คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 165 (1) เดิม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6364/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่ากระแสไฟฟ้า: การเป็นผู้ประกอบการค้าและการเริ่มนับอายุความ
อุทธรณ์ของโจทก์มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาเพียงแต่โต้แย้งในปัญหาข้อกฎหมายว่า จากข้อเท็จจริงที่ยุติดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย นอกจากโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ ในการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าและดำเนินธุรกิจ เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ. 2506 มาตรา 6 แล้ว ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ได้เปลี่ยนคำว่า "พ่อค้า" ตามมาตรา 165(1) เดิม เป็นคำว่า"ผู้ประกอบการค้า" ซึ่งมีความหมายกว้างขึ้น ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจึงตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการค้า หนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามใบเสร็จรับเงินฉบับพิพาทได้มีการ จดหน่วยกระแสไฟฟ้าครั้งสุดท้ายวันที่ 12 เมษายน 2527 ซึ่งโจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันดังกล่าว อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2527 เป็นต้นมา โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่ากระแสไฟฟ้าอันเป็น การเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2537 ย่อมเกินกว่า 2 ปี สิทธิเรียกร้องหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าตามเอกสารดังกล่าวจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5563/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้จากการซื้อขาย: ผลของการรับสภาพหนี้, การละเสียประโยชน์แห่งอายุความ, และผลกระทบต่อจำเลยร่วม
โจทก์เป็นพ่อค้าฟ้องเรียกเอาเงินค่าสินค้าจากจำเลยทั้งสองจึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) เดิม การที่จำเลยทั้งสองทำหนังสือขอผัดผ่อนค่าโทรทัศน์สีจึงเป็นการรับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม ภายหลังจากอายุความ 2 ปี ครบบริบูรณ์แล้วจำเลยที่ 1 ทำหนังสือและลงลายมือชื่อแต่เพียงผู้เดียวว่าจะนำเงินค่าโทรทัศน์สีที่ค้างชำระให้ภายในเดือนตุลาคม 2531 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งอายุความ เป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ลบล้างสิทธิของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกในอันที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 เดิม และข้อต่อสู้เรื่องอายุความของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีผลถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าปุ๋ยจากสหกรณ์ที่จำหน่ายให้สมาชิกและหักจากผลผลิตทางการเกษตร
สหกรณ์จำเลยจัดปุ๋ยมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกโดยสมาชิกนำปุ๋ยไปใช้โดยยังไม่ต้องชำระราคา แต่เมื่อสมาชิกนั้นทำไร่ได้ผลิตผลเป็นใบยาสูบและนำมาขายให้จำเลย จำเลยจะหักหนี้ค่าปุ๋ยดังกล่าวไว้แม้จะไม่ปรากฏวัตถุประสงค์หรือข้อบังคับของการจัดตั้งสหกรณ์จำเลยก็ตาม แต่ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 4 บัญญัติให้สหกรณ์เป็นคณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินการเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมาตรา 21(9) ก็ให้อำนาจสหกรณ์ที่จะดำเนินธุรกิจและการค้าเพื่อประโยชน์ของสมาชิกได้ เมื่อไม่ปรากฏจากคำคัดค้านหรือข้อนำสืบของผู้คัดค้านว่า จำเลยไม่ติดต่อค้าขายกับบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่สมาชิก จึงต้องถือว่าจำเลยจำหน่ายปุ๋ยเป็นปกติธุระแก่บุคคลทั่วไปด้วย ถือได้ว่าจำเลยเป็นพ่อค้าตามความหมายของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) เดิมหนี้ค่าปุ๋ยดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องซื้อขายบ้าน: องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ในฐานะพ่อค้า
พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พ.ศ. 2499มาตรา 6(2) กำหนดให้โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมป่าไม้ และมาตรา 7(2) กำหนดว่าเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ให้โจทก์มีอำนาจรวมถึงค้าผลิตผลและผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมป่าไม้ ดังนั้นในส่วนที่เกี่ยวกับการซื้อขายบ้านสำเร็จรูปของโจทก์ย่อมเป็นการประกอบธุรกิจการค้าเช่นพ่อค้าโดยทั่วไป โจทก์จึงอยู่ในฐานะเป็นพ่อค้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) เดิม สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีกำหนดอายุความ 2 ปี โจทก์อ้างว่าได้ส่งมอบบ้านที่ซื้อขายให้จำเลยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2521 แต่เพิ่งนำมาคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2531 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 206/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ซื้อของเชื่อ: การรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับใหม่ตามมูลหนี้เดิม
จำเลยซื้อของเชื่อไปจากโจทก์ ต่อมาได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยซื้อของเชื่อให้โจทก์ การรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีผลทำให้อายุความสิทธิเรียกร้องในหนี้เดิมสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม เมื่อมูลหนี้เดิมของโจทก์เป็นเรื่องการซื้อของเชื่อจึงเป็นกรณีที่บุคคลผู้เป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) เดิมโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้ ฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าสินค้าและการยอมรับหนี้โดยการชำระด้วยเช็ค การสะดุดหยุดอายุความ และผลกระทบต่อการฟ้องร้อง
การที่จำเลยเป็นหนี้ค่าซื้อไก่จากโจทก์หลายครั้งหลายรายการในระหว่างวันที่ 22 ถึง 31 มีนาคม 2527 จำเลยนำเช็คมาชำระหนี้ให้โจทก์ 4 ฉบับ ดังนี้ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่า จำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ อายุความจึงสะดุดหยุดลง จำเลยนำเช็คมาชำระหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2527 ซึ่งยังอยู่ภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันทำการซื้อขายสินค้าอายุความสะดุดหยุดลงในวันนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172(เดิม) เช็คพิพาท 4 ฉบับที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ฉบับแรกลงวันที่ 30 ตุลาคม 2527 ฉบับที่สองลงวันที่ 30 พฤศจิกายน2527 ฉบับที่สามลงวันที่ 30 ธันวาคม 2527 และฉบับที่สี่ลงวันที่30 มกราคม 2528 เมื่อเช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดสั่งจ่ายเงิน จึงเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2529 จำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกตามเช็คฉบับแรกและฉบับที่สองจึงเกินกำหนด 2 ปี ย่อมขาดอายุความ ส่วนจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องเรียกตามเช็คฉบับที่สามและฉบับที่สี่ยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4050/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีซื้อขาย, การยอมรับข้อกล่าวหา, และการยกเว้นอายุความกรณีศาลไม่รับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธลอย ๆ ว่า จำเลยไม่รับรองว่าลายมือชื่อและตราประทับในใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจะเป็นลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์และเป็นตราสารสำคัญที่จดทะเบียนไว้ต่อสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร หรือไม่ คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธ จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย แม้ศาลล่างทั้งสองจะได้วินิจฉัยให้ก็เป็นการนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยแจ้งชัดว่าจำเลยไม่ได้ตกลงทำสัญญากับโจทก์และไม่ได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ ตามที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าได้มีการ ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันโดยโจทก์ได้ส่งมอบและตอกเสาเข็มคอนกรีตให้แก่จำเลย และจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์แล้วจำเลยไม่มีประเด็นที่จะนำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ดังนั้นข้อที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ชำระหนี้บางส่วนจึงเป็นเรื่องที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการนอกประเด็นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ครบกำหนดชำระราคาเสาเข็มภายในวันที่ 19 กรกฎาคม 2526 แต่จำเลยไม่ชำระ อายุความย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่20 กรกฎาคม 2526 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่18 กรกฎาคม 2528 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) เดิม แต่ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์เพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง เนื่องจากจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตศาลแพ่งและมูลคดีมิได้เกิดในเขตศาลแพ่ง คำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าวย่อมมีความหมายเป็นอย่างเดียวกันกับคำว่าศาลยกคดีเสียเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176(เดิม) หาใช่ต้องเป็นกรณีที่ศาลรับฟ้องไว้แล้ว ภายหลังต่อมาจึงพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาไม่ ดังนั้นเมื่อกำหนดอายุความในคดีของโจทก์จะครบ 2 ปี ในวันที่20 กรกฎาคม 2528 จึงเป็นกรณีที่อายุความจะสิ้นลงในระหว่างหกเดือนภายหลังที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ไม่รับฟ้องถึงที่สุดจึงต้องขยายอายุความออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ปรากฏว่าศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2528 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2750/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีของคนต่างด้าว, อายุความค่าสิทธิประดิษฐ์, การบอกเลิกสัญญา, และการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
การที่โจทก์มอบอำนาจให้ ช.ซึ่งเป็นคนต่างด้าวมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลย หาใช่เป็นการมอบอำนาจให้ประกอบธุรกิจบริการ โดยการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนการค้าไม่ จึงไม่ต้องห้ามตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 4 และตามบัญชี ก.ท้ายประกาศ หมวด 3(5)
ค่าสิทธิประดิษฐ์ในการให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ฝึกสอนวิธีการประดิษฐ์กระเบื้องซีรามิคตามสัญญา ซึ่งมีการตกลงจ่ายเป็นงวด ๆ โดยคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย นั้น ไม่เข้าลักษณะการเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) (7) จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164
หนังสือของจำเลยตอบหนังสือของโจทก์ที่ถามความเห็นเกี่ยวกับการต่ออายุสัญญาว่าจำเลยตกลงใจไม่ต่อสัญญาความช่วยเหลือทางเทคนิคกับโจทก์และโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่า โจทก์ตกลงตามที่จำเลยตัดสินใจ ดังนี้ หนังสือของจำเลยดังกล่าวไม่ใช่หนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์ แต่เป็นหนังสือที่มีลักษณะเป็นการสนองตอบตามที่โจทก์ขอความเห็นหรือหารือล่วงหน้าก่อนครบกำหนดต่ออายุสัญญาว่า จะมีการต่ออายุสัญญาต่อไปหรือไม่โจทก์กลับมีหนังสืออันมีข้อความในลักษณะเป็นการตกลงตามที่จำเลยสนองตอบข้อหารือของโจทก์นั้น จึงเท่ากับตกลงที่จะไม่ต่ออายุสัญญากันด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย จำเลยมิได้เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนด
สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อความว่า ข้อขัดแย้งหรือข้อเรียกร้องใดซึ่งเกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้หรือการประพฤติปฏิบัติผิดสัญญานี้ คู่สัญญาจะทำความตกลงกันด้วยสันติวิธี ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้จะต้องชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ ดังนี้ สัญญามิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องตั้งอนุญาโตตุลาการให้ชี้ขาดข้อพิพาทเสียก่อน จึงจะฟ้องได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เสนอให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาก่อน