คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สถาพร ดาโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 26 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2647/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้มีประกันหลังล้มละลาย: บังคับจำนองได้หากไม่ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
ลูกหนี้ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยคดีนี้ แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 110 วรรคสาม เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองของลูกหนี้ จึงย่อมมีสิทธิเลือกที่จะยื่นคำขอชำระหนี้ในคดีล้มละลายหรือไม่ก็ได้ หากโจทก์ไม่ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเพราะเห็นว่าหลักประกันที่มีอยู่นั้นคุ้มกับจำนวนหนี้ โจทก์ก็ยังคงครองสิทธิจำนองเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันอยู่ในลำดับเดิมต่อไป เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ที่ลูกหนี้มีต่อโจทก์มาฟ้องบังคับจำนองในคดีแพ่งได้เอง โดยหาจำต้องขอบังคับบุริมสิทธิตามมาตรา 95 หรือต้องขอมติที่ประชุมเจ้าหนี้ก่อนไม่ เมื่อทรัพย์จำนองเป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้มีมาก่อนล้มละลายและไม่ปรากฏว่ากรรมการเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้สละสิทธิในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตามมาตรา 145 (3) ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายอยู่ในอำนาจจัดการของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระบุเจตนาพิเศษเพื่อให้เห็นถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
การบรรยายฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 265 ต้องระบุองค์ประกอบภายในส่วนของเจตนาพิเศษให้ปรากฏด้วยว่า จําเลยได้กระทำเพื่อนําเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน เมื่อคําฟ้องของโจทก์บรรยายเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจตามฟ้องว่า จําเลยคิดคดนําหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปใช้ในทางทุจริต และบรรยายต่อไปว่าโดยจําเลยนําหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความนำมาใช้ทำนิติกรรมสัญญายกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน คําฟ้องของโจทก์จึงบรรยายเจตนาของจําเลยในการกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจแล้วว่ามีเจตนาไม่ซื่อเพื่อนําเอาหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้ในกิจการซึ่งหมายถึงการงานที่ประกอบหรือธุระในการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ไปเป็นของจําเลย จึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายในดังกล่าวครบถ้วน และทำให้จําเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มีผลผูกพันทางกฎหมาย & การโอนสิทธิหนี้บัตรเครดิต
แม้โจทก์ไม่สามารถนำพยานหลักฐานเกี่ยวกับการสมัครบัตรเครดิตมาแสดงต่อศาล คงมีเพียงรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายโดยไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการสูญหายของเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยาน ซึ่งตามใบแจ้งบัญชีบัตรเครดิต/ใบเสร็จที่โจทก์นำส่งปรากฏรายการใช้จ่าย ยอดชำระเงิน และจำนวนหนี้คงเหลือในระหว่างเดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนตุลาคม 2562 เวลาต่อเนื่องกันทุกเดือนเกือบ 6 ปี ลักษณะเป็นข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา และประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 จำเลยย่อมไม่อาจปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความดังกล่าวดังที่บัญญัติในมาตรา 7 ได้ มูลหนี้ตามคำฟ้องโจทก์จึงมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้บัตรเครดิตต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อทางการแพทย์: ผู้ป่วยพลิกตัวตกเตียง โรงพยาบาลไม่ต้องรับผิด
การที่จำเลยที่ 2 ทำการตรวจอัลตราซาวด์ให้แก่โจทก์เป็นการให้บริการทางการแพทย์อย่างหนึ่งอันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายจำเลยทั้งสอง ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ในข้อนี้จำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีแพทย์ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล มาเบิกความประกอบการให้ถ้อยคำในชั้นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการแพทยสภาเกี่ยวกับการแบ่งประเภทผู้ป่วยที่จะเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวช่วยเหลือตนเองได้น้อย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังระหว่างการตรวจ หน่วยอัลตราซาวด์จะใช้เตียงที่มีไม้กั้นของหอผู้ป่วยในระหว่างการตรวจ และมีนักรังสีการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะทำการตรวจทุกราย กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่รู้สึกตัวดี ช่วยเหลือตนเองได้ สามารถปฏิบัติตัวระหว่างการตรวจตามที่รังสีแพทย์สั่งได้ เช่น การพลิกตะแคงตัว หน่วยอัลตราซาวด์จะใช้เตียงตรวจไฟฟ้าของหน่วยงานซึ่งออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถปรับความสูงต่ำของเตียงได้ (ไม่มีที่กั้นเตียง) เพื่อความสะดวกของแพทย์ในการตรวจ เห็นได้ชัดว่าการแบ่งแยกประเภทผู้ป่วยเป็นเวชปฏิบัติทั่วไปขั้นพื้นฐานเพื่อคัดแยกผู้ป่วยให้เหมาะสมแก่การตรวจและรักษา ลักษณะเป็นข้อมูลวิชาการไม่เอนเอียงเพื่อประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ล. นักรังสีการแพทย์พยานจำเลยทั้งสองอีกปากเบิกความว่า มาตรฐานการจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องตรวจอัลตราซาวด์ของโรงพยาบาล จ. จะจัดวางเหมือนกันทุกห้องตามหลักการจัดวางอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจห้องตรวจจะมีลักษณะแยกเดี่ยว 4 ห้อง ภายในห้องตรวจมีเครื่องอัลตราซาวด์และเตียงตรวจ มีผ้าม่านกั้น เตียงตรวจมีขนาดกว้าง ประมาณ 60 เซนติเมตร มีทั้งแบบที่มีและไม่มีที่กั้นเตียง เตียงที่มีที่กั้นจะใช้แก่ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวช่วยตนเองไม่ได้ การจัดวางเตียงไม่ชิดผนังเพื่อความสะดวกของผู้ช่วยระหว่างการตรวจซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับในโรงพยาบาลเอกชนที่พยานทำงานนอกเวลา ในวันเกิดเหตุ พยานเรียกโจทก์เข้าห้องตรวจหมายเลข 2 ก่อนเข้าห้องพยานสอบถามโจทก์ว่าเดินได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าเดินได้นิดหน่อย พยานจึงเข็นรถโจทก์ไปใกล้เตียงตรวจเพื่อให้โจทก์ลุกเดินไปยังเตียง จากนั้นพยานและบุตรโจทก์ช่วยกันพยุงโจทก็ให้ลุกขึ้นยืนและขยับตัวไปนั่งแล้วให้นอนหงายบนเตียงนำผ้าห่มมาคลุมตัวเพื่อเตรียมทำการตรวจบริเวณช่องท้อง แล้วพยานแจ้งให้จำเลยที่ 2 มาตรวจโจทก์ ต่อมาพยานได้ยินเสียงจำเลยที่ 2 ตะโกนเรียก พบโจทก์อยู่ข้างเตียงในลักษณะกึ่งหงายกึ่งนั่ง พยานจึงไปขยับเตียงและเครื่องมือแพทย์ออก แล้วพยุงตัวโจทก์ให้นั่งพร้อมกับเรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่วนเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าไปในห้องตรวจ พบโจทก์นอนอยู่บนเตียงเพื่อรอการอัลตราซาวด์ จำเลยที่ 2 ทำการตรวจวินิจฉัยในท่านอนหงาย พบว่าการถ่ายภาพไตด้านขวาของโจทก์ไม่ชัดเจนเนื่องจากมีลมในลำไส้บังและติดชายโครงด้านขวา ตามมาตรฐานท่าที่ใช้ตรวจมีทั้งท่านอนหงายและท่านอนตะแคง จำเลยที่ 2 สอบถามโจทก์ว่าสามารถนอนตะแคงด้วยตนเองได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าทำได้ จำเลยที่ 2 จึงให้โจทก์นอนตะแคงตัวไปทางด้านซ้ายยกทางด้านขวาขึ้น โดยจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ทางด้านขวาของโจทก์ตรงหน้าเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ จังหวะที่โจทก์กำลังจะนอนตะแคงเกิดพลัดตกเตียง ไหล่และเข่าซ้ายกระแทกพื้น ศีรษะไม่กระแทก รู้สึกตัวดี จำเลยที่ 2 รีบเข้าไปประเมินอาการบาดเจ็บในเบื้องต้นพร้อมเรียกเจ้าหน้าที่ โจทก์มีบาดแผลถลอกหนังเปิดที่เข่าซ้าย 4 เซนติเมตร และเจ็บไหล่ซ้าย แต่สามารถขยับได้ หายใจปกติ ไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ จึงทำแผลเบื้องต้นพร้อมสั่งเอกซเรย์กระดูกเชิงกราน สะโพกทั้งสองข้าง กระดูกเข่าซ้ายไหล่ซ้าย และปอด พบว่าไม่มีการแตกหักจึงส่งโจทก์ไปแผนกอุบัติเหตุเพื่อเย็บแผลและให้ยาปฏิชีวนะโดยมีจำเลยที่ 2 ไปด้วย ดังนี้ การนัดหมายโจทก์มาทำการตรวจอัลตราซาวด์ในวันเกิดเหตุ โจทก์เป็นเพียงผู้ป่วยนอก ญ. บุตรโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์สามารถช่วยเหลือตนเองและเดินได้ตามปกติไม่ต้องมีใครช่วยดูแล โจทก์จึงจัดอยู่ในผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 กล่าวคือ โจทก์รู้สึกตัวดี สามารถช่วยเหลือตนเองลุกขึ้นเดินไปนั่งและนอนรอจำเลยที่ 2 บนเตียงเพื่อรับการตรวจได้ แม้โจทก์จะต้องนั่งรถเข็นมายังห้องตรวจก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุและมีน้ำหนักตัวมาก เมื่อพิจารณาสภาพห้องที่เกิดเหตุตามภาพถ่าย ขนาดความกว้าง ยาวและสูงของเตียง ตลอดจนวิธีการจัดวางไม่ได้แตกต่างไปจากมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐบาลอื่น ประกอบกับเมื่อจำเลยที่ 2 เข้ามาภายในห้องตรวจ โจทก์ขึ้นไปนอนรออยู่บนเตียงแล้ว ไม่มีอาการอื่นใดบ่งชี้ในเวลานั้นที่แสดงให้จำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทำการตรวจภาพถ่ายไตด้านขวาของโจทก์ไม่ชัดเจน จึงสอบถามโจทก์ว่าสามารถพลิกตะแคงตัวไปด้านซ้ายเพื่อถ่ายภาพใหม่ได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าได้ ดังที่ปรากฎในบันทึกคำให้การของโจทก์ต่อพนักงานสอบสวน หากโจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็น่าจะต้องแจ้งจำเลยที่ 2 เสียตั้งแต่ในขณะนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกคำให้การดังกล่าวอีกว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 2 อยู่ภายในห้องเพียงลำพัง ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ถือหัวตรวจอัลตราซาวด์ไว้ในมือและต้องเพ่งมองจอภาพเครื่องดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ข้างหัวเตียงด้านขวาของโจทก์ เมื่อโจทก์พลิกตะแคงตัวตามที่จำเลยที่ 2 บอก แม้เตียงมีขนาดกว้างเพียง 60 เซนติเมตร แต่ก็เป็นขนาดมาตรฐานบุคคลทั่วไปในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ถึงขนาดที่โจทก์จะพลัดตกจากเตียง เพราะการนอนตะแคงตัวใช้พื้นที่ไม่มาก อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรสอบถามโจทก์ก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 มิใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4395/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดหลายบท-ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เล่นการพนัน ศาลฎีกาแก้ไขโทษและวินิจฉัยประเด็นกฎหมาย
ความผิดฐานร่วมกันเล่นการพนันและฐานร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยทั้งยี่สิบสองมีเจตนาร่วมเล่นการพนันและฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเวลาเดียวกัน อันเป็นเจตนาเดียวกัน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งยี่สิบสองจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทมิใช่หลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง และมาตรา ๒๒๕ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ และกรณีเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๒๒ ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๓ และมาตรา ๒๒๕ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4308/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันที่ไม่มีรายละเอียดตามกฎหมายตกเป็นโมฆะ แม้ผู้ค้ำประกันจะลงนามโดยไม่มีอำนาจ
หนังสือรับรองการชำระหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 มีข้อความและเจตนาเข้าทำสัญญาอันมีลักษณะเป็นสัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง แต่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้ทำขึ้นภายหลัง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 681 และมาตรา 685/1 ที่แก้ไขมาใช้บังคับ เมื่อมูลหนี้ตามคำฟ้องเกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นการประกันมูลหนี้ที่อาจสมบูรณ์ได้ในอนาคต เมื่อเป็นการค้ำประกันลูกหนี้หลายรายรวมกัน โดยไม่มีรายละเอียดระบุจำนวนสูงสุดที่ค้ำประกันในลูกหนี้ในแต่ละราย และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกันไว้ สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นบรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคสอง จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 685/1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3417/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่สมบูรณ์ขาดองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งความเท็จ ศาลฎีกายกฟ้อง
ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี (1) ....(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" โดยในส่วนของการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้น หมายถึง ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย สำหรับความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามคำฟ้องของโจทก์ ป.อ. มาตรา 137 บัญญัติว่า "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ..." จึงเป็นกรณีซึ่งกฎหมายกำหนดให้ถือเอาความเสียหายที่อาจเกิดแก่ผู้อื่นหรือประชาชนเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้องด้วย แต่ฟ้องโจทก์บรรยายเพียงเฉพาะข้อความที่จำเลยแจ้งแก่ ส. อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ว. ผู้เสียหาย ซึ่งอ้างว่าเป็นความเท็จ แม้โจทก์จะระบุมาในคำฟ้องด้วยว่า ข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวอาจทำให้ผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ นิติกรของผู้เสียหาย ผู้อื่น หรือประชาชนได้รับความเสียหาย ก็เป็นเพียงการหยิบยกถ้อยคำของกฎหมายมาบรรยายให้ปรากฏแบบกว้าง ๆ โดยมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเพื่อให้สามารถเข้าใจได้ชัดแจ้งว่าผู้เสียหายหรือผู้ใดอาจได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากการแจ้งข้อความดังกล่าวของจำเลยอย่างไร แม้จะพิจารณาฟ้องโจทก์ทั้งเรื่องก็ยังไม่สามารถจะเข้าใจได้ว่าโจทก์ร่วมหรือผู้ใดอาจได้รับความเสียหายอย่างไรจากการกระทำของจำเลย คำฟ้องโจทก์จึงบรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3066/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุนที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ คำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ฎีกา และคำแก้ฎีกา จำเลยไม่คัดค้าน แต่คดีนี้มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การถอนคำร้องทุกข์ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป โจทก์จึงยังคงมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลย และการถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์มีผลเท่ากับเป็นการขอถอนฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 ซึ่งโจทก์ร่วมจะขอถอนฟ้องได้ต่อเมื่อก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา อีกทั้งศาลฎีกาทำคำพิพากษาเสร็จแล้ว จึงไม่สมควรอนุญาตให้ถอนฎีกาและคำแก้ฎีกา จึงยกคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนขอถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ฎีกา และคำแก้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2356/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอื่น และอำนาจสั่งนับโทษของศาล
เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1144/2561 ของศาลอาญา ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก สิทธิเรียกร้องของวัดแก้วฟ้า และผลบังคับตามบันทึกข้อตกลง
บันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง มีข้อความระบุไว้ในสาระสำคัญว่า โจทก์ทั้งสิบห้าตกลงถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้าทันทีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมีโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้องเป็นคู่สัญญาระหว่างกัน โดยมีวัดแก้วฟ้าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งวัดแก้วฟ้ามีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาโดยตรงได้ แม้ผู้ร้องกับฝ่ายโจทก์จะไม่มีมูลหนี้ต่อกันและกรณีมิใช่สัญญาให้ที่ผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินดังกล่าวแก่วัดแก้วฟ้าจึงไม่ตกอยู่ในบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 523 ทั้ง ส. ตัวแทนวัดแก้วฟ้าแถลงต่อศาลชั้นต้นในวันนัดพร้อมว่า วัดแก้วฟ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี หากจะให้วัดแก้วฟ้าชี้แนวเขตที่ดินเพื่อรับเงินดังกล่าว โดยยังไม่ทราบว่าจะนำเงินไปดำเนินการในกิจการใด ไม่สามารถกระทำได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 วัดแก้วฟ้ายื่นใบแจ้งความประสงค์ต่อศาลชั้นต้นขอรับเงินดังกล่าวซึ่งผู้ร้องวางไว้ อันเป็นการแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากบันทึกข้อตกลงซึ่งโจทก์ทั้งสิบห้ากับจำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำขึ้นระหว่างกัน สิทธิของวัดแก้วฟ้า ตามบันทึกข้อตกลงย่อมเกิดมีขึ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรสำหรับที่ดินในโครงการที่กล่าวไว้ในบันทึกข้อตกลงซึ่งมีแนวเขตที่ดินที่ผู้ร้องประสงค์ให้วัดแก้วฟ้ามาชี้ระวังแนวเขตที่ดินด้วย เช่นนี้ ไม่ว่าผู้ร้องจะต้องรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 2626 และ 2627 ของผู้ร้องตามแนวตะเข็บที่ดินที่ติดกับลำรางสาธารณประโยชน์ซึ่งคั่นอยู่ระหว่างที่ดินของผู้ร้องกับวัดแก้วฟ้าออกไปเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 49728 หรือไม่ก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในโครงการซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของวัดแก้วฟ้า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันเป็นเงื่อนไขตามบันทึกข้อตกลงซึ่งระบุให้ผู้ร้องต้องถวายเงินแก่วัดแก้วฟ้า ผู้ร้องจึงต้องผูกพันและมีหน้าที่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ผู้ร้องหาอาจระงับสิทธิของวัดแก้วฟ้าโดยขอรับเงินที่วางไว้คืนไปจากศาลได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 375
โจทก์ทั้งสิบห้า จำเลยทั้งสิบเอ็ดและผู้ร้อง ทำบันทึกข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการถอนฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด โดยให้ผู้ร้องไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพื้นที่พิพาทและถวายเงิน 5,000,000 บาท เพื่อเป็นสาธารณกุศลและสาธารณประโยชน์แก่วัดแก้วฟ้า ด้วยเจตนาให้มีผลผูกพันตามกฎหมาย เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นสืบเนื่องจากบันทึกข้อตกลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบห้าในฐานะคู่สัญญาจึงมีอำนาจใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อให้เกิดสภาพบังคับตามบันทึกข้อตกลงได้
of 3