คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ณรงค์ศักดิ์ วิจิตรสาระวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 524 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องสอดคล้องกับกฎหมายและราคาตลาด โดยต้องพิจารณาค่ารายปีของปีที่แล้วและภาวะเศรษฐกิจ
การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยนำเอาแต่เพียงราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางมาเป็นเกณฑ์ประเมิน โดยไม่ได้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาย่อมเป็นการไม่ชอบตามมาตรา 8 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ไม่นำสืบให้เห็นว่าเหตุที่ประเมินค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากมีเหตุผลพิเศษอย่างไร หรือทรัพย์สินของโจทก์ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะเพิ่มขึ้นมากจนจำเลยที่ 1 ต้องกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นมากเป็นพิเศษอย่างใด ดังนั้น การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การกำหนดค่ารายปีของจำเลยทั้งสองต้องสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ซึ่งปัจจุบันคงมีเฉพาะหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่ซักซ้อมแนวทางการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี แม้ตามหนังสือของกระทรวงมหาดไทยให้อำนาจจำเลยที่ 1 กำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยเป็นตารางเมตรได้แต่ก็ยังกำหนดให้ต้องสำรวจจากที่ได้มีการให้เช่าจริง แบ่งตามประเภทและลักษณะของทรัพย์สินและทำเลที่ตั้งเป็นแนวทางประกอบการประเมินและจะต้องพิจารณาร่วมกับองค์ประกอบอื่น ๆ อีกเช่นดัชนีราคาผู้บริโภคของทางราชการรวมถึงภาวะทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะต้องคำนึงถึงภาระภาษีของราษฎรเป็นสำคัญ ดังนั้นที่จำเลยประเมินค่ารายปี ค่าภาษีให้โจทก์ต้องชำระยังขาดเหตุผลและไม่ปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยและมติคณะรัฐมนตรี
ราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเป็นการกำหนดเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปีแต่มิใช่เป็นราคาประเมินเด็ดขาด เพราะกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่มีบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว การประเมินจำต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายที่ให้กระทำได้และต้องเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทภาษีอากร: การประเมินค่าเช่าที่สมควร และการพิจารณาทำเลที่ตั้งในการกำหนดอัตราค่าเช่า
ชั้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ทนายจำเลยได้โต้แย้งด้วยวาจาขอให้กำหนดประเด็นเพิ่ม ศาลชั้นต้นสั่งว่าหากจำเลยจะคัดค้านให้คัดค้านเข้ามาเป็นหนังสือภายใน 8 วัน จำเลยยื่นคำร้องแล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่า ไม่มีเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้อง จึงเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสาม จำเลยต้องโต้แย้งไว้ตามมาตรา 226 วรรคสอง จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้ง จำเลยก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตำแหน่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของกรุงเทพมหานครตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 50 จึงอาจฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีความในศาลได้ ไม่จำต้องเอากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของภาษีโรงเรือนและที่ดิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังเป็นผู้พิจารณาการประเมินใหม่ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2535 มาตรา 25 ประกอบพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ มาตรา 50 และ 109นอกจากนี้พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 32 ยังกำหนดว่าเมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลซึ่งแก้คำชี้ขาดของอธิบดี กรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาล (ในคดีนี้คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) นั้นได้ส่งไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้บัญชีการประเมินให้ถูกต้องโดยเร็ว ดังนี้ ผู้ที่จะถูกบังคับตามกฎหมายและคำพิพากษาโดยตรงก็คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการทั้งปวงของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร และเมื่อมีการแก้ไขประเมินก็หมายถึงต้องคืนเงินภาษีที่รับชำระเกินมาจากผู้รับประเมินด้วย โจทก์จึงฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยขอให้แก้ไขการประเมินและคืนเงินภาษีได้ เพราะเป็นการฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้ชี้ขาดการประเมินและเป็นผู้แทนของกรุงเทพมหานคร มิใช่ฟ้องให้รับผิดเป็นส่วนตัว
ค่ารายปีของโรงเรือนนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ จึงไม่อาจนำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเพียงอย่างเดียวมาเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีหรือค่าภาษีในปีภาษีที่พิพาทได้ ปรากฏว่าปี 2539เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราค่าเช่าโรงเรือนในปีดังกล่าวจึงน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง ทั้งตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 63/2538 ข้อ 2.1 ก็กำหนดให้พิจารณาปรับค่ารายปีตามภาวะเศรษฐกิจ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงต้องประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินฯมาตรา 8 ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเพียงอย่างเดียวจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 361/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ในคดีภาษีอากร และการฟ้องผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะผู้ชี้ขาดประเมิน
ชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาท ทนายจำเลยได้โต้แย้งด้วยวาจาขอให้กำหนดประเด็นเพิ่ม และคัดค้านการกำหนดภาระการพิสูจน์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า หากจำเลยจะคัดค้านให้คัดค้านเข้ามาเป็นหนังสือภายใน 8 วัน จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องว่าไม่มีเหตุสมควรเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยกคำร้อง จึงเป็นการชี้ขาดคำคัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 วรรคสาม จำเลยต้องโต้แย้งไว้ตามมาตรา 226 จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้ง จำเลยก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหานี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยตำแหน่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการของกรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 50 จึงอาจฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีความในศาลได้ ไม่จำต้องเอากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของภาษีโรงเรือนและที่ดิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังเป็นผู้พิจารณาการประเมินใหม่ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 25 ประกอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานครฯ มาตรา 50 และ 109 นอกจากนี้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 32 ยังกำหนดว่า เมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลซึ่งแก้คำชี้ขาดของอธิบดีกรมสรรพากรหรือสมุหเทศาภิบาล (ในคดีนี้คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) นั้น ได้ส่งไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ แล้วให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้บัญชีการประเมินให้ถูกต้องโดยเร็ว ดังนี้ ผู้ที่จะถูกบังคับตามกฎหมายและคำพิพากษาโดยตรงก็คือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการทั้งปวงของกรุงเทพมหานคร และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร และเมื่อมีการแก้ไขประเมินก็หมายถึงต้องคืนเงินภาษีที่รับชำระเกินมาจากผู้รับประเมินด้วย โจทก์จึงฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นจำเลยขอให้แก้ไขการประเมินและคืนเงินภาษีได้ เพราะเป็นการฟ้องจำเลยในฐานะเป็นผู้ชี้ขาดการประเมินและเป็นผู้แทนของกรุงเทพมหานคร มิใช่ฟ้องให้รับผิดเป็นส่วนตัว
ค่ารายปีของโรงเรือนนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพข้อเท็จจริงซึ่งอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ จึงไม่อาจนำ ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเพียงอย่างเดียวมาเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปีหรือค่าภาษีในปีภาษีที่พิพาทได้ ปรากฏว่า ปี 2539 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราค่าเช่าโรงเรือนในปีดังกล่าวจึงน่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางลดลง ทั้งตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 63/2538 ข้อ 2.1 ก็กำหนดให้พิจารณาปรับค่ารายปีตามภาวะเศรษฐกิจ พนักงานเจ้าหน้าที่ ของจำเลยจึงต้องประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะ ที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 8 ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเพียงอย่างเดียว จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำเข้าอาวุธปืนพกเพื่อจำหน่ายข้าราชการ มิใช่ยุทธภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นอากร
การที่จำเลยเป็นผู้จัดซื้ออาวุธปืนพกโดยนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามความต้องการของข้าราชการในสังกัดแล้วให้ต้นสังกัดของข้าราชการดังกล่าวหักเงินเดือนของข้าราชการผู้ประสงค์จะมีอาวุธปืนพกไว้ประจำกายใช้หนี้จนครบจำนวนนั้น เป็นกรณีที่จำเลยนำเข้าอาวุธปืนพกเพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการของจำเลยเป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวกับราชการ จึงไม่ถือว่าเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการอันจะได้รับการยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 5 จำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีอากรให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำเข้าอาวุธปืนเพื่อจำหน่ายข้าราชการ ไม่ถือเป็นยุทธภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นอากร
การที่กองทัพอากาศจำเลยได้ทำการจัดซื้ออาวุธปืนพกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามความต้องการของข้าราชการในสังกัด โดยใช้เงินที่ได้มาจากข้าราชการที่ต้องการจะมีอาวุธปืนดังกล่าวไว้ใช้ ซึ่งจำเลยจะหักเงินเดือนของข้าราชการผู้นั้นใช้หนี้จนครบ และมีข้อกำหนดว่าเมื่อครบกำหนด 5 ปี ข้าราชการผู้ซื้ออาวุธปืนดังกล่าวจะได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการของจำเลยเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับส่วนราชการ ถือไม่ได้ว่าเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการอันอยู่ในข่ายที่จะได้รับการยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 13 จำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีอากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่: การกระทำผิดตามมาตรา 296 แม้ไม่มีเหตุจับกุม
การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดฟันพลตำรวจ ก. ซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจและออกตรวจท้องที่ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ระงับเหตุสามีภริยาทะเลาะวิวาทกัน ไม่ว่าการใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. ดังกล่าวจะมีมูลเหตุมาโดยประการใด หรือไม่เกี่ยวข้องกับการที่พลตำรวจ ก. กับพวกจับกุมจำเลยที่ 1 กับพวก ก็เป็นกรณีที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำร้ายร่างกายพลตำรวจ ก. เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ เพราะการที่พลตำรวจ ก. กับพวกกำลังระงับเหตุทะเลาะวิวาทกันดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย และไม่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นคนละกรรมกัน
เมื่อจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย และรับอันตรายสาหัส เป็นการกระทำความผิดสำเร็จไปกรรมหนึ่งแล้ว และหลังเกิดเหตุชนกันแล้ว จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือและ ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นความผิดสำเร็จไปอีกกรรมหนึ่ง แม้จะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน แต่ก็สามารถแยกการกระทำออกจากกันได้อย่างชัดเจน จึงเป็น การกระทำหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9637/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การหักค่าใช้จ่าย ค่าขนส่ง และโบนัสพนักงาน ความถูกต้องตามหลักการบัญชีและกฎหมายภาษี
ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.8/2528 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ แก้ไขโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 10/2528 ข้อ 1 (2) (ค) หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศได้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อลูกจ้างขึ้น ในประเทศ ก็ให้ถือว่านิติบุคคลนั้นมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่เป็นการถาวรในประเทศไทย ซึ่งผู้ว่าจ้างจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 ไม่ได้ แม้คำสั่งดังกล่าวจะไม่ใช่กฎหมาย แต่เจ้าพนักงานสรรพากรต้องถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับ การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ดังนั้น เมื่อโจทก์นำสืบฟังได้ว่า บริษัท ต. ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว การที่โจทก์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว จึงถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายนั้น ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงิน เมื่อโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภ. เป็นที่ปรึกษาการเงินและตั้งบัญชีค้างจ่ายค่าบริการในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 ไว้ จำนวน 150,000 บาท แต่โจทก์ยกเลิกสัญญาดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2531 แล้วนำค่าใช้จ่าย ที่ตั้งบัญชีค้างจ่ายดังกล่าวมาบวกกลับเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการเลิกสัญญา แต่เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ยังมิได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ภ. โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมารถยนต์โดยสารรับส่งพนักงานกับห้างหุ้นส่วน อ. โดยห้างดังกล่าวได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสารแล้ว และเมื่อพิจารณาสัญญาดังกล่าวซึ่งกำหนดให้ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา รถยนต์โดยสารและเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการใช้รถยนต์ เช่น ค่าจ้างพนักงานขับรถ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษารถยนต์ ค่าภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แสดงว่าสัญญาดังกล่าวมิใช่เพียงแต่ถือผลสำเร็จของการกระทำเป็นหลักเท่านั้น แต่มีเจตนาประกอบกิจการในการรับขนคนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ ดังนั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. จึงเป็นผู้ประกอบการขนส่ง การที่โจทก์จ่ายเงินให้กับห้างฯ โจทก์จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่ง ป. รัษฎากร ประกอบด้วยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528
พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 และมาตรา 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้ง ตามค่ารายปีของทรัพย์สิน โดยให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ดังนั้น ทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ในปี 2530 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นรายการทรัพย์สินภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2531 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมิน และแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องเสียไปยังโจทก์ ภาษีดังกล่าวเรียกว่า ภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2531 เมื่อโจทก์ตั้งค้างจ่ายค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินสูงเกินจำนวน รายจ่ายค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในส่วนที่เกินไปดังกล่าวจึงถือเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2531 การที่โจทก์หักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2530 จึงถือเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเอง โดยไม่มีการจ่ายจริง ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่ง ป. รัษฎากร
เงินโบนัสที่โจทก์จ่ายให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเงินโบนัสปี 2528 และ 2529 ของพนักงาน การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่มาช่วยงานโจทก์ เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 และปี 2529 โจทก์จึงนำรายจ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในปี 2530 ไม่ได้ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9559/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราโทรมหญิง, สมคบกันกระทำผิด, พยานหลักฐานแน่นหนา, ศาลยืนตามอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธจี้ขู่บังคับผู้เสียหายนั่งรถจักรยานยนต์ไปจากบริเวณที่จำเลยทั้งสองพบผู้เสียหายครั้งแรกไปจนถึงกระท่อมนาที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยพวกจำเลยยืนคุมอยู่ การกระทำชำเราในลักษณะเช่นนี้ จำเลยทั้งสองและพวกได้กระทำในลักษณะติดต่อกันและอยู่คุมให้พวกของตนข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ เป็นการสมคบกันกระทำผิดอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงและเป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9498/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโต้แย้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องทำภายในกำหนดและชำระภาษีค้างชำระก่อน
เมื่อจำเลยไม่พอใจการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยอาจขอให้มีการพิจารณาการประเมินนั้นใหม่ได้ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 แต่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มีมติยืนตามการประเมินที่แจ้งไป แล้วต่อมาคณะเทศมนตรีเมืองหนองคายมีคำชี้ขาดการประเมิน แล้วจำเลยยังไม่พอใจ จำเลยอาจนำคดีมาสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้จำเลยจะต้องชำระค่าภาษีทั้งสิ้นซึ่งถึงกำหนดต้องชำระเสียก่อนตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีสิทธิโต้แย้งการประเมินดังกล่าว
of 53