คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 487 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6643/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขัดแย้งในคำให้การของผู้ค้ำประกันส่งผลต่อประเด็นข้อพิพาท และการวินิจฉัยฟ้องเคลือบคลุม
ประเด็นข้อพิพาทย่อมเกิดจากคำฟ้องและคำให้การที่ปฏิเสธฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง และในคดีแต่ละเรื่องอาจมีประเด็นข้อพิพาทมากกว่าหนึ่งประเด็นทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคำให้การต่อสู้ของจำเลย ประเด็นใดที่จำเลยให้การไม่ชัดเจนย่อมถือว่าจำเลยมิได้ปฏิเสธในเรื่องนั้นเท่านั้น จะถือว่าจำเลยสละประเด็นข้อพิพาทอื่นที่จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้แล้วไม่ได้ คำให้การของจำเลยที่ 3 ที่ขัดกันเองเฉพาะประเด็นเรื่องเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 หรือไม่ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 3 มิได้ปฏิเสธฟ้องโจทก์ในประเด็นนี้เท่านั้น ส่วนประเด็นเรื่องฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมนั้นเป็นคำให้การที่แสดงโดยชัดแจ้งแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยให้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยและคดีพอวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4962/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยนอกประเด็นของศาลอุทธรณ์ในคดีเช่าซื้อ การยึดรถถือเป็นการบอกเลิกสัญญา
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญาโจทก์จึงยึดรถคืนและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายตามฟ้อง จำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า ความรับผิดของจำเลยทั้งสองมีไม่ถึงจำนวนที่โจทก์เรียกร้องเท่านั้น คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเพียงใด ส่วนในเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การถึง จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อโจทก์ยึดรถที่เช่าซื้อคืน เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ติดต่อกันเกินกว่า 2 งวด ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยข้อเท็จจริงซึ่งคู่ความรับกันแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ข้อเท็จจริงใหม่ว่าโจทก์จำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญา จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น และปัญหานี้มิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
การที่โจทก์ยึดรถที่ให้เช่าซื้อคืนถือเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้ออย่างหนึ่ง โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญา เป็นหนังสือแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1378/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาปลูกสร้างบ้านและการคิดดอกเบี้ยเมื่อผิดสัญญา
สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านมีใจความในข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 ว่าโจทก์จะชำระค่าจ้างในวันทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท และให้ถือว่าเป็นการชำระเงินงวดที่ 1 และชำระเงินงวดอีกเป็นจำนวน 1,433,190 บาท โดยแบ่งชำระรวม 21 งวด ภายในวันที่ 20 ของเดือน และข้อ 2.4 มีว่า ส่วนที่เหลือจากการชำระตามข้อ 2.1, 2.2 และ 2.3 เป็นเงินจำนวน 3,694,110 บาท จะชำระเมื่องานก่อสร้างทุกอย่างแล้วเสร็จสมบูรณ์ แม้สัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างบ้านไปแล้วเสร็จไว้ก็ตาม ก็อนุมานได้ว่าภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนชำระค่างวดครบ 22 งวด จำเลยจะต้องปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ให้ได้ไม่น้อยกว่าตามสัดส่วนของเงินค่าจ้างที่จำเลยได้รับชำระจากโจทก์ไปแล้ว แต่จำเลยไม่ได้เริ่มลงมือปลูกสร้างบ้านแต่อย่างใด โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามไปยังจำเลยถึงความคืบหน้าในการปลูกสร้างบ้าน และให้จำเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จสมบูรณ์ของการปลูกสร้างบ้าน แต่จำเลยก็มิได้มีหนังสือชี้แจงหรือโต้แย้งคัดค้านอย่างใด โจทก์ให้เวลาจำเลยอีก 4 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ปลูกสร้างบ้านให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
สัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยของเงินที่จำเลยจะต้องใช้คืนแก่โจทก์ไว้ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่จำเลยได้รับชำระแต่ละงวดจนกว่าจะใช้คืนเสร็จ แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7
จำเลยให้การว่า บุคคลที่บอกเลิกสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านเป็นผู้ที่ไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญา โดยมิได้กล่าวอ้างว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีอำนาจบอกเลิกสัญญา เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ในเรื่องการมอบอำนาจให้ทนายความบอกเลิกสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเช็คพิพาทโดยทุจริตและการพิสูจน์มูลหนี้ที่ชอบ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ ผู้สั่งจ่ายต้องรับผิด
คำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทไว้ในครอบครองโดยทุจริตนั้นทุจริตอย่างไรก็ไม่ได้กล่าวไว้ชัด ที่ว่าคบคิดกับบุคคลอื่น บุคคลอื่นนั้น เป็นผู้ทรงเช็คคนก่อนหรือไม่ หรือเป็นผู้ใดไม่ปรากฏ ที่ว่าโจทก์ควรรู้ว่าเช็คพิพาทมีการชำระหนี้แล้ว ก็ไม่ใช่คำยืนยันว่าโจทก์รู้ แปลความว่าอาจไม่รู้ก็ได้เช่นกันแล้วให้การว่าโจทก์ได้เช็คพิพาทมาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทจาก ร. โดยคบคิดกันฉ้อฉล จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นพิพาท
จำเลยที่ 2 ให้ ร. นำเช็คแลกเงินสดจากโจทก์และมีการเปลี่ยนเช็คเรื่อยมาต่อมาได้รวมจำนวนเงินที่เป็นหนี้และกู้เงินเพิ่มอีกแล้วจำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้ไว้แก่โจทก์โดยเป็นการกู้เงินและการแลกเปลี่ยนเช็ค โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ติดต่อกันโดยตรงแต่ติดต่อผ่าน ร. เช็คพิพาทจึงมีมูลหนี้โดยชอบ โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท จำเลยทั้งสองเป็นผู้สั่งจ่าย เมื่อธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900,987และ 989

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1024/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิเสธลอยๆ ในคดีซื้อขายลดตั๋วเงิน จำเลยต้องปฏิเสธรายละเอียดลายมือชื่อเพื่อสืบพยานได้
จำเลยให้การว่าไม่เคยทำสัญญาซื้อขายลดตั๋วเงินกับโจทก์ ทั้งไม่เคยนำเช็คตามฟ้องมาขายลดให้แก่โจทก์ และไม่เคยรับเงินจากโจทก์คำให้การดังกล่าวเป็นเพียงปฏิเสธลอยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าลายมือชื่อจำเลยในสัญญาขายลดตั๋วเงินและลายมือชื่อในเช็คตามเอกสารท้ายฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธินำพยานเข้าชื่อว่า ไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยหากจำเลยสืบพยานก็ต้องห้ามมิให้รับฟัง เพราะคำให้การของจำเลยไม่มีรายละเอียดแข่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยไม่ปฏิเสธข้อกล่าวหาในคำให้การ ศาลรับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และจำกัดการฎีกาเฉพาะประเด็นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในชั้นศาล
แม้โจทก์จะเป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงและภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงจะตกแก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างโดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยที่ 2 รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้ว และไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวซึ่งถือว่าคู่ความรับกันแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ จำเลยที่ 2จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน
จำเลยที่ 2 ฎีกาแต่มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องที่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ไว้ในคำให้การ จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาท ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นจึงไม่ชอบถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายทรัพย์สินของผู้เช่า: สิทธิของโจทก์ต้องอาศัยความเป็นตัวแทนเชิดที่พิสูจน์ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินและตึกแถวดังกล่าวกับ อ. ในระหว่างอายุสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและตึกแถวพิพาท แต่มิได้บรรยายข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้เห็นยินยอมเชิดให้ อ. เป็นผู้ทำสัญญาเช่าแทน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ก็ไม่เคยมอบอำนาจให้ อ. ทำสัญญาเช่ากับโจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่ได้ให้การตั้งประเด็นเรื่องตัวแทนเชิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 821 ไว้ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำสืบว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นยินยอมเชิดให้ อ. ทำสัญญาเช่าแทนตนได้ ฉะนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาทจึงชอบที่จะโอนขายทรัพย์สินดังกล่าวได้ ในเมื่อโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การขัดแย้งและประเด็นข้อพิพาทที่มิได้ยกขึ้นสู่การพิจารณาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ย่อมเป็นเหตุให้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินที่จำเลยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินนั้น โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจาก ผ.ตั้งแต่ปี 2495 ต่อมาจำเลยได้ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่า ที่ดินที่จำเลยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินพิพาท แต่หากศาลรับฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์ว่าที่ดินที่จำเลยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาท จำเลยก็ได้แย่งการครอบครองและได้บอกกล่าวถึงเจตนาครอบครองที่ดินดังกล่าวต่อโจทก์รวมระยะเวลากว่า 1 ปี ก่อนโจทก์ฟ้อง ดังนี้คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือของจำเลยและขัดแย้งกันเอง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นพิพาทว่าที่ดินตามคำฟ้องเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินที่จำเลยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินหรือไม่ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่เวลาที่จำเลยบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือครอบครอง ซึ่งเป็นการฎีกาว่าโจทก์นำคดีมาฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินกว่า 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองเป็นการไม่ชอบนั้น คดีนี้จำเลยให้การว่าที่ดินเป็นของจำเลยมาแต่ต้นโดยครอบครองมากว่า 10 ปี และโดยผลคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น กรณีจึงไม่เป็นการที่จำเลยได้ แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทจากโจทก์ คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่เช่นกัน ซึ่งศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดประเด็นทั้งสองข้อนี้ไว้และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยโดยเหตุที่เป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยอ้างว่าในคดีแพ่ง ของศาลชั้นต้น ที่ จ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิ ครอบครองที่ดินพิพาท โดยคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วนั้น แม้จะมีผลว่าจำเลยได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท และคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพัน จ. และ จำเลย ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่หาได้ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่อาจพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม มาตรา 145 วรรคสอง (2) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7122/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย-เช่าซื้อ: การรับซื้อคืนและการคำนวณหนี้คงค้างตามสัญญา
จำเลยยื่นคำให้การและนำสืบเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ชัดเจนว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจนเวลาล่วงเลยไปปีเศษนับแต่วันที่ถึงกำหนดชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายเป็นผลให้เครื่องเรียงพิมพ์ที่เช่าซื้อเสื่อมสภาพ เสื่อมราคาและตกรุ่น จำเลยนำออกจำหน่ายไม่ได้จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนผิดสัญญาเช่าซื้อที่ผ่อนเวลาการบอกเลิกสัญญาออกไปปีเศษทำให้ทรัพย์สินที่เช่าซื้อเสียหายบางส่วนและทำให้จำเลยเสียโอกาสที่จะจำหน่ายทรัพย์สินที่เช่าซื้อดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่น ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดนั้น จึงเป็นการหยิบยกเรื่องที่เป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นวินิจฉัย และแม้คู่ความจะแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าผู้เช่าซื้อชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์รวม 32 งวด ก็ไม่ทำให้ประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ยุติตามข้อเท็จจริงที่แถลงรับกัน ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
จำเลยขายเครื่องเรียงพิมพ์กราฟิคแก่โจทก์เพื่อนำไปให้บริษัท ว. เช่าซื้ออีกทอดหนึ่งโดยจำเลยทำหนังสือสัญญารับซื้อคืนกับโจทก์ว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อจนเป็นเหตุให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ถ้าผู้ให้เช่าซื้อต้องการและแจ้งให้ผู้รับซื้อคืนทราบเป็นหนังสือ ผู้รับซื้อคืนจะรับซื้อทรัพย์สินที่เช่าซื้อดังกล่าวซึ่งยึดกลับคืนมาในสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้นในราคาเท่ากับจำนวนเงินคงค้างทุกจำนวนตามบัญชีที่ผู้เช่าซื้อยังต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าซื้อ ดังนั้น เมื่อบริษัท ว. ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดเครื่องเรียงพิมพ์ที่เช่าซื้อกลับคืนพร้อมกับส่งมอบให้แก่จำเลย จำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระตามหนังสือสัญญารับซื้อคืนก็คือเงินคงค้างทุกจำนวนที่บริษัท ว. ต้องชำระแก่โจทก์ ณ วันที่โจทก์ยึดเครื่องเรียงพิมพ์ที่เช่าซื้อกลับคืน แต่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบเพียงว่าจำนวนเงินคงค้างทุกจำนวนตามบัญชีที่บริษัท ว. ค้างชำระอยู่เป็นเงิน 145,418.45 บาท โดยมิได้แสดงรายละเอียดแห่งหนี้ว่าเป็นการค้างชำระหนี้รายการใดบ้าง จำนวนเท่าใด จึงต้องถือจำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่โจทก์ควรได้รับตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์กล่าวยืนยันในคำฟ้องคือ 882,605.52 บาท เป็นยอดสุทธิหักด้วยเงินค่าเช่าซื้อ 32 งวด จำนวน 839,456 บาท ที่โจทก์ได้รับแล้ว จึงคงเหลือหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์เพียง 43,149.52 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4979/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นข้อพิพาทไม่ชัดเจน ศาลฎีกายกข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาก่อน และพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทโดยซื้อจากจำเลยแล้วจำเลยทำสัญญาเช่า แต่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าจึงบอกเลิกการเช่า ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าและส่งมอบที่พิพาทคืน จำเลยให้การตอนแรกว่า ไม่เคยทำสัญญาขายหรือสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ แต่จำเลยกลับให้การตอนหลังว่าถึงอย่างไรจำเลยก็ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยความสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลานานแล้ว หรือหากฟังว่าจำเลยขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ จำเลยก็ครอบครองที่ดินพิพาทมาเกินกว่า 1 ปีแล้วซึ่งเท่ากับเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง และขัดแย้งกับคำให้การในตอนแรก ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง แต่คำให้การของจำเลยเป็นที่เข้าใจได้ว่า จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีคงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว จำเลยเช่าที่ดินพิพาทหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปีหรือไม่ และวินิจฉัยตามนั้น กับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ และเมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปีหรือไม่ จึงถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวให้
of 49