คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 18

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 511 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7494/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ค่าขึ้นศาล: กำหนดเวลาและกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มขึ้น เป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 232 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้นโดยเฉพาะที่จะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อจำเลยทั้งสามเห็นว่าอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวมิใช่อุทธรณ์ที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์ที่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่จำต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มตามคำสั่งศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ตามนัยของ ป.วิ.พ. มาตรา 227 โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อจำเลยทั้งสามได้ใช้สิทธิดังกล่าวโดยยื่นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2545 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 นั้นแล้ว หากจำเลยทั้งสามประสงค์จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จำเลยทั้งสามก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 234 กล่าวคือ จะต้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง และเมื่อปรากฏว่ามีกำหนดให้จำเลยทั้งสามมาทราบคำสั่งดังกล่าวในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์นับแต่วันที่กำหนดไว้นั้นแล้ว การที่จำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์โดยตรงในวันที่ 12 มีนาคม 2545 จึงเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะยกอุทธรณ์คำสั่งฉบับดังกล่าวของจำเลยทั้งสามนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1658/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางค่าธรรมเนียมศาลกับการรับพิจารณาอุทธรณ์: ศาลต้องรับอุทธรณ์หากวางค่าธรรมเนียมครบถ้วน
ในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์จำเลยได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยได้ ส่วนการที่จำเลยวางเงินค่าธรรมเนียมและค่าขึ้นศาลไม่ครบถ้วน ก็เป็นเรื่องของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่จะมีคำสั่งต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1075/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลายื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องคดีภาษีอากร การรับเงินค่าขึ้นศาลคืนถือเป็นการสละสิทธิ
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและสั่งคืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์ โดยแจ้งคำสั่งไม่รับคำฟ้องให้แก่โจทก์โดยวิธีปิดหมายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2544 โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลภาษีอากรกลางในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 โดยบรรยายความว่า ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์และสั่งคืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์ โจทก์จึงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืน เป็นที่แจ้งชัดว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลภาษีอากรกลางที่ไม่รับคำฟ้องตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 แล้ว ประกอบกับโจทก์ได้รับเงินค่าขึ้นศาลคืนจากศาลในวันเดียวกันนั้น แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ดังนั้น หากโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โจทก์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2544 คือภายในวันที่ 19 ธันวาคม 2544 โดยต้องนำค่าขึ้นศาลที่รับคืนไปแล้วกลับมาชำระให้ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ มาตรา 29
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ มาตรา 19 ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อกรณีไม่มีความจำเป็นจะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาตามคำสั่งนั้น แม้โจทก์จะยื่นอุทธรณ์มาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินที่งอกริมตลิ่ง ผู้รับโอนที่ดินเดิมย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่งอกไปด้วย
คำฟ้องของโจทก์มีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ทนายโจทก์จะไม่ระบุเลขที่ใบอนุญาตว่าความไว้ในคำฟ้องเนื่องจากความหลงลืม แต่ทนายโจทก์ก็ได้ยื่นใบแต่งทนายความซึ่งระบุเลขใบอนุญาตว่าความของตนไว้ต่อศาลขณะยื่นคำฟ้องซึ่งจำเลยสามารถที่จะตรวจสอบความสามารถและอำนาจในการดำเนินคดีของทนายได้อยู่แล้ว และการที่ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อในสำเนาคำฟ้องในช่องผู้เขียนหรือพิมพ์ แตกต่างจากในคำฟ้องที่ทนายโจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงและพิมพ์ หาทำให้คำฟ้องของโจทก์กลับกลายเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แต่อย่างใดไม่
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์รับโอนที่พิพาทมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนหรือไม่ โจทก์เป็นผู้มีชื่อในทะเบียนจึงได้รับประโยชน์ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่จำเลยและเนื่องจากประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญกว่าทุกประเด็น จึงให้จำเลยนำสืบก่อนทุกประเด็นแล้วให้โจทก์สืบแก้ เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งการกำหนดประเด็นหน้าที่นำสืบของศาลชั้นต้นดังกล่าว จำเลยจะมาเถียงในชั้นฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบไม่ได้
การที่จำเลยซื้อที่ดินซึ่งเกิดที่งอกริมตลิ่ง จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ส่วนที่เกิดที่งอกด้วยโดยผลของกฎหมาย ส่วนเจ้าของที่ดินเดิมพ้นจากการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดที่เคยมีอยู่ แม้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมจะได้ขอออกโฉนดในที่ดินส่วนที่เป็นที่งอกไว้และต่อมาได้รับโฉนดในภายหลังแล้วโอนขายให้โจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้โอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5182/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟ้องแย้งและการพิจารณาความเกี่ยวเนื่องกับฟ้องเดิม กรณีรุกล้ำที่ดิน
ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องและเป็นคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(3)(5) การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง จึงเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามมาตรา 18 วรรคห้า คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 227 และ 228 ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ขอให้รับฟ้องแย้งได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนบนที่ดินของจำเลยและสร้างรั้วคอนกรีตล้อมรอบรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ขอให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารที่รุกล้ำออกไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตโดยสุจริตจึงขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่จำเลยในราคา 100,000 บาทหากโจทก์ไม่ยอมก็ขอให้โจทก์จดทะเบียนสิทธิภารจำยอมให้แก่จำเลย โดยจำเลยยอมเสียเงินเป็นค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ 100,000 บาท ดังนี้หากฟังได้ว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตรุกล้ำโดยสุจริตหรือฟังได้ด้วยว่ารั้วคอนกรีตติดตรึงเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน จำเลยก็มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312ไม่ต้องรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำ แต่ต้องเสียค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์และจดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมโดยตรง ชอบที่จะรับฟ้องแย้งไว้พิจารณาพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับพิจารณาใหม่ ต้องวางค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษาเดิม หากไม่วาง ศาลมีสิทธิไม่รับอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาใหม่ต่อศาลอุทธรณ์โดยเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท แต่โดยที่คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในกรณีนี้หากเป็นไปในทางอนุญาตตามคำร้องของจำเลยย่อมมีผลกระทบต่อคดีทั้งคดีเนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เบญจ วรรคสาม ให้ถือว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นอันเพิกถอนไปในตัว ดังนั้น จึงเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาซึ่งจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 229 ซึ่งผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ การที่จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยชำระเพียงค่าขึ้นศาลโดยมิได้วางเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาด้วย ย่อมเป็นการไม่ชอบ ศาลชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้ทันที กรณีมิใช่เรื่องการมิได้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลโดยถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 18 ที่ศาลจะต้องสั่งให้ชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วนเสียก่อนที่จะสั่งไม่รับคำคู่ความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5866/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่ชอบ และการแก้ไขคำให้การหลังสืบพยาน รวมถึงประเภทสัญญาเช่า
ศาลมีคำสั่งให้ ศ. เป็นคู่ความแทนจำเลย ศ. ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวอ้างว่าส่งหมายเรียกให้แก่ตนไม่ชอบ ศาลมีคำสั่งยกคำร้องเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาและมิได้เป็นคำสั่งที่ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18 เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งไว้ตามมาตรา 226 (2) จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์
การขอแก้ไขคำให้การให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การหลังจากโจทก์สืบพยานไปแล้ว 1 ปาก จำเลยจึงไม่มีสิทธิกระทำได้โดยไม่ต้องพิเคราะห์ว่าโจทก์จะเสียเปรียบหรือไม่
สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าจะเป็นสัญญาธรรมดาหรือสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ก็เป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญา มิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4422/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี, การแต่งตั้งทนายความ, ข้อบกพร่องเอกสาร, การแก้ไขเอกสาร, การดำเนินคดีแทน
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้ฟ้องคดีแทน และระบุชื่อคู่ความว่า "นางดี พานิชเจริญ โดย บ. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์" แต่ปรากฏในใบแต่งทนายความที่ยื่นพร้อมคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้แต่งให้ ว. เป็นทนายความด้วยตนเองและ ว. เป็นผู้ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายฟ้อง โจทก์จึงเป็นผู้ฟ้องคดีเองมิได้มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีแต่ประการใด คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีนี้หรือไม่
ใบแต่งทนายความของโจทก์มีผู้ลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือเพียงคนเดียวไม่เสมอกับลงลายมือชื่อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 9 วรรคสอง มีผลทำให้การแต่งตั้งทนายความของโจทก์ยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ ทนายความผู้นั้นยังไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้องได้ เท่ากับคำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งให้ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 วรรคสอง และการแก้ไขเพิ่มเติมนี้อาจทำได้หลายประการ เช่น ให้โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ท้ายคำฟ้อง หรือในช่องผู้แต่งทนายความ ในใบแต่งทนายความหรือให้ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์จัดให้ผู้รู้เห็นในการพิมพ์ลายนิ้วมือของโจทก์ในใบแต่งทนายความมาลงลายมือชื่อรับรอง เมื่อปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่ความตายและมีผู้เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์แล้ว บุคคลดังกล่าวย่อมมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ได้ รวมทั้งมีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องของใบแต่งทนายความแทนโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีเนื้อหาก้าวร้าว และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล
การที่ศาลจะอนุญาตให้คู่ความอุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 ต้องประกอบด้วยผู้ขอเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอจะเสียค่าธรรมเนียมและต้องแสดงให้เป็นที่พอใจศาลด้วยว่าคดีมีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ หากศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์ ก็ย่อมมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้โดยไม่จำต้องไต่สวนเรื่องอนาถา สำหรับเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ได้หรือไม่อาจตรวจดูได้จากคำฟ้องอุทธรณ์ที่ต้องยื่นมาพร้อมกับคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ซึ่งเป็นอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 18 ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์มีข้อความก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้อุทธรณ์แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์หรือให้ทำอุทธรณ์มายื่นใหม่ได้ โดยไม่จำต้องสั่งคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์ก่อน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นทนายโจทก์ร่วมกันนำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นต่อศาลชั้นต้นโดยในคำฟ้องอุทธรณ์มีข้อความว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงอันเป็นนวนิยายที่จำเลยที่ 1 ผูกเรื่องแต่งขึ้น เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน การพิจารณาของศาลชั้นต้นโน้มเอียงเชื่อจำเลยทั้งหมดโดยไม่ได้พิจารณาตามเหตุผล ขาดทั้งวิจารณญาณขาดสามัญสำนึก ไม่เข้าใจในความละเอียดอ่อนของเรื่องครอบครัวพิจารณาคดีโดยขาดจริยธรรม บิดเบือนข้อเท็จจริงจากที่โจทก์นำสืบผู้หญิงทุกคนเมื่อแต่งงานแล้วต้องอยู่กินแบบผัวเดียวเมียเดียวเท่านั้น ไม่มีใครต้องการให้สามีไปมีใหม่ ถามภริยาท่านผู้พิพากษาคนไหนดูก็ได้ว่าจะยอมหรือไม่และไปสู่ขอให้ด้วย เป็นข้อความที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวอ้างในคำฟ้องอุทธรณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีเจตนาที่จะก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ย่อมเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3204/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลจากคำฟ้องอุทธรณ์ที่มีเนื้อหาก้าวร้าว และอำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องอนาถาก่อนรับคำฟ้อง
คำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาให้ชั้นอุทธรณ์นั้นต้องยื่นมาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 และการที่ศาลอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้ ต้องประกอบด้วย เป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์พอจะเสียค่าธรรมเนียมและผู้ขอต้องแสดงให้เป็นที่พอใจศาลด้วยว่า คดีมีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ สำหรับเหตุผลอันสมควรศาลมีอำนาจตรวจดูได้จากคำฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องอุทธรณ์มีข้อความก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้แก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์ หรือให้นำอุทธรณ์มายื่นใหม่ได้ โดยไม่จำต้องสั่งคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาก่อน
การที่ศาลชั้นต้นสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองฐานละเมิดอำนาจศาลสืบเนื่องมาจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นทนายโจทก์ร่วมกันนำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นต่อศาล โดยในคำฟ้องอุทธรณ์มี ข้อความก้าวร้าว ดูหมิ่น เสียดสีศาล ถือว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
of 52