คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ม. 29 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 327 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจ: ชอบด้วยกฎหมายหากเป็นไปตามกระบวนการและไม่ขัดแย้งกับสิทธิลูกจ้าง
คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 แก่รัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ซึ่งรวมถึงจำเลยขณะเป็นบริษัท ท. โดยให้สามารถดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ในการกำหนดอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานได้เอง เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้ว ถือว่าจำเลยมีอำนาจปรับปรุงระเบียบบริษัท ท. ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินในการกำหนดค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานและอยู่ในขอบเขตที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ไม่จำต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งอีก
การที่จำเลยมอบให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) ร่วมกันพิจารณามีมติเห็นชอบให้แก้ไขระเบียบดังกล่าว แล้วจำเลยเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการใช้บังคับ จึงถูกต้องตามกระบวนการใน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ที่เห็นชอบการแปลงสภาพองค์การ ท. เป็นบริษัท ท. ตามที่ประธานคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเสนอ มีใจความ ให้ผู้ปฏิบัติงานขององค์การ ท. ที่โอนไปยังบริษัท ท. ณ วันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิมเป็นมติที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 25 วรรคสอง ที่ให้พนักงานตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม กับให้ถือว่าเวลาการทำงานของพนักงานดังกล่าวในรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นเวลาการทำงานในบริษัทโดยไม่ถือว่าการเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นบริษัทนั้นเป็นการเลิกจ้าง มติคณะรัฐมนตรีและบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ใช้ในช่วงเวลาเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจในรูปองค์การของรัฐเป็นบริษัท
ในขณะที่จำเลยแปลงสภาพจากองค์การของรัฐเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยได้ให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับอยู่เดิมและยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขออกเป็นระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 กรณีไม่อาจอ้าง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และมติคณะรัฐมนตรีมาปรับหรือบังคับให้ระเบียบดังกล่าวตกไป
พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มิได้เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้มีการแก้ไขสภาพการจ้าง เพราะการแก้ไขสภาพการจ้างของลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งมีคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กำกับดูแลในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายบริหารกับพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนความมั่นคงของประเทศ
สภาพการจ้างตามระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 นอกจากเป็นสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินที่อยู่ในขอบเขตที่กำหนดตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (2) ที่จำเลยมีอำนาจที่จะแก้ไขปรับปรุงได้เอง ไม่ใช่สภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาตกลงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีข้อห้ามตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าแล้ว หลักของการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เกิดสภาพการจ้างใหม่ แม้ข้อตกลงหรือข้อยุติไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง เป็นการลดประโยชน์ที่ลูกจ้างมีสิทธิที่ได้รับอยู่เดิมลงบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตามเหตุผลในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ย่อมใช้บังคับได้
จำเลยออกระเบียบแก้ไขหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จ เพราะจำเลยปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเป็นกรณีพิเศษ ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของจำเลยที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงานมากขึ้น ฝ่ายพนักงานลูกจ้างหรือโจทก์ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษแล้ว หากจะต้องลดประโยชน์จากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จไปบ้าง เพื่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมขององค์กร ย่อมถือได้ว่าอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 จึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165-2209/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างสำหรับลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ: สิทธิและขอบเขตการบังคับใช้กับลูกจ้างใหม่
แม้เดิม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จะใช้บังคับกับทั้งกิจการภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่ต่อมาได้มีการตรา พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 ใช้บังคับแก่กิจการภาครัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ และมีการยกเลิก พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 แล้วตรา พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาใช้บังคับแทน โดยในส่วนของลูกจ้างและนายจ้างภาคเอกชนยังคงบังคับตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ต่อไป ส่วนกิจการรัฐวิสาหกิจเปลี่ยนมาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เช่นนี้ เมื่อมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ใช้บังคับระหว่างโจทก์ทั้งสี่สิบห้าซึ่งเป็นลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว ย่อมไม่อาจนำ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งใช้บังคับแก่ลูกจ้างและนายจ้างภาคเอกชนมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้
พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า" ดังนั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 แผ่นที่ 2 ถึงแผ่นที่ 5 และประกาศจำเลย ที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 แผ่นที่ 6 ถึงแผ่นที่ 8 เรื่องการปรับปรุงเงินเพิ่มค่าวิชาชีพที่ขาดแคลนและค่าเสี่ยงอันตรายในที่สูง ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 เป็นต้นไป จึงมีผลผูกพันเฉพาะจำเลยและลูกจ้างจำเลยที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจวิทยุการบินแห่งประเทศไทยในขณะที่ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับตามที่มาตรา 29 วรรคหนี่ง บัญญัติไว้เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันลูกจ้างจำเลยทั้งองค์กรและลูกจ้างที่เข้าทำงานภายหลังข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วด้วยไม่ เว้นแต่นายจ้างจะกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นมีผลใช้บังคับรวมถึงพนักงานที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในขณะนั้นหรือพนักงานที่จะเข้าทำงานใหม่ด้วย ดั่งเช่นประกาศจำเลย ที่ ปก 218/2548 ประกาศเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 แผ่นที่ 1 ที่จำเลยกำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 ท้ายประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับรวมถึงพนักงานที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย แต่เมื่อจำเลยมิได้กำหนดให้มีผลใช้บังคับกับพนักงานที่จะเข้าทำงานใหม่ด้วย โจทก์ทั้งสี่สิบห้าเพิ่งเข้ามาทำงานกับจำเลยระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ในขณะที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลย ที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 เกิดขึ้นและมีผลใช้บังคับแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและประกาศดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสี่สิบห้า จำเลยย่อมมีสิทธิออกประกาศจำเลย ที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 กำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างที่เข้าทำงานใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป ได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลย ที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 ได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29 วรรคสอง
ขณะโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเข้าทำงาน จำเลยแจ้งหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิค ตามประกาศจำเลย ที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 ไว้ในหนังสือจ้างโจทก์ทั้งสี่สิบห้าเป็นพนักงานและโจทก์ทุกคนได้ลงลายมือชื่อให้คำยินยอมโดยระบุว่า ให้ความยินยอมในการถือปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ วิธีปฏิบัติ ประกาศ และคำสั่งที่จำเลยกำหนดไว้ในปัจจุบันและที่จะประกาศใช้ในอนาคตอย่างเคร่งครัด อันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งสี่สิบห้า ประกาศจำเลย ที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 จึงใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสี่สิบห้าได้ การออกประกาศจำเลย ที่ ปก 57/2556 ฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2556 จึงไม่ใช่กรณีจำเลยเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคแก่ลูกจ้างเดิมทั้งหมดโดยไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและแก้ไขสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างตามที่โจทก์ทั้งสี่สิบห้ากล่าวอ้าง
ตามประกาศจำเลย ที่ ปก 218/2548 ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 ที่ให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลย ที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 มีผลใช้บังคับรวมถึงพนักงานที่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย หมายถึงให้มีผลใช้บังคับกับพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยในขณะนั้นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจวิทยุการบินแห่งประเทศไทยเท่านั้น หาได้มีความหมายรวมไปถึงบุคคลที่จะเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยในอนาคตดังเช่นโจทก์ทั้งสี่สิบห้าด้วยไม่
สิทธิของสมาชิกสหภาพแรงงานตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ย่อมเกิดขึ้นนับแต่ที่ตนเองเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ส่วนสิทธิของสมาชิกสหภาพแรงงานตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใด ย่อมเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกสหภาพแรงงานผู้นั้นมีผลผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่สิบห้าไม่มีผลผูกพันกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2548 และประกาศจำเลย ที่ ปก 309/2548 ฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2548 โจทก์ทั้งสี่สิบห้าจึงหามีสิทธิได้รับเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคนับแต่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจวิทยุการบินแห่งประเทศไทยตามที่กล่าวอ้างไม่ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่าวิชาชีพด้านเทคนิคพร้อมดอกเบี้ยตามคำฟ้องแก่โจทก์ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเกษียณอายุพนักงานรัฐวิสาหกิจ การเปลี่ยนแปลงวิธีการนับอายุตามกฎหมาย และผลต่อสภาพการจ้าง
ป.พ.พ. บรรพ 1 (เดิม) ไม่ได้บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนับอายุตามเกณฑ์ในมาตรา 158 (เดิม) คือไม่นับวันแรกที่เป็นวันเกิดรวมเข้าด้วย ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 กำหนดวิธีนับอายุบุคคลเป็นไปตาม ป.พ.พ. ที่บังคับใช้ในขณะนั้นและจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตาม ต่อมา พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. บรรพ 1 และบรรพ 3 โดย (3) ให้ใช้บทบัญญัติท้าย พ.ร.บ.นี้เป็นบรรพ 1 แห่ง ป.พ.พ. ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2535 ซึ่งมาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติวิธีการนับอายุของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะว่า "การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด" คือต้องนับวันเกิดเป็น 1 วัน เต็ม มติคณะรัฐมนตรีตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0025/ว 42 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 แล้วให้นับอายุของบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) ซึ่งใช้บังคับในปัจจุบันกล่าวคือให้นับอายุของบุคคลนับแต่วันเกิด
เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 16 (ใหม่) บัญญัติการนับอายุบุคคลไว้โดยเฉพาะแล้วจึงต้องใช้บังคับตามมาตรา 16 (ใหม่) การเปลี่ยนแปลงการนับวิธีการนับอายุของบุคคลเกิดขึ้นจากกฏหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมตามข้างต้นซึ่งนำมาใช้ในการวินิจฉัยตีความคุณสมบัติและการพ้นตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ด้วย วิธีการนับอายุของบุคคลที่ปลี่ยนไปด้วยผลของกฏหมาย แม้จะมีผลกระทบต่อระยะเวลาการพ้นจากตำแหน่งและออกจากงานก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสมพันธ์ พ.ศ.2543
โจทก์เกิดวันที่ 1 ตุลาคม 2493 ต้องนับอายุโจทก์นับแต่วันเกิดคือวันที่ 1 ตุลาคม 2493 เป็น 1 วัน เต็ม โจทก์จึงมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/5 (ใหม่) อันมีผลให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและออกจากงานด้วยเหตุเกษียณอายุในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตราฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 9 (3), 11 และข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ข้อ 19 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 กรณีไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11100/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเงินบำเหน็จเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและการสิ้นสุดสิทธิประโยชน์กรณีถูกลงโทษปลดออก
โรงงานยาสูบเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 1) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ต่อมาปี 2538 โรงงานยาสูบจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานยาสูบซึ่งจดทะเบียนแล้ว (จำเลยที่ 2) ขึ้น มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ทำให้พนักงานยาสูบซึ่งเป็นพนักงานอยู่ก่อนการจัดตั้งจำเลยที่ 2 มีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แล้วจะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ระบุให้มีการโอนเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานยาสูบที่สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 นำมาเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนของจำเลยที่ 2
โจทก์เป็นลูกจ้างของโรงงานยาสูบก่อนการจัดตั้งจำเลยที่ 2 โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 เท่ากับโจทก์ยินยอมให้โรงงานยาสูบผู้เป็นนายจ้างโอนเงินกองทุนบำเหน็จของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการ จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจและหน้าที่จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีอำนาจออกข้อบังคับใช้ในการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยมีข้อบังคับในเรื่องนี้ใช้บังคับมาก่อน ไม่ใช่กรณีการออกข้อบังคับเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 29 วรรคสอง นั้นหมายถึงเฉพาะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ตามมาตรา 25 ถึงมาตรา 27 และต้องเป็นกรณีการทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 29 วรรคสอง ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันสมาชิกของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9068-9346/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับเงินเพิ่มจากมติคณะรัฐมนตรีจำกัดเฉพาะลูกจ้างที่อยู่ในสถานะพนักงาน ณ วันที่มติมีผลบังคับใช้
โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าออกจากงาน (เกษียณอายุ) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ไม่มีสภาพเป็นพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและเป็นวันที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งปรับเงินเดือน จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี
แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ที่ลงมติให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนคือวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จะไม่มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วยก็ไม่มีผลให้การออกคำสั่งที่ ค.51/2548 ของจำเลยที่ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนแก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 เสียไป
of 33