พบผลลัพธ์ทั้งหมด 159 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6689/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เงินผลตอบแทนที่จ่ายให้ลูกจ้างควรรวมเป็นค่าจ้าง หากเป็นค่าตอบแทนการทำงานปกติ
ตามสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยตกลงจ่ายเงินเดือนเดือนละ65,000 บาท และเงินผลตอบแทนอีกเดือนละ 15,000 บาท ให้แก่โจทก์โดยจำเลยไม่จัดรถยนต์และค่าใช้จ่ายใดทางด้านรถยนต์ให้โจทก์ แต่เงินผลตอบแทนดังกล่าวต้องนำรวมเข้าเสมือนเป็นรายได้ที่ได้รับเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์อีกเดือนละ 15,000 บาท จึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานของโจทก์ในอัตราที่แน่นอนเท่ากันทุกเดือน ทำนองเดียวกับเงินเดือน เงินผลตอบแทนที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ดังกล่าวจึงเป็นค่าจ้าง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5610/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจ่ายค่าจ้างโดยบุคคลที่สาม ไม่สร้างความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง หากไม่มีอำนาจบังคับบัญชา
บริษัท ด. เป็นผู้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ทำหน้าที่ลูกค้ามาพักที่โรงแรม ท. การสมัครงานและการทำงานของโจทก์มิได้เกี่ยวข้องกับจำเลย และจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาในการทำงานของโจทก์ ทั้งงานที่โจทก์รับจ้างบริษัท ด. ทำในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดซึ่งมีหน้าที่หาลูกค้ามาพักที่โรงแรม ท. ก็ไม่ใช่งานของจำเลย เพราะจำเลยประกอบกิจการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ประกอบกับโจทก์เคยฟ้องบริษัทด.เป็นจำเลยต่อศาลแรงงานว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวในตำแหน่งเดียวกันกับในคดีนี้ขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชยแก่โจทก์คู่ความทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว จึงเห็นได้ว่าโจทก์ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยตามสัญญาจ้างแรงงานจำเลยจึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ แม้จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างบางส่วนและออกใบรับเงินในนามจำเลยให้แก่โจทก์ตามคำขอของบริษัทด.ก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นนายจ้างของโจทก์ไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าจ้าง, ค่าชดเชย, ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม: ศาลฎีกาย้อนสำนวนเพื่อพิสูจน์การจ่ายเงินและตรวจสอบความชัดเจนของอุทธรณ์
ข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏเพียงว่าโจทก์ได้รับเงินเดือน48,400 บาท ค่ารับรอง-ของขวัญ 5,000 บาท และค่าตอบแทนอื่น ๆ30,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยจ่ายเงินค่ารับรอง-ของขวัญและเงินค่าตอบแทนอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ด้วยเหตุใด เป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานหรือไม่ จึงไม่อาจวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยที่ว่า ค่ารับรองของขวัญและค่าตอบแทนอื่น ๆ ดังกล่าวเป็น ค่าจ้างหรือไม่ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานพิจารณา และวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อน ศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เนื่องจากเห็นว่าจำเลย เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม โดยมิได้กำหนดค่าเสียหายที่เกิด จากการถูกบุคคลอื่น ดูหมิ่นเหยียดหยาม เสื่อมเสียชื่อเสียงและ เสียประวัติการทำงาน การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าค่าเสียหายส่วนที่ ศาลแรงงานไม่ได้กำหนดให้โจทก์ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานนั้น จำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านว่าศาลแรงงานกำหนดค่าเสียหาย จากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้โจทก์ไม่ถูกต้อง อย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 188/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจตักเตือนของกรรมการผู้จัดการ: หนังสือตักเตือนโดยไม่ต้องลงลายมือชื่อกรรมการอื่น
ศ.เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ ทั้งเป็นผู้บังคับบัญชา โดยตรงของโจทก์ เมื่อโจทก์ประพฤติตนบกพร่อง โดยมาทำงานสายเป็นประจำอันอาจก่อให้เกิด ความเสียหายแก่จำเลย ศ.ย่อมมีอำนาจที่จะว่ากล่าวตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือได้ และในหนังสือตักเตือนก็ไม่จำต้องให้กรรมการจำเลยสองคนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยเพราะมิใช่เป็นการกระทำนิติกรรมแทนจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6950/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างสามารถออกระเบียบเพิ่มเติมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมายแรงงาน
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานมิได้ห้ามนายจ้างที่จะออกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินช่วยเหลือกับค่าชดเชยรวมกันไป ดังนั้น จำเลยย่อม มีสิทธิออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือ เมื่อออกจากงานได้ ระเบียบของจำเลย ข้อ 3 กำหนดว่า พนักงานอาวุโสจะได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่งโดยคำนวณ ตามสูตร แต่ทั้งนี้ให้หักจำนวนเงินค่าชดเชยใด ๆ ที่ จำเลยได้จ่ายตามกฎหมายแรงงานออก เห็นได้ว่า เงิน ซึ่งลูกจ้างได้รับตามระเบียบดังกล่าวมีค่าชดเชยตาม กฎหมายแรงงานรวมอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 18 เดือน ให้โจทก์ ทั้งจำเลยได้ระบุ ด้วยว่าเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน 6 เดือน ถือได้ว่า จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์แล้วแต่สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงินซึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 บัญญัติให้คู่สัญญาฝ่ายที่บอกเลิกสัญญาจ้างจ่ายแก่อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าต้องรับผิด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงมิใช่เงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แม้จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าเป็นค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน ก็ถือ ไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ แต่อย่างใด ทั้งสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ใช่หนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายทันทีเมื่อ เลิกจ้าง นายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างทวงถามปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยไม่ชำระ ถือได้ว่า จำเลยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5781/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการรับค่าจ้างของลูกจ้างรายเดือน แม้ขาดงาน นายจ้างต้องมีสิทธิหักค่าจ้างตามข้อตกลงหรือระเบียบชัดเจน
โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือนของจำเลยย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างเป็นเดือน เมื่อไม่มีข้อตกลงหรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานให้สิทธิแก่จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีสิทธิหักค่าจ้างในวันที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างไม่มาทำงานหรือขาดงานโดยโจทก์ไม่ตกลงยินยอมด้วยได้ ดังนั้น แม้โจทก์ขาดงานและทำงานไม่ครบเวลาในเดือนมีนาคมและเมษายน 2540 ก็ตาม ก็มิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 และ 421จำเลยย่อมไม่มีสิทธิหักค่าจ้างในวันที่โจทก์ขาดงานโดยมิชอบนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5493/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, ค่าชดเชย, และขอบเขตความรับผิดของกรรมการบริษัท
ที่จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์ว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นพนักงานของบริษัทจำเลยที่ 1 เอง จำเลยทั้งห้ามิได้เลิกจ้างโจทก์นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของ ศาลแรงงานที่รับฟังว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ ไม่ใช่เป็นกรณีโจทก์ลาออกเอง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานวินิจฉัยมาว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญา จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนค่าเสียหายเกี่ยวกับสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายแก่โจทก์ เพราะจำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์เสียหาย ซึ่งได้แก่ค่าเสียหายต่าง ๆ ที่โจทก์ระบุมา ในฟ้อง ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้าเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่เป็นธรรม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์การคำนวณค่าเสียหายในส่วนนี้ศาลแรงงานอาศัยเพียงสัญญาจ้าง เป็นฐานในการคิดเท่านั้น มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลย จ่ายค่าเสียหายในส่วนนี้ตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างดังกล่าว ฉะนั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ ได้รับค่าเสียหายในส่วนนี้ตามสัญญาจ้างจึงไม่ใช่เป็นการ โต้แย้งคำพิพากษาศาลแรงงานที่จะอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลในฐานะนายจ้างแม้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 จะระบุให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีฐานะเป็นนายจ้างด้วยก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้กระทำการใด ๆอันเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ก็เป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นตัวการเท่านั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวหรือร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ เมื่อตามเอกสารระบุถึงการจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์หลังจากเลิกจ้างแล้วอีก 3 เดือน โดยไม่ปรากฏว่าเป็นเงินประเภทใด แต่การจ่ายเงินในอัตราดังกล่าวเป็นลักษณะของการจ่ายค่าชดเชย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(2) เพราะโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย เป็นเวลาปีเศษ แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับ ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน หรือ 3 เดือน ซึ่งเท่ากับ จำนวนเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานนำข้อเท็จจริง ตามเอกสารดังกล่าวที่ว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยหลังจาก เลิกจ้างแล้วดังกล่าวไปหักออกจากความรับผิดที่จำเลยจะต้องจ่าย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่โจทก์ได้รับหลังจากเลิกจ้างแล้วนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดในการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าแก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยนับแต่วันที่เกิน คำขอของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกา เห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4800/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของผู้รับเหมาชั้นต้นต่อลูกจ้างของผู้รับเหมาช่วง: การฟ้องไม่ชัดเจนและฐานะนายจ้าง
ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองได้จ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างสร้างสถานีอนามัยและบ้านพักสถานีอนามัย โดยได้ระบุวันที่อ้างว่าจำเลยจ้างโจทก์ และระบุประเภท ตำแหน่ง อัตราค่าจ้างกำหนดวันจ่ายค่าจ้างไว้ด้วย รวมทั้งจำเลยทั้งสองค้างค่าจ้างโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใด และเมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยทั้งสองปฏิเสธไม่ยอมจ่ายให้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย อันเป็นคำฟ้องที่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้วคำฟ้องโจทก์ จึงไม่เคลือบคลุม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7เป็นบทบังคับในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงเป็นนายจ้างของลูกจ้างแต่ผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของลูกจ้างด้วยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้รับเหมาช่วงที่เป็นนายจ้างของลูกจ้างในหนี้เงินบางประเภทดังที่กำหนดไว้เท่านั้น กรณีมิได้หมายความว่า ผู้รับเหมาชั้นต้นมีฐานะเป็นนายจ้างของลูกจ้างไปด้วย สภาพของการเป็นนายจ้าง ก็ดี หรือลูกจ้างก็ดี เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หากโจทก์ประสงค์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นซึ่งมิได้เป็นนายจ้างของโจทก์ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ข้อ 7 แล้ว ก็ชอบที่จะต้องบรรยายฟ้องให้ปรากฏข้อเท็จจริงถึงฐานะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ตรงกับบทกฎหมาย ดังกล่าวให้แจ้งชัด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลแรงงานฟังมาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับเหมาชั้นต้นโดยมีโจทก์ที่ 1เป็นผู้รับเหมาช่วง ส่วนโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นลูกจ้างของโจทก์ที่ 1 มิใช่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 ตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 7 การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยให้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะเป็นผู้รับเหมาชั้นต้นจึงเป็นเรื่องนอกเหนือคำฟ้อง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 และคำให้การของ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ และศาลฎีกาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 15 จะนำคำฟ้อง มายื่นใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4309/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่านายหน้าเป็นค่าจ้าง: คำนวณค่าชดเชยได้ แม้จำนวนไม่แน่นอน ศาลแก้ไขจำนวนเงินฟ้องเกินสิทธิ
ค่านายหน้าที่โจทก์ได้รับในแต่ละเดือนแม้จะมีจำนวนไม่แน่นอน และไม่เท่ากัน แต่จำเลยจ่ายค่านายหน้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ ทุกวันสิ้นเดือน โดยคำนวณตามยอดขายสินค้าที่โจทก์ขายได้และยอดเงินที่จำเลยเก็บค่าสินค้าซึ่งโจทก์ขายได้จึงเป็น การจ่ายเป็นประจำทุกเดือน กรณีถือได้ว่าค่านายหน้าดังกล่าว เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงาน โดยคำนวณตามผลงานที่โจทก์ทำได้ จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 2 จำเลยต้องนำค่านายหน้าดังกล่าวมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยด้วย โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยจ่ายค่านายหน้าซึ่งต้องนำมารวม เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยเกินไปจากจำนวนเงินซึ่งโจทก์ มีสิทธิเรียกร้อง แม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำนวนเงิน ดังกล่าวไม่ถูกต้องเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ แต่ปัญหานี้เป็น ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกา มีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาและแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลแรงงานในการงดสืบพยาน, ค่าชดเชย, และข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ประกอบ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลแรงงานย่อมมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัย ว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ฉะนั้น เมื่อศาลแรงงานสอบโจทก์จำเลยแล้วแถลงรับข้อเท็จจริงกัน ศาลแรงงานก็ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจงดสืบพยานเสียได้ในเมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังเป็นยุติและวินิจฉัยได้แล้ว การที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปยังศาลแรงงานเพื่อฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนพอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายจึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลแรงงานอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หมายความว่า เงิน หรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หรือจ่ายให้โดยคำณวน ตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ ดังนี้ แม้จำเลยจ่ายค่าเช่าบ้าน เดือนละ 30,000 บาท ค่าสาธารณูปโภคได้แก่ ค่าไฟฟ้า ประปา และโทรศัพท์เดือนละ 3,000 บาท ให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนพร้อมเงินเดือนโดยไม่ต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงก็ตาม แต่เมื่อเงินดังกล่าวเป็นเพียงสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์ มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทนการทำงานของโจทก์ จึงไม่เป็นค่าจ้าง ย่อมนำมารวมเข้ากับ เงินเดือนเพื่อคำนวณเป็นค่าชดเชยไม่ได้ อุทธรณ์จำเลยที่ว่า งานของโจทก์มีแต่หน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงิน ตรวจสอบการเสนอราคาให้แก่ที่ปรึกษาโครงการและตรวจสอบผลงานเฉพาะโครงการที่ได้รับมอบหมาย ทั้งโจทก์ไม่มีหน้าที่ทำงานในโครงการอื่น ๆ ที่จำเลยรับเหมาก่อสร้างอันเป็นงานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลย และอุทธรณ์จำเลยที่ว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาแน่นอนเป็นเวลา 3 ปี โดยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ดูแลงานเฉพาะแต่ละโครงการที่จำเลยเห็นว่าโจทก์มีความเชี่ยวชาญเท่านั้นซึ่งงานแต่ละโครงการที่โจทก์ดูแลจะมีกำหนดแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น คดีนี้จำเลยให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนเป็นเวลา 3 ปี และลักษณะงานของโจทก์เป็นงานวิเคราะห์อันเป็นส่วนหนึ่ง ของงานจำเลย ซึ่งมิใช่เป็นงานในโครงการเฉพาะ แต่เป็นงานปกติ ของธุรกิจของจำเลย ข้ออ้างตามคำให้การของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสาม ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว ย่อมไม่ทำให้ผลแห่งการวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไปจึงไม่เป็นสาระ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณา คดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย