คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 40 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์หลักฐานค่าใช้จ่ายทางภาษี: รายจ่ายที่พิสูจน์ตัวผู้รับไม่ได้ และการหักล้างผลขาดทุน
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ บัญญัติว่า "การคํานวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย..." และมาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า "รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคํานวณกำไรสุทธิ... (18) รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวของอนุมาตรานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายรายจ่ายต้องพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับก็ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคํานวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม ป.รัษฎากร ซึ่งทางนําสืบของโจทก์มีรายละเอียดข้อมูล ที่เกี่ยวกับ ก. เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ก. และบิลเงินสดที่ ก. ทำเรื่องเบิกเงินจากโจทก์ที่ปรากฏแต่ชื่อของ ก. เท่านั้น และโจทก์นําตัว ก. มาให้ถ้อยคําในชั้นตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สรรพากรไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อพิรุธเพราะโจทก์และ ก. ติดต่อทำธุรกิจกันมาเป็นระยะเวลานานมีมูลค่าหลายล้านบาท เฉพาะที่ปรากฏในชุดใบสำคัญจ่ายสำหรับการเช่ารถระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน 2552 มีการเช่ารถพร้อมคนขับจำนวนมาก โดยคนขับรถต้องไปรับพนักงานของโจทก์ในสถานที่แตกต่างกันเพื่อสำรวจข้อมูลทำแผนที่ ในการเช่ารถดังกล่าวตามปกติย่อมต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อใช้รถในแต่ละครั้ง แต่โจทก์กลับไม่สามารถให้ข้อมูลติดต่อ ก. ได้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์กับ ก. มีการทำหลักฐานเอกสารการเช่ากันเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการระบุตัวทรัพย์สินที่ให้เช่า คงมีเพียงตารางค่าเช่ารถเท่านั้น ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจให้เช่ารถจำนวนมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปฏิบัติการสอบยัน ณ ภูมิลำเนาของ ก. ก็ไม่สามารถเข้าตรวจได้เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะเป็นทาวน์เฮาส์ ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ ไม่มีผู้ใดพักอาศัยและไม่พบตัว ก. แม้โจทก์จะประกอบกิจการจริงและได้ชําระเงินค่าเช่ารถให้ ก. โดยสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อ ก. และขีดคร่อม ประทับตราว่า A/C PAYEE ONLY ขีดฆ่าคําว่าหรือผู้ถือออกและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คก็ตามแต่โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถและรับเงินค่าเช่ารถจริง ทางนําสืบของโจทก์จึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถที่แท้จริง เพราะหาก ก. เป็นผู้ให้เช่ารถแล้ว น่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ก. มากกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นําสืบ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารายจ่ายค่าเช่ารถเป็นรายจ่ายต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าโดยสารรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์แม้โจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินจากผู้ให้บริการมาแสดง แต่โจทก์ได้จ่ายไปจริงและส่งมอบบิลให้แก่จำเลยแล้ว และโดยปกติผู้ให้บริการเหล่านี้จะไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินจากผู้ให้บริการมาแสดง โจทก์จึงไม่อาจมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงได้ รายจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่รายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับนั้น เห็นว่า โจทก์เพียงแต่จัดทำยอดรวมสรุปค่าใช้จ่ายซึ่งรวมถึงค่าโดยสารรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งตามตารางดังกล่าวมีการระบุวันเดือนปีประเภทค่าใช้จ่าย และชื่อผู้เบิกเงิน โดยไม่ปรากฏรายละเอียดของรายจ่าย ประกอบกับประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ. 2544 ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543 มาตรา 7 (1) (2) (3) และ (4) ข้อ 8 ซึ่งกำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4546/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ต้องรวมรายได้และรายจ่ายทั้งหมด และคำนวณตามประมวลรัษฎากร
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับปกติและฉบับยื่นเพิ่มเติมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท โดยกรอกรายการรายได้ส่วนที่ได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีไว้ในแบบแสดงรายการแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้โจทก์ส่งเอกสารเพิ่มเติมจึงเป็นการตรวจสอบตามรายการที่โจทก์แสดงไว้ในแบบแสดงรายการเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่า รายการรายได้ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีที่โจทก์กรอกไว้ถูกต้องหรือไม่ มิได้เป็นการใช้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงอื่นเพื่อนำมาประเมินภาษีโจทก์นอกเหนือจากรายการที่ปรากฏในแบบแสดงรายการแต่อย่างใด เมื่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินตามรายการที่โจทก์แสดงไว้โดยนำมาปรับปรุงวิธีการคำนวณเท่านั้น เป็นการประเมินโดยใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 จึงชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 และยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 เพื่อปรับปรุง เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าแบบที่โจทก์ยื่นไว้เดิมไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องของแบบแสดงรายการที่โจทก์ยื่นเพิ่มเติมได้ อายุความใช้สิทธิเรียกร้องจึงต้องเริ่มนับระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติม เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 จึงยังอยู่ในอายุความ
พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เป็นกฎหมายกำหนดการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน แต่มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ว่า ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องคำนวณภาษีเป็นรายบัตรส่งเสริมหรือเป็นรายนิติบุคคลตามรอบระยะเวลาบัญชีอย่างไร กรณีจึงต้องใช้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการคำนวณภาษีตาม ป.รัษฎากร เป็นหลักในการคำนวณ ดังนั้น ไม่ว่าโจทก์จะมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกี่โครงการก็ตาม การคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องถือว่าทุกโครงการเป็นหน่วยภาษีเดียวกันที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์จึงต้องนำผลประกอบการทั้งหมดมารวมกัน ได้แก่ ผลประกอบการของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทุก ๆ โครงการและผลประกอบการของกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษี
กรณีใช้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฯ มาตรา 36 (4) (เดิม) เพื่อหักเงินได้พึงประเมินในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 5 ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน การคำนวณเงินได้พึงประเมินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต้องคำนวณจากรายได้การส่งออกโดยรวมในแต่ละปี มิใช่คำนวณแต่ละโครงการ เมื่อวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม ป.รัษฎากร การประเมินจึงชอบแล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องรวมกำไรสุทธิจากทุกกิจการ
โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โจทก์ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 โจทก์ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เมื่อมี พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544 และ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 475) พ.ศ.2551 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจากอัตราปกติร้อยละ 30 คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อใช้สิทธิลดอัตราภาษีตาม พ.ร.ฎ.ทั้งสองฉบับดังกล่าว ต้องนำกำไรสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมารวมคำนวณด้วย การที่โจทก์นำกำไรสุทธิเฉพาะกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามอัตราภาษีที่ได้ลดลงเหลือร้อยละ 25 เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยไม่นำกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมารวมคำนวณด้วยจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12538/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นภาษีเงินได้นิติบุคคล: การปันส่วนดอกเบี้ย, ค่าใช้จ่ายโครงการแฟมิลี่แคร์, และการประเมินผลขาดทุนสุทธิ
ทุนทรัพย์ที่พิพาทในแต่ละเดือนภาษีเป็นแต่ละข้อหาแยกจากกัน เฉพาะเดือนภาษีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาทต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 25
แม้บทบัญญัติของ ป.รัษฎากรในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลมิได้กำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" ไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความหมายในทางการค้าทั่วไปแล้ว คงมีความหมายในทำนองเดียวกันกับ ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (3) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะกำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" คือ ราคาสินค้าที่มีการซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง ห้องชุดบางรายการ มีราคาตามสัญญาจะซื้อขายสูงกว่าราคาตามสัญญาซื้อขายที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ห้องละประมาณ 30,000 บาท จนถึงประมาณ 800,000 บาท โดยโจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่าราคาที่แตกต่างกันนั้นมีเหตุผลให้เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด จึงไม่น่าเชื่อว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดในขณะนั้นหรือเป็นการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดโดยมีราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุผลอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาราคาประเมินของทางราชการในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเป็นราคาตลาดจึงชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 91/16 (6)
ดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปสำหรับเงินที่กู้ยืมมาสร้างอาคารซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อขายเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าต้นทุนจนกว่าอาคารจะก่อสร้างเสร็จพร้อมที่จะขาย เมื่อไม่ปรากฏว่าโครงการของโจทก์ก่อสร้างเสร็จจนพร้อมที่จะขาย ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นจึงยังไม่อาจถือเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ทั้งหมดจนกว่าโจทก์จะปิดโครงการในเดือนสิงหาคม 2542
ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการแฟมิลี่แคร์เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเพื่อช่วยค่าก่อสร้างอาคารศูนย์อภิบาลคนชรา ศูนย์พัฒนาเด็ก สถานที่ออกกำลังกาย และโพลีคลินิกที่ดำเนินการโดยคณะแพทย์โรงพยาบาล ซ. ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์โดยได้ปลดเปลื้องภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อลูกค้าตามที่โจทก์โฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้ แต่กรรมสิทธิ์ในอาคารที่ก่อสร้างมิได้เป็นของโจทก์ กลับเป็นของโรงพยาบาล ซ. รายได้จากศูนย์ดังกล่าวก็เป็นรายได้ของโรงพยาบาล ซ. ทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจากการร่วมทุนของโจทก์โดยมีข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง การจ่ายเงินดังกล่าวจึงมิได้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่ระบุในข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539 และไม่มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคอันจะนำมาถือเป็นมูลค่าต้นทุน จึงไม่อาจนำมาถือเป็นต้นทุนของโครงการในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การอุทธรณ์ และการปฏิบัติตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง
หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายทั้งสองฉบับที่พิพาทกันในคดีนี้ แม้จะมีความบกพร่องโดยไม่ชัดเจนว่า โจทก์มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ตามมาตรา 50 มิใช่ตามมาตรา 3 เตรส แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินจำเลยมีหนังสือแจ้งขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย โดยใบแนบหนังสือให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ประกอบกับหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญว่า โจทก์ได้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่ง ป.รัษฎากร โดยมิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มตามกฎหมายได้ระบุปีภาษี จำนวนเงิน เข้าลักษณะมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โดยที่ใบแนบหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย เป็นการจัดให้มีเหตุผลดังกล่าวในภายหลังตามมาตรา 41 (2) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.2539 เมื่อพิจารณาหนังสือดังกล่าวประกอบกันถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล การจัดเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ต้องชำระภาษีจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่ง ป.รัษฎากร ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลได้แสดงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแห่งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่โจทก์ โดยเป็นกรณีแสดงรายได้ขาดไป มีรายจ่ายซึ่งไม่สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และบันทึกต้นทุนต่ำไป จึงมีการปรับปรุงกำไรสุทธิใหม่ตามเงื่อนไขของมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี จากนั้นคำนวณภาษีที่ต้องเสียโดยหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้ว ทั้งมีการนำภาษีที่โจทก์ชำระเกินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนำมาหักกลบลบให้ ต่อมาจึงคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว โดยไม่จำต้องมีหนังสือเรื่อง ขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินแต่อย่างใด
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะมีข้อความรายการคำนวณภาษีตามผลการตรวจสอบ ประเภทการประกอบกิจการ กิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ประเภทรายรับ ดอกเบี้ยรับ จำนวนรายรับทั้งสิ้น อัตราร้อยละ 3 จากนั้นมีรายการภาษีที่ต้องชำระ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ตลอดจนภาษีส่งท้องถิ่น และรวมภาษีต้องชำระ มีข้อความให้โจทก์นำภาษีไปชำระที่ใด ภายในเวลาเท่าใด และระบุเหตุผลในการประเมินว่า โจทก์มีดอกเบี้ยรับจากการให้กรรมการกู้ยืมโดยไม่นำรายรับไปยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติมตามกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว โดยไม่จำต้องมีหนังสือเรื่อง ขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินแต่อย่างใด
เมื่อได้วินิจฉัยว่า หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบ โดยไม่จำต้องมีหนังสือขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมิน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า หนังสือเรื่อง ขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และใบแนบหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย ได้กระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ หนังสือเรื่อง ขอเพิ่มเติมเหตุในหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 แต่ยังมิได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์แก่โจทก์ตามมาตรา 34 แห่ง ป.รัษฎากร จึงยังไม่สิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เป็นการจัดให้มีเหตุผลในภายหลัง โดยกระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 41 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว สำหรับโจทก์จะมีโอกาสคัดค้านได้ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งเพิ่มเติมเหตุผลหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2548 ซึ่งหากโจทก์ประสงค์จะโต้แย้งและแสดงหลักฐานเพิ่มเติมก็ต้องยื่นอุทธรณ์และแสดงพยานหลักฐานภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าวซึ่งครบกำหนดที่จะอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 แต่ก็ได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 แต่โจทก์มิได้โต้แย้งภายใน 30 วัน ดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่จำต้องพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5451/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าใช้จ่ายผลิตรายการทีวี ไม่ใช่รายจ่ายลงทุน หากไม่ได้เก็บรักษาเพื่อหารายได้ต่อเนื่อง
เทปรายการโทรทัศน์ที่โจทก์ผลิตเองและออกอากาศไปแล้ว โจทก์ไม่ได้เก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ในการหารายได้อันจะถือเป็นทรัพย์สินที่ก่อมูลค่าแก่กิจการอีกต่อไป ค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการโทรทัศน์แต่ละครั้งจึงมิใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายค่าไฟฟ้าส่วนตัวที่ใช้ร่วมกับกิจการ การปันส่วนรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ
ค่าไฟฟ้าสำหรับมิเตอร์ที่ใช้สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่หุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์และครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคารสถานประกอบการของโจทก์ เป็นค่าไฟฟ้าสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอำนวยความสะดวกสบายแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนของโจทก์และครอบครัว มิได้ใช้สำหรับงานในกิจการของโจทก์ และไม่ได้ใช้เพื่อดูแลทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการของโจทก์ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวที่มิใช่เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะซึ่งนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แต่เมื่อรายจ่ายค่าไฟฟ้าจากมิเตอร์นั้นมีรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวระคนปนกับรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของโจทก์โดยเฉพาะ ไม่สามารถแบ่งแยกออกได้ชัดเจนว่ารายจ่ายส่วนใดมีจำนวนใด การที่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ใช้วิธีปันส่วนโดยแบ่งค่าไฟฟ้าให้หักรายจ่ายได้ร้อยละ 50 นั้น นับว่าถูกต้องสมควรและเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว
การพิจารณาว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามนำมาคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี หรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงลักษณะของรายจ่าย หลักเกณฑ์และวิธีการจ่าย ผู้รับรายจ่ายตลอดจนเหตุผลความจำเป็นและหลักฐานในการจ่ายประกอบด้วยซึ่งต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไปว่ารายจ่ายนั้นเป็นรายจ่ายต้องห้ามหรือไม่ จำนวนเท่าใด ตามความเป็นจริง ไม่จำต้องถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทั้งจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3692/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการกู้เงินลงทุนสร้างโรงงาน ไม่สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามมาตรา 65 ตรี(5) แห่งประมวลรัษฎากร
รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนนั้น มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรออกคำสั่งยกเว้นให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ทั้งตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.72/2540 อธิบดีกรมสรรพากรออกคำสั่งดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเนื่องจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราให้สามารถคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำสั่งดังกล่าวได้ ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่ายกเว้นบทบัญญัติในมาตรา 65 ตรี (5)
การหักค่าเสื่อมราคาและค่าสึกหรอตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องเป็นการลงทุนในทรัพย์สินที่มีสภาพพร้อมใช้งานหรือใช้ประโยชน์ได้แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าโรงงานของโจทก์อยู่ในสภาพดังกล่าว จึงไม่อาจนำผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิโดยอาศัยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.72/2540 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดเบี้ยปรับภาษี กรณีผู้เสียภาษีให้ความร่วมมือและไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี แม้ดอกเบี้ยจ่ายเป็นรายจ่ายต้องห้าม
การที่โจทก์ชำระภาษีไม่ถูกต้องเนื่องจากโจทก์นำดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ยืมที่โจทก์กู้ยืมจากสถาบันการเงินมาซื้อที่ดินให้ผู้อื่นเช่าซึ่งเป็นรายจ่ายต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5) มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์คำนวณกำไรสุทธิและเสียภาษีไม่ถูกต้อง แต่ในชั้นตรวจสอบภาษีอากรโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีด้วยดีตลอดมา แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี จึงมีเหตุสมควรลดเบี้ยปรับให้โจทก์ ประกอบกับปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไปมาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สิน ทั้งนี้เฉพาะดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานได้ตามความประสงค์ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในคดีนี้ แม้ว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะไม่มีผลให้โจทก์ได้รับผลประโยชน์นี้เนื่องจากออกบังคับใช้ในภายหลังก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่สมควรจะลดเบี้ยปรับลงได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2166/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การหักค่าใช้จ่ายและสิทธิในการขอคืนภาษี ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด
โจทก์ที่ 2 มิได้ร่วมลงทุนกับผู้อื่นซื้อที่ดิน เงินที่โจทก์ที่ 2ได้รับ 48,000,000 บาท เนื่องจากผู้ขายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นของโจทก์ที่ 2 แต่ผู้เดียว เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) การหักค่าใช้จ่ายต้องเป็นไปตามมาตรา 46 ซึ่งให้นำมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับด้วยเงินจำนวน 7,570,000 บาท ที่โจทก์ที่ 2 จ่ายให้แก่ ส.กับพวกเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเสียหายจัดสรรคืน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ได้รับเงิน48,000,000 บาท มิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะไม่อาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 46 ประกอบมาตรา 65 ตรี
คณะบุคคลชำระเงินภาษีอากรจำนวน 5,857,461 บาท แก่กรมสรรพากรจำเลยไปแล้ว แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นผู้จัดการของคณะบุคคลและต้องรับผิดชอบในเงินจำนวนดังกล่าวด้วย ก็ไม่อาจถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 2 เป็นส่วนตัวโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระแก่จำเลยได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(3) ประกอบมาตรา 9 กำหนดให้ผู้จะฟ้องขอคืนค่าภาษีอากรที่ชำระไปจะต้องยื่นคำร้องต่อกรมสรรพากรจำเลยเพื่อสั่งคืนตามหลักเกณฑ์วิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เสียก่อน ถ้าจำเลยไม่ยอมคืนจึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนค่าภาษีอากรแก่โจทก์ ไม่ว่าโจทก์จะถูกโต้แย้งสิทธิแล้วหรือไม่ก็ตาม
of 4