คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 177 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 487 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องแจ้งประเมินภายใน 5 ปี นับจากวันยื่นแบบพิมพ์ หากเกินกำหนด การประเมินเป็นโมฆะ
จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินก่อนปี 2548 ที่พบเป็นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีใด และมิใช่ปี 2540 ถึง 2544 ที่พิพาทหรือไม่ คำให้การของจำเลยจึงไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือบางส่วนเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับห้องชุดพิพาทประจำปีภาษี 2540 ถึง 2544 ต่อจำเลยตามกำหนดเวลาของกฎหมายแล้ว คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉันว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาทต่อจำเลยภายในกำหนดหรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะอุทธรณ์ตามกฎหมายอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษีพิพาทภายในกำหนดเวลาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 19 แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องประเมินค่ารายปีและค่าภาษีแจ้งไปยังโจทก์ภายใน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ ไม่ว่าการประเมินนั้นจะเป็นเพราะโจทก์แจ้งค่ารายปีไม่ถูกต้อง หรือมีทรัพย์สินบางรายการต้องนำมาคำนวณเพิ่มเติมหรือเพราะโจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ถูกต้อง แต่จำเลยยังมิได้ดำเนินการประเมินก็ตาม แม้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรจะมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 แต่การที่จำเลยจะใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจากโจทก์ในกรณีนี้ได้ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์ก่อน เมื่อจำเลยแจ้งรายการประเมินไปยังโจทก์เกิน 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปีภาษีพิพาทที่โจทก์ยื่นแบบพิมพ์ไว้ เป็นการประเมินเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (2) เป็นผลให้การประเมินและคำชี้ขาดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144-1146/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิสูจน์การทำสัญญาซื้อขาย และการชำระราคาสินค้า
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยรวม 9 แปลง ชำระราคาครบถ้วนแล้วแต่จำเลยไม่โอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การในตอนแรกว่า โจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญาปลอม แต่กลับให้การในอีกตอนหนึ่งว่า โจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาตกลงกันเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2527 ว่า หนังสือสัญญาที่ทำไว้ก่อนหรือหลังสัญญาฉบับนี้ให้ถือว่าเป็นโมฆะ ฉะนั้นหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับซึ่งทำขึ้นภายหลังหนังสือสัญญาดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจทำสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาฟ้องบังคับจำเลยได้จึงเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม แต่คำให้การจำเลยเข้าใจได้ว่าจำเลยปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิง และเป็นเพียงข้อเถียงข้อกล่าวหาของโจทก์ว่าจำเลยมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ตามคำฟ้องเท่านั้น จะแปลว่าเป็นคำให้การที่ต่อสู้ว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินท้ายฟ้องทั้งสามฉบับภายหลังทำหนังสือสัญญาฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2527 ไม่ได้ เพราะจำเลยให้การว่าโจทก์จำเลยไม่เคยตกลงซื้อขายที่ดินกัน
จำเลยฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาว่าปลอมสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสามฉบับในคดีนี้ ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายทั้งสามฉบับดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีมูลคดีเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาดังกล่าว และโจทก์จำเลยในคดีแพ่งกับคดีอาญาเป็นคู่ความเดียวกัน จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาทั้งสองเรื่องดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5237-5238/2539 การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งในคดีส่วนอาญาดังกล่าวศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสี่ฉบับ (ซึ่งรวมถึงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.11, จ.22 และ จ.25 ด้วย) เป็นเอกสารปลอม เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 589/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าที่ดินโมฆะ/โมฆียะ: คำให้การขัดแย้ง, การครอบครอง, และผลของการเช่า
จำเลยให้การว่า โจทก์มีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน โจทก์ได้ร่วมกันทำนิติกรรมฉ้อฉลโดยนำเอาเอกสารที่ยังไม่ได้กรอกข้อความใดๆ มาหลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อโจทก์แจ้งข้อความเท็จว่า จะนำเอกสารดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินที่มารังวัดทำแผนที่พิพาทและนำไปเป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดี จำเลยหาได้มีเจตนาทำด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ เท่ากับจำเลยให้การว่า จำเลยแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และในขณะเดียวกันคำให้การจำเลยหมายความว่า จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าที่ดินโดยทราบว่าเป็นสัญญาเช่าที่ดินแต่ต้องการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีคือโจทก์ โดยโจทก์จะนำสัญญาเช่าที่ดินไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินที่มารังวัดทำแผนที่พิพาทและนำไปเป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดี อันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และจำเลยให้การ รวมไปด้วยว่า จำเลยไม่มีเจตนาทำนิติกรรมสัญญาเช่าที่ดิน เพราะจำเลยไม่ได้ทำด้วยใจสมัครมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยไม่เป็นนิติกรรมสัญญาเช่าที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ จำเลยหาได้ยึดถือที่ดินที่เช่าโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนไม่ จำเลยไม่ได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 แม้ว่าก่อนทำสัญญาเช่าที่ดิน จำเลยอาจจะยึดถือที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนมาก่อนก็ตามโดยผลของสัญญาเช่าที่ดินต้องถือว่าจำเลยสละเจตนาครอบครองที่ดินเพื่อตนต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9350/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสภาพเจ้าของที่ดินจากการไม่โต้แย้ง และขอบเขตการต่อสู้คดีการบังคับคดี
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้องโดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดและโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองกับบริวารขนย้ายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินตามฟ้องมาจากการขายทอดตลาด แต่การยึดทรัพย์และขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้ปฏิเสธข้อที่ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน ดังนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยทั้งสองรับว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องสืบพยาน ส่วนเรื่องการยึดทรัพย์และขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีที่จำเลยทั้งสองต้องร้องขอเข้าไปในคดีที่มีการบังคับคดีนั้นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง คำให้การของจำเลยจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาท การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาคดีไปจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8792/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้การต่อสู้คดีอายุความไม่ชัดเจน ถือเป็นประเด็นไม่สมบูรณ์ ศาลไม่ต้องวินิจฉัย
คำฟ้องของโจทก์อ้างว่า จำเลยส่งรถยนต์มาให้โจทก์ซ่อมหลายครั้งหลายรายการโจทก์ซ่อมรถยนต์ให้แก่จำเลยและได้มอบรถยนต์ให้แก่ลูกค้าของจำเลยแล้ว จำเลยให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องถึงวันฟ้อง โดยไม่ได้ระบุให้ชัดแจ้งว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมคันไหนตั้งแต่เมื่อไรทั้ง ๆ ที่เอกสารท้ายฟ้องได้ระบุยี่ห้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียนรถยนต์ หมายเลขเคลมเลขที่กรมธรรม์ประกันภัยและจำนวนเงินค่าซ่อมไว้อย่างชัดเจนแล้ว จำเลยสามารถทราบได้เป็นอย่างดีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์แต่ละคันตั้งแต่เมื่อใด และสามารถให้การต่อสู้ได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับรถยนต์คันไหนขาดอายุความแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความโดยชัดแจ้งคำให้การของจำเลย จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7166/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน: การซื้อร่วมกันและผลกระทบต่อการครอบครองและแบ่งกรรมสิทธิ์
จำเลยที่ 1 ให้การตอนแรกว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยซื้อมาจาก ท. และได้ใส่ชื่อ ส. ไว้แทน เพราะขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังเป็นคนต่างด้าวอยู่ภายหลังจึงให้ใส่ชื่อ ต. ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสามไว้แทน แต่ในตอนหลังกลับให้การว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ด้วยนั้น ซึ่งหากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแล้ว ย่อมไม่เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการครอบครองที่ดินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปในตัว คำให้การของจำเลยที่ 1 ในประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์จึงขัดแย้งกันเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ แต่คำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสามว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์ทั้งสาม แต่เป็นของจำเลยที่ 1 คดีคงมีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หรือโจทก์ทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5593/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดิน: การครอบครองทำประโยชน์ และการเพิกถอน ส.ป.ก.4-01 โดยอ้างสิทธิเดิม
โจทก์ตั้งประเด็นในคำฟ้องว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นของโจทก์ ซึ่งจำเลยขอให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-10 ครอบที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงโดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 ฉบับดังกล่าว จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นของจำเลย คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ไม่อาจมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์ได้ เพราะการแย่งการครอบครองที่ดินจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยกล่าวแก้ในคำให้การว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยเอง ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกจำเลยแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง จึงขัดแย้งกับคำให้การที่อ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยอยู่ในตัว ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีสิทธิปรับค่าเช่ารายวันได้ โจทก์ไม่รื้อถอนโครงสร้างตามสัญญา จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินประกันคืน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าคืนเงินประกันค่าเสียหายจากการใช้สถานที่เช่าเนื่องจากภายหลังครบกำหนดเวลาสัญญาเช่า โจทก์ผู้เช่าได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กสำหรับติดตั้งป้ายโฆษณาออกจากที่เช่าเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การว่าเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าโจทก์มิได้รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กออกจากที่เช่า แต่กลับขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยให้จำเลยที่ 1 หักเงินประกันดังกล่าวเป็นค่าเช่า ซึ่งเป็นคำให้การที่ปฏิเสธข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็ก คดีจึงมีประเด็นพิพาทที่ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงสร้างเหล็กหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลทำให้เกิดข้อแพ้ชนะในคดี และจะต้องวินิจฉัยก่อนประเด็นข้ออื่น ส่วนคำให้การที่ว่าโจทก์ขอต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 เดือน เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างนอกเหนือไปจากข้ออ้าง ที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ เพราะหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาเช่าแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อไป เนื่องจากเป็นข้ออ้างที่เกินเลยไปจากข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในประเด็นว่าโจทก์ได้ต่อระยะเวลาการเช่าออกไปอีก 3 เดือน โดยไม่ได้วินิจฉัยประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาเมื่อจำเลยที่ 1 ยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิหักเงินประกันเป็นค่าปรับรายวันนั้น จำเลยที่ 1 ได้แสดงมาโดยชัดแจ้งในคำให้การเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัย หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่รื้อถอนแผ่นป้ายโฆษณาและโครงเหล็กแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5370/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาประเด็นพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายในคดีไม่มีข้อพิพาท การคัดค้านต้องชัดแจ้งจึงจะเกิดประเด็นข้อพิพาท
ในคดีไม่มีข้อพิพาทถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (5) คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดเจนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ พระ อ. ไม่ได้มีความประสงค์หรือเจตนาจะทำพินัยกรรมดังกล่าว ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยถูกหลอกลวง สำคัญผิดไม่เป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมและขณะทำพินัยกรรมพระ อ. มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่าพระ อ. ทำพินัยกรรมจริงแต่ถูกหลอกลวง สำคัญผิดและมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แต่คำร้องคัดค้านกลับกล่าวอีกว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือของพระ อ. เท่ากับยืนยันว่าพระ อ. ไม่ได้ทำพินัยกรรม เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำถูกหลอกลวง สำคัญผิดหรือทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ส่วนที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ได้ระบุว่าไม่ถูกต้องตามแบบอย่างใดจึงไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ คำร้องคัดค้านจึงไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การแจ้งครอบครองแทนกัน, การครอบครองปรปักษ์, และการกำหนดค่าทนายความที่เหมาะสม
จำเลยให้การปฏิเสธว่า ล. ได้ให้ ข. กับ ป. และ ห. บรรพบุรุษของโจทก์และบริวารซึ่งเป็นญาติเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาท โดยอาศัยปลูกบ้านอยู่และปลูกพืชผักสวนครัว อันเป็นการยึดที่ดินพิพาทแทน ล. เมื่อ ล. ตายที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยจำเลยก็อนุญาตให้ ป. กับ ห. และบริวารอาศัยอยู่ต่อมา เมื่อ ป. เป็นผู้นำที่ดินของ ล. ที่ตนอาศัยไปแจ้งการครอบครอง จึงถือว่าเป็นการแจ้งการครอบครองแทน ล. ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินที่พิพาท คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพียงว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เป็นประเด็นว่า ป. แจ้งสิทธิครอบครอง ตาม ส.ค.1 ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของ ล. มารดาจำเลยแทน ล. มารดาจำเลยเท่านั้น การที่จำเลยฎีกาปัญหาอื่นนอกจากนี้ แม้จำเลยจะได้นำสืบด้วย ก็ถือว่าเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทและเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง
ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความ ท้าย ป.วิ.พ. ให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะคดีโดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดี กับเทียบเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น โดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูง เมื่อปรากฏว่าทนายโจทก์ก็ได้เรียงพิมพ์คำแก้อุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นแล้ว ถือว่าทนายโจทก์ได้ว่าคดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว โดยจำเลยได้อุทธรณ์มาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งฟังไม่ขึ้นแม้แต่ข้อเดียว จนศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นสมดังที่ทนายโจทก์ได้แก้อุทธรณ์ไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ได้ เมื่อทุนทรัพย์ในคดีมีจำนวน 960,000 บาท ส่วนค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์นั้นมีจำนวน 25,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.6 ของจำนวนทุนทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่อาจกำหนดค่าทนายความให้ในอัตราขั้นสูงได้ถึงร้อยละ 3 ของจำนวนทุนทรัพย์ ค่าทนายความดังกล่าวไม่สูงเกินส่วน
of 49