พบผลลัพธ์ทั้งหมด 487 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7051/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีประกันภัย: การตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจและชื่อจำเลย
คดีนี้จำเลยให้การว่า ที่โจทก์มอบอำนาจให้ ก. หรือ ส. หรือ พ. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อตามหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 50 และหนังสือมอบอำนาจช่วง ลงวันที่ 16 มกราคม 51 ปรากฏว่าลายมือชื่อของ ส. ในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับมีลักษณะช่องไฟและตัวอักษรต่างกัน ไม่น่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จะเห็นได้ว่า ตามคำให้การจำเลยมุ่งเน้นให้การต่อสู้ลายมือชื่อของ ส. ส่วนที่จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิใช่ลายมือชื่อโจทก์ เป็นการปฏิเสธลอย ๆ ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่เป็นประเด็นให้ศาลต้องวินิจฉัยว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อกรรมการโจทก์หรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังพยานหลักฐานของโจทก์ว่ายังฟังไม่ได้ว่า ส. และ อ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนโจทก์ในขณะฟ้องคดี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ส่วนที่โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีขับรถยนต์กระบะชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยให้การรับว่าเป็นคู่กรณีจริง การที่หนังสือมอบอำนาจ ระบุชื่อสกุล จำเลย ผิดพลาดเป็นคำว่ามั่นประเสริฐ ที่ถูกต้องคือ มั่นประสิทธิ์ จึงเป็นการพิมพ์ผิดพลาด มิใช่กรณีฟ้องผิดคน ถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยโดยชอบ แม้ว่าภายหลังโจทก์จะยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ ระบุชื่อ และชื่อสกุลจำเลยโดยถูกต้อง แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้อง ก็ไม่มีผลให้การมอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเสียไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแบ่งทรัพย์สินหลังหย่า: ที่ดินที่ซื้อก่อนสมรสใหม่เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมผู้ร้องเคยสมรสกับจำเลยที่ 3 ต่อมาเมื่อปี 2535 ผู้ร้องหย่ากับจำเลยที่ 3 และได้ตกลงสัญญาในการหย่าให้ที่ดินพิพาทตกแก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาโดยจำเลยที่ 3 ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง โจทก์ให้การต่อสู้คดี โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของผู้ร้อง ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนหย่ากันและได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 84 (3) เช่นนี้ เมื่อผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสกันในปี 2527 ต่อมาปี 2534 ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแม้จะใส่ชื่อผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวก็ตาม ที่ดินพิพาทก็เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) ซึ่งเมื่อทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 ผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวอยู่แล้ว แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของผู้ร้องนับแต่เวลาจดทะเบียนหย่า และเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสกับจำเลยที่ 3 ใหม่ ในปี 2549 จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ไม่ได้ ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดร่วมของตัวการและตัวแทนจากการประมาททางรถยนต์
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกจ้าง หรือตัวแทน หรือผู้ถูกจ้างวานใช้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยในขณะกระทำการในทางที่จ้างให้จำเลยที่ 2 หรือกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้กระทำการแทน และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้เพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำการตามที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าตนเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขับรถยนต์ไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้กระทำ และถือเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบในข้อนี้ เช่นนี้แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาท จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คู่กรณี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427 ประกอบมาตรา 425 และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการเปลี่ยนแปลงไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3594/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำให้การต้องชัดเจนและเฉพาะเจาะจง หากศาลวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท อุทธรณ์ในประเด็นนั้นย่อมต้องห้าม
คำให้การจำเลยต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น การที่จำเลยให้การแต่เพียงว่า การบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาของโจทก์เป็นการบอกกล่าวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องจำเลย โดยไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงว่าการบอกกล่าวทวงถามและบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุใด ทั้งที่การบอกกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นให้มีการนำสืบและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องนี้เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทและการที่จำเลยอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องนี้เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นเรื่องดังกล่าวจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3221/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องเคลือบคลุม-ผู้รับประกันภัยรับผิด: ศาลฎีกาวินิจฉัยฟ้องไม่เคลือบคลุม ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดตามสัญญา
โจทก์บรรยายคำฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน วว 3951 กรุงเทพมหานคร ไว้จากจำเลยที่ 1 หรือผู้มีชื่อซึ่งมีข้อสัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกอันเกิดจากการใช้รถยนต์คันดังกล่าวแทน และจำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์โจทก์ถูกชนได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ ซึ่งคำฟ้องดังกล่าวเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1 และหรือผู้มีชื่อซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย ด้วยเหตุที่มีข้อสัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 กับผู้เอาประกันภัย ส่วนจำเลยที่ 1 หรือผู้มีชื่อผู้ใดจะเป็นผู้เอาประกันภัยนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างซึ่งอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสองแล้ว ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่เคลือบคลุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13703/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การนำสืบพยานนอกคำให้การ และขอบเขตการรับฟังพยานหลักฐานในคดีทรัพย์สิน
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยได้มาจาก ข. ให้จำเลยในระหว่างมีชีวิต ย่อมแตกต่างจากการได้มาโดยพินัยกรรม ซึ่งเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน ที่จำเลยนำสืบสำเนาพินัยกรรมจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ แม้ศาลชั้นต้นรับสำเนาพินัยกรรมเข้าไว้ในสำนวนก็มิได้หมายความว่าศาลชั้นต้นรับไว้เป็นพยานหลักฐานของจำเลยแล้ว เพราะเป็นเพียงการรับไว้เพื่อจะวินิจฉัยต่อไปว่าจะรับฟังได้หรือไม่ เมื่อเป็นการนำสืบนอกคำให้การ จึงไม่อาจรับฟังสำเนาพินัยกรรมเป็นพยานหลักฐานได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12715/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความสะดุดหยุดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการยอมรับข้อเท็จจริงของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177
คำให้การจำเลยทั้งสิบมิได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงไม่มีประเด็นโต้เถียงว่า ผู้กู้ได้ชำระหนี้บางส่วนตามคำฟ้องหรือไม่ เพราะถือว่าจำเลยทั้งสิบยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว โจทก์ไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้วฟังว่า ผู้กู้ไม่ได้ชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์ อายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง คดีโจทก์ขาดอายุความ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องชำระหนี้ค่าหุ้นค้างชำระ การให้การปฏิเสธฟ้องที่ไม่ชัดเจน และการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้
คำให้การจำเลยและจำเลยร่วมที่ว่า นอกจากจำเลยจะให้การไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จำเลยขอให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ทั้งสิ้น เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ส่วนใด ด้วยเหตุผลอย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยและจำเลยร่วมให้การปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับการที่จำเลยชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระแล้วหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าหุ้นค้างชำระแก่จำเลยร่วม จำเลยมิได้ต่อสู้ว่า จำเลยชำระค่าหุ้นค้างชำระแก่จำเลยร่วมแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยชำระค่าหุ้นแก่จำเลยร่วมครบถ้วนแล้วหรือไม่ ไม่เป็นประเด็นที่จำเลยและจำเลยร่วมต้องนำสืบ แม้จำเลยจะนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเงินของจำเลยชำระหนี้แก่ธนาคารว่าเป็นการนำเงินค่าหุ้นค้างชำระของจำเลยไปชำระ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความจะต้องนำสืบ ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)
จำเลยยังไม่ชำระค่าหุ้นตามฟ้องแก่จำเลยร่วมและจำเลยร่วมไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้แก่โจทก์ และผู้ชำระบัญชีของจำเลยร่วมขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือโจทก์เสียเปรียบ โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าหุ้นค้างชำระแก่จำเลยร่วม จำเลยมิได้ต่อสู้ว่า จำเลยชำระค่าหุ้นค้างชำระแก่จำเลยร่วมแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยชำระค่าหุ้นแก่จำเลยร่วมครบถ้วนแล้วหรือไม่ ไม่เป็นประเด็นที่จำเลยและจำเลยร่วมต้องนำสืบ แม้จำเลยจะนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเงินของจำเลยชำระหนี้แก่ธนาคารว่าเป็นการนำเงินค่าหุ้นค้างชำระของจำเลยไปชำระ ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความจะต้องนำสืบ ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (1)
จำเลยยังไม่ชำระค่าหุ้นตามฟ้องแก่จำเลยร่วมและจำเลยร่วมไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้แก่โจทก์ และผู้ชำระบัญชีของจำเลยร่วมขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้คือโจทก์เสียเปรียบ โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องนั้นในนามของตนเองแทนลูกหนี้เพื่อป้องกันสิทธิของตนในมูลหนี้นั้นก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดี, การแก้ไขคำฟ้อง, คำให้การไม่ชัดเจน, และผลของการมอบอำนาจในการฟ้องคดี
เดิมโจทก์บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี 9 เดือน แต่ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายที่แก้ไขใหม่จึงมีใจความว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์นับแต่เดือนธันวาคม 2549 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 10 เดือน ในวันนัดพิจารณาดังกล่าวจำเลยชอบที่จะร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอใช้โอกาสยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การยกข้อต่อสู้ใหม่หักล้างข้ออ้างของโจทก์ที่กล่าวมาในคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 181 (2) แต่จำเลยไม่ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเพื่อหักล้างข้ออ้างใหม่ของโจทก์ และยินยอมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยจนแล้วเสร็จสิ้นกระแสความในวันนั้นเอง เท่ากับว่าจำเลยยังคงให้การยกข้อต่อสู้ว่า คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมโดยอ้างเหตุแห่งการนั้นตามเดิมว่า จำเลยไม่เข้าใจคำฟ้องโจทก์ เพราะจำเลยไม่ทราบว่านับแต่วันที่ 9 มกราคม 2546 เรื่อยมา โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้อย่างไร เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาเช่า ซึ่งเป็นข้อต่อสู้โดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำฟ้องเดิม จึงเป็นคำให้การที่อ้างเหตุแห่งการนั้น ไม่ตรงกับคำฟ้องที่แก้ไขใหม่ ถือว่าคำให้การจำเลยในประเด็นข้อนี้ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า คำฟ้องในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทและรับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยจะมาฎีกาในประเด็นข้อนี้อีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10511/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์แทนโจทก์โดยไม่มีอำนาจ และอุทธรณ์ประเด็นที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น" เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การปฏิเสธถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาย่อมต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ยอมรับข้ออ้างตามฟ้องแล้ว ส่วนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ในคำให้การมิได้เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ กลับเป็นข้อสนับสนุนคำฟ้องของโจทก์และเป็นปฏิปักษ์กับคำให้การของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ต้องยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีต่างหาก เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ คำให้การของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ ฉะนั้นที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยอ้างเหตุตามคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์แทนโจทก์โดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบเพราะมิใช่เป็นการอุทธรณ์ในประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เป็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรแก่การได้รับวินิจฉัย ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6