คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 18

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 511 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2865/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตั้งผู้จัดการมรดก: ศาลไม่ควรบังคับให้ผู้ร้องนำเอกสารที่ไม่ใช่ข้อบังคับมาพร้อมคำร้อง ขอให้รับคำร้องและไต่สวน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ผู้ตาย โดยบรรยายคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นบุตรของ บ. และ ห. มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน บิดามารดาและพี่น้องบางคนได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ผู้ร้องถึงแก่ความตายโดยไม่เคยแต่งงานและไม่มีบุตร ผู้ตายมีทรัพย์มรดกและมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ผู้ร้องในฐานะทายาทโดยธรรมและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก คำร้องขอของผู้ร้องได้บรรยายโดยแจ้งชัดถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องเป็นทายาทที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นคำร้องที่สมบูรณ์และชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 171 ประกอบมาตรา 172 วรรคสอง ศาลชอบที่จะมีคำสั่งรับคำร้องไว้ไต่สวนต่อไป
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสนอหนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายซึ่งรับรองโดยเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อศาลภายใน 7 วัน จึงจะพิจารณาสั่งคำร้องขอ มิฉะนั้นถือว่าไม่รับ แม้เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้วใช้ดุลพินิจสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ก็ตาม แต่หนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายดังกล่าวไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมคำร้องขอ คงเป็นเอกสารเกี่ยวกับรายละเอียดที่ผู้ร้องสามารถนำสืบได้ในชั้นไต่สวนว่า บิดามารดาของผู้ตายถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องในฐานะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับผู้ตาย เป็นทายาทผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกผู้ตาย และอาจส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลในชั้นไต่สวนได้ คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ แม้ผู้ร้องจะมิได้ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลชั้นต้นก็จะมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องที่ยื่นโดยชอบแล้วหาได้ไม่และกรณีไม่ใช่เรื่องที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร
อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องทิ้งคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ด้วยก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้ไต่สวนแต่อย่างใด คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งทิ้งคำร้องจึงไม่ชอบด้วยเช่นกัน ต้องยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องเสนอหนังสือรับรองการตายของบิดามารดาผู้ตายโดยให้รับคำร้องขอแล้วดำเนินการไต่สวนต่อไปตามรูปคดีต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12132/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย: จำเลยต้องวางค่าธรรมเนียมก่อนอุทธรณ์ตามกฎหมายภาษีอากร
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น โดยขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นอันเพิกถอนไปได้ ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 โดยศาลไม่จำต้องมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติก่อน เพราะกรณีมิใช่เรื่องที่จำเลยมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ดังนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10115/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ต้องวางค่าฤชาธรรมเนียมครบถ้วนตามคำสั่งศาลชั้นต้น มิฉะนั้นเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
ป.วิ.พ. มาตรา 229 วางหลักในการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางพร้อมกับอุทธรณ์ด้วย โดยไม่ได้คำนึงว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาในคำฟ้องและคำให้การหรือไม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้พิจารณาคดีใหม่และยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ผิดระเบียบ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งโดยขอให้กลับคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นว่าให้พิจารณาคดีใหม่และให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ถูกต้องแล้ว ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมที่จำเลยทั้งสองจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองวางเฉพาะค่าทนายความ 3,000 บาท แต่ยังมิได้วางค่าที่โจทก์ส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์จำนวน 10,000 บาท และค่าคำร้องต่าง ๆ ที่โจทก์เสียไปในระหว่างพิจารณา การวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนอีกฝ่ายตามคำสั่งศาลชั้นต้นถือว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องวางให้ครบ หากไม่ครบศาลชั้นต้นไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองแก้ไขก่อนจะตรวจรับอุทธรณ์ เพราะไม่ใช่กรณีไม่ชำระหรือชำระค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบมาตรา 232 เมื่อกฎหมายและคำสั่งของศาลชั้นต้นระบุหน้าที่ของจำเลยทั้งสองไว้แล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม แม้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมา ก็ไม่ทำให้กลายเป็นอุทธรณ์ที่ชอบไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10115/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางค่าฤชาธรรมเนียมในการอุทธรณ์ หากไม่ครบถ้วน ศาลไม่รับอุทธรณ์
บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ไม่คำนึงว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาในคำฟ้องและคำให้การหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งโดยขอให้กลับคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นว่าให้พิจารณาคดีใหม่และเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แม้จำเลยทั้งสองชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ถูกต้อง แต่ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมที่ต้องใช้แทนโจทก์นั้น จำเลยทั้งสองวางเงินเฉพาะค่าทนายความ ไม่ได้วางเงินค่าตรวจพิสูจน์เอกสารกับค่าคำร้องที่โจทก์เสียไปในระหว่างพิจารณา อันเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองต้องวางเงินให้ครบถ้วน โดยศาลชั้นต้นไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองแก้ไขก่อนจะตรวจรับอุทธรณ์ เพราะไม่ใช่กรณีไม่ชำระหรือชำระค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบมาตรา 232 เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ให้ครบถ้วน แม้ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองไว้ ก็ไม่ทำให้กลายเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8528/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่วางค่าธรรมเนียม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งหากศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ย่อมมีผลให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นอันเพิกถอนไปในตัว จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 โดยศาลไม่จำต้องมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติก่อน เพราะกรณีมิใช่เรื่องที่จำเลยมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยมา ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6582/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คำสั่งต้องวางค่าธรรมเนียมใช้แทนคู่ความ หากอุทธรณ์มีผลให้คำพิพากษาเดิมอาจถูกเพิกถอน
ป.วิ.พ. มาตรา 229 บัญญัติว่า "การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย..." บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ที่จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ แม้อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเป็นอุทธรณ์คำสั่งกรณีขอให้จำเลยยื่นคำให้การและพิจารณาคดีใหม่ จำเลยก็ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนดังกล่าว เพราะหากศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ตามอุทธรณ์ของจำเลยก็จะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เป็นอันต้องถูกเพิกถอนไปทันที อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงเท่ากับเป็นการอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนดังกล่าวมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์คำสั่งนั้นด้วย เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งกรณีมิใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยไม่ถูกต้องครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่ศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะมีคำสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยและในชั้นฎีกาจำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์มาวางศาล ก็ไม่มีผลทำให้อุทธรณ์ของจำเลยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6154/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี: การมอบอำนาจฟ้องโดยไม่มีตราบริษัทประทับบนหนังสือมอบอำนาจแต่มีพยานเบิกความยืนยันและส่งเอกสารที่มีตราประทับต่อศาล
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ก. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน ตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจโจทก์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง แม้ไม่ปรากฏรอยตราสำคัญของบริษัทโจทก์ประทับไว้ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เสียไปไม่ เพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่ใช่เอกสารที่กฎหมายบังคับให้ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ในชั้นสืบพยานโจทก์มี ก. ผู้รับมอบอำนาจเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์มอบอำนาจให้ตนฟ้องและดำเนินคดีแทน และอ้างส่งหนังสือมอบอำนาจที่มีตราสำคัญของบริษัทโจทก์ประทับต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นรับไว้เป็นเอกสารหมาย จ.2 จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ได้ประทับตราสำคัญของบริษัททั้งในต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจและสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เอกสารหมาย จ.2 แล้ว การมอบอำนาจของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีล้มละลาย: การมีหนี้สินล้นพ้นตัว การพิสูจน์ทรัพย์สิน และขอบเขตความรับผิดของคู่สมรส
การยื่นฟ้องและชั้นตรวจคำฟ้องในคดีล้มละลาย ไม่มีกฎหมายว่าด้วยล้มละลายและข้อกำหนดคดีล้มละลายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ได้บังคับว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเป็นเอกสารที่ต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้อง ประกอบกับโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาแล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้ว่าที่พันตรี ส. หรือ ข. เป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ยื่นคำร้องอ้างเหตุที่มิได้ส่งสำเนาหนังสือมอบอำนาจ เนื่องจากหลงลืมและขอส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลและจำเลยทั้งสี่ ก่อนวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นเวลาประมาณ 1 ปี จำเลยทั้งสี่ย่อมมีโอกาสแก้ไขคำให้การได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบ ดังนั้น แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องจะไม่มีหนังสือมอบอำนาจแนบมาด้วยก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้โจทก์จะเคยนำหนี้ในคดีนี้ไปฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 862/2549 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี ขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ โดยโจทก์และจำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความคนเดียวกันและคดีอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ก็ตาม แต่ในคดีดังกล่าวประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ ส่วนในคดีนี้ประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและสมควรถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ จึงเป็นการยื่นคำฟ้องคนละเรื่องกัน ฟ้องของโจทก์หาเป็นฟ้องซ้อนไม่
ในการฟ้องคดีล้มละลายเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามกระบวนการกฎหมายล้มละลาย โจทก์มีสิทธิที่ฟ้องได้ภายในอายุความที่กฎหมายกำหนด ส่วนจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ ย่อมมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เมื่อผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยได้ตามข้อตกลงในสัญญาแห่งมูลหนี้นั้น ๆ เหตุที่ดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมากก็เนื่องมาจากจำเลยทั้งสี่ผิดนัดชำระหนี้ แม้หากดอกเบี้ยเป็นเบี้ยปรับในชั้นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ นอกจากนี้ แม้โจทก์จะเคยฟ้องจำเลยทั้งสี่ในคดีแพ่งและขอถอนฟ้อง และจำเลยทั้งสี่คัดค้านก็ตาม แต่ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีล้มละลายอีกได้ ประกอบกับศาลในคดีแพ่งได้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว การที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องยังไม่อาจฟังได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเพื่อบีบบังคับแก่จำเลยทั้งสี่ และใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด
การที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงิน และหนี้สินอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ทำหนังสือให้ความยินยอมในฐานะเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 แม้หนี้ดังกล่าวจะไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรสดั่งที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ก็ตาม แต่หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 4 ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวที่จำเลยที่ 4 ผู้เป็นภริยาได้ให้สัตยาบันแล้วจึงเป็นหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในหนี้ที่มีต่อโจทก์
หนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาวงเงินขายลดตั๋วเงินซึ่งสามารถคิดคำนวณยอดหนี้จนถึงวันฟ้องได้ว่าเป็นจำนวนเท่าใดโดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ เนื่องจาก พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) เพียงแต่กำหนดว่าหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตามเท่านั้น โดยหาได้บัญญัติว่าหนี้นั้นศาลต้องพิพากษากำหนดจำนวนแน่นอนเสียก่อนไม่ หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ให้ล้มละลายได้
ก่อนฟ้องโจทก์ได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่โดยยื่นคำขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยทั้งสี่มีภูมิลำเนาในเขตรับผิดชอบแล้วปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงชำระหนี้ได้ นอกจากนี้โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้แล้วสองครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่จำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระหนี้ ข้อนำสืบของโจทก์ดังกล่าวถือว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า จำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และ (9) แล้ว จำเลยทั้งสี่มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4633/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่สมบูรณ์หากไม่มีลายมือชื่อ การรับฟ้องที่ไม่ชอบทำให้กระบวนการพิจารณาเป็นโมฆะ
คำฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 (5) หากโจทก์หรือทนายโจทก์ไม่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่ลงลายมือชื่อในคำฟ้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้ย่อมเป็นการไม่ชอบ มีผลทำให้กระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไปด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6927/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลมีอำนาจพิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ หากเห็นว่าคดีไม่มีมูลความผิด
แม้คดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ต้องพิจารณาว่าคดีโจทก์มีมูลพอที่จะประทับฟ้องหรือไม่ แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่มีมูลเป็นความผิดก็ชอบที่จะวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องไปได้เลยดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 167 ซึ่งศาลชั้นต้นได้ไต่สวนพยานหลักฐานโจทก์แล้ววินิจฉัยการกระทำของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดี โดยเห็นว่าจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง คดีโจทก์ไม่มีมูลที่จะฟ้องร้องให้จำเลยทั้งหกรับผิด จึงพิพากษายกฟ้องและยกคำขอส่วนแพ่ง จึงเป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง
of 52