คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 59 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2980/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ ต้องพิจารณาความร้ายแรงของฝ่าฝืนและผลกระทบที่เกิดขึ้น
การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถส่งของจำเลยตอกบัตรบันทึกเวลาทำงาน ของ ณ. ซึ่งเป็นเด็กท้ายรถที่โจทก์ขับเพื่อแสดงเวลากลับจากทำงานของ ณ. ซึ่งมิได้กลับมาที่บริษัทจำเลยโดยได้ลงจากรถส่งของของจำเลยระหว่างทางแทน ณ. ซึ่งในวันดังกล่าว ณ. ก็ได้ไปทำงานจนสิ้นสุดเวลาทำงานปกติแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่าการตอกบัตรดังกล่าวจะเป็นเหตุให้จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ ณ.หรือไม่ และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับความเสียหายร้ายแรงประการอื่นใดอีก การที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าว จึงมิใช่กรณีที่ร้ายแรงจำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างแรงงาน: การตอกบัตรแทนไม่ใช่ความผิดร้ายแรง แต่จงใจขัดคำสั่งนายจ้างเป็นเหตุเลิกจ้างได้
การที่โจทก์ได้ใช้ผู้อื่นตอกบัตรลงเวลาทำงานแทนให้แก่โจทก์แต่โจทก์ก็ได้เข้าทำงานก่อนเวลาทำงานปกตินั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงตามที่กำหนดไว้ ในข้อ 47(3) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 46 แต่เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งดังกล่าวจำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิ พักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามป.พ.พ. มาตรา 583.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและค่าชดเชย: กรณีฝ่าฝืนคำสั่งนายจ้าง ศาลพิจารณาจากเหตุผลและความร้ายแรง
การที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานจำเลยหลังจากที่ฟังทนายจำเลยแถลงถึงข้อที่จะนำสืบพยานจำเลยปากต่อไปแล้วสั่งงดสืบพยานปากดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นนั้น เป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่จะสั่งได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 86 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อจำเลยอุทธรณ์ขอให้ทำการสืบพยานจำเลยต่อไป จึงเป็น อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 การฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างนั้น ประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ว่า กรณีเช่นไรเป็นกรณีที่ร้ายแรงและกรณีเช่นไรไม่ร้ายแรง จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆไปเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมาก่อน ทั้งในวันเกิดเหตุจำเลยบอกให้โจทก์ไปพบด้วยเรื่องอะไร มีความจำเป็นเร่งด่วนประการใด และหากโจทก์ไม่ไปพบจะเกิดความเสียหายอย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลตามคำสั่งและขอผัดไปพบในวันรุ่งขึ้นเช่นนี้ แม้เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างก็ไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1227-1230/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ความร้ายแรงของการฝ่าฝืนระเบียบ และการพิจารณาพฤติการณ์แห่งเหตุ
จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลแรงงานกลางฟังว่า เครื่องจักรที่โจทก์ทั้งสี่ควบคุมโดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินอื่นใดได้ เป็นการวินิจฉัยไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน เมื่อศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยพิเคราะห์ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 แม้ข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างจะระบุว่าการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบดังกล่าวเป็นการกระทำที่ร้ายแรง ก็หามีผลว่าการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดร้ายแรงทุกกรณีไปไม่ จะต้องพิจารณาพฤติการณ์ความเป็นจริงว่าเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่ แม้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะระบุว่าการหลับขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดร้ายแรง ก็เป็นเพียงข้อบังคับของนายจ้างที่มีความประสงค์ทั่วไปว่าลูกจ้างต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง อุทิศเวลาให้แก่การทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่หลับขณะปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น การที่โจทก์ทั้งสี่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ เมื่อโจทก์ทั้งสี่ทำหน้าที่เพียงควบคุมเครื่องจักรผลิตสินค้าซึ่งโดยสภาพไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินอื่นใดได้แม้มิได้ควบคุมใกล้ชิดตลอดเวลา การฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่เป็นกรณีที่ร้ายแรง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6251/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือตักเตือนมีผลเมื่อแจ้งให้ลูกจ้างทราบ แม้ลูกจ้างไม่ลงชื่อรับทราบ
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มิได้กำหนดวิธีการแจ้งหนังสือตักเตือนให้ลูกจ้างทราบ ว่าต้องให้ลูกจ้างลงชื่อรับทราบในหนังสือตักเตือนหรือต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบด้วยวิธีการอย่างใด ดังนั้น การที่นายจ้างออกหนังสือตักเตือนและแจ้งให้ลูกจ้างทราบแล้ว แม้ลูกจ้างไม่ได้ลงชื่อรับทราบในหนังสือตักเตือน ก็ถือว่าลูกจ้างได้รับทราบหนังสือตักเตือนซึ่งทำให้หนังสือตักเตือนมีผลใช้บังคับแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละทิ้งหน้าที่การงาน: การกระทำร่วมกันของลูกจ้างและผู้บังคับบัญชา การลงโทษทางวินัย
การที่ผู้คัดค้านไม่ได้ไปทำงานคงนั่งล้อมวงดู อ.และส.เล่นหมากรุก กันอยู่ จนเวลา 13 นาฬิกาเศษ น. ผู้จัดการแรงงานสัมพันธ์ของผู้ร้องมาพบทั้งสามคนจึงได้แยกย้ายกันไปทำงานเห็นได้ว่า เมื่อถึงเวลาทำงานแล้ว ผู้คัดค้านและ อ.กับส.มิได้ไปทำงานตามหน้าที่ การไม่ทำงานตามหน้าที่ในเวลาทำงานเช่นนี้เป็นการละทิ้งหน้าที่การงานอย่างหนึ่ง การที่ อ.และส.ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องสั่งให้ผู้คัดค้านทำงานละทิ้งหน้าที่ไม่ไปทำงานตามเวลานั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่ผู้คัดค้านซึ่งจะต้องทำงานที่จะละทิ้งหน้าที่การงานไปด้วยไม่ ในเมื่อทั้งสามคนร่วมกันไม่ปฏิบัติงานตามเวลาทำงานในหน้าที่ กรณีจึงต้องถือว่าละทิ้งหน้าที่การงานด้วยกัน ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะลงโทษผู้คัดค้านได้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(3) เมื่อผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้าง ผู้ร้องมีอำนาจที่ร้องขอให้ลงโทษได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 52.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5920/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำทุจริตและการขัดคำสั่งนายจ้างเป็นเหตุเลิกจ้างได้
การที่โจทก์เอาใบเตือนไปจากการครอบครองของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างโดยมิได้รับอนุญาต เป็นการเอาทรัพย์ของนายจ้างไปโดยพลการอันส่อให้เห็นเจตนาทุจริต และเมื่อจำเลยสั่งให้โจทก์นำใบเตือนมาคืน โจทก์ไม่ยอมนำมาคืนจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างอันเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5892/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินบำเหน็จไม่ใช่สิทธิทางกฎหมาย แต่เป็นข้อตกลงสภาพการจ้าง การจ่ายเงินบำเหน็จหรือไม่อย่างไรเป็นสิทธิของนายจ้าง
เงินบำเหน็จมิใช่เงินที่นายจ้างมีหน้าที่จะต้องจ่ายตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน การจะจ่ายเงินบำเหน็จหรือไม่อย่างไรเป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จะตกลงกันไว้อย่างไรก็ได้ ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จกำหนดว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและเงินบำเหน็จ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับเงินชดเชย ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับเงินชดเชยอย่างเดียว ดังนี้เป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายเงินบำเหน็จ มิใช่เป็นการกำหนดเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชย สิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีอยู่อย่างไรก็เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบดังกล่าวจึงไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ข้อกำหนดวิธีการจ่ายเงินบำเหน็จ ไม่กระทบกระเทือนถึงคนอื่นที่มิได้ตกลงด้วย จึงมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ หากไม่ใช่กรณีร้ายแรง นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย แม้ฝ่าฝืนข้อบังคับ
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกำหนดว่าการประทับ บัตรบันทึกเวลาแทนผู้อื่นหรือให้ผู้อื่นประทับบัตรบันทึกเวลาแทน เป็นความผิดร้ายแรง จะถูกลงโทษโดยการไล่ออก เป็นระเบียบเกี่ยวกับ การทำงานที่นายจ้างกำหนดเพื่อใช้บังคับแก่ลูกจ้างจึงเป็นข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยได้กระทำขึ้น และมีผลใช้บังคับได้ ตามกฎหมาย แต่จำเลยจะจ่ายค่าชดเชยกรณีนี้หรือไม่ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3) โดยหากการฝ่าฝืนข้อบังคับเป็นกรณีร้ายแรง ก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่หากเป็นกรณีไม่ร้ายแรง ซึ่งจำเลยเคยเตือนลูกจ้างแล้ว และลูกจ้าง ยังกระทำซ้ำคำเตือนอีกจำเลยก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเช่นกัน แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะกำหนดให้การฝ่าฝืนเป็นความผิดอย่างร้ายแรงก็ตาม แต่ได้ความว่าโจทก์ให้บุคคลอื่นประทับ บัตรบันทึกเวลาแทน เพื่อความสะดวกและมักง่ายของตน หาใช่โดยทุจริต เพื่อโกงค่าแรงงาน ของจำเลยไม่จึงเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับ กรณีไม่ร้ายแรงเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือ มาก่อน และจำเลยได้ไล่โจทก์ออก จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4290/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม: ละทิ้งหน้าที่แม้ยังไม่เกิดความเสียหายร้ายแรง ก็ถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบกรณีร้ายแรงได้
การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไป 1 วัน จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ไม่ใช่พิจารณาเพียงเฉพาะตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าได้ระบุไว้ให้ถือว่าเป็นกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ หรือการที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปนั้นได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแล้วอย่างไรหรือไม่ แต่จะต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ประกอบด้วย โจทก์มีหน้าที่ควบคุมหม้อกำเนิดไอน้ำ หากเครื่องหม้อกำเนิดไอน้ำเกิดขัดข้องขึ้นและไม่มีผู้ใดปิดเครื่อง อาจทำให้พลังไอน้ำที่อยู่ในเครื่องดัน ให้ หม้อน้ำระเบิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของจำเลยและชีวิตของลูกจ้างอื่นของจำเลยได้ การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปนั้นจึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแม้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยจะไม่ได้ระบุว่าการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่และการละทิ้งหน้าที่ของโจทก์ยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรงแล้ว.
of 6