คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ม. 25 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขสภาพการจ้างของรัฐวิสาหกิจ: ชอบด้วยกฎหมายหากเป็นไปตามกระบวนการและไม่ขัดแย้งกับสิทธิลูกจ้าง
คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีมติให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 แก่รัฐวิสาหกิจ 12 แห่ง ซึ่งรวมถึงจำเลยขณะเป็นบริษัท ท. โดยให้สามารถดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงิน ในการกำหนดอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานได้เอง เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้ว ถือว่าจำเลยมีอำนาจปรับปรุงระเบียบบริษัท ท. ว่าด้วยกองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินในการกำหนดค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานและอยู่ในขอบเขตที่คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ไม่จำต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งอีก
การที่จำเลยมอบให้คณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปรึกษาหารือเพื่อพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 23 (5) ร่วมกันพิจารณามีมติเห็นชอบให้แก้ไขระเบียบดังกล่าว แล้วจำเลยเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบในการใช้บังคับ จึงถูกต้องตามกระบวนการใน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2545 ที่เห็นชอบการแปลงสภาพองค์การ ท. เป็นบริษัท ท. ตามที่ประธานคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเสนอ มีใจความ ให้ผู้ปฏิบัติงานขององค์การ ท. ที่โอนไปยังบริษัท ท. ณ วันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิมเป็นมติที่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 25 วรรคสอง ที่ให้พนักงานตามวรรคหนึ่งได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่เดิม กับให้ถือว่าเวลาการทำงานของพนักงานดังกล่าวในรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นเวลาการทำงานในบริษัทโดยไม่ถือว่าการเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจเดิมเป็นบริษัทนั้นเป็นการเลิกจ้าง มติคณะรัฐมนตรีและบทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ใช้ในช่วงเวลาเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจในรูปองค์การของรัฐเป็นบริษัท
ในขณะที่จำเลยแปลงสภาพจากองค์การของรัฐเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยได้ให้พนักงานได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่เคยได้รับอยู่เดิมและยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขออกเป็นระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 กรณีไม่อาจอ้าง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และมติคณะรัฐมนตรีมาปรับหรือบังคับให้ระเบียบดังกล่าวตกไป
พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มิได้เป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้มีการแก้ไขสภาพการจ้าง เพราะการแก้ไขสภาพการจ้างของลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งมีคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กำกับดูแลในขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้ฝ่ายบริหารกับพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบในขอบเขตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมตลอดจนความมั่นคงของประเทศ
สภาพการจ้างตามระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 นอกจากเป็นสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินที่อยู่ในขอบเขตที่กำหนดตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 13 (2) ที่จำเลยมีอำนาจที่จะแก้ไขปรับปรุงได้เอง ไม่ใช่สภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจาตกลงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีข้อห้ามตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มาตรา 29 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าแล้ว หลักของการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้เกิดสภาพการจ้างใหม่ แม้ข้อตกลงหรือข้อยุติไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง เป็นการลดประโยชน์ที่ลูกจ้างมีสิทธิที่ได้รับอยู่เดิมลงบ้าง แต่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตามเหตุผลในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ย่อมใช้บังคับได้
จำเลยออกระเบียบแก้ไขหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จ เพราะจำเลยปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเป็นกรณีพิเศษ ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของจำเลยที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงานมากขึ้น ฝ่ายพนักงานลูกจ้างหรือโจทก์ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษแล้ว หากจะต้องลดประโยชน์จากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จไปบ้าง เพื่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมขององค์กร ย่อมถือได้ว่าอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม ระเบียบจำเลย ว่าด้วย กองทุนสวัสดิการสงเคราะห์พนักงาน พ.ศ. 2546 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2548 จึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับแก่พนักงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย