คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 57

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 91 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8972/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ กรณีผู้ต้องหาเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน
ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับรถเสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ด้วย เพียงแต่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157/1 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง" และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย กรณีจึงต้องเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8970/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจวินิจฉัยผลการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสมตามมาตรา 25 หากผู้ใดหลบหนีจากการตรวจพิสูจน์หรือหลบหนีออกนอกศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวมพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานครมีคำสั่งที่ 7563/2552 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ว่า ... ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูฯ โดยเข้ารับการฟื้นฟูฯ ไม่ครบถ้วนตามแผนที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ออกหนังสือเตือนไปยังที่อยู่ที่แจ้งไว้โดยมีผู้รับหนังสือดังกล่าวไว้แล้ว แต่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ยังไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัด อาสาสมัครคุมประพฤติจึงได้ออกติดตามไปยังที่อยู่ที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ แจ้งไว้ ปรากฏว่าพบบุคคลชื่อ อ. เกี่ยวพันเป็นมารดาของผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ จึงนัดให้มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานคุมประพฤติ แต่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ไม่ไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกำหนดนัด โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ให้โอกาสในการเข้ารับการฟื้นฟูฯ แล้ว แต่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูฯ ก็ไม่ปฏิบัติตาม ไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบ จากผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การให้โอกาสแก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อให้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมโดยใช้วิธีการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เหมาะสมและใช้ไม่ได้ผล จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 13 (8) ประกอบมาตรา 33 วรรคสอง วินิจฉัยว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่น่าพอใจ ให้แจ้งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีต่อไป จะเป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก็ตาม แต่เมื่อมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ การที่ได้ตัวจำเลยมาหลังจากที่จำเลยหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน เมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5415/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลจำเลยไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปราบปรามยาเสพติด จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจลดโทษได้
ระหว่างจำเลยต้องคุมขังอยู่ที่เรือนจำ จำเลยเขียนจดหมายถึงเจ้าพนักงานตำรวจว่า จำเลยมีความประสงค์แจ้งเบาะแสและข้อมูลเกี่ยวกับการลำเลียงยาเสพติดครั้งใหม่ ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ไปสอบคำให้การจำเลยเพิ่มเติม จำเลยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดในการกระทำความผิดของจำเลยกับพวกที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันเท่านั้น โดยมิได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังที่จำเลยกล่าวอ้างในจดหมาย แม้จำเลยเบิกความว่าแจ้งเบาะแสแก่เจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับกลุ่มชาวเขาซึ่งใช้รถกระบะ 2 คัน มารับยาเสพติดตรงตามบันทึกการจับกุมผู้กระทำความผิดในช่วงเวลาเดียวกับที่จำเลยอ้างในจดหมาย แต่ตามบันทึกการจับกุมดังกล่าวได้ความว่า การจับกุมผู้ต้องหาสืบเนื่องมาจากการสืบสวน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าพนักงานผู้จับกุมและเจ้าพนักงานตำรวจตามบันทึกการจับกุมนั้นมีการสืบสวนสอบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4501/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด: อำนาจฟ้องคดีหลังหลบหนีการบำบัด
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 22, 23 ก่อน แล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการฯ มีคำสั่งที่ 736/2554 ว่า จำเลยจงใจหลีกเลี่ยงและหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่... ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่น่าพอใจและให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการดำเนินคดีต่อไป จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะมาตรา 32 บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฯ รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้วแต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ กรณีที่ได้ตัวจำเลยมาแล้ว หลังจากที่จำเลยจงใจหลีกเลี่ยงและหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 519/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง: การเสพยาเสพติดให้โทษและการออกข้อกำหนดของอธิบดี
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" ซึ่งคำว่า "ทั้งนี้" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า ตามที่กล่าวมานี้ ดังนี้ คำว่า ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่า ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา มิใช่ครอบคลุมเฉพาะการเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเท่านั้น เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 โดยยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพกัญชาซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7011/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดียาเสพติดหลังเข้ารับฟื้นฟู: ต้องรอจนกว่าจะครบกำหนดและดำเนินการตามแผนฟื้นฟู
จำเลยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวที่โรงพยาบาล แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบเงื่อนไขให้ครบถ้วนอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับตัวจำเลยกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 การที่คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเห็นว่า การที่ผู้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย จึงให้ส่งเรื่องคืนพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไปก็เป็นการไม่ชอบ เพราะตามมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดี หากผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ดังนั้นเมื่อได้ตัวจำเลยกลับมา โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ยังมิได้นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5988/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด: อำนาจฟ้องของโจทก์เมื่อคณะอนุกรรมการยุติการฟื้นฟูโดยไม่ครบถ้วน
ผู้ที่จะถูกส่งตัวเข้าไปรับการฟื้นฟูสมรรถภาพคือบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ไม่ว่าผู้นั้นจะให้ความยินยอมหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้รับการตรวจพิสูจน์เป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้น ต้องจัดให้มีแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 จำเลยเป็นผู้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบไม่ควบคุมตัวให้รับการบำบัดฟื้นฟูในสถานพยาบาลใกล้บ้านแบบผู้ป่วยนอก และให้รายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามโปรแกรมของสำนักงานคุมประพฤติ การที่จำเลยไม่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูและขาดการรายงานตัวโดยหลบหนีไปไม่สามารถติดตามตัวได้ เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับตัวจำเลยกลับเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผน และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 โดยในมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีแก่ผู้รับการฟื้นฟู หากผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ ฉะนั้นเมื่อได้ตัวจำเลยมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยอง ด่วนมีคำสั่งว่า "ปัจจุบันไม่ทราบที่อยู่อาศัยที่ชัดเจนพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามตัวมาเข้ารับการฟื้นฟู และให้ส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนตามมาตรา 33 วรรคสอง จึงเป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3484/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและการดำเนินคดีอาญา: โจทก์มีอำนาจฟ้องหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข
จำเลยกระทำผิดข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดชัยภูมิ ได้ประชุมและมีคำวินิจฉัยผลการตรวจพิสูจน์จำเลยว่า เป็นผู้เสพยาเสพติด และให้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง และจำเลยได้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาหกเดือน ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ครบกำหนดแล้ว เพียงแต่จำเลยผิดนัดไม่ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติครั้งสุดท้ายในโปรแกรมกลับสู่สังคม จึงเป็นเหตุให้พนักงานคุมประพฤติรายงานไปยังคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดชัยภูมิ ว่า ขาดการรายงานตัว 1 ครั้ง และผลการประเมินของจำเลยไม่ผ่านการประเมิน ทั้งมีความเห็นให้ส่งจำเลยคืนพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยยังไม่เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูตามนัยมาตรา 25 จึงคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริง และตามพฤติการณ์แห่งคดีข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดชัยภูมิจึงมีหน้าที่รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีต่อไป ตามมาตรา 33 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
จำเลยประกอบอาชีพค้าขายขับรถส่งของช่วยมารดาชำระหนี้สินที่มีอยู่มาก โดยไม่นับวันเวลาจนลืมวันนัด กรณีมีเหตุสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีในสังคม จึงให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย แต่เพื่อให้หลาบจำจึงให้ลงโทษปรับจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20050/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษจำคุกต่อเนื่องเมื่อจำเลยกระทำความผิดซ้ำระหว่างรอการลงโทษ และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงโทษคดีเดิมแล้ว
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 ปี 11 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 4 ปี และภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษ จำเลยที่ 1 กลับมากระทำความผิดคดีนี้ แม้คดีก่อนจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ไม่ใช่เหตุที่ศาลชั้นต้นจะนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกกับโทษจำคุกของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ได้ แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาในคดีก่อนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 11 เดือน และคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ จึงไม่มีโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษในคดีก่อนที่จะนำมาบวกเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้อีก อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในคดีนี้ และโจทก์แก้ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีก่อน ดังนั้น จึงชอบที่จะนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีก่อน ซึ่งเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะสั่งให้นับโทษต่อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13990/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนผู้ต้องหาคดียาเสพติดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ หากไม่ปฏิบัติตาม พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตรวจวินิจฉัยว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดหรือไม่ เพื่อจะได้คัดแยกว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือต้องถูกดำเนินคดีต่อไปตาม ป.วิ.อ.
การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนมาก่อนและย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. 120 ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
of 10