คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2515 ข้อ 34

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เวลาพักงานตามประกาศกระทรวงมหาดไทย: การกำหนดเวลาพักต้องไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน และเป็นช่วงเวลาที่อยู่ในระหว่างการทำงาน
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6 และข้อ2 นายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง โดยจะให้มีเวลาพักเป็นหลายครั้งก็ได้ แต่เมื่อรวมเวลาพักแล้วจะต้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และเวลาพักจะต้องเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการทำงานด้วย การที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานระหว่างเวลา 8.00 นาฬิกา -16.00 นาฬิกา และระหว่างเวลา 16.00 นาฬิกา ถึง24.00 นาฬิกาโดยให้มีเวลาพักกะละครึ่งชั่วโมง จึงเป็นการกำหนดเวลาพักที่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว
กรณีดังกล่าวแม้ลูกจ้างทำงานในช่วงเวลาพักก็เป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติ หาใช่นอกเวลาทำงานปกติอันจะทำให้ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาไม่ ลูกจ้างจึงมีสิทธิเรียกร้องได้แต่เพียงค่าจ้างโดยคำนวณเฉลี่ยจากค่าจ้างของแต่ละเดือนเท่านั้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1353/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาหลังพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ย่อมมีผลผูกพันหากกระทำโดยสมัครใจและปราศจากข่มขู่
โจทก์ทำใบขอรับเงินจำนวนหนึ่งจากจำเลยโดยมีข้อความว่า ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเงิน สิทธิหรือประโยชน์อื่นใดจากจำเลยอีกเมื่อการทำใบขอรับเงินดังกล่าวได้กระทำหลังจากที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอิสระแก่ตน พ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาจากจำเลยโดยสิ้นเชิงการทำเอกสารสละสิทธิตามที่กล่าวข้างต้นจึงเป็นไปตามความสมัครใจโดยแท้จริงการสละสิทธิดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902-1909/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา: การอยู่เวรเพื่อรอซ่อมเครื่องจักร ไม่ถือเป็นการทำงานตามปกติ จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา
จำเลยให้โจทก์มาอยู่เวร ณ สถานที่ประกอบกิจการของจำเลยหากเครื่องจักรของจำเลยเสียซึ่งต้องทำการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ต่อไป จำเลยก็จะมีคำสั่งหรือใบแจ้งงานให้โจทก์ซ่อมแซมและโจทก์ต้องลงเวลาการทำงานในบัตรลงเวลา ถ้าเครื่องจักรไม่เสียโจทก์ก็ไม่ต้องทำอะไร แต่ได้รับเบี้ยเลี้ยงในอัตราคนละ 40 บาท ดังนี้การที่โจทก์มาอยู่เวรดังกล่าว ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการทำงานตามปกติของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายให้ทำในกิจการของจำเลยผู้เป็นนายจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา หรือค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดแล้วแต่กรณี.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนข้อเรียกร้องบางส่วน และการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยไม่ยกเลิกผลัดการทำงาน
กฎหมายไม่ได้บังคับว่าฝ่ายที่ยื่นข้อเรียกร้องจะถอนข้อเรียกร้องทั้งหมดหรือข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้ เมื่อสหภาพแรงงานพนักงานยาสูบ ผู้ยื่นข้อเรียกร้องได้ขอถอนข้อเรียกร้องข้อ 10 ที่ขอเปลี่ยนเวลาทำงาน แล้วนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางในระหว่างไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทข้อเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่มีอยู่และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไม่อาจดำเนินการไกล่เกลี่ยต่อไป โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13,21 และ 22 จึงฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522
โจทก์เป็นพนักงานควบคุมหม้อไอน้ำและเครื่องปรับอากาศ ยื่นข้อเรียกร้องขอให้จำเลยแก้ไขสภาพการจ้างโจทก์จากพนักงานประจำรายชั่วโมงเป็นพนักงานประจำรายเดือน แต่ยังคงยืนยันขอให้จำเลยแบ่งพนักงานเข้าทำงานเป็น 2 ผลัด โดยกำหนดเวลาทำงานของแต่ละผลัดไว้ จำเลยยินยอมตามข้อเรียกร้องนี้โจทก์จึงเป็นพนักงานประจำรายเดือนที่ต้องปฏิบัติงานเป็นผลัดต่อไปตามสภาพการจ้างเดิมการที่ต่อมาโรงงานยาสูบได้มีคำสั่งที่ ท.352/2522 ให้ลดเวลาทำงานของพนักงานยาสูบลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมงโดยให้บังคับแก่โจทก์ด้วยนั้น มิได้เป็นการยกเลิกการปฏิบัติงานเป็นผลัดของโจทก์ด้วย กำหนดเวลาปฏิบัติงานตามคำสั่งนี้ซึ่งกำหนดเวลาทำงานตั้งแต่ 8.00 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เวลาพักระหว่าง 12.00 นาฬิกา ถึง 13.00 นาฬิกา จำเลยมุ่งประสงค์จะให้ใช้บังคับแก่พนักงานประจำรายเดือนทั่ว ๆ ไปเท่านั้น และโจทก์ก็ได้ปฏิบัติงานเป็นผลัดดังกล่าวตลอดมาโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านโจทก์จะเรียกร้องขอปฏิบัติงานตามกำหนดเวลาในคำสั่งที่ ท.352/2522ไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1613/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา-ค่าทำงานวันหยุด: การทำงานข้ามกะ
โจทก์เข้าทำงานในกะบี. ตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกาจนถึง 23 นาฬิกาแล้วทำงานแทน ค.และส.พนักงานของจำเลยซึ่งไม่มาทำงานในกะซี. และกะเอ. ติดต่อกันไปจนถึงเวลา 15 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้พนักงานทำงานเพียง 1 กะใน 1 วัน ดังนั้นการที่โจทก์ต้องทำงานให้จำเลยในกะซี.และกะเอ.แทนค.และส. จึงเป็นการทำงานเกินกว่า 1 กะใน 1 วัน ถือได้ว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้างและความรับผิดชอบจากอุบัติเหตุ พนักงานขับรถ
บริษัทจำเลยกำหนดให้พนักงานขับรถยนต์ส่วนกลางเข้าทำงานวันละ 24 ชั่วโมง หยุดพักวันรุ่งขึ้น 24 ชั่วโมง ต่อมาจำเลยดำริให้เปลี่ยนเป็นทำงานเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง แต่พนักงานขับรถยนต์ของจำเลยขอให้กำหนดเวลาทำงานเช่นเดิมโดยอ้างว่าต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเลยก็ได้ตกลงยินยอมกำหนดเวลาทำงานของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับได้ หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยในภายหลังก็ย่อมต้องถูกผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว การทำงานของโจทก์จึงมิใช่เป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติอันจะมีสิทธิเรียกเอาค่าล่วงเวลาจากจำเลยได้
ระเบียบของจำเลยกำหนดว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุและได้รับการพิจารณาถึงที่สุด พขร.(พนักงานขับรถ)เป็นฝ่ายผิดพขร.ที่ทำหน้าที่ขับรถจะต้องรับผิดชอบร้อยละหกสิบ ส่วน พขร.ที่นั่งคู่จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมร้อยละสี่สิบดังนี้เมื่อ ส.ขับรถยนต์ของจำเลยด้วยความประมาทเลินเล่อเกิดอุบัติเหตุทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขณะที่โจทก์เป็นพนักงานขับรถที่นั่งคู่ จำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในอัตราร้อยละสี่สิบของค่าเสียหายทั้งหมดได้ ตามระเบียบดังกล่าว และเมื่อโจทก์ได้ยินยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยผ่อนชำระให้แก่จำเลยจึงเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีสิทธิบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามได้.
of 2