คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟอกเงิน: การร่วมกันครอบครองบัญชีและบัตรเอทีเอ็มของญาติเพื่อใช้ในการซื้อขายยาเสพติด
บัญชีและบัตรเอทีเอ็มเป็นของญาติใกล้ชิดที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ต้น และจำเลยที่ 1 เองก็เคยใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินออกจากบัญชี จำเลยที่ 1 ย่อมรู้ว่ามีการใช้บัญชีและบัตรเอทีเอ็มกระทำความผิด โดยเฉพาะก่อนที่จำเลยที่ 1 ใช้บัตรเอทีเอ็มถอนเงินผ่านเครื่องถอนเงินอัตโนมัติด้วยตัวเอง มีการถอนเงินจากบัญชีหลายวันติดต่อกันทุกวัน และหลังจากจำเลยที่ 1 ถอนเงินแล้วก็ยังมีการถอนเงินในวันรุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันครอบครองบัตรเอทีเอ็มไว้ตลอดเวลาเพื่อถอนเงิน และจำเลยที่ 1 ย่อมรับรู้การกระทำของพวกจำเลยที่ 1 ในการรับโอนเงินและถอนเงินแต่ละครั้งด้วย ไม่ว่าพวกของจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ถอนเงิน หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มอบหมายให้พวกของจำเลยที่ 1 ถอนเงิน พฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ร่วมในการรับโอนเงินและถอนเงินทุกครั้งโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จึงมีความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดทุกกระทงตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีฟอกเงิน: การใช้บทบัญญัติ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ กับคดีที่ยังไม่ได้ฟ้อง และหลักการใช้กฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้กระทำผิด
ตามคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้คัดค้านระบุว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์กระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินหรือสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 9, 60 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2547 เมื่อความผิดที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 60 ซึ่งบัญญัติระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ความผิดตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับดังกล่าวจึงขาดอายุความนับแต่วันที่ 16 มีนาคม 2562 ส่วนที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกรณีผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ" นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 อันเป็นระยะเวลาภายหลังวันกระทำความผิดของผู้คัดค้านและการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยตามบทบัญญัติมาตรานี้มีผลทำให้ผู้คัดค้านสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้แม้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตัวผู้คัดค้านมาฟ้องภายในระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความตามประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีบทบัญญัติยกเว้นไม่ให้นับระยะเวลาที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังเช่นที่มาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 บัญญัติไว้ บทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ดังกล่าวจึงไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน ซึ่ง ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว..." ดังนั้น แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 52 ว่า บรรดาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้ยื่นฟ้องไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด และกรณีของผู้คัดค้านยังไม่มีการฟ้องคดีก็ตาม แต่เมื่อบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด และไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 13 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรม: อั้งยี่, สมคบฯ, ฟอกเงิน, ฉ้อโกง, และนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรก็เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งตามองค์ประกอบของความผิดสองฐานนี้ จึงอาจเป็นความผิดต่างกรรมกันได้ แต่เมื่อการกระทำความผิดฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 5 (1) และ (2) มีองค์ประกอบของความผิดในลักษณะเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่และความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าการเข้าเป็นสมาชิกหรือการสมคบกันนั้นก็เพื่อจะกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานร่วมกันกระทำการเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันและโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันกับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นและฐานร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปลอมหรือเป็นเท็จ ความผิดฐานต่าง ๆ ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แต่ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีเจตนารมณ์ในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมูลฐานที่ได้นำเงินหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ อันเป็นการฟอกเงิน เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ในการกระทำความผิดต่อไปได้อีก ความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินจึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดภายหลังเมื่อมีการกระทำความผิดฐานอื่น ๆ ดังกล่าวสำเร็จแล้ว และเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกเจตนาและการกระทำต่างจากการกระทำความผิดฐานอื่นนั้นได้ จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งต่างกรรมกัน ซึ่งปัญหาว่าการกระทำความผิดเป็นกรรมเดียวหรือหลายกรรมเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2949/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟอกเงินไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความผิดมูลฐานก่อน หากมีหลักฐานการกระทำความผิดฐานฟอกเงินก็สามารถดำเนินคดีได้
ความผิดฐานฟอกเงิน โดยรับโอนเงินเพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง และจำหน่ายจ่ายโอน ซึ่งเงินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระอันเป็นความผิดมูลฐานด้วย และฐานสมคบเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ผู้กระทำความผิดหาจำต้องเป็นผู้ส่งข้อมูลอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่ามัลแวร์เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายจนทำให้มีการโอนเงินโดยอัตโนมัติ หรือหาจำต้องเป็นผู้หลอกหลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไม่ ทั้งกรณีไม่จำต้องอาศัยความผิดมูลฐานเป็นเงื่อนไขว่าจะต้องดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐานหรือมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดมูลฐานเสียก่อน จึงจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงินต้องพิสูจน์ได้ว่าเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น
ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 60 โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า เงินของกลางเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ความผิดมูลฐานที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำของอะไรเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงศุลกากร จนเป็นเหตุให้มีเงินของกลางดังกล่าว การที่จำเลยจะนำเงินของกลางเพื่อออกนอกราชอาณาจักร จำเลยจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เงินของกลางอาจเป็นเพียงของที่ใช้ในการกระทำความผิดฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเท่านั้น ไม่อยู่ในนิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามความในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเหตุให้ได้เงินของกลางมานั้น เป็นความผิดต่อกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉพาะ ไม่อยู่ในนิยาม "ความผิดมูลฐาน" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3