คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 34

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 422/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ข้อเท็จจริงขัดกับคำรับของคู่ความในคดีแรงงาน เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย
เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยเป็นการหยิบยกเอาข้อเท็จจริงแต่เพียงบางส่วนขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคำรับของคู่ความดังนี้เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง แม้ว่าการทำงานล่วงเวลากับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติจะมีความหมายที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็เนื่องมาจากการที่ ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างนอกเวลาทำงานปกตินั่นเอง และแตกต่างกันเพียงแต่ค่าตอบแทนว่า หากเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาก็จะมี อัตราเท่าครึ่งในวันธรรมดาหรือสามเท่าในวันหยุดแล้วแต่กรณี แต่ถ้าการที่ลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติโดยนายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาตามกฎหมาย นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าทำงาน ที่ลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้าง ตามเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกตินั้น เมื่อคดีปรากฏข้อเท็จจริง ว่าโจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติแล้ว ศาลแรงงานย่อมพิพากษาให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าทำงานที่โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5630/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างรวมค่าล่วงเวลาขัดกฎหมาย หากไม่ระบุอัตราค่าจ้างปกติ ทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบ
ค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ และประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวยังได้กำหนดให้ลูกจ้างประเภทไหนทำงานในระยะเวลาเท่าใดใน 1 สัปดาห์ หากทำเกินจากกำหนดระยะเวลา จะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามข้อ 3,11,29,34 และ 42 ซึ่งกำหนดโดยคำนวณจากอัตราค่าจ้างในเวลาทำงานปกติ การที่จะรวมค่าจ้างและค่าทำงานล่วงเวลาย่อมเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างเพราะไม่ทราบว่าอัตราค่าจ้างปกติที่จะนำไปคำนวณค่าล่วงเวลานั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่หรือต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำย่อมจะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ เมื่อสัญญาว่าจ้างทำงานมิได้กำหนดอัตราค่าจ้างปกติทำให้ไม่อาจคำนวณค่าล่วงเวลาได้ ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาจริง ข้อสัญญาดังกล่าวข้างต้นมีผลเป็นการให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างทำงานนอกเวลาทำงานปกติโดยไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ย่อมขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1390/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงงดจ่ายค่าล่วงเวลาขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานเป็นโมฆะ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา
โจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานขับรถของจำเลยมีเวลาทำงานตามปกติแน่นอนตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกาถึง 17 นาฬิกาดังนั้น ระยะเวลาทำงานที่นอกเวลาปกตินี้ถือว่าเป็นการทำงานล่วงเวลา มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยการที่นายจ้างทำสัญญางดเว้นไม่จ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 525/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้าง: ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อน, ค่าทำงานล่วงเวลา, และวันหยุดประจำสัปดาห์
โจทก์ทำงานเป็นพนักงานต้อน รับบนขบวนรถไฟดีเซลราง เริ่มเข้าทำงานก่อนที่ขบวนรถจะออก 1 ชั่วโมง และทำงานอยู่บนขบวนรถตลอดทางจนถึงสถานีปลายทาง ส่วนในเที่ยวกลับก็เข้าทำงานในลักษณะเดียวกันการทำงานของโจทก์ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดการเดินทางของขบวนรถดีเซลรางแต่ละครั้ง จึงเป็นการทำงานตามปกติของโจทก์ เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายให้โจทก์แต่ละเที่ยวของการเดินทางจึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติด้วย เพราะนอกจากงานต้อน รับขบวนรถแล้วโจทก์ไม่มีหน้าที่อื่นอีก แม้เวลาทำงานบนขบวนรถจะเกิดกำหนดเวลาตามที่กำหนดในข้อ 3 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ก็ตาม โจทก์ก็ได้ทำงานกับจำเลยโดยได้รับเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงรวมกันตลอดมา แสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างกันในลักษณะดังกล่าว เบี้ยเลี้ยงจึงเป็นค่าจ้าง เมื่อนำเบี้ยเลี้ยงไปคิดรวมกับเงินเดือนแล้ว ถือได้ว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ งานที่จำเลยให้โจทก์ทำเป็นงานขนส่ง แม้จำเลยจะให้โจทก์ทำงานเกินเวลาที่กำหนดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมแรงงานอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดในการกระทำของตนเป็นอีกกรณีหนึ่งไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามข้อ 36 การที่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เกินกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเกือบหนึ่งเท่า เมื่อพิจารณาตามลักษณะงานกับระยะเวลาที่โจทก์ทำงานนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกือบ 4 ปี และโจทก์ไม่ได้โต้แย้งการจ่ายค่าจ้างในลักษณะดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ส่วนที่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นค่าทำงานเกินเวลา ทั้งกรณีไม่ใช่การใช้แรงงานไม่เหมาะสม จึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยจ่ายเงินให้ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินส่วนนี้อีก ลักษณะงานของโจทก์จะต้องทำต่อเนื่องคาบเกี่ยวกันในวันที่ติดต่อกัน ไม่อาจหยุดเต็มวันในวันเดียวกันได้ จำเลยมีเวลาให้โจทก์หยุดทำงานติดต่อกันเกิน 24 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้งกรณีถือได้ว่าในแต่ละสัปดาห์จำเลยได้ให้โจทก์หยุดทำงานเกินกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 7 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานสำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์ จำเลยไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปีไม่มีข้อตกลงล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปหยุดปีอื่น ทั้งจำเลยไม่ได้ให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี แม้ขณะฟ้องโจทก์ยังเป็นลูกจ้างของจำเลยอยู่ โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หรือให้จำเลยกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีในทางใดทางหนึ่งได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยก็มีหน้าที่ต้องจ่ายให้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1326/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสั่งทำงานล่วงเวลาของผู้ช่วยผู้จัดการสาขาเมื่อผู้จัดการสาขาไม่อยู่ ถือว่ามีอำนาจสั่งได้ตามข้อบังคับธนาคาร
ตาม ข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้อำนาจผู้จัดการสาขาเป็นผู้อนุมัติให้พนักงานทำงานล่วงเวลาได้ การที่ผู้ช่วยผู้จัดการสาขามีคำสั่งให้โจทก์ไปทำงานล่วงเวลา ในวันที่ผู้จัดการสาขาไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่นั้น ถือ ว่าผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสั่งในฐานะ ผู้จัดการสาขา เมื่อข้อบังคับของจำเลยมิได้กำหนดอำนาจผู้ช่วยผู้จัดการสาขาว่าผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทำการแทนผู้จัดการสาขาจะสั่งการเกี่ยวกับการทำงานล่วงเวลาไม่ได้หรือจะต้อง ได้ รับมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนจึงจะสั่งได้ ดังนี้ผู้ช่วยผู้จัดการสาขาทำการแทนผู้จัดการสาขาจึงมีอำนาจสั่งให้โจทก์ไปทำงานล่วงเวลาได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2841/2531 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เวลาพักงาน: นายจ้างต้องจัดเวลาพักระหว่างวันทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง การทำงานช่วงพักเป็นเวลาทำงานปกติ ไม่ใช่เวลาล่วงเวลา
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 6และข้อ 2 นายจ้างจะต้องให้ลูกจ้างมีเวลาพักในระหว่างการทำงานไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง โดยจะให้มีเวลาพักเป็นหลายครั้งก็ได้แต่เมื่อรวมเวลาพักแล้วจะต้องเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และเวลาพักจะต้องเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการทำงานด้วย การที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานระหว่างเวลา 8.00 นาฬิกาถึง 16.00 นาฬิกาและระหว่างเวลา 16.00 นาฬิกา ถึง 24.00 นาฬิกา โดยให้มีเวลาพักเพียงกะละ ครึ่งชั่วโมง จึงเป็นการกำหนดเวลาพักที่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว กรณีดังกล่าวแม้ลูกจ้างทำงานในช่วงเวลาพักก็เป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติ หาใช่นอกเวลาทำงานปกติอันจะทำให้ลูกจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาไม่ ลูกจ้างจึงมีสิทธิเรียกร้องได้แต่เพียงค่าจ้างโดยคำนวณเฉลี่ยจากค่าจ้างของแต่ละเดือนเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1613/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา-วันหยุด: การทำงานเกิน 1 กะต่อวัน แม้เป็นการทำงานแทน ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชย
โจทก์เข้าทำงานในกะ บี ตั้งแต่เวลา 15 นาฬิกา จนถึง 23 นาฬิกาแล้วทำงานแทน ค.และส. พนักงานของจำเลยซึ่งไม่มาทำงานในกะ ซี.และกะเอ. ติดต่อกันไปจนถึงเวลา 15 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้พนักงานทำงานเพียง 1 กะ ใน 1 วัน ดังนั้นการที่โจทก์ต้องทำงานให้จำเลยในกะ ซี.และกะเอ.แทนค. และส. จึงเป็นการทำงานเกินกว่า 1 กะ ใน 1 วัน ถือได้ว่าเป็นการทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพการจ้าง: การกำหนดเวลาทำงานวันละ 24 ชั่วโมง และสิทธิค่าล่วงเวลา
บริษัทจำเลยกำหนดให้พนักงานขับรถยนต์ส่วนกลางเข้าทำงานวันละ24 ชั่วโมง หยุดพักวันรุ่งขึ้น 24 ชั่วโมง ต่อมาจำเลยดำริ ให้เปลี่ยนเป็นทำงานเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง แต่พนักงานขับรถยนต์ของจำเลยขอให้กำหนดเวลาทำงานเช่นเดิม โดยอ้างว่าต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งจำเลยก็ได้ตกลงยินยอมกำหนดเวลาทำงานของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับได้ หาขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยในภายหลัง ก็ย่อมต้องถูกผูกพันตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว การทำงานของโจทก์จึงมิใช่เป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติอันจะมีสิทธิเรียกเอาค่าล่วงเวลาจากจำเลยได้.