คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 285 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3599/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ลูกจ้าง, การด่าว่าผู้อื่นขณะปฏิบัติงาน, การเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ลูกจ้างมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมอันดีในขณะปฏิบัติหน้าที่แม้นายจ้างไม่มีคำสั่ง ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานห้ามไว้ ถ้าลูกจ้างฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีดังกล่าว ต้องถือว่าลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน ฉะนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยด่าว่า ส.ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยโรงงานของจำเลยขณะที่ ส.ปฏิบัติหน้าที่ย่อมถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานแล้ว จำเลยมีสิทธิลงโทษโจทก์โดยตักเตือนเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์ได้ด่าว่า ส. อีก จึงถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือลาออกมีเงื่อนไขบังคับก่อน การเลิกจ้าง และสิทธิลูกจ้าง
หนังสือที่โจทก์มีไปถึงบริษัทจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีข้อความว่า เนื่องด้วยกระผมจะขอลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของบริษัทและจากมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบริษัทระบุว่าทางบริษัทจะทำการซื้อหุ้นในส่วนของกระผมคืน ซึ่งกระผมก็ไม่ขัดข้อง สำหรับราคาค่าหุ้นจะมีมูลค่าเท่าไร ทางคณะกรรมการบริหารบริษัทได้มอบหมาย ว.เป็นผู้ทำการตกลงกับกระผมในอันดับต่อไป กระผมขอแจ้งให้ท่านทราบว่ากำหนดการลาออกของกระผมในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไปและในฐานะผู้ถือหุ้น คือวันที่กระผมได้รับการชำระคืนค่าหุ้นในส่วนของกระผมในราคาที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย ข้อความดังกล่าวให้ความหมายว่าโจทก์จะลาออกก็ต่อเมื่อโจทก์ได้รับการชำระคืนค่าหุ้นในส่วนของโจทก์ในราคาที่ตกลงกันแล้ว ถือได้ว่าเป็นข้อความอันบังคับไว้ให้การลาออกซึ่งเป็นนิติกรรมเป็นผลต่อเมื่อมีการชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกันระหว่าง ว. กับโจทก์ซึ่งเป็นเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไข และจะมีผลเป็นการลาออกจากงานก็ต่อเมื่อเงื่อนไขดังกล่าวสำเร็จลงโดยโจทก์ได้รับการชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกันเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขบังคับก่อน และเงื่อนไขที่กำหนดให้นิติกรรมการลาออกจากการเป็นลูกจ้างมีผลนั้นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำงานในฐานะลูกจ้างหรือไม่ ก็ได้ เมื่อโจทก์ยังมิได้รับชำระคืนค่าหุ้นในราคาที่ตกลงกัน การลาออกของโจทก์จึงยังไม่มีผลบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2499/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงในสัญญาจ้างที่ขัดกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นโมฆะ นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย
แม้สัญญาจ้างมีข้อความให้สิทธิผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาได้โดยผู้รับจ้างไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนแต่ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ผิดแผกแตกต่างไปจากประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่อาจใช้บังคับแก่การจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2476/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และสิทธิการได้รับค่าชดเชย
โจทก์ละทิ้งหน้าที่ในระหว่างเวลาทำงานและฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานด้วยการดื่มเบียร์ในระหว่างเวลาทำงาน ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่การงานไปเสียและเป็นการจงใจขัดคำสั่งนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ ลักษณะงานที่โจทก์ทำอยู่คือหน้าที่ขัดเงาในบริษัทจำเลยซึ่งประกอบกิจการผลิตเครื่องประดับกาย มิใช่งานที่หากผู้ปฏิบัติงานมึนเมาแล้วอาจจะเกิดความเสียหายร้ายแรงแก่นายจ้างหรือเป็นอันตรายต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด ทั้งเป็นการดื่มเบียร์ในขณะที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ที่ทำอยู่ไปและไม่ปรากฎว่าโจทก์มึนเมาหรือไม่เพียงใดการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ จึงมิใช่กรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) แม้จำเลยจะกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับ การทำงานว่าจำเลยจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยถ้าพนักงานเสพสุรามึนเมาในขณะปฏิบัติงาน ก็มิใช่จะต้องถือว่าการกระทำผิดวินัยดังกล่าวเป็นกรณีที่ร้ายแรงทุกเรื่องไป เมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยได้เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือในเรื่องดังกล่าวมาก่อน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก็ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ จึงต้องถือว่าผิดนัดนับแต่วันที่เลิกจ้างเป็นต้นไป ต้องชดใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม: การพิจารณาเหตุผลเลิกจ้างตามคำสั่งเลิกจ้างและพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุ
ตามคำสั่งเลิกจ้าง นายจ้างระบุในคำสั่งเลิกจ้างว่า ลูกจ้างจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอย่างร้ายแรงและกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างเท่านั้น เท่ากับนายจ้างประสงค์จะถือเอาเฉพาะเหตุที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่ได้ถือเอาเหตุอื่นเป็นเหตุเลิกจ้างด้วย ดังนี้เมื่อนายจ้างถูกฟ้องก็ชอบที่จะยกเหตุตามที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้ จะยกเหตุอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในคำสั่งเลิกจ้างเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ การที่นายจ้างยกเหตุว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายขึ้นต่อสู้ ศาลย่อมไม่รับวินิจฉัย นายจ้างมิได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามกำหนดเวลาซึ่งถือว่าเป็นการผิดสัญญาและไม่ชอบด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 29 ย่อมทำให้ลูกจ้างผิดหวังเกิดความรู้สึกไม่พอใจนายจ้าง และมายืนออกันอยู่ที่หน้าโรงงาน เมื่อเห็นนายจ้างขับรถผ่านมาลูกจ้างได้กล่าวถ้อยคำว่า "อีหัวล้าน" ต่อนายจ้างซึ่งกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อนายจ้างอันมีผลสืบเนื่องมาจากการที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้ นอกจากถ้อยคำดังกล่าวแล้ว ลูกจ้างก็มิได้กล่าววาจาหรือแสดงกริยาอย่างอื่นใดประกอบอีก เพียงถ้อยคำซึ่งกล่าวด้วยอารมณ์ผิดหวังดังเช่นกรณีนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างในกรณีที่ร้ายแรง และถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงถ้อยคำที่ไม่สุภาพไม่ถึงกับเป็นการดูหมิ่นนายจ้างซึ่งหน้า จึงมิใช่เป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีฝ่าฝืนระเบียบบริษัทและการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุห้ามใช้เวลาหรือทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปทำงานส่วนตัวโดยมิได้รับอนุญาต การที่โจทก์ขายสินค้าบริษัทอื่นให้แก่ลูกจ้างจำเลยสองคน คนหนึ่งซื้อยาสระผมและครีมนวดผมอีกคนหนึ่งซื้อลิปสติกการซื้อขายสิ่งของจำนวนเล็กน้อยโดยปกติใช้เวลาเพียงครู่เดียวทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใดการกระทำของโจทก์จึงมิใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรง จำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อนจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ การที่โจทก์ขายสินค้าบริษัทอื่นแก่ลูกจ้างจำเลยย่อมเป็นเหตุให้ทั้งโจทก์และลูกจ้างต้องหยุดการทำงานเพื่อเจรจาและส่งมอบสินค้าที่โจทก์นำมาขาย ถือได้ว่าเป็นการกระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่การงานของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แม้สินค้าสูญหายแต่พิสูจน์ความประมาทเลินเล่อไม่ได้
โจทก์เกี่ยวข้องรับผิดชอบกับการเบิกจ่ายพัสดุโดยตรงเป็นผู้จ่ายตรวจ นับ คุมสินค้าอยู่ทุกวัน จำเลยผู้เป็น นายจ้างพิสูจน์ไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เอาสินค้าไป และ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้กระทำการใดในหน้าที่การงานโดยปราศจากความระมัดระวัง หรือละเลยการอันจักต้องกระทำ ตามหน้าที่ หรืองดเว้นการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง แม้โจทก์จะมี หน้าที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบกับการเบิกจ่ายพัสดุโดยตรงและ สินค้าได้หายไป ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จำเลยก็ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เมื่อไม่ปรากฏว่า โจทก์กระทำการใดอันถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เพียงปรากฏข้อเท็จจริงว่าสินค้าที่อยู่ในสถานที่ที่โจทก์ทำงานอยู่หายไป ยังไม่พอให้ถือได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างต่างด้าวที่ไม่ได้รับอนุญาตทำงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหากไม่ใช่เหตุตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ผิดข้อตกลงในเรื่องการขอใบอนุญาตทำงาน อันเป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานนั้นมิใช่กรณีหนึ่งกรณีใดตามที่บัญญัติไว้ในข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง จำเลยก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 51/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างจากลักษณะการทำงานและการจ่ายค่าจ้างตามผลงาน เพื่อสิทธิในการรับค่าชดเชย
โจทก์เป็นช่างแต่งผมชาย ใช้สถานที่ของจำเลยเปิดบริการ ลูกค้าโดยจำเลยเป็นผู้จัดหาสถานที่ โต๊ะ เก้าอี้ และ ของใช้ต่าง ๆ ส่วนโจทก์มีกรรไกร ปัตตะเลี่ยน เครื่องมือใช้เช็ด หู รายได้จากการแต่งผมชายของโจทก์แบ่งกันคนละครึ่ง ระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยจำเลยจ่ายส่วนที่จะได้แก่โจทก์ ให้โจทก์ทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือน ได้มีการตกลง เรื่องระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่า โจทก์ต้อง ตอกบัตรลงเวลาการทำงาน หากโจทก์ไม่มาทำงานหรือมาทำงานสาย ในวันใด โจทก์จะถูกหักค่าจ้าง โจทก์ได้รับบัตรประจำตัว พนักงานจากจำเลยเพื่อแสดงว่าเป็นพนักงานและจำเลยใช้ตรวจสอบ ในการอนุมัติให้เข้าออกบริเวณสถานที่ของจำเลย โจทก์ทำงาน สัปดาห์ละ 6 วัน เห็นได้ว่าโจทก์มีเวลาทำงานปกติของ วันทำงาน จำเลยมีอำนาจสั่งการและบังคับบัญชาให้โจทก์ ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดเวลา ทำงานและตรวจสอบเวลาทำงานของโจทก์ กับมีอำนาจหักรายได้ของโจทก์ในกรณีที่โจทก์ขาดงานหรือมาทำงานสาย และเงินรายได้ จากการแต่งผมที่จ่ายให้โจทก์ก็คำนวณได้ตามผลงานที่โจทก์ ทำได้ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยเช่นนี้ ถือได้ว่า โจทก์ทำงานให้แก่จำเลย เพื่อรับค่าจ้างโดยคำนวณค่าจ้าง ตามผลงานที่โจทก์ทำได้ โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลย มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนย้ายลูกจ้างถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หากลูกจ้างไม่ยินยอมและนายจ้างจ้างบุคคลอื่นแทน
การที่จำเลยได้สั่งโอนโจทก์ไปทำงานกับบริษัท ซ. ที่เมืองฮ่องกง เป็นการเปลี่ยนตัวนายจ้างจากจำเลยไปเป็นบริษัท ซ.ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยโดยให้โจทก์ไปทำสัญญากับบริษัทซ. ใหม่ และให้ตำแหน่งของโจทก์ในบริษัทจำเลยสิ้นสุดลงกับจ้างบุคคลอื่นทำงานแทนเช่นนี้ เป็นการโอนสิทธิของนายจ้างไปยังบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยจึงจะกระทำได้ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมโดยไม่ยอมทำสัญญาจ้างฉบับใหม่กับบริษัท ซ. แต่จำเลยก็ยังให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งและจ้างบุคคลอื่นดำรงตำแหน่งแทน กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยเลิกจ้างโจทก์ คำให้การจำเลยไม่ได้ระบุว่าโอนย้ายโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดใด ๆ และตามหนังสือจำเลยที่มีถึงโจทก์ก็ระบุชัดว่าจำเลยยินยอมให้โอนโจทก์ไปทำงานในบริษัท ซ. ที่เมืองฮ่องกง ให้ตำแหน่งของโจทก์ในบริษัทจำเลยสิ้นสุดลง เมื่อฟังได้ว่าการสั่งโอนโจทก์ไปทำงานที่เมืองฮ่องกงเป็นการเลิกจ้าง การเลิกจ้างโจทก์ครั้งนี้จึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
of 29