คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 40

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9036/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีแพ่งและอาญา: ทุนทรัพย์ที่พิพาท และการโต้แย้งดุลพินิจศาล
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพียงแต่ชกต่อยทำร้ายผู้เสียหาย หากจำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายก็เป็นเงินจำนวนไม่เกิน 10,000 บาท นั้น เห็นว่า สิทธิในการฎีกาในคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องพิจารณาจากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายเป็นเงิน 179,000 บาท จำเลยฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยต้องรับผิดไม่เกิน 10,000 บาท จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8529/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จำเลยต้องให้การต่อสู้คดีแพ่งชัดเจน หากมิได้ยกข้ออ้างในชั้นต้น ห้ามอุทธรณ์ฎีกา
โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเนื่องจากจำเลยรับเงินค่าที่ดินส่วนเกินที่โจทก์ขายที่ดินไว้ในครอบครองแล้วเบียดบังไปเป็นของตนโดยทุจริต สิทธิเรียกร้องทางแพ่งจึงต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญา จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดในคดีอาญา โจทก์ย่อมนำคดีส่วนแพ่งมาฟ้องรวมกับคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะพิจารณายกฟ้องในคดีส่วนอาญา ก็ไม่ทำให้ฟ้องในส่วนแพ่งที่สมบูรณ์แล้วเสียไป
การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งให้รับประทับฟ้อง ย่อมแสดงให้เห็นว่าเป็นการสั่งให้รับฟ้องคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งด้วย หากจำเลยจะต่อสู้คดีส่วนแพ่ง จำเลยจะต้องให้การต่อสู้ตามที่ ป.วิ.พ. ได้บัญญัติไว้พร้อมกับคำให้การต่อสู้คดีส่วนอาญาด้วยกัน โดยคำให้การคดีส่วนแพ่งนั้นจำเลยจะต้องให้การโดยชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แต่คำให้การของจำเลยให้การต่อสู้คำฟ้องโจทก์ในคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งรวมกันมาว่า จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ทั้งสิ้นเท่านั้น คำให้การส่วนแพ่งจึงเป็นเพียงการปฏิเสธลอย ๆ หาได้โต้แย้งข้อเท็จจริงฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งซึ่งจำเลยจะต้องให้การมาโดยแจ้งชัดด้วยว่า คดีในส่วนแพ่งเป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้น เพราะเหตุใด เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าคดีในส่วนแพ่งเป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นหรือไม่ ถือว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ และถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2181/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปิดเผยความลับทางการค้าต้องทำให้ข้อมูลนั้นหมดสภาพความเป็นความลับ จึงจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า
การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 ต่อเมื่อจำเลยเปิดเผยความลับทางการค้าให้เป็นที่ล่วงรู้โดยทั่วไปในประการที่ทำให้ความลับทางการค้าสิ้นสภาพการเป็นความลับทางการค้าตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ตามฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปเปิดเผยแก่จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นบริษัทที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันจัดตั้งขึ้น แม้ตามกฎหมายจำเลยที่ 6 ถือเป็นบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ตามฟ้องเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 นำข้อมูลที่อ้างว่าเป็นความลับทางการค้าไปใช้เองโดยวิธีจัดตั้งจำเลยที่ 6 ขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ข้อมูลความลับทางการค้าดังกล่าวยังคงอยู่ในความรู้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 หรือจำเลยที่ 6 เท่านั้น มิใช่การเปิดเผยข้อมูลให้เป็นที่ล่วงรู้แก่บุคคลอื่นโดยทั่วไป ส่วนฟ้องโจทก์ที่ว่าจำเลยทั้งหกขายเครื่องจักรบรรจุสินค้าลงซองอัตโนมัติให้แก่ลูกค้าของโจทก์หลายราย ก็มิใช่การเปิดเผยข้อมูลความลับทางการค้าเกี่ยวกับกระบวนการผลิตเครื่องจักรดังกล่าวแก่ลูกค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นการร่วมกันเปิดเผยความลับทางการค้าของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งหกตาม พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในทางแพ่งและมี คำขออื่นรวมมาด้วย โดยมีมูลมาจากความรับผิดในทางอาญา พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 มาตรา 33 เมื่อตามฟ้องไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งหกตามบทกฎหมายดังกล่าวได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งหกหรือขอให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องในส่วนแพ่ง
คดีนี้มีคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมอยู่ด้วย แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำสั่งเรื่องความรับผิดของคู่ความในค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งไม่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา สิทธิโจทก์ไม่ผูกพันกับความผิดทางอาญา ศาลไม่ต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญา
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยร่วมและ ป. เป็นจำเลยในคดีอาญา ข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด แต่ในคดีแพ่งนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ แล้วจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อสิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีนี้ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม คดีนี้จึงมิใช่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เพราะคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นหมายความถึงการที่จำเลยไปกระทำความผิดในทางอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายในทางแพ่งเกี่ยวพันกันโดยตรงขึ้นมา ดังนั้น เมื่อคดีนี้มิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแล้ว จึงไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงในส่วนอาญามาผูกพันทางแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6026/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีแพ่งเกี่ยวกับการละเมิดทางรถยนต์: การพิจารณาอำนาจฟ้องและอายุความ 1 ปี
ในคดีอาญาของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ร. ซึ่งนั่งมาในรถยนต์คันเดียวกันกับโจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 300, 390 โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่ถูกจำเลยขับชนไม่ใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ส่วนข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43, 157 รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนี้ โจทก์ที่ 2 เจ้าของรถยนต์คันที่ถูกชนจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาดังกล่าว และถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนของโจทก์ที่ 2 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวกับคดีอาญาตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 51 ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง แต่ต้องใช้อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ที่ 2 รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2546 อันเป็นวันทำละเมิด โจทก์สองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 ฉะนั้น นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ จึงล่วงพ้นกำหนด 1 ปี คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4492/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งในคดีแรงงานไม่เป็นฟ้องซ้ำ หากประเด็นเสียหายต่างจากคดีอาญา แม้มีมูลเหตุจากเหตุการณ์เดียวกัน
ในคดีอาญา อัยการโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ในคดีนี้ซึ่งครอบครองดูแลรักษาสินค้าของผู้เสียหาย (จำเลยในคดีนี้) แล้วโจทก์ได้เบียดบังเอาไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และมีคำขอให้โจทก์คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไปเป็นเงิน 310,145 บาทพร้อมดอกเบี้ย แต่คดีนี้นอกจากจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ร่วมกับบุคคลอื่นยักยอกทรัพย์ของจำเลยไปแล้ว จำเลยยังอ้างในฟ้องแย้งด้วยว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์มีหน้าที่จะต้องส่งคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลย แต่โจทก์มิได้ส่งคืนให้กลับนำไปมอบให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำผิดต่อสัญญาจ้างแรงงาน ดังนี้ เห็นได้ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้นมาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลละเมิด แต่คดีนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์ทำผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายรวมอยู่ด้วย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีอาญา แต่ก็วินิจฉัยเพียงว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีส่วนร่วมรู้เห็นกับผู้ที่มารับสินค้า ซึ่งเท่ากับฟังว่ายังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกเท่านั้น โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังที่จำเลยถือเป็นข้ออ้างในคดีนี้หรือไม่ ที่จำเลยฟ้องแย้งจึงมิใช่เป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์ในสำนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ถือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ
สำนักงานประปาสงขลาเป็นส่วนงานของการประปาส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มิใช่สถานที่ราชการ การที่จำเลยเข้าไปลักทรัพย์ในบริเวณสำนักงานดังกล่าวในเวลากลางคืน จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ ราชการคงเป็นความผิดเพียงลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 335(1) วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและการพิจารณาความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ทำงานของจำเลย
สถานที่เกิดเหตุที่จำเลยเข้าไปลักเอาสายไฟฟ้าของโจทก์ร่วมเป็นสำนักงานประปาสงขลา อันเป็นส่วนงานของการประปาส่วนภูมิภาคซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมิใช่สถานที่ราชการจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ แต่เมื่อจำเลยลักทรัพย์ดังกล่าวในเวลากลางคืนจึงยังคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) วรรคแรก
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์ร่วมเป็นคำขอในส่วนคดีแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ซึ่งประเด็นนี้จำเลยมิได้อุทธรณ์ไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1061/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความระหว่างผู้เสียหายและจำเลยในคดีฉ้อโกง ทำให้สิทธิฟ้องอาญาและคำขอเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งระงับ
ผู้เสียหายและจำเลยยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของพนักงานอัยการโจทก์ที่ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการจัดการเงินค่าเสียหายที่จำเลยวางต่อศาลเพื่อบรรเทาโทษ และการชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย
การวางเงินของจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพื่อบรรเทาผลร้ายและจำเลยประสงค์ให้ศาลใช้เป็นดุลพินิจในการลงโทษจำเลยสถานเบา ซึ่งศาลชั้นต้นได้นำเรื่องดังกล่าวมาเป็นเหตุบรรเทาโทษให้จำเลย ทั้งการวางเงินเพื่อให้ผู้เสียหายมารับไปย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยจะไม่ถอนเงินดังกล่าวกลับไป หากผู้เสียหายยังประสงค์จะรับเงินนั้น การที่ครั้งแรก ผู้เสียหายยังไม่ยอมรับเงินเนื่องจากเห็นว่าเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป มิใช่ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะเรียกค่าเสียหายหรือไม่ประสงค์รับเงินที่จำเลยนำมาวางศาลเสียทีเดียว จำเลยไปขอรับเงินคืนภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจเรียกผู้เสียหายมาสอบถาม เมื่อผู้เสียหายแถลงว่าประสงค์จะรับเงินจำเลยจึงไม่อาจถอนเงินจำนวนดังกล่าวได้
จำเลยเป็นผู้ขอวางเงินชดใช้ค่าเสียหายต่อศาลชั้นต้นโดยประสงค์ให้ศาลใช้เป็นดุลพินิจในการวางโทษจำเลยสถานเบา การวางเงินเพื่อชดใช้ค่าเสียหายต่อศาล จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันโดยตรงกับคดี ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเกี่ยวกับเงินจำนวนดังกล่าวได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
of 15