คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ข้อ 42

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2279-2280/2528

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา: การทำงานนอกเวลาปกติ แม้มีช่วงพัก ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเต็มตามเวลาที่ต้องประจำหน้าที่
นายจ้างกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างไว้แน่นอน และกำหนดให้วันเสาร์และวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ การที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานนอกเหนือจากกำหนดเวลาดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันทำงานหรือทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์เกินกำหนดเวลาทำงานปกติหรือเกินกำหนดเวลาทำงานปกติของวันทำงานระยะเวลาซึ่งจะนำมาคำนวณค่าล่วงเวลาย่อมนับเวลาทั้งหมดคือ ตั้งแต่ลูกจ้างเริ่มทำงานนอกเวลาจนถึงเวลาหมดหน้าที่หรือเสร็จสิ้นการงานแม้ในระหว่างเวลาดังกล่าว ลูกจ้างมีงานทำเพียงบางครั้งบางคราวแต่เวลาที่ไม่มีงานทำลูกจ้างก็มีหน้าที่ต้องอยู่ประจำตามหน้าที่เพื่อรอรับคำสั่ง ต้องถือว่าลูกจ้างทำงานอย่างหนึ่งให้นายจ้าง นายจ้างจะจ่ายค่าล่วงเวลาโดยคิดเฉพาะระยะเวลาช่วงที่ลูกจ้างปฏิบัติงานเท่านั้นหาได้ไม่ นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเต็มตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3673/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจสหภาพแรงงานในการแก้ไขข้อตกลงสภาพการจ้าง และฐานคำนวณค่าล่วงเวลา
กรณีที่สหภาพแรงงานและนายจ้างต่างแจ้งข้อเรียกร้องฝ่ายละหลายข้อ ซึ่งต้องแบ่งข้อเรียกร้องเจรจากันเป็นคราวๆไปแม้ในการเจรจาคราวแรกจะตกลงกันได้และทำเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วก็ตาม แต่ในการเจรจาข้อเรียกร้องข้ออื่นๆต่อมา สหภาพแรงงานก็มีอำนาจที่จะตกลงแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกได้ ดังนั้น เมื่อข้อตกลงในการเจรจาคราวแรกกำหนดเงื่อนไขในการไม่จ่ายเงินบำเหน็จไว้ประการหนึ่ง แล้วต่อมาทำความตกลงเพิ่มเงื่อนไขในการไม่จ่ายเงินบำเหน็จอีกประการหนึ่ง อันเป็นเงื่อนไขซึ่งจะตัดสิทธิของลูกจ้างที่จะกระทำผิดในอนาคต ไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของลูกจ้างทั่วไปที่ได้รับตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับแรกอยู่ก่อนแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับหลังนี้จึงมีผลใช้บังคับ เมื่อค่าครองชีพเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าล่วงเวลาฯ นายจ้างก็ต้องจ่ายเงินนี้ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น การที่สหภาพแรงงานตกลงกับนายจ้างว่าไม่ให้นำค่าครองชีพมาเป็นฐานคำนวณจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าว ข้อตกลงนี้จึงไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง ลูกจ้างฟ้องเรียกดอกเบี้ยจากเงินบำเหน็จ ค่าล่วงเวลา และค่าทำงานในวันหยุดจากนายจ้างก่อนวันฟ้อง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่านายจ้างผิดนัดเมื่อใดจึงกำหนดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2078/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอยู่เวรป้องกันอัคคีภัยไม่ใช่การทำงานปกติ จึงไม่เข้าข่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด
'การทำงาน' ตามคำนิยามของค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน หมายถึงการทำงานตามปกติที่นายจ้างมอบหมายให้ลูกจ้างทำในกิจการของนายจ้าง เมื่อนายจ้างซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีคำสั่งให้ลูกจ้างอยู่เวรเพื่อป้องกันอัคคีภัยตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ อันเป็นหน้าที่พิเศษนอกเหนือจากกิจการตามปกติของนายจ้าง ลูกจ้างที่ต้องอยู่เวรเพื่อป้องกันอัคคีภัยจึงไม่มีสิทธิได้ค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุด