คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พันธาวุธ ปาณิกบุตร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,881 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7208/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแรงงาน: การยื่นฟ้องใหม่, ขอบเขตจำเลย, และระยะเวลาดำเนินการ
การกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148(3) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เป็นอำนาจของศาลซึ่งมีอยู่ทั่วไปที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ และไม่อยู่ในบังคับแห่งบทกฎหมายว่าด้วยอายุความ หรือการย่นหรือขยายระยะเวลา ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 26 การนำคำฟ้องมายื่นใหม่ในกรณีนี้ หมายถึง การนำคำฟ้องในมูลกรณีเดียวกับคดีเดิมที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้น โจทก์มีสิทธิฟ้องทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ลูกจ้างเป็นจำเลยได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการฟ้องเฉพาะคู่ความเดิม ไม่อยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 53 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นพนักงานตรวจแรงงานผู้ออกคำสั่งโดยตรงเป็นจำเลยได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิมก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7208/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน การฟ้องใหม่ และอำนาจฟ้อง
การกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเข้ามาใหม่ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เป็นอำนาจของศาลที่มีอยู่ทั่วไปในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใดที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะและไม่อยู่ในบังคับแห่งบทกฎหมายว่าด้วยอายุความ หรือการย่นหรือขยายระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 26
การนำคำฟ้องมายื่นใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148(3) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 หมายถึงการนำคำฟ้องในมูลกรณีเดียวกับคดีเดิมที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการออกคำสั่งดังที่โจทก์ฟ้องได้โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นการฟ้องเฉพาะคู่ความเดิมกรณีไม่อยู่ในบังคับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 53 ดังนั้น โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นพนักงานตรวจแรงงานผู้ออกคำสั่งดังกล่าวโดยตรงเป็นจำเลยเข้ามาในคดีนี้ด้วยได้ แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7141/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในคดีแพ่ง
พ. มิได้เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ แต่ พ. ได้แต่งทนายความให้ดำเนินคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นเรื่องโจทก์ดำเนินคดีผิดพลาดในเรื่องผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ โดยความบกพร่องของโจทก์เอง โจทก์จะมาฎีกาโต้แย้งว่าการกระทำผิดกระบวนพิจารณาของตนเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6524/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากดื่มสุราในที่ทำงาน ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบร้ายแรง หากลักษณะงานไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบคุมเครื่องจักรโดยตรง
ว. ทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่สโตร์ ฝ่ายวิศวกรรม มีหน้าที่เบิกจ่ายอะไหล่เครื่องจักรกลและทำบัญชีเบิกจ่ายอะไหล่ ลักษณะงานในหน้าที่ดังกล่าวมิได้เกี่ยวกับการควบคุมหรือดูแลการทำงานของเครื่องจักรโดยตรง แม้ ว. จะดื่มสุราไปบ้างก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครื่องจักรของโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าในการดื่มสุราดังกล่าว ว. มีอาการมึนเมาสุราอย่างมาก หรือได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์จะกำหนดห้ามลูกจ้างดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่า ว. ได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ในกรณีร้ายแรง ดังนั้น เมื่อโจทก์เลิกจ้าง ว. โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ ว. ตามที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6238/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่สัญญาคือนายจ้างและลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่น มาตราดังกล่าวบัญญัติถึงการเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้สามกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา โจทก์จึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า เมื่อโจทก์เลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างตามมาตราดังกล่าว
การจ้างโดยมีกำหนดทดลองงานไม่เกิน 120 วัน นั้น หมายถึง นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างโดยให้ทดลองทำงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานก็จะจ้างกันต่อไปถ้าไม่ผ่านการทดลองงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6011-6017/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเร็วกว่าลูกจ้างชายถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับลูกจ้างของจำเลยเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้างสวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นใดอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงานตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนถึงออกจากงาน จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 5,10,11 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 108 ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานที่มีผลผูกพันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง แต่ข้อบังคับดังกล่าวกำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 50 ปี และลูกจ้างชายเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 55 ปี เป็นการที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยไม่เท่าเทียมกัน โดยไม่ปรากฏว่าลูกจ้างชายและหญิงทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานแตกต่างกันอย่างไร จึงขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อบังคับดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปี จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ไม่มีผลใช้บังคับ
การที่จำเลยให้โจทก์เกษียณอายุโดยไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป และไม่จ่ายค่าจ้างให้เนื่องจากการเกษียณอายุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสอง โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดและไม่มีเหตุให้เลิกจ้างได้ จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีเหตุอันสมควร ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 49
จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานโดยกำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณเมื่ออายุครบ 50 ปี ส่วนลูกจ้างชายเกษียณเมื่ออายุครบ 55 ปี ตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการตลอดมาขณะโจทก์ทำสัญญาจ้างเข้าทำงานกับจำเลยก็รับรู้และยอมผูกพันตามข้อบังคับฯ แต่ต่อมาข้อบังคับฯ ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 15 ทำให้ข้อบังคับฯในส่วนที่กำหนดให้ลูกจ้างหญิงเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 50 ปี ไม่มีผลบังคับต่อไป ดังนั้นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมของจำเลยส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากผลของการแก้ไขกฎหมาย ไม่ใช่เกิดจากการที่จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะใช้ประกอบดุลพินิจของศาลแรงงานกลางว่าจะให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6010/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายได้
พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 41(4) หาได้จำกัดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีคำสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือจ่ายค่าเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่ เพราะข้อความตอนท้ายบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงมีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายด้วยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5787/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์คดีแรงงาน: ศาลมีอำนาจขยายได้หากมีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อความยุติธรรม
การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 26 ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 มาอนุโลมใช้ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ได้ เมื่อมาตรา 26 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าการขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในคดีแรงงานตามมาตรา 54จะต้องมีเหตุสุดวิสัยหรือมีพฤติการณ์พิเศษ ฉะนั้น การที่จำเลยไม่อาจคัดสำเนาคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและคำให้การพยานเพื่อประกอบในการเขียนอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ย่อมเป็นความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่สมควรขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการริบเงินประกันตามสัญญาเช่าเมื่อผู้เช่าผิดสัญญา และห้ามนำเงินประกันมาหักชำระค่าเสียหาย
สัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟมีข้อความว่าถ้าผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิที่จะเลิกสัญญาเสียได้ทันที ส่วนเงินประกันและเงินค่าเช่าที่เก็บล่วงหน้าไว้ ผู้ให้เช่าก็อาจริบเสียได้ เมื่อจำเลยผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาเช่า โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิริบเงินประกันตามสัญญาได้และไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันแก่จำเลย กรณีไม่อาจนำเงินประกันดังกล่าวมาหักชำระค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5669/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงาน กรณีช่วยเหลือลูกจ้างกู้ยืมเงิน
ผู้ร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างและกรรมการลูกจ้างโดยอ้างว่าผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ว่าลูกจ้างต้องไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่แสวงหาประโยชน์จากการกู้ยืมภายในบริเวณที่ทำการหรือโรงงานหรือหอพักที่นายจ้างจัดให้ ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรงโดยผู้คัดค้านให้ลูกจ้างของผู้ร้องกู้ยืมเงิน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ให้กู้ยืมเงินคือ บ. ไม่ใช่ผู้คัดค้านเหตุที่ผู้คัดค้านเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็เพราะ ม. ไปพบผู้คัดค้านแจ้งว่ากำลังเดือดร้อนต้องการใช้เงิน ผู้คัดค้านจึงรับไปติดต่อกับ บ. ลูกพี่ลูกน้องกับผู้คัดค้านซึ่งมีอาชีพปล่อยเงินกู้ให้อันเป็นการช่วยเหลือ ม. หลังจากที่ผู้คัดค้านติดต่อแล้ว บ. ยอมให้กู้ยืมโดยมอบเงินให้ผู้คัดค้านนำไปมอบให้ ม. การที่ผู้คัดค้านรับมอบเงินกู้จาก บ. นำไปให้ม. จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเพื่อช่วย ม. ให้ได้รับเงินกู้จาก บ. เช่นเดียวกัน แม้ บ. จะคิดดอกเบี้ยจาก ม. ถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ และไม่ว่าผู้คัดค้านจะเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับผลประโยชน์ใดจากการกู้ยืมระหว่างม. กับ บ. การกระทำของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีไม่มีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน
of 189