ ศุลกากรพ.ศ.2469หาเป็นเงื่อนไขเด็ดขาดที่จะต้องงดการจ่ายเงินรางวัลดังเช่นที่กำหนดไว้ในข้อ11และข้อ12แห่งระเบียบดังกล่าวข้างต้นไม่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่ามีการกระทำความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรหรือของต้องห้ามต้องกำจัดในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันมีผลทำให้มีการจ่ายเงินรางวัลตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลพ.ศ.2517ข้อ4(1)และจำเลยที่2ซึ่งใช้อำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรพิจารณาสั่งให้จ่ายเงินรางวัลโดยไม่ปรากฎว่าจำเลยที่2ได้พิจารณาเห็นว่าความผิดที่เกิดขึ้นเป็นความผิดซึ่งตามปกติวิสัยย่อมจะตรวจพบอยู่แล้วคำสั่งให้จ่ายเงินรางวัลของจำเลยที่2จึงหาเป็นคำสั่งที่ผิดต่อระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัลพ.ศ.2517ดังที่โจทก์อ้างในฟ้องไม่จำเลยที่1ถึงที่57จึง ไม่ต้องคืน เงินรางวัลแก่โจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3159/2532 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามลักลอบนำแร่ดีบุกออกนอกราชอาณาจักร การพิจารณาโทษตามกฎหมายแร่และศุลกากร
จำเลยขนแร่ดีบุกซึ่งแต่งและย่าง แห้งแล้วบรรจุไว้ในกระสอบที่มีน้ำหนักเท่ากันจำนวนถึง 853 กระสอบ จากบนบกลงเรือหางยาวนำไปเก็บไว้บนแพซึ่งจอดอยู่กลางทะเลลึกห่างจากฝั่งถึง 2 กิโลเมตร เพื่อรอเรือใหญ่มาขนต่อไปอีกทอดหนึ่ง โดยแพก็มีเครื่องยนต์ถึง 2 เครื่อง ซึ่งสามารถนำแร่ดีบุกต่อไปยังเรือใหญ่เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักรได้โดยง่าย แสดงว่าจำเลยมีเจตนาลักลอบส่งแร่ดีบุกออกนอกราชอาณาจักร และถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เลยขั้นตระเตรียมการแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักร
ความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 129, 152 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 23 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27, 102 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และการพิจารณาว่าบทกฎหมายใดเป็นบทหนักหรือเบากว่ากันนั้นจะต้องพิเคราะห์จากอัตราโทษจำคุก ปรากฏว่าโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 152 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 23 กับโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102 ตรี นั้น มีอัตราโทษสูงสุดเท่ากันคือจำคุกไม่เกิน 10 ปี แต่ความผิดฐานพยายามลักลอบนำแร่ออกนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 มีอัตราโทษเท่ากับการทำความผิดสำเร็จ ดังนั้น โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ดังกล่าวจึงหนักกว่าโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติแร่ฯ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4305/2530 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องเคลือบคลุมและอำนาจศาลอุทธรณ์ในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวน
ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) หรือไม่นั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะไม่ใช้อำนาจนั้นก็ได้ ประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ซึ่งศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเองได้ ไม่ต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระสินบนนำจับร้อยละ 30 ของราคาสินค้า ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องเฉพาะแต่ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2ตกลงกับโจทก์ว่าหากโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบจนเป็นผลให้จำเลยที่ 2 จับกุมสินค้าหรือผู้กระทำผิดได้ จำเลยที่ 2 จะจ่ายสินบนนำจับให้โจทก์ ส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 โจทก์คงบรรยายฟ้องแต่เพียงว่า หลังจากมีการจับกุมสินค้าหลบหนีภาษีรายนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ออกไปตรวจและนำสินค้าที่จับได้มอบให้กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ความตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 แต่อย่างใด โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องสินบนนำจับจากจำเลยที่ 1 ที่ 3 เพราะเหตุใด คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 จึงไม่ได้แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ก็ไม่ได้มีเจตนาจะให้จำเลยที่ 2 รับผิดเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว เท่ากับโจทก์ไม่ประสงค์จะฎีกาในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ส่วนที่โจทก์จะขอถือเอาอุทธรณ์ข้อ 3 (ข) เป็นส่วนหนึ่งแห่งฎีกาด้วยนั้นโจทก์หาได้บรรยายข้อความดังกล่าวไว้ในฎีกาไม่ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3854/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกักขังแทนค่าปรับ: การรวมโทษปรับหลายกระทงและการเฉลี่ยระยะเวลา
ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 5 คนโดยรวมปรับ เมื่อจะต้องกักขังแทนค่าปรับ แม้จำเลยจะถูกลงโทษปรับในความผิดหลายกระทงก็คงกักขังจำเลยทุกคนแทนค่าปรับได้ไม่เกินสองปีตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 30 โดยต้องเฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของตัวจำเลย และเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกกักขังของจำเลยทุกคนแล้วต้องไม่เกินสองปีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3854/2529

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกักขังแทนค่าปรับ: ศาลฎีกาชี้แนวปฏิบัติการเฉลี่ยระยะเวลาตามสัดส่วนจำเลย และเพดานเวลาตามกฎหมาย
ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลย5คนโดยรวมปรับเมื่อจะต้องกักขังแทนค่าปรับแม้จำเลยจะถูกลงโทษปรับในความผิดหลายกระทงก็คงกักขังจำเลยทุกคนแทนค่าปรับได้ไม่เกินสองปีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา30โดยต้องเฉลี่ยกักขังไปตามสัดส่วนของตัวจำเลยและเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกกักขังของจำเลยทุกคนแล้วต้องไม่เกินสองปีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา30.
of 2