คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ม. 66 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9001/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีอาญาที่มีโทษประหารชีวิต จำเป็นต้องตั้งทนายความให้จำเลย แม้จำเลยจะไม่ต้องการ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ดังนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่มีทนายความ ศาลต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตในการต่อสู้คดีไว้อย่างเต็มที่ แต่คดีนี้ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้วแต่จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไปจนเสร็จ แม้ในวันที่ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาคดี จำเลยจะได้แต่งทนายความเข้ามา แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นออกนั่งพิจารณาคดีสืบพยานโจทก์เสร็จไปแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าทนายความของจำเลยเข้าร่วมในกระบวนพิจารณาในครั้งนั้นแต่อย่างไร ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ จำเลยจึงยังไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือในการดำเนนคดี อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8768/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกา, การลดโทษจำคุก, และการกักขังแทนค่าปรับที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การฎีกาในปัญหาใดๆ ต่อศาลฎีกาย่อมเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยแต่ละคน ดังนั้น จำเลยที่ 2 จะฎีกาแทนจำเลยที่ 1 ไม่ได้
ความผิดฐานเป็นคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาในความผิดฐานนี้ด้วยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป มีระวางโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1,000,000 บาท ถึง 5,000,000 บาท หรือประหารชีวิต การที่ศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จึงเป็นโทษขั้นต่ำสุดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การลดโทษจำคุกตลอดชีวิต จะต้องเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นจำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 53 และเมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 500,000 บาท ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ให้เบากว่านี้ได้
การกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 30 วรรคแรก ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี ก็ได้ แต่ศาลจะต้องสั่งไว้ให้ชัดแจ้ง หากศาลไม่ได้สั่งไว้เป็นอย่างอื่นโดยชัดแจ้ง ก็จะกักขังเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้ ถึงแม้ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่ 80,000 บาทขึ้นไป เมื่อศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้กักขังจำเลยทั้งสองไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากจะกักขังแทนค่าปรับก็กักขังได้เพียง 1 ปี การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง รวมถึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองและมาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7734/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน จำเป็นต้องระบุปริมาณสารบริสุทธิ์เพื่อใช้บทลงโทษที่ถูกต้อง
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า ผู้ใดมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเมทแอมเฟตามีน โดยไม่ได้รับอนุญาตและปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปีหรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 66 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า ถ้าเมทแอมเฟตามีนตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,220 เม็ด ของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใดจึงไม่อาจฟังว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัม อันเป็นโทษแก่จำเลยได้จึงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6553/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติดร้ายแรง และการใช้กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด
การลดโทษประหารชีวิตให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 52 (2) ศาลจะลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษจำคุกตั้งแต่ 25 ปี ถึง 50 ปี ก็ได้ เป็นดุลพินิจของศาลตามพฤติการณ์แห่งความร้ายแรงของแต่ละคดีเป็นเรื่องๆ ไป
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ความใหม่แทน แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยซึ่งเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยและเห็นว่าคดีนี้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3980/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษจำคุกและปรับในคดียาเสพติด แม้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว การเพิ่มโทษปรับยังคงทำได้
เมื่อศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้อีก แต่ความผิดที่จำเลยกระทำตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสาม มีโทษจำคุกและปรับ และตามมาตรา 100/1 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว กำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ทั้งโทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่ง ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้วางโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตและลงโทษปรับจำเลยด้วยดังที่กล่าวมาแล้ว การเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 จึงเพิ่มโทษปรับได้ด้วย ที่ศาลชั้นต้นมิได้เพิ่มโทษปรับจำเลยจึงเป็นการมิชอบ เมื่อศาลชั้นต้นมิได้เพิ่มโทษปรับจำเลย แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่อาจเพิ่มโทษปรับได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
of 5