คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 68

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา – การหลบหนี – ผลกระทบต่ออายุความตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. และประมวลกฎหมายอาญา
หมายจับเป็นหมายอาญาตามที่ ป.วิ.อ. บัญญัติไว้ใน หมวด 2 เมื่อตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 บัญญัติให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) ออกหมายเรียก หมายอาญา... ดังนั้นผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอำนาจในการออกหมายอาญาประเภทหมายจับได้ รวมทั้งให้หมายความถึงมีอำนาจพิจารณาการยกคำร้องขอออกหมายจับโดยพิจารณาว่าคดีอาญาตามที่ขอออกหมายจับนั้นขาดอายุความหรือไม่ ทั้งนี้ ในการออกหมายจับนั้นต้องพิจารณาประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติว่า หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าในการออกหมายจับ ผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาออกหมายจับมีอำนาจพิจารณาว่า คดีที่จะออกหมายจับนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ด้วย การสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบการนับอายุความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 แตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความในประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ให้นับวันที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 บัญญัติไว้ และตามมาตรา 3 แห่ง ป.อ. บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว... เมื่อบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า และการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเข้าด้วยตามมาตราดังกล่าวมีผลทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ ทั้งที่ผู้ร้องไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามาฟ้องภายใน 15 ปี ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า จึงต้องนําอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ากระทำความผิดมาบังคับใช้เพราะเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามากกว่า ไม่อาจนําบทบัญญัติเรื่องการนับอายุความตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10616/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การใช้กฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำผิดเป็นประโยชน์แก่ผู้กระทำความผิด
คำร้องขอให้ศาลออกหมายจับผู้คัดค้านทั้งสองระบุว่า ผู้คัดค้านทั้งสองมีพฤติการณ์กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 โดยเหตุเกิดระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2539 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ที่ผู้ร้องขอให้ออกหมายจับมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตามมาตรา 95 (2) แห่ง ป.อ. ความผิดตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลออกหมายจับดังกล่าวจึงขาดอายุความนับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2554 และมีผลทำให้หมายจับดังกล่าวสิ้นผลไปด้วยนับแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 68
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับวันที่ 19 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังการกระทำความผิดของผู้คัดค้านทั้งสองและการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเข้าด้วยตามมาตราดังกล่าวมีผลทำให้ผู้คัดค้านทั้งสองถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ตัวผู้คัดค้านทั้งสองมาฟ้องภายใน 15 ปี ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง จึงต้องนำอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะผู้คัดค้านทั้งสองกระทำความผิดมาบังคับใช้เพราะเป็นคุณแก่ผู้คัดค้านทั้งสองมากกว่า จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการนับอายุความตามมาตรา 98 และมาตรา 74/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้
แม้ความผิดตามหมายจับที่ศาลชั้นต้นออกให้แก่ผู้ร้องขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) และสิ้นผลไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 68 แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากหมายจับดังกล่าวมีข้อความว่า (จนกระทั่งจับตัวได้ตามมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2554)) กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นจะสั่งเพิกถอนหมายจับดังกล่าวเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6874/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหมายจับและการสิ้นผลของหมายจับเมื่อความผิดขาดอายุความ
ป.วิ.อ. มาตรา 68 บัญญัติว่า "หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน" เช่นนี้ เมื่อความผิดอาญาตามหมายจับจำเลยขาดอายุความแล้ว หมายจับย่อมสิ้นผลไปในตัวโดยไม่ต้องเพิกถอนหมายจับอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจออกหมายจับของผู้พิพากษา และสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธยกเลิกหมายจับ
เมื่อมีการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดอาญา บุคคลนั้นย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (2) พนักงานสอบสวนย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 66 เพื่อให้ได้ตัวมาสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) กำหนดให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจออกหมายจับได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย กำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่า มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 68 กำหนดให้หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน ดังนี้ อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกหรือเพิกถอนหมายจับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้
ปัญหาว่าผู้ร้องมีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้หมายจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลังผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว ถือเป็นเจตนาทำให้ผู้อื่นถูกจับ
เมื่อผู้เสียหายได้รับประกันตัว เหตุที่จะจับผู้เสียหายตามหมายจับของศาลก็เป็นอันหมดไป เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีเหตุจับผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยทราบดีอยู่แล้ว ยังจงใจใช้หมายจับที่ศาลได้ออกก่อนผู้เสียหายมีประกันตัวมาให้เจ้าพนักงานตำรวจจับผู้เสียหายอีกเจ้าพนักงานตำรวจจำต้องจับกุมตามหมายศาล จึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจ ที่จะพิจารณาว่าสมควรจับกุมตามควรแก่กรณีหรือไม่ รูปคดีชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาร้ายทำให้ผู้เสียหายต้องถูกจับ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 187/2507

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจับกุมในที่รโหฐาน: กรณีฉุกเฉินและขอบเขตการป้องกันสิทธิ
การจับในที่รโหฐาน ในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมายจับนั้นเมื่อพฤติการณ์ปรากฏว่าความผิดซึ่งหน้าซึ่งจำเลยผู้ถูกจับได้กระทำแล้วหลบหนีเข้าไปเป็นเพียงความผิดฐานลหุโทษตำรวจผู้จับรู้จักจำเลยและหลักแหล่งของจำเลยมาก่อนทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยจะหลบหนีต่อไปเช่นนี้ ก็ไม่เป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 96(2) จ่าสิบตำรวจ สิบตำรวจโท และพลตำรวจจึงไม่มีอำนาจเข้าไปจับ การเข้าไปจับโดยไม่มีอำนาจเช่นนี้จำเลยย่อมกระทำการป้องกันได้และเมื่อไม่เกินสมควรแก่เหตุ จำเลยก็ไม่มีความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 187/2507 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจจับกุมในที่รโหฐาน: กรณีความผิดลหุโทษและเหตุฉุกเฉินที่ไม่เพียงพอ
การจับในที่รโหฐาน ในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมายจับนั้น เมื่อพฤติการณ์ปรากฎว่าความผิดซึ่งหน้าซึ่งจำเลยผู้ถูกจับได้กระทำแล้วหลบหนีเข้าไปเป็นเพียงความผิดฐานลหุโทษ ตำรวจผู้จับรู้จักจำเลยและหลักแหล่งของจำเลยมาก่อน ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยจะหลบหนีต่อไป เช่นนี้ ก็ไม่เป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46(2) จ่าสิบตำรวจ สิบตำรวจโท และพลตำรวจ จึงไม่มีอำนาจเข้าไปจับ การเข้าไปจับโดยไม่มีอำนาจเช่นนี้ จำเลยย่อมกระทำการป้องกันได้ และเมื่อไม่เกินสมควรแก่เหตุ จำเลยก็ไม่มีความผิด