คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไพศาล เจริญวุฒิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 420 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความต้องชัดเจนถึงการสละสิทธิเรียกร้องทั้งหมด มิฉะนั้นไม่ถือเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย
รถบรรทุกของจำเลยที่ 1 ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับห้างฯ จำเลยที่ 2 เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้มีคนตายถึง 3 คน ภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ทำหนังสือตกลงเรื่องค่าปลงศพของผู้ตายให้ไว้แก่ทายาทของผู้ตายทั้งสาม ส่วนค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ตกลงกันไม่ได้จึงนัดตกลงกันอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าทั้งสองฝ่ายตกลงระงับข้อพิพาทโดยยอมสละสิทธิเรียกร้องอื่น แสดงว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาตกลงเฉพาะเรื่องค่าปลงศพเท่านั้น หาได้รวมถึงค่าเสียหายอื่นไม่ ข้อความในหนังสือดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7046/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-อำนาจฟ้อง: ศาลยึดคำพิพากษาถึงที่สุดผูกพันคู่ความ แม้เคยเป็นฝ่ายเดียวกัน
ฟ้องซ้ำเป็นเรื่องที่ห้ามมิให้โจทก์จำเลยซึ่งฟ้องร้องกัน และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วกลับมารื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน โจทก์จำเลยไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน เป็นแต่เคยถูก ส ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันในคดีแพ่งหมายเลยแดงที่ 1880/2529 ของศาลจังหวัดชลบุรีเท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ข้ออ้างของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกับที่โจทก์และจำเลยถูก ส. ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทและให้โอนหุ้นพิพาทคืนแก่ ส. คดีดังกล่าวโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 และจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยโอนหุ้นพิพาทให้โจทก์โดยสุจริต โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเช่นเดียวกับข้ออ้างในคดีนี้อันมีประเด็นโดยตรงว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทหรือไม่ แม้ว่าในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1880/2529 ของศาลจังหวัดชลบุรี โจทก์และจำเลยคดีนี้จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ตาม ก็ต้องถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีดังกล่าวด้วย ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลทุกฝ่ายแม้จะเป็นฝ่ายเดียวกันก็ตาม เมื่อศาลจังหวัดชลบุรีได้มีคำพิพากษาว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเป็นของ ส ให้โจทก์และจำเลยโอนหุ้นพิพาทคืนให้แก่ ส ไปแล้ว โจทก์และจำเลยจึงต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดชลบุรีโดยผลของกฎหมาย ว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเป็นของ ส
จำเลยต้องโอนหุ้นพิพาทคืนให้แก่ ส. ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดชลบุรี การที่จำเลยได้โอนหุ้นพิพาท ให้แก่ ส. ตามคำพิพากษาดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มี อำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7046/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-อำนาจฟ้อง: คำพิพากษาผูกพันคู่ความเดิม แม้เป็นฝ่ายเดียวกัน ศาลยกฟ้อง
โจทก์จำเลยไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน เป็นแต่เคยถูก ส. ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันเท่านั้น ดังนั้น การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อน ส. ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 4 และสหกรณ์จำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทและให้โอนหุ้นพิพาทในสหกรณ์จำเลยคืนแก่ ส. โจทก์และจำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 โอนหุ้นพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 โดยสุจริตจำเลยที่ 4 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเช่นเดียวกับข้ออ้างในคดีนี้อันมีประเด็นโดยตรงว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทหรือไม่ แม้คดีก่อนโจทก์และจำเลยคดีนี้จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ต้องถือว่าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความเมื่อคดีก่อนศาลพิพากษาว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเป็นของ ส. ให้โจทก์และจำเลยคดีนี้โอนหุ้นพิพาทคืนให้แก่ ส. คดีถึงที่สุด โจทก์และจำเลยจึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาของศาลว่ากรรมสิทธิ์ในหุ้นพิพาทเป็นของ ส. และจำเลยต้องโอนหุ้นพิพาทคืนให้แก่ ส. จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7032/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง, การคิดดอกเบี้ย, อายุความค่าเบี้ยประกันภัย
ตามหนังสือให้ความยินยอมในการทำสัญญาประกันภัยของจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารโจทก์ดำเนินการทำสัญญาประกันภัยหลักทรัพย์ที่เป็นประกันหนี้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งในการทำสัญญาหรือต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 1 ตกลงเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยโดยให้โจทก์เป็นผู้ชำระแทน แล้วหักบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 หรือเรียกเก็บจากจำเลยทั้งสอง ฉะนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ออกทดรองไปก่อน จึงเป็นการที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำกับโจทก์ระบุว่า จำเลยที่ 2 ยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท และสัญญาจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดินเป็นประกัน400,000 บาท จำเลยที่ 2 จึงมีความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองในต้นเงิน 400,000 บาท การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 441,718.25 บาท จึงเป็นการพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดมากกว่าที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6121/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อผิดนัดชำระ: สิทธิของเจ้าหนี้ในการเรียกร้องค่าเสียหายและค่าขาดราคา
สัญญาเช่าซื้อระบุให้ผู้เช่าซื้อนำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของเจ้าของ จึงเป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อที่ต้องนำเงินค่างวดไปชำระ ณ สถานที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ การที่จำเลยที่ 1 นำสืบถึงข้อตกลงว่าพนักงานของโจทก์จะเป็นผู้ไปเก็บค่างวดแก่จำเลยที่ 1 เอง จึงเป็นการแตกต่างไปจากที่ระบุไว้ในสัญญา เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเอกสารสัญญาเช่าซื้อ ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ จึงเป็นการผิดสัญญา สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันทีโดยเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อไม่ต้องบอกกล่าวก่อน
ฟ้องโจทก์ที่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์และค่าขาดราคาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เพราะมิใช่กรณีที่ผู้ให้เช่าฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น อันจะต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6034/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ค่าฝากทรัพย์กับค่าเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ ต้องแสดงเจตนาและจำนวนที่แน่นอน
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ยังค้างชำระเงินบำเหน็จค่าฝากปลาทูนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธินำมาหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายของโจทก์ได้ แต่ตามคำให้การ จำเลยที่ 1 มิได้แสดงเจตนาที่จะหักกลบลบหนี้แก่โจทก์ และทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ก็ปรากฏว่าเงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ดังกล่าวยังคงมีข้อโต้แย้งและเป็นจำนวนที่ไม่แน่นอน สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ยังมีข้อต่อสู้อยู่ จึงไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 342 วรรคหนึ่ง และมาตรา 344

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5987/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโต้แย้งสิทธิจากสัญญาเช่าซื้อและการมีอำนาจฟ้องคดีของเจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้
จำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์มีหน้าที่ต้องจัดการให้รถยนต์ที่เช่าซื้อตกเป็นสิทธิแก่โจทก์ผู้เช่าซื้อเมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วจำเลยไม่จัดการจดทะเบียนโอนสิทธิให้แก่โจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ทั้งตามประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเรื่องการขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ได้ความว่า เฉพาะเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศนี้จะต้องตกลงให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่ฟ้องสถาบันการเงินเป็นจำเลยในคดีแพ่งอันแสดงว่าข้อกำหนดดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะเจ้าหนี้ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้เท่านั้นหาตัดสิทธิเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินเช่นโจทก์ที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศดังกล่าวที่จะฟ้องคดีแพ่งด้วยไม่ อีกทั้งประกาศดังกล่าวก็หาได้กำหนดให้เจ้าหนี้ทุกคนต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ไม่ ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และมิได้ตกลงให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่ง จึงย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยลูกหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการโดยคณะกรรมการองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงินเป็นคดีแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5961/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: สถานที่อนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นสถานที่เกิดเหตุ แม้จำเลยมีภูมิลำเนาต่างจังหวัด
แม้จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราชจะยื่นใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตต่อโจทก์ที่สาขาในจังหวัดปทุมธานีก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ เพราะโจทก์ที่สำนักงานใหญ่เป็นผู้อนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิต ย่อมถือได้ว่าสำนักงานใหญ่ของโจทก์เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น เมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์อยู่ในเขตศาลแขวงพระโขนง โจทก์จึงชอบที่จะเสนอคำฟ้องของโจทก์ต่อศาลแขวงพระโขนงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้จำนองบังคับคดีได้แม้เป็นสินสมรส ผู้ร้องไม่มีสิทธิกันเงินจากขายทอดตลาด
ผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากัน จำเลยซื้อทรัพย์พิพาทมาในระหว่างสมรสแล้วจำเลยจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์โดยผู้ร้องมิได้ยินยอม ต่อมาจำเลยถูกโจทก์ฟ้องและบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด ทั้งจำเลยและโจทก์ยังถูกผู้ร้องฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาท คดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์รับจำนองไว้โดยสุจริต ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมจำนองพิพากษายกฟ้อง ผลคดีย่อมผูกพันคู่ความทั้งหมดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนจำนองได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์พิพาทได้ทั้งหมด เพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่บุคคลทั่วไปได้ ส่วนที่ศาลพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์พิพาทให้แก่ผู้ร้องตามที่ผู้ร้องฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น ก็มีผลผูกพันเฉพาะผู้ร้องกับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว หามีผลต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีจำนองเหนือสินสมรส: ผลของคำพิพากษาถึงที่สุดและสิทธิเจ้าหนี้จำนอง
โจทก์และจำเลยถูกผู้ร้องฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์สินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง และข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์รับจำนองทรัพย์พิพาทไว้โดยไม่สุจริต ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมจำนองจึงพิพากษายกฟ้อง ผลของคดีดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้ร้องไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทได้ นิติกรรมจำนองทรัพย์พิพาทจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์พิพาทได้ทั้งหมดเพราะสิทธิจำนองครอบไปถึงบรรดาทรัพย์สินซึ่งจำนองหมดทุกสิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 716 และเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันแก่บุคคลทั่วไปได้ ส่วนคดีที่ผู้ร้องฟ้องหย่าจำเลยและขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาแม้ศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่ผู้ร้องก็มีผลผูกพันเฉพาะผู้ร้องกับจำเลยซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว หามีผลต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันเงินสินสมรสส่วนของตนจากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท
of 42