คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 78 บัญชีอั

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2242/2532 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อหากำไรเข้าข่ายต้องเสียภาษีการค้า แม้จะอ้างว่ามีหนี้สิน
เมื่อปี พ.ศ. 2492 โจทก์ซื้อที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 11 ไร่ ราคา 22,320 บาท ต่อมาปี พ.ศ. 2520 โจทก์แบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น 102 แปลง และให้ห้าง ส. ลงทุนทำถนนสร้างตึกแถวติดตั้งไฟฟ้าและน้ำประปาลงบนที่ดินที่แบ่งแยก จากนั้นโจทก์และห้าง ส. ก็ขายที่ดินและตึกแถวโดยโจทก์จดทะเบียนขายเฉพาะที่ดินห้าง ส. ทำสัญญาขายเฉพาะตึกแถว โจทก์ขายที่ดินในราคาตารางวาละ 5,000 บาท ได้เงินมาแล้ว 9 ล้านบาทเศษ ได้กำไรถึงประมาณ 1,000 เท่า เห็นได้ว่าโจทก์ประกอบธุรกิจการค้าหากำไร จึงเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียภาษีการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4079/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อที่ดินเพื่อแบ่งแยกและขายตึกแถวถือเป็นการค้าเพื่อหากำไร ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีการค้า
โจทก์ซื้อที่ดินมาดำเนินการแบ่งแยกโฉนดเป็น 11 โฉนดและจดทะเบียนแบ่งแยก แล้วปลูกสร้างตึกแถวบนที่ดินที่แบ่งแยกจำนวน 11 คูหาจากนั้นทยอยขายไปจนหมดภายใน 8 เดือน เช่นนี้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาเพื่อมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีนั้น ทั้งการที่โจทก์แบ่งแยกและขายที่ดินพร้อมตึกแถวไปดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการค้า ประเภทการค้าอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องนำรายรับมาเสียภาษีการค้าด้วย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3360/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความ 'วัตถุก่อสร้าง' ตามกฎหมายภาษีอากร: ทองเหลืองรูปตัวที/แอล จัดเป็นวัตถุก่อสร้างที่ต้องเสียภาษี
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่54) พ.ศ.2517 บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาบัญชีที่ 1 หมวด 4 บัญญัติว่า 'หมวด 4 วัตถุก่อสร้างและเครื่องเรือน (1) ฯลฯ (6) กลอน บานพับ คานเหล็กเหล็กฉากผลิตภัณฑ์โลหะใด ๆ ที่มิได้ผลิตจากสินค้าตาม (4)' กลอน บานพับ คานเหล็ก เหล็กฉาก เป็นวัตถุที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในการก่อสร้าง แต่หาใช่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการก่อสร้างทุกรายไม่ผลิตภัณฑ์โลหะที่บัญญัติต่อท้ายกลอน บานพับ คานเหล็กและเหล็กฉากดังกล่าวก็ต้องมีลักษณะทำนองเดียวกัน กล่าวคือ ไม่ต้องเป็นสิ่งจำเป็นต่อการก่อสร้างจนถึงแก่จะขาดเสียมิได้ด้วย ทองเหลืองรูปตัวทีใช้สำหรับทำคิ้วพื้นหินขัดสามารถแบ่งพื้นหินขัดออกเป็นแผ่น ๆ ป้องกันมิให้พื้นแตกเป็นทางยาวข้ามแผ่นได้ และทองเหลืองรูปตัวแอลใช้ทำขอบของขั้นบันไดหินขัด ก็หุ้มขอบบันไดมิให้แตกและสึกกร่อนง่าย ทองเหลืองดังกล่าวจึงเป็นวัตถุที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในการก่อสร้างการที่ใช้ประกอบเข้าแล้วทำให้เกิดความสวยงามด้วยก็เป็นลักษณะของวัตถุก่อสร้างทั่ว ๆ ไปนั่นเอง ฟังไม่ได้ว่าทองเหลืองดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งประดับ ดังนี้ทองเหลืองรูปตัวทีและตัวแอลย่อมเป็นผลิตภัณฑ์โลหะอันเป็นวัตถุก่อสร้างตามหมวด 4(6) แห่งบัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.2517 และเมื่อเป็นสินค้าตามบัญชีที่ 1 แล้วย่อมไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามมาตรา 5(8) จึงต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7 ตามประเภทการค้า 1 ชนิด 1 (ก) ในบัญชีอัตราภาษีการค้า ท้ายหมวด 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความคำว่า 'ด้าย' ในประมวลรัษฎากร และการคืนเงินภาษีที่เรียกเก็บเกินสิทธิ
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า ฯ บัญชี 2 หมวด 2 (9) ระบุว่า 'ด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ทอผ้า ไม้ว่าผลิตจากฝ้ายหรือเส้นใยอื่นใด' นั้น หมายความว่า สิ่งใดก็ตามที่มีลักษณะเป็นด้ายโดยไม่ว่าผลิตจากอะไร ใช้ทอผ้าได้โดยผ้าที่ทอนั้นเป็นสินค้านำออกขายเกิดรายรับเพื่อเสียภาษีตามอัตราในบัญชีอัตราภาษีการค้าได้แล้ว ย่อมเป็นด้ายตามความหมายดังกล่าว ดังเมื่อสินค้าเส้นใยประดิษฐ์ พี.โอ.วาย ของโจทก์โดยปกติในทางการค้าไม่มีการนำไปใช้ทอผ้า และแม้อาจนำไปทอเป็นผ้าในห้องทดลอง ผ้าที่ทอนั้นก็ขาดคุณสมบัติจำหน่ายในท้องตลาดไม่ได้ สินค้าเส้นใยประดิษฐ์ พี.โอ.วาย ของโจทก์จึงไม่ใช่ด้ายทุกชนิดสำหรับใช้ทอผ้า ไม่ว่าผลิตจากฝ้ายหรือเส้นใยอื่นใดตามความหมายที่ระบุในบัญชี 2 หมวด 2(9) โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีการค้าสำหรับการขายสินค้าดังกล่าวตาม มาตรา 5(8) แห่งพระราชกฤษฎีกา ฯ ดังกล่าว.
เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าและภาษีสุขาภิบาลตามกฎหมาย แต่จำเลยได้รับชำระค่าภาษีจากโจทก์ไว้โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะเรียกเก็บ จำเลยจึงมีหน้าที่คืนเงินภาษีนั้นแก่โจทก์ จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2523 ยืนยันว่าโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าและปฏิเสธไม่คืนเงินภาษีที่เรียกเก็บให้แก่โจทก์ จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 นับแต่วันดังกล่าว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3090/2528 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อลูมิเนียมฟอยล์และลามิเนต: การพิจารณาประเภทสินค้าเพื่อเสียภาษีการค้า
อลูมิเนียมแผ่นเปลวชนิดฟอยล์ (PLAIN FOIL หรือ FOIL) และอลูมิเนียมแผ่นเปลวผนึกด้วยกระดาษ (LAMINATED FOIL) ที่โจทก์ผลิตขึ้นมานั้น จะเป็นของใช้เฉพาะที่ผลิตจากโลหะตามหมวด 9 บัญชีที่ 1 แห่ง พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 หรือไม่ จะต้องพิจารณาจากการใช้ในสภาพปกติของสินค้าดังกล่าวนั้น ว่าจะนำไปเป็นของใช้ในตัวของมันเองได้ในทันทีหรือไม่โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้ใช้จะต้องนำของนั้นไปปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมกับความประสงค์พิเศษของผู้ใช้หรือเพื่อให้รู้แหล่งกำเนิดและชนิดของสินค้านั้น ๆ หรือไม่ โจทก์ต้องผลิตอลูมิเนียมทั้งสองชนิดดังกล่าวให้มีความหนา ความบาง ความกว้าง ความยาว และอื่น ๆ ตามคำสั่งของลูกค้า แสดงว่าเป็นสิ่งของที่พร้อมจะนำไปใช้จึงมีสภาพที่แท้จริงเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นเพื่อนำไปใช้ห่อหรือบรรจุของหรือสินค้าอื่นโดยความมุ่งหมายเพื่อเก็บความร้อน ความชื้น และเก็บกลิ่นแม้ลูกค้าที่สั่งซื้อไปใช้อุตสาหกรรมหีบห่อ เช่นพวกซอง ถุงใส่ของโดยการนำไปพิมพ์ข้อความ เคลือบสี หรือนำไปผนึกเพื่อป้องกันมิให้ความชื้นเข้าไปได้ โดยนำไปทำเป็นซองหรือแผงเพื่อบรรจุสินค้าก็เป็นเพียงการปรับปรุงอลูมิเนียมแผ่นเปลวชนิดฟอยล์และอลูมิเนียมแผ่นเปลวผนึกด้วยกระดาษให้เหมาะสมกับสภาพที่จะเอาไปห่อหุ้มหรือบรรจุสินค้าของลูกค้า เพื่อให้เกิดความสวยงาม ให้มีความคงทนในการเก็บรักษา ให้รู้ว่าสินค้าที่อยู่ภายในเป็นอะไร ให้รู้แหล่งกำเนิดของผู้ผลิต อลูมิเนียมทั้งสองชนิดนั้นมิได้คลายสภาพเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นใหม่ ยังคงมีสภาพเป็นของใช้ที่ใช้ห่อหุ้มหรือบรรจุสินค้าอื่นที่ใช้ได้ทันทีในตัวของมันอยู่นั่นเอง จึงเป็นของใช้เฉพาะที่ผลิตจากโลหะตามหมวด 9 ของบัญชีที่ 1 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวข้างต้น (ซึ่งจะต้องเสียภาษีการค้าไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 5 (8) ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนั้น)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2527 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์หลังประนีประนอมยอมความ ถือเป็นการค้าเพื่อหากำไร ต้องเสียภาษีการค้า
บริษัท ก. ซึ่งดำเนินกิจการจัดสรรที่ดินและบ้านขาย เป็นหนี้ธนาคารโจทก์จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยบริษัท ก. ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 374 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จัดสรรขายนั้นให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ และในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้มีข้อตกลงว่า เมื่อผู้ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายใดได้ชำระราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ตกลงซื้อให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อนั้น อาคารใดที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จเรียบร้อยโจทก์รับจะดำเนินการก่อสร้างให้เรียบร้อย เมื่อโจทก์จำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปหมดแล้ว ถ้าได้เงินเกินกว่าจำนวนที่บริษัท ก. เป็นหนี้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยเท่าใด โจทก์ยอมแบ่งเงินส่วนที่เกินนั้นแก่บริษัท ก. ครึ่งหนึ่งต่อมาเมื่อโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากบริษัท ก. ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็ได้ดำเนินการจัดการก่อสร้าง ปรับปรุง เพิ่มเติมอาคารจนแล้วเสร็จแล้วขายไป พฤติการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรเข้าลักษณะเป็นรายรับตามประเภทการค้า 11 การค้าอสังหาริมทรัพย์แห่งบัญชีอัตราภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร โจทก์ต้องนำรายรับนี้มาเสียภาษีการค้า
การประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่กิจการที่ผิดกฎหมาย เพียงแต่มีกฎหมายห้ามบุคคลบางประเภทไม่ให้กระทำเท่านั้นฉะนั้น การประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์จะเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 หรือไม่ก็ตามก็หาทำให้โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรไม่