คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขึ้นทะเบียนโบราณสถานและการเวนคืนที่ดิน: การแจ้งเจ้าของและการมีอยู่ของโบราณสถาน
พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถาน-แห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 7 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "การขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามความในวรรคก่อน ถ้าโบราณสถานนั้นมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทราบ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่พอใจ ก็ให้มีสิทธิร้องต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีแจ้งให้ทราบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้อธิบดีระงับการขึ้นทะเบียนและหรือการกำหนดเขตที่ดินให้เป็นโบราณสถาน แล้วแต่กรณีได้ ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ร้องขอต่อศาล หรือศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำร้องขอของเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้อธิบดีดำเนินการขึ้นทะเบียนได้" นั้น มีความมุ่งหมายเพียงให้อธิบดีกรมศิลปากรแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโบราณสถานทราบเท่านั้น มิใช่เป็นการขออนุญาตแต่อย่างใด แม้จะมีการประกาศกำหนดเขตที่ดินเป็นเขตโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 28,217 ไร่ โดยกรมศิลปากรจำเลยที่ 1 ไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือให้โจทก์ผู้อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนประกาศ แต่ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวทราบว่าจำเลยที่ 1จะดำเนินการประกาศกำหนดเขตที่ดินบริเวณนั้นให้เป็นเขตโบราณสถาน จึงถือได้ว่าเป็นการประกาศขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นโบราณสถานโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่ดินพิพาทเป็นที่ตั้งของกำแพงเมืองเชลียงซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยมีร่องรอยเป็นแนวกำแพงเมืองผ่านตลอดริมฝั่งใต้ของแม่น้ำยมในบริเวณที่ดินพิพาทมีก้อนศิลาแลงโบราณปรากฏอยู่ นอกจากนี้ในที่ดินพิพาทยังมีบ่อน้ำโบราณอยู่โดยมีก้อนศิลาแลงโบราณทรงโค้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบ่อน้ำโบราณถูกนำมาก่อสร้างเป็นขั้นบันไดริมตลิ่งแม่น้ำยมด้วย แม้จะไม่มีแนวกำแพงเมืองในที่ดินพิพาทเนื่องจากมีการขุด ทำลายกำแพงเมืองในที่ดินพิพาทและที่ดินส่วนอื่นแต่ก็ยังมีซากหรือเศษส่วนของแนวกำแพง ก้อนศิลาแลงปรากฎอยู่เป็นหลักฐานถือได้ว่าบริเวณที่พิพาทมีโบราณสถานอยู่จริง การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยและคำสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนสิ่งก่อสร้างของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2683/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างถนนย่อมชอบด้วยกฎหมาย แม้ที่ดินนั้นเป็นโบราณสถาน เพราะมีวัตถุประสงค์ต่างกัน
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 และ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรักกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ไม่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพียงแต่ตามสภาพของการเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนนหรือทางสาธารณประโยชน์จำเป็นต้องรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ขวางถนนหรือทางสาธารณประโยชน์นั้น แม้อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องรื้อจะเป็นโบราณสถาน วัด มัสยิด หรือปูชนียสถานที่คนเคารพนับถือก็ตาม ก็ต้องรื้อไปจึงจะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาได้ การสร้างสิ่งใหม่หรือการทำถนนเพื่อสาธารณประโยชน์และการผังเมืองตามความจำเป็นเพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของการจราจรจึงทำได้โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติหรือกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่เพื่อการนั้น โดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างไปจาก พ.ร.บ.โบราณสถาน ฯ พ.ศ.2504 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองดูแลรักษาบูรณะและซ่อมแซมโบราณสถาน โบราณวัตถุและศิลปวัตถุ กับปราบปรามและลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบ บุกรุก ขุดค้น และทำลายโบราณสถาน ลักลอบนำหรือส่งโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลป ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีออกนอกราชอาณาจักรเป็นสำคัญ พ.ร.ฎ. และประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวจึงมิได้มีความประสงค์จะลบล้างบทบัญญัติตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน ฯ พ.ศ.2504 แต่อย่างใดทั้งการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เวนคืนที่ดินพิพาทก็โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา ฯ พ.ศ.2528 ซึ่งออกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2528 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7สิงหาคม 2528 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2528 อันเป็นวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 2 แห่งพ.ร.ฎ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นวันก่อนที่อธิบดีกรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนบ้านพิพาทเป็นโบราณสถานเรือนทรงไทยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2528 ทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการเจรจาค่าทดแทนที่ดิน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างในแนวถนนที่จะสร้างไว้แล้ว หากต้องสร้างถนนเบี่ยงเบนออกไปจากบ้านพิพาทก็ต้องมีการเวนคืนที่ดินของผู้อื่นเพิ่มขึ้นจากเดิมย่อมทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่เจ้าของที่ดินผู้อื่นที่ไม่ทราบมาก่อนว่าที่ดินจะต้องถูกเวนคืน และจำต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรวจแนวถนนใหม่ ประกอบกับหากต้องสร้างถนนเบี่ยงเบนไปถนนตรงบริเวณนั้นจะเป็นทางโค้ง อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและเกิดความไม่คล่องตัวของการจราจรได้ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าบ้านพิพาทสามารถถอดแยกเป็นส่วนต่าง ๆ และนำไปประกอบเป็นรูปทรงเดิมได้ ดังนี้การที่จำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่ยอมสร้างทางเบี่ยงเบนออกไปจากบ้านพิพาท จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ดุลพินิจตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้โดยชอบแล้ว
โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 63, 65, 66วรรคแรก, 67 วรรคแรก และวรรคท้าย กับเมื่อมี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา ฯ พ.ศ.2428 ใช้บังคับ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดทางหลวงที่มีความจำเป็นต้องสร้างโดยเร่งด่วนแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน2528 ซึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าวนี้ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เมื่อชำระค่าทดแทนแล้วมีอำนาจเข้าครอบครองบ้านพิพาทและรื้อถอนบ้านพิพาทได้เมื่อปรากฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาค่าที่ดิน อาคาร และสิ่งปลูกสร้างในแนวถนนโครงการจากถนนสี่พระยาถึงถนนสุรวงศ์ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่624/2526 จัดทำแผนที่กำหนดแนวเขตที่ดินที่เวนคืน แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาทำความตกลงเรื่องค่าทดแทนตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 484/2528กับได้กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินและบ้านพิพาท และแจ้งกำหนดวันเข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ทราบแล้ว จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิและอำนาจที่จะเข้าครอบครองและดำเนินการในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ได้
คณะกรรมการดำเนินการตัดถนนทางหลวงเทศบาลตามพ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงสี่พระยา ฯ พ.ศ.2528 ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนแล้ว ซึ่งต่อมาไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ไปทำความตกลงในเรื่องค่าทดแทนกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กรณีเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องค่าทดแทน จำเลยทั้งสามจึงยังไม่มีหน้าที่ต้องนำเงินค่าทดแทนไปวางศาลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 63

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4140/2529 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้จัดการมรดกฟ้องหนี้สินนอกพินัยกรรม และความชอบธรรมของสัญญากู้ซื้อโบราณวัตถุ
อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะทรัพย์ที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมเท่านั้นทรัพย์มรดกในส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1620 ผู้จัดการมรดกก็มีอำนาจหน้าที่จัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทด้วย ดังนั้น ผู้จัดการมรดกจึงมีอำนาจฟ้องเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม
สัญญากู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อโบราณวัตถุตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวไม่เป็นโมฆะ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามมิให้มีการซื้อขายโบราณวัตถุ