คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ม. 7 (1) (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1450/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะสัญชาติไทยของผู้เกิดในไทยภายหลังมารดาถูกถอนสัญชาติ และการโต้แย้งสิทธิโดยเจ้าพนักงาน
ง. มารดาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อพ.ศ. 2493 จึงได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2456 มาตรรา 3 (3)ต่อมา ง.ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 14 ธันวาคม 2515 แต่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยขณะเกิด ง.มารดายังคงมีสัญชาติไทยอยู่จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 (1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 10 ที่บัญญัติให้บทบัญญัติมาตรา7 (1) ที่แก้ไขเพิ่มเติมนี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.สัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ใช้บังคับด้วย
โจทก์ที่ 4 และที่ 5 แม้เกิดในราชอาณาจักรไทยภายหลัง ง.มารดาถูกเพิกถอนสัญชาติไทยกลายเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1 แล้วก็ตาม แต่ ง.เกิดในราชอาณาจักรไทยมิใช่ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 กรณีของโจทก์ที่ 4 และที่ 5 ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะไม่ได้รับสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 2 จึงได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508มาตรา 7 (3) เดิมก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมและไม่เสียสัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7 ทวิ ที่แก้ไขใหม่เพราะโจทก์ที่ 4 และที่ 5 มีบิดาซี่งมิได้มีการสมรสกับมารดาเป็นคนสัญชาติไทย จึงไม่เข้ากรณีที่ต้องเสียสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ยังคงมีสัญชาติไทย
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเกี่ยวกับกิจการญวนอพยพ และเจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยได้ขอสูติบัตรของโจทก์คืน โดยอ้างว่าเป็นคนญวนอพยพและได้จัดทำทะเบียนบ้านญวนอพยพโดยเพิ่มเติมชื่อโจทก์ลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพ ทั้ง ๆ ที่โจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย และสูติบัตรกับสำเนาทะเบียนบ้านก็ระบุสัญชาติของโจทก์ว่าสัญชาติไทย จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6434/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญชาติไทยของบุตรที่เกิดจากมารดาถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ
มารดาโจทก์เกิดโดยบิดามารดาเป็นคนสัญชาติญวนซึ่งเป็นคนต่างด้าว มารดาโจทก์จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม2515 ข้อ 1 และถือได้ว่ามารดาโจทก์เป็นคนต่างด้าว การที่นายทะเบียนไม่ออกบัตรประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่มารดาโจทก์ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493 มาตรา 5และ 8 ก็ไม่ทำให้มารดาโจทก์เป็นคนมีสัญชาติไทย
ขณะโจทก์เกิดบิดามารดาโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มารดาโจทก์ถูกถอนสัญชาติเป็นคนต่างด้าว โจทก์เกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ใช้บังคับ แม้จะเกิดในราชอาณาจักร โจทก์ก็ไม่ได้สัญชาติไทย และถึงแม้บิดามารดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังก็มีผลเพียงให้โจทก์เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ.มาตรา 1547 ไม่ทำให้โจทก์ได้สัญชาติไทยตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญชาติไทยของบุตรที่เกิดจากบิดามารดาจดทะเบียนสมรส แม้บิดาเป็นคนไทยและมารดาเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต
การที่จำเลยจำหน่ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านและมีหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนคนญวนอพยพ โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งเจ็ดถูกถอนสัญชาติไทยเป็นเหตุให้นายทะเบียนคนญวนอพยพแจ้งให้โจทก์ไปทำทะเบียนประวัติคนญวนอพยพเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
บ.บิดาโจทก์เป็นคนมีสัญชาติไทย จดทะเบียนสมรสในประเทศไทยกับมารดาโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตและเกิดบุตรคือโจทก์ในราชอาณาจักรไทย ดังนี้โจทก์ย่อมได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2408 มาตรา 7 (1) (3) และมิใช่กรณีที่โจทก์เกิดจากมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมิใช่บุคคลที่จะต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1959/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติ และอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะบุคคล
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งการให้มีการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านเนื่องจากโจทก์ทั้งสองถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 และปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้นที่จะมีอำนาจถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้านได้แสดงชัดว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น ส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องถึงจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในเขตจังหวัดนั้นมาด้วยแม้จะเป็นตำแหน่งที่ไม่มีในกฎหมาย ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเสียไป และการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนท้องถิ่นทราบว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 และสั่งให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามระเบียบ จำเลยที่ 2 จึงได้ดำเนินการถอนชื่อโจทก์ทั้งสองออกจากทะเบียนบ้าน ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เช่นนี้แสดงว่าจำเลยทั้งสองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนก็ไม่ทำให้กลายเป็นไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ไปไม่.
โจทก์ทั้งสองมีมารดาเป็นคนญวนอพยพ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามความหมายของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 และได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราวโจทก์ที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2501 และโจทก์ที่ 2 เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2503 ในขณะที่โจทก์ทั้งสองเกิดไปปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย มารดาของโจทก์ทั้งสองเพิ่งจดทะเบียนสมรสกับ ส.ซึ่งเป็นคนสัญชาติไทยและโจทก์อ้างว่าเป็นบิดาของโจทก์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2504 ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุมารดาโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว และไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย จึงถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แล้ว แม้ภายหลังที่โจทก์ทั้งสองเกิด โจทก์ทั้งสองจะมีบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย คือ ส.ก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์ทั้งสองเกิดสิทธิที่จะได้สัญชาติไทยไม่ และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 เมื่อโจทก์ทั้งสองถูกถอนสัญชาติไทยดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งสองลงในทะเบียนราษฎร์ได้