คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ม. 12 ตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3360/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับโอนอสังหาริมทรัพย์จากการชำระหนี้จำนองของธนาคารพาณิชย์ ไม่ขัดกฎหมายหากจำหน่ายภายในเก้าปี
การที่ผู้จำนองจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกพิพาทที่จำนองให้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้รับจำนองเป็นการชำระหนี้จำนอง เป็นกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ตกเป็นของธนาคารพาณิชย์เนื่องจากการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12(5) วรรคสอง (เดิม)ซึ่งกฎหมายมุ่งหมายให้กระทำได้ เพียงแต่อยู่ภายในเงื่อนไขที่ว่าธนาคารพาณิชย์ซึ่งได้รับอสังหาริมทรัพย์มาในกรณีดังกล่าวจะต้องจำหน่ายภายในเก้าปีนับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของธนาคารพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีเป็นอย่างอื่น ฉะนั้นการที่โจทก์รับโอนที่ดินและตึกพิพาทจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และไม่เป็น โมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2527 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์หลังประนีประนอมยอมความ ถือเป็นการค้าเพื่อหากำไร ต้องเสียภาษีการค้า
บริษัท ก. ซึ่งดำเนินกิจการจัดสรรที่ดินและบ้านขาย เป็นหนี้ธนาคารโจทก์จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยบริษัท ก. ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 374 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จัดสรรขายนั้นให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ และในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้มีข้อตกลงว่า เมื่อผู้ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายใดได้ชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตกลงซื้อให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อนั้น อาคารใดที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยโจทก์รับจะดำเนินการก่อสร้างให้เรียบร้อย เมื่อโจทก์จำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปหมดแล้ว ถ้าได้เงินเกินกว่าจำนวนที่บริษัท ก. เป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเท่าใด โจทก์ยอมแบ่งเงินส่วนที่เกินนั้นแก่บริษัท ก. ครึ่งหนึ่งต่อมาเมื่อโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากบริษัท ก. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ได้ดำเนินการจัดการก่อสร้าง ปรับปรุง เพิ่มเติมอาคารจนแล้วเสร็จแล้วขายไป พฤติการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรเข้าลักษณะเป็นรายรับตามประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร โจทก์ต้องนำรายรับนี้มาเสียภาษีการค้า
การประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่กิจการที่ผิดกฎหมาย เพียงแต่มีกฎหมายห้ามบุคคลบางประเภทไม่ให้กระทำเท่านั้นฉะนั้น การประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์จะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 หรือไม่ก็ตามก็หาทำให้โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรไม่