คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 32 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6425/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายสำนักงานใหญ่ธนาคารพาณิชย์ที่เฉลี่ยมายังสาขาในประเทศไทย ไม่อาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ หากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ
รายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะจะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ รายจ่ายอันเป็นเงินเดือน เบี้ยเลี้ยงพนักงานโจทก์สำนักงานใหญ่ค่าใช้จ่ายของสำนักงานใหญ่ ค่าเครื่องเขียน แบบพิมพ์ ค่าตอบแทนกรรมการและผู้ตรวจสอบบัญชีของสำนักงานใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ฮ่องกง เป็นรายจ่ายที่โจทก์ใช้จ่ายเพื่อประโยชน์แก่สาขาต่าง ๆทั่วโลก โจทก์คิดเฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวให้สาขาต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยอาศัยการคำนวณเฉลี่ยรายจ่ายของสาขาทั่วโลกตามรายได้ของแต่ละสาขา รวมทั้งสาขาในประเทศไทยด้วย จึงไม่ใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ เพียงแต่อาจจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ เมื่อโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์หรือแยกให้เห็นว่า รายจ่ายส่วนใดบ้างที่เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะ โจทก์จะเหมาเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยทั้งหมดและนำมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหาได้ไม่ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 ถ้าผู้เสียภาษีหลีกเลี่ยงหรือเสียไม่ถูกต้อง เมื่อทำการประเมินผู้เสียภาษีต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 22 เมื่อประเมินแล้วไม่เสียภายในกำหนดก็ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ตามมาตรา 27 อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5816/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การหักค่าใช้จ่ายที่ไม่สมควร และหลักฐานการพิสูจน์ภาระภาษี
หลักฐานรายจ่ายเกี่ยวกับค่าช่วยเหลือชักนำลูกค้าเป็นแบบฟอร์ม ที่โจทก์จัดทำขึ้นเอง โจทก์จะให้คนของโจทก์กรอกข้อความอย่างไร ก็ได้ เอกสารทุกฉบับมีแต่ลายเซ็นชื่อของผู้รับเงินเท่านั้น นามสกุล ก็ ไม่ปรากฏ สถานที่อยู่ของผู้รับเงินก็ไม่มีให้ตรวจสอบถึง ความถูกต้อง แท้จริงได้ เป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจการค้า ที่มีเงินลงทุน จำนวนมากและสถิติการจำหน่ายสินค้าได้นับจำนวน พันล้านบาทต่อปี เช่นโจทก์จะพึงกระทำโดยหละหลวมเช่นนั้น พยานหลักฐาน ที่โจทก์นำสืบ มายังไม่มีน้ำหนักให้เชื่อว่าโจทก์ได้จ่ายเงิน ช่วยเหลือชักนำลูกค้า จริง ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามนำ มา หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณ กำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี(18) โจทก์มีแต่ ช. เป็นพยานเบิกความไม่มีเอกสารอื่นใดมาสนับสนุนว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากการที่โจทก์ให้บริษัทในเครือยืมเงินไป มากกว่าดอกเบี้ยที่จะได้จากบริษัทในเครือของโจทก์เท่าใด จึงฟัง ไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์จากบริษัทในเครือของโจทก์มากกว่า ที่จะได้รับดอกเบี้ย จากเงินที่โจทก์ได้ให้ยืมไปนั้น ทั้งการที่ โจทก์ให้บริษัทในเครือของโจทก์กู้ยืมไปนี้ก็เพื่อบริษัทในเครือ ของโจทก์ไปผลิต สินค้ามาให้โจทก์จำหน่าย แม้โจทก์จะได้ผลกำไรจาก การจำหน่ายสินค้านั้นด้วย ก็ยังถือไม่ได้ว่าดอกเบี้ยที่โจทก์จ่าย ให้แก่สถาบันการเงินที่ โจทก์ ได้กู้ยืมเงินมา เป็นรายจ่ายเพื่อหา กำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ของโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้นำมาหัก เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี(13) ค่าเครื่องบิน ค่าที่พักและค่าอาหารอันเป็นค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศเมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบ ให้เชื่อได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปใน ธุรกิจของโจทก์ จึงถือว่าเป็นรายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัว ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี(3) จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์แม้จำเลยจะมิได้คัดค้านหรือนำสืบหักล้างพยานเอกสารของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น โจทก์ก็ต้องนำสืบให้ได้ข้อเท็จจริงว่าเป็น ดังที่โจทก์อ้าง เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าโจทก์ไม่ต้องเสีย ภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จำเลยให้โจทก์เสีย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์ นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่ารับรอง หรือค่าบริการไปเนื่องจากการประกอบกิจการของโจทก์ดังที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าค่าใช้จ่าย ดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่เกินสมควร ซึ่งไม่ให้ถือ เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี(4)หรือไม่ต่อไป.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5519/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจประเมินภาษีหลังการแบ่งส่วนราชการ และการรับฟังพยานเอกสาร การประเมินภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย
พ.เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 7 ได้รับคำสั่งกรมสรรพากรให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบและประเมินภาษีอากรประจำสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 อันเป็นสำนักงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2515 ย่อมถือว่าเป็นเจ้าพนักงานประเมินผู้ได้รับแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 121) เรื่อง ประกาศยกเลิกและแต่งตั้งเจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปเป็นเจ้าพนักงานประเมิน การแบ่งส่วนราชการภายในของกรมสรรพากรเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพในปัจจุบันไม่กระทบถึงอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบภาษีที่ทำต่อเนื่องกันมา ดังนั้น เมื่อกองภาษีการค้าซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับภาษีของโจทก์ถูกยุบเลิกไป โดยมีการจัดตั้งสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ขึ้นมาแทน และปรากฏว่าภูมิลำเนาและสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์อยู่ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 7 แต่กรมสรรพากรมีคำสั่งให้ ว.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีภายในของโจทก์อยู่เดิมมีอำนาจตรวจสอบภาษีของโจทก์ต่อไป แม้ ว.จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 ก็มีอำนาจตรวจสอบภาษีของโจทก์ได้ ภาพถ่ายจากต้นฉบับเอกสารที่อยู่ในความอารักขาหรือในความควบคุมของทางราชการเป็นสำเนาเอกสารที่ต้องมีบุคคลดังที่ระบุไว้ในมาตรา 93(3) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งรับรองความถูกต้องจึงจะรับฟังได้ แต่เมื่อจำเลยอ้างส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลโดยโจทก์มิได้คัดค้านว่าต้นฉบับเอกสารไม่มี หรือเอกสารนั้นปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องเช่นนี้ ศาลภาษีอากรกลางจึงมีอำนาจรับฟังสำเนาเอกสารนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 โจทก์มีรายได้จากการประกอบกิจการ แต่ไม่มีหลักฐานแสดงการจ่ายของโจทก์ ซึ่งต้องถือว่าโจทก์มีเงินกำไรสุทธิที่จะต้องเสียภาษีตามจำนวนที่เป็นรายรับของโจทก์ การที่เจ้าพนักงานประเมินนำข้อมูลจากหน่วยงานที่ควบคุมการทำงานของโจทก์มาคำนวณกำไรสุทธิด้วยการหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์รวมจำนวนถึงร้อยละ 80ซึ่งเป็นการกระทำโดยมีเหตุสมควรและเป็นธรรมแก่โจทก์เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจกระทำได้ โจทก์เพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีของจำเลยเมื่อถูกประเมินก็ไม่ยอมมารับผลการประเมินโดยอ้างว่าสถานที่ประกอบการค้าของโจทก์ไม่ได้อยู่ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานภาษีสรรพากรเขตพื้นที่ 8 จึงไม่ไปรับทราบผลการประเมินเช่นนี้ ย่อมไม่มีเหตุจะงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3608/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ: ค่ากรรมการและค่าซื้อน้ำมันเตา ที่พิสูจน์ได้ ถือเป็นรายจ่ายที่นำมาหักลดหย่อนได้
การที่บริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ได้ส่งกรรมการ 2 คน มาปฏิบัติงานให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญามูลฐานการลงทุนร่วม แม้ในสัญญาดังกล่าวจะมิได้กำหนดว่าโจทก์ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กรรมการดังกล่าวคนละเท่าใด แต่เห็นได้ว่าการทำงานของกรรมการนั้นย่อมมีค่าตอบแทน กรรมการทั้งสองเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการบริหารและการตลาดมาทำงานเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ โดยเฉพาะ การที่โจทก์จ่ายให้กรรมการคนละ 7,500 บาท ต่อเดือน จึงเป็นจำนวนตามสมควร และถือเป็นค่าใช้จ่าย ในอันที่จะนำมาคำนวณกำไรสุทธิได้ ส่วนค่าซื้อนำมันเตาจากบริษัท ซ. นั้น แม้โจทก์จะมีเพียงใบเสร็จรับเงินชั่วคราวมาแสดง แต่ก็มีชื่อและที่อยู่ของบริษัท ซ. ปรากฏอยู่ในใบเสร็จนั้น ทั้งมีลายมือชื่อของพนักงานบริษัทดังกล่าวลงชื่อเป็นผู้รับเงิน และระบุว่าได้ชำระเงินด้วยเช็ค ซึ่งเรียกเก็บเงินจากบัญชีของโจทก์แล้วกรณีรายจ่ายนี้โจทก์พิสูจน์ตัวผู้รับเงินได้ จึงเป็นรายจ่ายที่สามารถนำมาคำนวณกำไรสุทธิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ และขอบเขตการบังคับใช้หนี้ภาษี
ประมวลรัษฎากร มาตรา 21 บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรและแจ้งจำนวนเงินซึ่งต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร เมื่อปรากฏว่าผู้ต้องเสียภาษีอากรคือจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว แม้มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ทราบ ก็เป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อหนี้ที่ให้รับผิดเป็นหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 ออกจากหุ้นส่วนไปยังไม่เกินสองปีโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 เจ้าพนักงานประเมินได้หลักฐานข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน กับมีรายจ่ายต้องห้ามจึงมีอำนาจปรับปรุงรายการใหม่ให้ถูกต้อง และแจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีและเบี้ยปรับได้ จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในหนี้ของจำเลยที่ 1ด้วย ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ระบุว่ารายจ่ายทั้ง 5 รายการนั้นต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี อนุมาตราใดก็เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว เพราะกฎหมายมิได้บังคับว่าคำฟ้องของโจทก์ต้องระบุตัวบทกฎหมายตลอดจนมาตราและอนุมาตราไว้ด้วย แม้ประมวลรัษฎากร มาตรา 21 จะบัญญัติห้ามอุทธรณ์การประเมินในกรณีที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามหมายหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 19 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตาม แต่ในคดีนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ต้องเสียภาษี จำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้ถูกประเมินด้วยจึงต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบได้ การคำนวณเงินเพิ่มนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคสามบัญญัติห้ามมิให้คำนวณเกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2225/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าจากการขายอสังหาริมทรัพย์ พิจารณาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควร
โจทก์ประกอบธุรกิจขายที่ดินและตึกแถว ตลอดจนให้เช่าตึกแถวด้วยค่าซ่อมแซมตึกแถวถือเป็นรายจ่ายที่จะนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2225/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าจากรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ โดยมีประเด็นเรื่องการหักค่าใช้จ่ายที่สมควร
โจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวจำนวน 59 แปลงนำ มาให้ผู้อื่นเช่าเพื่อหาผลประโยชน์ แล้วทยอยขายไปเรื่อย ๆ เป็นการกระทำมุ่งในทางธุรกิจเพื่อหาประโยชน์จึงเป็นการได้ทรัพย์มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไร การเสียภาษีการค้านั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 ให้เสียจากรายรับตามอัตราในบัญชีอัตราภาษีการค้า จึงไม่มีค่าใช้จ่าย ที่ จะต้องนำมาหักเพื่อคำนวณภาษีการค้า แต่การเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดามีการหักค่าใช้จ่าย ส่วนจะหักได้เพียงใดอยู่ที่ ประเภท เงินได้ของโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ซื้อที่ดินและตึกแถวมาแล้ว ทำการ ซ่อมแซมก่อนที่จะทยอยขายไป ค่าซ่อมแซมจึงถือเป็นรายจ่าย ที่ จะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าค่าซ่อมแซมมีจำนวนเท่าใด ก็ย่อมกำหนดค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502มาตรา 8 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตรากำไรมาตรฐานและการประเมินสินค้าชำรุด เสื่อมสภาพ การยินยอมของโจทก์มีผลผูกพัน
โจทก์สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในนามของโจทก์ ผู้ขายส่งสินค้ามาให้ในนามของโจทก์ การเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตก็เปิดในนามของโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำในนามของบริษัท ท. ทั้งการยื่นใบขนสินค้าต่อกรมศุลกากรก็กระทำในนามของโจทก์ เมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่ธนาคารตามเลตเตอร์ออฟเครดิตลงบัญชีว่าบริษัทท. เป็นลูกหนี้และเมื่อบริษัท ท. จ่ายเงินให้โจทก์ ก็บันทึกลดยอดหนี้ดังกล่าวลงพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในนามของโจทก์เอง แล้วโอนขายสินค้าดังกล่าวให้กับบริษัท ท. หาใช่เป็นการสั่งซื้อสินค้าแทนบริษัท ท. ไม่ การที่เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์จากอัตรากำไรมาตรฐานของสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรจึงเป็นการชอบเพราะโจทก์ไม่ยอมรับว่ามีการโอนหรือขายให้บริษัท ท.หรือมีการขายสินค้าชนิดเดียวกันให้แก่บุคคลอื่น จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบเพื่อคิดคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้ โจทก์มอบอำนาจให้ จ. เพื่อให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานประเมินเมื่อ จ. ให้การยอมรับผิดและยอมรับว่า เมื่อบริษัทโจทก์ตรวจนับสินค้าคงเหลือไม่ตรงกับบัญชี บริษัทโจทก์ได้ปรับปรุงรายการเหล่านั้นเป็นสินค้าชำรุด และเสื่อมราคาและลงบัญชีซื้อเป็นต้นทุนขายไว้แล้วทั้งสิ้น แต่ยังมิได้ลงบัญชีขาย การที่เจ้าพนักงานประเมินราคาสินค้าซึ่งโจทก์ไม่ได้ลงบัญชีขายไว้เป็นยอดขายโดยใช้ราคาเฉลี่ยหรือราคาปกติของการขายสินค้าของโจทก์แต่ละประเภทสินค้าในปีนั้น ๆ เป็นเกณฑ์คำนวณภาษีเงินได้ของโจทก์จึงชอบ โจทก์ฎีกาคัดค้านว่า จำเลยประเมินภาษีการค้าให้โจทก์ชำระโดยมิชอบแต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยประเมินไม่ชอบอย่างไรทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีการค้าต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพียงแต่ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับภาษีการค้าศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี และการยินยอมชำระภาษีเหมาจ่าย ศาลยืนตามประเมินเจ้าพนักงาน
ในชั้นตรวจสอบไต่สวน หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์มิได้นำเอกสารเกี่ยวกับรายจ่ายที่เป็นปัญหาว่าต้องห้ามหรือไม่ไปมอบให้เจ้าพนักงานทั้งไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าวมาเบิกความรับรองรับฟังไม่ได้ว่ามีการจ่ายจริง โจทก์จะนำจำนวนเงินที่ปรากฏในเอกสารมาถือเป็นรายจ่ายไม่ได้ หุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ยินยอมชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของยอดค่าจ้างแรงงาน ทั้งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำนวนลูกจ้างของโจทก์มีเท่าใด แต่ละคนได้ค่าจ้างเท่าใด อันจะเป็นข้อที่ทำให้เห็นว่าการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราดังกล่าวมีจำนวนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์ยินยอมให้เจ้าพนักงานคิดคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 3 ของยอดค่าจ้างแรงงานและเจ้าพนักงานประเมินก็ได้ประเมินตามที่โจทก์ยินยอม อันเป็นการปฏิบัติไปตามความยินยอมของโจทก์โจทก์จะมาอ้างภายหลังว่าเป็นการไม่ชอบไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4616/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกต้อง การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักข้าวโพดตามความชื้น และความจำเป็นในการมีหลักฐานการขาย
โจทก์รับซื้อข้าวโพดจากพ่อค้าและสหกรณ์ของชาวไร่ซึ่งมีความชื้น 17-18 เปอร์เซ็นต์แต่โจทก์จะคิดหักน้ำหนักข้าวโพดโดยถือน้ำหนักในระดับความชื้น 14.7 เปอร์เซ็นต์ โดยคิดตามสูตรที่พ่อค้าข้าวโพดในประเทศไทยยอมรับใช้กันทั่วไปเมื่อโจทก์รับซื้อแล้วจะนำไปอบให้มีความชื้นไม่เกิน 14.5 เปอร์เซ็นต์ย่อมทำให้น้ำหนักลดลงไปอีก ในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2515ถึง 1516 โจทก์ซื้อข้าวโพดรวม 147,493,815 ตัน ยอดสินค้าข้าวโพดคงเหลือยกมา 31,616,977 ต้น รวมเป็นสินค้ามีไว้ขายระหว่างปี 179,100.792 ตัน ยอดขายในระหว่างปีจำนวน 162,259.859 ต้น สินค้าคงเหลือปลายปีควรจะเป็น 16,840.933 ตัน แต่ยอดคงเหลือ15,749,793 ตัน น้ำหนักข้าวโพดขาดหายไปจำนวน 1,091.140 ตัน เมื่อเทียบส่วนน้ำหนักที่ขาดไปไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์น้อยกว่าขั้นต่ำของน้ำหนักที่ลดซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการเกษตรว่า เมล็ดข้าวโพดที่เก็บไว้นานน้ำหนักจะละระหว่าง 193 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ยซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของเมล็ดข้าวโพด ประกอบกับประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ออกเมื่อปี 2515 ห้ามมิให้โจทก์จำหน่ายข้าวโพดในประเทศ การขายข้าวโพดออกไปต่างประเทศมีเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งในส่วนราชการและเอกชนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากจึงเป็นการยากที่โจทก์จะละเว้นไม่ลงบัญชี จำนวนน้ำหนักข้าวโพดที่ขาดไปจากบัญชี 1,091.140 ต้น เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวโพดที่ส่งออกไปต่างประเทศแต่ละครั้งมีน้ำหนักสุทธิ 494,210 เมตริกตัน และ237,505 เมตริตัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่โจทก์จะส่งออกไปเพียงประมาณ1,000 ต้นเศษ โดยไม่ลงหลักฐานการขายไปต่างประเทศ การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาน้ำหนักข้าวโพดที่ขาดหายไปเป็นการขายโดยไม่ลงบัญชีแล้วประเมินเรียกเก็บภาษีในส่วนข้าวโพดที่ขาดหายไปย่อมไม่ถูกต้อง เพราะน้ำหนักข้าวโพดที่ขาดหายไปเนื่องจากความชื้น เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพปกติธรรมดาย่อมเกิดขึ้นกับสินค้าประเภทเมล็ดข้าวโพด
of 4