พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ: คดีถึงที่สุดแล้วเรื่องสิทธิครอบครองที่ดิน การฟ้องคดีใหม่ที่มีประเด็นเดียวกันย่อมเป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มีภาระการพิสูจน์ แต่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบในประเด็นข้อพิพาทที่ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องและพิสูจน์ถึงสิทธิของโจทก์ในการครอบครองที่ดินพิพาทในคดีนี้อีกได้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ฟ้องคดีหลังว่าจำเลยขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง ขอให้ศาลเพิกถอนโฉนดที่ดินของจำเลยในส่วนที่ออกทับที่ดินที่โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยกับพวกเกี่ยวข้องกับที่ดินส่วนนี้อีกต่อไป เมื่อปรากฎว่าคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลย ถึงที่สุดโดยศาลฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ผลของคดีย่อมผูกพันคู่ความโจทก์จะมากล่าวอ้างในคดีนี้ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหาได้ไม่ เพราะเป็นของโจทก์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนที่ถึงที่สุดไปแล้ว ฟ้องของโจทก์คดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 148
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7987-7988/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องละเมิดจากสัญญาซื้อขายที่ผิดระเบียบ - อำนาจฟ้องของหน่วยงานที่รับโอนงบประมาณ - อายุความ
เดิมกิจการส่วนการศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2523 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม 2523 เป็นต้นไป ส่วนการศึกษาหรือกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลจึงโอนไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติโจทก์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ดังนี้ การที่จำเลยทั้งหกทำละเมิดต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งหกได้ แต่เมื่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษไม่ฟ้องคดี และสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากมูลละเมิดเป็นทรัพย์สินย่อมโอนไปเป็นของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2523 แล้วตามพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารโรงเรียนประชาบาลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และโรงเรียนประถมศึกษาของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2523 มาตรา 5 และมาตรา 6 ซึ่งให้โอนบรรดาอำนาจหน้าที่ เจ้าหน้าที่กิจการ ทรัพย์สิน หนี้ และเงินงบประมาณส่วนที่เป็นเงินอุดหนุนงบประถมศึกษาไปเป็นของโจทก์ ส่วนสัญญาซื้อขายที่ทำเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2523 ถือว่าเป็นงบประมาณที่โอนไปเป็นของโจทก์แล้ว และแม้ว่าเลขาธิการของโจทก์เคยทำความเห็นไม่ฟ้องคดีนี้แล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งหกต้องรับผิดจึงไม่เป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ได้ร่วมกันบันทึกเสนอจำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 6 เป็นผู้อนุมัติในการจัดซื้อนั้น หมายถึงจำเลยทั้งหกร่วมกันกระทำละเมิด โดยแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนั้น แม้ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้ทำบันทึกร่วมกันเพียงแต่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกโดยลำพังคนเดียว แล้วเสนอจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามลำดับชั้นตามระเบียบงานสารบรรณ ก็ถือว่าคำฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม หนังสือพิพาทเป็นหนังสือประกอบหลักสูตรเท่านั้นไม่เป็นหนังสือที่บังคับใช้และทางราชการแจกให้แก่นักเรียนฟรีดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องจัดซื้อเพราะไม่ใช่หนังสือในหลักสูตรโดยตรง การล่าช้าไปก็ไม่อาจเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายได้ หากงบประมาณถูกส่งคืนคลังก็สามารถขอใหม่ได้ นอกจากนี้ร้านสหกรณ์กลาโหม จำกัดไม่มีฐานะเป็นหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจและไม่ปรากฏว่ากระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้จัดซื้อได้เป็นกรณีพิเศษการจัดซื้อของจำเลยทั้งหกจึงผิดต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2522 ข้อ 16 และเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องซื้อหนังสือในราคาที่แพงไปกว่าปกติ อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว โจทก์ทราบเหตุละเมิดและผู้ที่จะต้องใช้สินไหมทดแทนเมื่อกระทรวงการคลังแจ้งให้ทราบเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2533ดังนั้นเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้คือวันที่ 19 กันยายน 2533 และวันที่ 8 ตุลาคม 2533 ไม่เกิน 1 ปี การที่โจทก์ลงนามเห็นด้วยกับคณะกรรมการสอบสวนระดับจังหวัดว่าไม่มีผู้ต้องรับผิดในทางแพ่งนั้นถือว่า โจทก์ยังไม่ทราบผู้ทำละเมิดและผู้ที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อายุความยังไม่เริ่มนับ