คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 76 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15529/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานรับฟังได้ถึงการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แม้ไม่มีประจักษ์พยาน
แม้คำให้การในชั้นสอบสวนของ ก. จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกันกระทำผิดและเป็นพยานบอกเล่า แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายบังคับโดยเด็ดขาดห้ามมิให้รับฟังคำให้การดังกล่าว ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็ระบุถึงพฤติการณ์การกระทำที่ร่วมกับจำเลยตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุต่อเนื่องเชื่อมโยงกันไปจนกระทั่งจำเลยยิงผู้ตายแล้วก็หลบหนีไปด้วยกัน อันเป็นข้อเท็จจริงที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์แห่งคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งการกระทำผิด มิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้ตนเองพ้นผิดแล้วให้จำเลยรับผิดเพียงลำพัง ประกอบกับจำเลยกับ ก. ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน จึงไม่มีข้อสงสัยว่า ก. จะให้การกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยเพราะไม่มีเหตุผลใดที่ ก. จะกระทำเช่นนั้น เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานดังกล่าวนั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1)
แม้ว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะจำเลยยิงผู้ตาย แต่โจทก์มีพยานแวดล้อมเห็นเหตุการณ์ใกล้ชิดก่อนผู้ตายถูกยิงจนถึงแก่ความตายโดยเห็นจำเลยกับพวกมาตามหาผู้ตาย เมื่อรู้ว่าผู้ตายอยู่ที่ห้องน้ำหลังบ้านจำเลยกับพวกก็เดินไปหาผู้ตายทันทีแล้วมีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด พวกของจำเลยวิ่งออกไปก่อน แล้วมีเสียงปืนดังขึ้นอีก 3 นัด พอเสียงปืนสงบจำเลยเดินออกมาจากทางหลังบ้านไปหน้าบ้านแล้วถอดเสื้อกันฝนสีแดงทิ้งไว้เยื้องกับบ้านที่เกิดเหตุก่อนที่จะขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป ระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาไม่นานซึ่งไม่พอระแวงสงสัยได้ว่าจะมีผู้อื่นเข้ามาฆ่าผู้ตายในช่วงเวลานั้น จึงเชื่อได้ว่าต้องเป็นจำเลยอย่างแน่แท้ที่ฆ่าผู้ตาย พนักงานสอบสวนนำโลหิตของจำเลยไปตรวจพิสูจน์หาสารพันธุกรรม (DNA) กับเสื้อกันฝนสีแดงที่จำเลยสวมขณะเกิดเหตุที่ยึดไว้เป็นของกลาง ผลการตรวจพิสูจน์พบสารพันธุกรรมของจำเลยที่เสื้อกันฝนสีแดงของกลาง พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยฆ่าผู้ตาย พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นถึงการกระทำที่มีการวางแผนเตรียมการไว้ล่วงหน้าอันเป็นการคิดทบทวนตกลงใจก่อนจะกระทำผิดแล้ว จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13652/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของคนเสมือนไร้ความสามารถ: ผู้พิทักษ์ไม่ใช่ตัวแทน แต่ต้องได้รับความยินยอม หรือมีคำสั่งศาล
ผู้พิทักษ์มิใช่เป็นผู้แทนของคนเสมือนไร้ความสามารถ ดังเช่นในกรณีของคนไร้ความสามารถที่ต้องให้ผู้อนุบาลกระทำการแทน ซึ่งการเสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ถือเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 (10) ดังนี้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยมี อ. เป็นผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่า อ. เป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความ และทนายความลงชื่อในคำฟ้องในฐานะโจทก์และผู้เรียงพิมพ์ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้มาเบิกความต่อศาล โดย อ. เบิกความแทน จึงเท่ากับเป็นการที่ผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์และบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้แก้ไขเพื่อให้คำฟ้องสมบูรณ์เสียแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจนคดีล่วงเลยมาสู่ศาลฎีกาเช่นนี้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13652/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถ: ผู้พิทักษ์ต้องได้รับมอบอำนาจหรือมีคำสั่งศาล
การที่ศาลมีคำสั่งให้ บ. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความพิทักษ์ของ อ. มีผลเพียง บ. ไม่สามารถที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ด้วยตนเอง เพราะต้องได้รับความยินยอมของ อ. ผู้พิทักษ์ก่อน ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 34 บัญญัติไว้เท่านั้น แต่มิได้มีผลทำให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้ที่มีอำนาจกระทำการต่าง ๆ แทนคนเสมือนไร้ความสามารถ ดังเช่นในกรณีของคนไร้ความสามารถที่ต้องให้ผู้อนุบาลกระทำการแทน ซึ่งการเสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ถือเป็นการอย่างหนึ่งอย่างใดที่คนเสมือนไร้ความสามารถต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 (10) หากเป็นในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม และคำสั่งของศาลดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตาม ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคสามและวรรคสี่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โดยมี อ. เป็นผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย แต่ อ. เป็นผู้ลงชื่อแต่งทนายความ และทนายความลงชื่อในคำฟ้องในฐานะโจทก์และผู้เรียงพิมพ์ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้มาเบิกความต่อศาลโดย อ. เป็นผู้มาเบิกความแทน จึงเท่ากับผู้พิทักษ์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนคนเสมือนไร้ความสามารถโดยไม่ได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน คำฟ้องของโจทก์จึงมิใช่เป็นเรื่องที่คนเสมือนไร้ความสามารถฟ้องคดีโดยได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ หรือศาลมีคำสั่งให้ผู้พิทักษ์ฟ้องคดีแทนในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถเสนอคดีต่อศาลได้ด้วยตนเอง ตามเงื่อนไขของ ป.พ.พ. มาตรา 34 ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์และบกพร่องในเรื่องความสามารถของผู้ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้แก้ไขเพื่อให้คำฟ้องสมบูรณ์เสียแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจนคดีล่วงเลยมาสู่ศาลฎีกาเช่นนี้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นจึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12328/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักกระแสไฟฟ้า - ความรับผิดของกรรมการผู้จัดการ - การยอมชำระหนี้เป็นหลักฐาน
แม้โจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนตัดสายคอนโทรลเคเบิล แต่จุดที่มีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 อยู่ภายในบริเวณรั้วของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการยากที่บุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องจะเข้าไปตัดสายคอนโทรลเคเบิลในที่เกิดเหตุได้ และการที่สายคอนโทรลเคเบิลถูกตัด มีผลทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าคิดค่าไฟฟ้าต่ำกว่าความจริง ทั้งยังพบว่ามีสายไฟฟ้าซึ่งต่อกับสายคอนโทรลเคเบิลถูกลากไปที่โรงเก็บของจำเลยที่ 1 แม้สายไฟฟ้าดังกล่าวถูกตัดไปและไม่พบสวิตช์ควบคุมในโรงเก็บของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสามไม่ได้นำสืบปฏิเสธว่าสายคอนโทรลเคเบิลไม่ได้ถูกตัด ประกอบกับจำเลยที่ 1 ยอมชำระค่าปรับกรณีละเมิดการใช้ไฟฟ้าและตกลงยอมชำระค่าไฟฟ้าที่มีการปรับปรุงเพิ่ม ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งเป็นจำนวนเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่สูงมาก หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดจริงก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 จะยอมเสียค่าปรับและทำหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ลักกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 อยู่ในขณะเกิดเหตุ จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11115/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายเพิ่มเติมจากรถยนต์ชำรุดหลังคืนทรัพย์: ฟ้องบังคับได้แม้มีคำพิพากษาแล้ว
ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนให้จำเลยทั้งสามส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาซื้อขายแบบมีเงื่อนไขคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน พร้อมทั้งให้ชำระค่าเสียหายและชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ จำเลยทั้งสามได้ส่งมอบรถยนต์คืนพร้อมชำระค่าเสียหายกับค่าฤชาธรรมเนียมในการดำเนินคดีแก่โจทก์ไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อรถยนต์มีสภาพชำรุดและโจทก์นำออกขายทอดตลาดได้ราคาไม่ครบถ้วนตามราคารถยนต์ที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ส่วนที่ยังขาดจำนวนอยู่ได้ เนื่องจากเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนไปแล้ว ทั้งมิใช่กรณีที่จะไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากการบังคับคดีจำต้องอาศัยคำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ใดบ้าง กรณีจึงไม่อาจนำมูลหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังศาลมีคำพิพากษาไปบังคับคดีเอากับจำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าว ดังนั้นคำพิพากษาในคดีนี้จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนและเกิดขึ้นภายหลังศาลในคดีก่อนพิพากษาไปแล้ว หาใช่ค่าเสียหายที่กำหนดซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10850/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนเชิด: สัญญาจ้างเหมามีผลผูกพันกับตัวการ แม้จะอ้างว่าโจทก์เป็นตัวแทน
ป.พ.พ. บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องตัวแทนเชิดไว้ในมาตรา 821 ว่าบุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน จึงเป็นบทบัญญัติถึงความรับผิดของตัวการที่มีต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น มิได้กำหนดให้บุคคลภายนอกต้องรับผิดหรือมีความผูกพันต่อตัวการ บุคคลภายนอกย่อมมีอำนาจฟ้องตัวการให้รับผิดได้ แต่บุคคลภายนอกไม่อาจฟ้องตัวแทนได้ และตัวการก็จะฟ้องบุคคลภายนอกให้รับผิดไม่ได้เช่นกัน เมื่อจำเลยเป็นบุคคลภายนอกจึงหาอาจกล่าวอ้างว่าโจทก์ซึ่งลงชื่อเป็นผู้รับจ้างในสัญญาจ้างเหมาที่ทำกับตนนั้นเป็นเพียงตัวแทนเชิดของบริษัท จ. ตัวการเพื่อให้จำเลยไม่ต้องผูกพันหรือรับผิดตามสัญญาได้ไม่ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดตามสัญญาจ้างเหมากับโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: เขตปฏิรูปที่ดินไม่ตัดสิทธิผู้มีกรรมสิทธิ์เดิม
การประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 แม้ทำให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ แต่ไม่เป็นการถอนสภาพที่ดินที่มีผู้ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ใช้บังคับ ดังนั้น แม้จะมีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมบริเวณที่ดินพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงฟังไม่ได้ว่ามีการละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9610/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลเกี่ยวกับค่าขึ้นศาลในคดีอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามลำดับชั้นศาลตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) - (5)
คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ มิใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ แต่เป็นเพียงการอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในเรื่องการตรวจรับอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. ภาค 3 ลักษณะ 1 ว่าด้วยการอุทธรณ์ ที่ผู้อุทธรณ์ต้องอุทธรณ์ไปตามลำดับชั้นศาล
และจะถือเป็นการอนุโลมว่าผู้ร้องประสงค์จะอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ ก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะผู้ร้องมิได้ทำเป็นคำร้องมาพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์เพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ข้อกฎหมายต่อศาลฎีกา ตามหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติมาตรา 223 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นสั่งอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องมายังศาลฎีกา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9526/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุมัติเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทางมีผลเมื่อใด และการบังคับคดีเมื่อชำระหนี้ครบถ้วน
การอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางภายในจังหวัดอุบลราชธานีเพิ่มจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถ เป็นการพิจารณากำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขการเดินรถตามที่นายทะเบียนจังหวัดอุบลราชธานีเสนอโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งประจำจังหวัดอุบลราชธานี อันเข้าลักษณะเป็นการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทาง ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 31 (1) และ (11) หาใช่การพิจารณากำหนดเส้นทาง จำนวนผู้ประกอบการขนส่งและจำนวนรถสำหรับการขนส่งประจำทางตาม มาตรา 20 (1) อันจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางอีกชั้นหนึ่ง การอนุมัติให้จำเลยที่ 1 เพิ่มจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่นายทะเบียนกำหนด (ปรับปรุง) เงื่อนไขการเดินรถดังกล่าว เมื่อจำนวนรถและจำนวนเที่ยวการเดินรถดังกล่าวไม่เกินกว่าจำนวนที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่หยุดการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2547 และเมื่อไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับจำนวนเงินค่าเสียหายและค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งจำเลยที่ 4 นำมาวางชำระจนถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2547 ว่าไม่ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6921/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินจัดสรร: ข้อตกลงให้ผู้ซื้อรับภาระภาษีขัดกฎหมายและแบบสัญญามาตรฐาน
สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินเป็นนิติกรรมที่คู่สัญญามีอิสระในการแสดงเจตนาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 457 แต่การแสดงเจตนาดังกล่าวต้องไม่ฝ่าฝืนหรือแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 457 บัญญัติเฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาซื้อขายเท่านั้นที่คู่สัญญาพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย หาได้บัญญัติถึงค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ด้วย ประกอบกับภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นฤชากรที่เรียกเก็บจากจำเลยซึ่งเป็นผู้มีรายได้จากการขาย ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เป็นภาระภาษีซึ่งจำเลยในฐานะผู้มีรายได้จากการขายมีหน้าที่ต้องชำระต่อหน่วยงานของรัฐ ข้อตกลง ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ให้ผู้จะซื้อเป็นฝ่ายชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นการที่จำเลยผู้จะขายทำข้อตกลงผลักภาระดังกล่าวไปเป็นของโจทก์ผู้จะซื้อย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อบ้านและที่ดินโครงการของจำเลยได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อขาย จำเลยในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 8 (4) ที่บัญญัติว่า คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางมีอำนาจกำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร เพื่อให้ผู้ขอใบอนุญาตทำการจัดสรรที่ดินใช้ในการประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.นี้และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรระหว่างผู้จัดสรรที่ดินกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรต้องทำตามแบบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด เมื่อก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้ คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางได้ประกาศกำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรว่า กรณีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร (มีสิ่งปลูกสร้าง) ให้ใช้ตามแบบ ข ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้จะขายเป็นผู้ออกทั้งสิ้น จำเลยจึงต้องใช้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามแบบมาตรฐานดังกล่าว ประกอบกับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอันถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อตกลงให้ผู้จะซื้อเป็นฝ่ายออกชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาฝ่าฝืนหรือแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะส่วนดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 34 วรรคสอง จำเลยไม่อาจอ้างหลักอิสระในการแสดงเจตนาของคู่สัญญาในการเกี่ยงให้โจทก์ผู้จะซื้อรับภาระเป็นผู้ชำระเงินภาษีอากรแทนได้
แม้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายมีหน้าที่ต้องรับภาระในการชำระเงินค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และโจทก์เป็นฝ่ายออกชำระเงินดังกล่าวแทนจำเลย แต่ปรากฏว่าโจทก์ชำระเงินดังกล่าวตามข้อตกลงในสัญญาอันทำให้โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวเนื่องจากมีข้อกำหนดในสัญญาและโจทก์ได้ชำระในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากโจทก์ไม่ชำระก็ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์กันได้ หาถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ จึงไม่อาจนำอายุความในมูลลาภมิควรได้มาใช้บังคับ
of 8