คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 271 (เดิม)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการบังคับคดีของผู้รับจำนองที่สวมสิทธิ แม้เจ้าหนี้เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี
ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบริษัทเงินทุน ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เป็นการตั้งเรื่องโดยขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) มิได้อ้างสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (เดิม) โดยตรง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดตามมาตรา 289 วรรคสอง (เดิม)
แม้โจทก์เดิมคือบริษัทเงินทุน ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นผู้สวมสิทธิไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ แต่การร้องขอคดีนี้ผู้ร้องขอกันส่วน มิได้เป็นผู้ยึดทรัพย์บังคับคดีเอง ย่อมไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่ผู้ร้องขอใช้สิทธิกันส่วนในฐานะเป็นผู้รับจำนองที่ดิน ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองเพราะหนี้จำนองยังไม่ระงับสิ้นไป โดยสัญญาจำนองย่อมระงับสิ้นไปเมื่อมีกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 744 ดังนั้นการที่บริษัทเงินทุน ท. โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็ยังไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้กันเงินส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 401/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบุริมสิทธิจำนองเหนือการบังคับคดี และสิทธิในการรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น
แม้ผู้ร้องจะมิได้ร้องขอให้บังคับคดีในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายในสิบปี อันทำให้สิ้นสิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่อย่างไรก็ดี ทรัพย์สิทธิจำนองของผู้ร้องยังคงอยู่ ซึ่งการบังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนองของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวจากจำเลย ศ. และ ส. จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินจำนองในคดีนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นคดีนี้ให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 และในกรณีที่โจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7070/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร: สัญญาประนีประนอมมีความ binding แม้ผู้เยาว์อยู่กับผู้จ่ายหรือไม่
โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลชั้นต้น ในข้อ 2 ว่า "ให้โจทก์และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสามร่วมกัน" ข้อ 3 วรรคสองของสัญญาระบุว่า "สำหรับค่าอุปกรณ์เลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ" จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาประนีประนอมนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่า หากบุตรผู้เยาว์ทั้งสามพักอาศัยอยู่กับใครคนนั้นจะเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์พาบุตรผู้เยาว์ทั้งสามไปดูแลในช่วงที่จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังในคดีอาญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสามนั้น เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับสัญญาประนีประนอมที่ทำไว้ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายต่อหน้าศาล ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จะจ่ายเมื่อบุตรผู้เยาว์ทั้งสามอยู่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม)
of 2