คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พันธาวุธ ปาณิกบุตร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,881 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2842/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงซ่อมรถหลังเกิดอุบัติเหตุ ไม่ถือเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะยังไม่สละข้อเรียกร้องอื่น
ข้อตกลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า บัดนี้คู่กรณีมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อบันทึกเกี่ยวกับค่าเสียหาย ข้อ 1. ส. (จำเลยที่ 1) ยินยอมซ่อมรถยนต์ของ ก. (โจทก์ที่ 2) ให้อยู่ในสภาพปกติโดยจะเปลี่ยนประตูหน้าและประตูหลังขวา กระจกมองข้างขวารวมทั้งคิ้วด้านขวา ส่วนที่เหลือหากซ่อมแซมได้จะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปกติ ข้อ 2. ก. (โจทก์ที่ 2) ได้รับทราบข้อเสนอแล้วยินยอมในข้อเสนอทุกประการ นั้น เป็นลักษณะของเอกสารที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดในทางอาญาว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จริง ทั้งนี้เพื่อเหตุบรรเทาโทษในการที่พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากข้อความถัดมาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยที่ 1 ว่า ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ชนรถผู้อื่นได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ โดยมีข้อความระบุว่า ก. (โจทก์ที่ 2) ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับ จึงทำการเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ในข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้ดังกล่าว ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จะต้องชำระและวิธีการชำระตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอน อันจะทำให้ปราศจากข้อโต้แย้งใด ๆ ต่อกันอีก เพราะยังมีข้อความว่า ส่วนที่เหลือหากซ่อมแซมได้จะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพปกติ รวมอยู่ด้วย อีกทั้งข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องอื่นทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ มูลหนี้ละเมิดเดิมยังไม่ระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2842/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงซ่อมรถในรายงานประจำวัน ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เหตุยังไม่สละข้อเรียกร้องอื่น
จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ทำข้อตกลงในบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี แต่ลักษณะของเอกสารและข้อความเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดทางอาญาว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 จริง โดยระบุความเสียหายที่ยินดีจะซ่อมแซมรถยนต์ของจำเลยที่ 2 เพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษในการที่พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับต่อไปเท่านั้น รวมทั้งความยินยอมของจำเลยที่ 1 ที่จะซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระและวิธีการชำระตลอดจนระยะเวลาที่แน่นอน อันจะทำให้ปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ ต่อกันอีก รวมทั้งยังไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละข้อเรียกร้องทั้งสิ้นแต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงรายงานประจำวันดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2433/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาเงินกู้: ศาลปรับลดดอกเบี้ยสูงเกินส่วนได้ แม้สถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศ
โจทก์และจำเลยทำสัญญากู้เงินกันไว้เป็นหลักฐานโดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะทำสัญญา อัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปในอัตราร้อยละ 18.75 ต่อปี และอัตราสูงสุดหากจำเลยประพฤติผิดเบี้ยปรับในสัญญาหรือผิดนัดไม่ชำระหนี้ในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงกันไว้ล่วงหน้าหากจำเลยไม่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ จำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอันเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วนก็ปรับลดลงมาเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและ พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ โดยไม่อยู่ภายใต้บังคับตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 654 ไม่ทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าไม่เป็นเบี้ยปรับ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 8.75 ต่อปีของต้นเงิน เท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปอันเป็นอัตราปกติที่จำเลยต้องชำระให้แก่โจทก์ก่อนผิดนัด จึงมีผลเท่ากับเป็นการงดเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์เสียทั้งสิ้นซึ่งไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1400/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณา 'งานแสวงหากำไร' เพื่อบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ต้องดูวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล
การพิจารณาว่างานที่จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลจ้างโจทก์ทำเป็นงานที่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจหรือไม่ ต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของจำเลยประกอบด้วย
จำเลยมีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการสถาบันเทคโนโลยี่บนมูลฐานไม่แบ่งสรรกำไร จำเลยมีอำนาจหน้าที่ทำนิติกรรมสัญญาและดำเนินกิจการในการให้เช่าทรัพย์สิน ให้กู้ยืม จำนำ จำนองได้ตามกฎบัตรก็เพื่อให้มีอำนาจบริหารจัดการทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์ของจำเลยที่มีอยู่ เพื่อเป็นทุนดำเนินงานในโครงการตามวัตถุประสงค์ เป็นการช่วยเหลือตนเองโดยไม่จำต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาลของประเทศผู้ให้ทุนแต่เพียงอย่างเดียว งานโครงการเฟอร์โรซีเมนต์ที่จำเลยจ้างโจทก์ทำมีรายรับจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลไทยและรัฐบาลต่างประเทศ กับจากการจัดทำวารสารและสัมมนาทางวิชาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่สมาชิกและบุคคลทั่วไปหากมีรายรับเหลือจ่ายจากการดำเนินงานต้องนำไปใช้ในการดำเนินงานของโครงการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในโครงการอื่นและห้ามนำมาแบ่งปันกัน งานที่จำเลยทำจึงไม่ใช่กิจการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ ไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในเรื่องค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1121/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีร้ายแรง: การแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในระหว่างทำงานส่งผลต่อชื่อเสียงนายจ้าง
โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุในฐานะพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยได้พูดแนะนำ พ. เจ้าของรถคู่กรณีให้เรียกร้องค่าเสียเวลาหรือค่าเสียหายที่ต้องจ่ายเป็นค่าโดยสารรถแท็กซี่ระหว่างซ่อมรถจำนวน 2,500 บาท จากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งและขอส่วนแบ่งจำนวน 500 บาท ซึ่งแม้จะกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ แต่โจทก์กระทำในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุซึ่งเป็นงานที่ทำให้แก่จำเลย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยอาศัยโอกาสในการทำงานกับจำเลย ทำให้ลูกค้าไม่เชื่อถือและย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทางทำมาหาได้ของจำเลยโดยตรง จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามมาตรา 67 และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคท้าย ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 583

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประสบอันตรายจากการทำงาน แม้เริ่มงานก่อนเวลา และซื้อของนอกสถานที่ ก็ยังอยู่ในขอบเขตงาน
ท. มีตำแหน่งเป็นแม่บ้าน มีหน้าที่ดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยภายในสำนักงาน บริการจัดหาเครื่องดื่ม ของว่างและอาหารแก่ผู้มาติดต่อและพนักงานที่ประจำอยู่ ณ สำนักงาน กับจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคตามบันทึกข้อมูลขอบข่ายหน้าที่ของพนักงาน ซึ่งโดยลักษณะงานย่อมจะต้องเข้าทำงานก่อนพนักงานอื่น และต้องทำงานนอกสถานที่ทำงานของโจทก์เพราะต้องจัดซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากตลาด โจทก์ได้กำหนดค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายเป็นรายเดือนให้ด้วย โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก ท. ต้องเริ่มทำงานก่อนเวลาทำการปกติ แสดงแจ้งชัดว่า ท. ต้องเริ่มทำงานให้โจทก์ก่อนเวลา 8 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาทำงานปกติของพนักงาน แม้ ท. จะยังมิได้ลงชื่อเข้าทำงานก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะตามสภาพความเป็นจริง ท. ได้เริ่มปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้ว สามารถลงชื่อเข้าทำงานในภายหลังได้ เมื่อขณะ ท. ขับรถจักรยานยนต์ไปที่ทำงาน ท. ได้แวะซื้อของที่ตลาดเพื่อนำไปเตรียมไว้รับรองแขกและพนักงานของโจทก์ตามหน้าที่ เมื่อซื้อของเสร็จกำลังขับรถจากตลาดไปที่ทำงานได้เกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่ง เป็นเหตุให้ ท. ได้รับบาดเจ็บกรณีจึงเป็นการที่ ท. ได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง อันเป็นการประสบอันตรายตามความหมายของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประสบอันตรายจากการทำงาน และความรับผิดของนายจ้าง/บริษัทประกันภัยตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน
ท. มีตำแหน่งเป็นแม่บ้านของโจทก์ มีหน้าที่ดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยภายในสำนักงาน บริการจัดหาเครื่องดื่ม ของว่าง และอาหารแก่ผู้มาติดต่อและพนักงานที่ประจำอยู่สำนักงาน กับจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคตามขอบข่ายหน้าที่ ลักษณะงานของ ท. ต้องเข้าทำงานก่อนพนักงานอื่นและต้องทำงานนอกสถานที่ โจทก์กำหนดค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายให้ แสดงว่า ท. ต้องเริ่มทำงานก่อนเวลาทำงานปกติ ท. ขับรถจักรยานยนต์ไปที่ทำงาน ได้แวะซื้อของที่ตลาดเพื่อนำไปเตรียมไว้รับรองแขกและพนักงานของโจทก์ตามหน้าที่ ขณะกำลังขับรถจากตลาดไปที่ทำงานได้เกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่ง ท. ได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นการที่ ท. ได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง เป็นการประสบอันตรายตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5
โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างทวงถามให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาล ท. แต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์จึงชำระเงินค่ารักษาพยาบาล ท. แทนจำเลยไป จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระคืนแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่จำต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 895/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนเกินกำหนด: เหตุผลสมควรหรือไม่?
พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 เป็นข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทน ดังนั้นหากผู้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนมิได้ยื่นขอภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนตามปกติบุคคลนั้นย่อมเสียสิทธิ แต่เมื่อมาตรา 56 วรรคหนึ่งไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาด ก็ต้องแปลว่า การที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้น ต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่
โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมายังไม่พอ ที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์มีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นใด จึงยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนล่าช้า เห็นสมควรให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 636/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนค่าบริการจัดหางานต่างประเทศเมื่อคนหางานทำงานไม่ครบตามสัญญาและนายจ้างล้มละลาย
ในวันนัดพิจารณา ศาลได้สอบถามจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองก็ได้แถลงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต่อศาล การแถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ถือได้ว่าเป็นคำให้การด้วยวาจา แม้ศาลจะมีคำสั่งว่าหากจำเลยประสงค์จะยื่นคำให้การให้ยื่นคำให้การภายใน 15 วัน ก็ตาม ก็เพียงแต่ให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมจากที่ได้ให้การด้วยวาจาเท่านั้น และแม้ศาลจะระบุในคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การก็หมายความว่า จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การเป็นหนังสือตามคำสั่งของศาลเท่านั้น เมื่อศาลดำเนินกระบวนพิจารณาโดยให้จำเลยที่ 2 นำพยานเข้าสืบตามประเด็นในคำให้การแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การอีก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้หมายเรียก ธ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้โอนค่าใช้จ่ายของโจทก์ในการเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันให้แก่ ธ. ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการเข้ามาในคดีนี้แล้ว ธ. ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม ธ. จึงไม่อาจถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งโจทก์ไปทำงานต่างประเทศแต่ไม่ครบกำหนด เพราะนายจ้างล้มละลายไม่มีงานให้โจทก์ทำ ดังนี้ เป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน เพราะโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมิใช่สาเหตุจากโจทก์ และแม้เหตุดังกล่าวจะมิใช่เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากโจทก์ไปแล้วเป็นอัตราส่วนกับระยะเวลาที่โจทก์ได้ทำงานตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 46

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7105/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบสั่งจ่ายสินค้าปุ๋ย: สิทธิของผู้รับโอนโดยสุจริต และหน้าที่ของผู้ออกปุ๋ยตามประเพณีค้าขาย
ตามปกติของการซื้อขายปุ๋ยของจำเลยที่ 1 เมื่อมีผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาขอรับปุ๋ยจำเลยที่ 1 จะส่งมอบปุ๋ยให้โดยมิต้องตรวจสอบว่าผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาขอรับปุ๋ยเป็นใคร มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ทั้งด้านหลังของใบสั่งจ่ายสินค้ามีข้อความคำเตือน 3 ข้อ โดยข้อหนึ่งระบุว่าต้องให้ผู้โอนลงลายมือชื่อรับรองและด้านล่างมีช่องให้ผู้โอนลงลายมือชื่อด้วย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และลูกค้าที่มาซื้อปุ๋ยมีข้อตกลงโดยปริยายแต่ต้นว่าผู้ซื้อสามารถโอนขายใบสั่งจ่ายสินค้าให้แก่บุคคลใดก็ได้ และจำเลยที่ 1 จะมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาแสดง ใบสั่งจ่ายสินค้าจึงเป็นเอกสารที่อาศัยความไว้วางใจกันในประเพณีในวงการค้าขายปุ๋ยว่า จำเลยที่ 1 สัญญาจะส่งมอบปุ๋ยแก่ผู้นำใบสั่งจ่ายสินค้ามารับปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ดังนั้นโจทก์ในฐานะผู้ครอบครองตั๋วปุ๋ยหรือใบสั่งจ่ายสินค้าซึ่งซื้อปุ๋ยจากจำเลยที่ 2 จึงสามารถนำไปรับหรือเบิกปุ๋ยจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จะยกเหตุส่วนตัวระหว่างร้าน อ. กับจำเลยที่ 2 มาปฏิเสธไม่ส่งมอบปุ๋ยแก่โจทก์ไม่ได้
of 189