คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตีความสัญญาประกันภัยสำเร็จรูปต้องคำนึงถึงผู้บริโภค และกรณีผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มตามวงเงินคุ้มครอง
กรมธรรม์ประกันภัยหมาย ล.4 ข้อ 3.1.7 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยจะอ้างข้อสัญญาดังกล่าวเพื่อจำกัดความรับผิดไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นจึงมีได้เพียง 2 กรณี คือ (1) ผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือ (2) ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ในอุบัติเหตุนั้น ซึ่งตามกรมธรรม์ ฯ ข้อ 17 กำหนดว่า ความหมายและเจตนารมณ์ของข้อความที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ รวมทั้งเอกสารแนบท้ายและเอกสารประกอบให้ตีความตามที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้ ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2552 ซึ่งสั่งให้ใช้คู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ยกตัวอย่างอธิบายความหมายของข้อความที่ว่า ไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่ ทำให้เห็นว่า ข้อความดังกล่าวมุ่งเฉพาะกรณีไม่ทราบตัวผู้ที่ต้องรับผิด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า ผู้ตายเป็นผู้ประสบภัยซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยมิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและมีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ตายคือ ท. ผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย เพียงแต่ ท. ถึงแก่ความตายไปก่อนถูกดำเนินคดีอาญา หาใช่เป็นกรณีไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะรับผิดเพียงไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นดังที่กำหนดไว้ในข้อ 3.1.7การตีความสัญญาประกันภัยซึ่งข้อความในสัญญาถูกกำหนดขึ้นฝ่ายเดียวโดยที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่สามารถแก้ไขเป็นอย่างอื่นได้ จึงต้องตีความโดยคำนึงถึงความเข้าใจและความคาดหมายของผู้บริโภคอันเป็นส่วนหนึ่งของเจตนาในการเข้าทำสัญญาประกอบด้วยเสมอ ดังนั้น ถึงแม้ว่าข้อความในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 3 ตอนต้นจะตรงกับ เรื่องประกันภัยค้ำจุน แต่ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยที่ทำขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และเมื่อพิจารณาต่อไปในข้อ 3.1.6 ที่กำหนดให้บริษัทผู้รับประกันภัยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้เอาประกันภัยและบุคคลในครอบครัวในกรณีรถที่เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องจากความผิดของผู้อื่นที่ขับขี่รถคันนั้น รวมทั้งข้อ 3.1.7 ดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น จะเห็นว่าทั้งสองข้อเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่ข้อตกลงว่าผู้รับประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ สัญญาประกันภัยที่พิพาทจึงแตกต่างจากสัญญาประกันภัยค้ำจุน และการที่ข้อ 3.1.7 ซึ่งกำหนดว่า ผู้รับประกันภัยจะรับผิดเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นกล่างถึงแต่เฉพาะกรณีผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยเป็นฝ่ายต้องรับผิดหรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิด ย่อมทำให้ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นวิญญูชนเข้าใจโดยสุจริตว่า หากตนเองไม่ได้เป็นฝ่ายผิดแล้วจะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเหมือนผู้ประสบภัยคนอื่น ๆ ไม่ใช่ได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้น ทั้งการที่กฎหมายบังคับให้เจ้าของรถทุกคันต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยยิ่งทำให้ผู้ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายต่างคาดหมายว่าหากตนประสบอุบัติเหตุโดยที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ก็ต้องได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเต็มตามวงเงินที่คุ้มครอง เมื่อข้อความในสัญญาไม่ชัดเจนทำให้เกิดปัญหาในการตีความและเป็นที่สงสัย เมื่อกรมธรรม์ ฯ หรือสัญญาประกันภัยในคดีนี้เป็นเอกสารสัญญาที่จำเลยกำหนดสาระสำคัญต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาสำเร็จรูปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 การตีความในกรณีมีข้อสงสัยจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรา 4 วรรคสอง จึงต้องตีความสัญญาไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายเต็มจำนวนความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มัดจำสูงเกินส่วน-สิทธิริบ-ความผิดสัญญา-ดุลพินิจศาล-ลดหย่อนมัดจำ
บทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เป็นกฎหมายที่ประสงค์จะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้วางมัดจำ ศาลจึงสามารถนำบทบัญญัติมาตรานี้มาปรับใช้กับสัญญาทั่ว ๆ ไปที่มีการให้สิ่งใดเป็นมัดจำได้ หาจำกัดเฉพาะสัญญาที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 เท่านั้นไม่ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อบทบัญญัติมาตรา 7 ส่วนท้าย บัญญัติไว้ว่า "...ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้" จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะปรับลดมัดจำที่สูงเกินส่วนลงหรือไม่ก็ได้ มิได้บังคับศาลให้ต้องลดมัดจำเสมอไป ประกอบกับใน ป.พ.พ. มาตรา 377 ซึ่งเป็นบทกฎหมายทั่วไป ได้บัญญัติในเรื่องมัดจำไว้ว่า "เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย" และมาตรา 378 บัญญัติไว้ว่า "มัดจำนั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ (2) ให้ริบ ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น (3)..." การปรับลดมัดจำจึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของมาตรา 377 ที่ต้องการให้มัดจำเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา รวมทั้งต้องคำนึงถึงว่าฝ่ายที่วางมัดจำมีส่วนผิดหรือไม่ด้วย ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3583/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนและหนังสือค้ำประกัน: ความรับผิดของคู่สัญญา, เบี้ยปรับ, และการชำระหนี้
ตามหนังสือค้ำประกันมีข้อตกลงว่าโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้นในการชำระเงินตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 179,447,022 บาท ในกรณีที่กิจการร่วมค้าซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง โดยโจทก์จะไม่อ้างสิทธิใด ๆ เพื่อโต้แย้งและผู้ว่าจ้างไม่จำต้องเรียกร้องผู้รับจ้างชำระหนี้นั้นก่อน การค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวไม่ใช่การผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ แต่เป็นการค้ำประกันที่โจทก์มีความผูกพันจะต้องชำระเงินให้แก่ผู้ว่าจ้างโดยเคร่งครัดอย่างลูกหนี้ชั้นต้นเมื่อมีการทวงถามตามเงื่อนไข โดยไม่อาจอ้างเหตุใด ๆ ระหว่างผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าหรือจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้รับจ้างขึ้นปลดเปลื้องความรับผิดได้และความรับผิดของโจทก์ในกรณีนี้จะไม่ขึ้นอยู่กับความรับผิดของกิจการร่วมค้า สิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ว่าจ้างและโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นเอกเทศและต้องพิจารณาแยกต่างหากจากสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ซึ่งเป็นไปตามวิธีทางธนาคาร ส่วนผลแห่งการบังคับตามสัญญาค้ำประกันจะกระทบถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ว่าจ้างกับกิจการร่วมค้าตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอย่างไร เป็นเรื่องที่คู่สัญญาจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ดังนั้น ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ข้อตกลงตามคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นสัญญาที่กิจการร่วมค้าแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรงมิใช่การค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 แต่เป็นสัญญาธรรมดาซึ่งต้องบังคับตามข้อตกลงในสัญญาจะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวว่าด้วยลักษณะค้ำประกันมาใช้บังคับมิได้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนของกิจการร่วมค้าจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงในคำขอให้ออกหนังสือค้ำประกันด้วย เมื่อผู้ว่าจ้างมีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้าชำระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมงานก่อสร้างส่วนที่ชำรุดเสียหายและแจ้งให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน โจทก์มีหนังสือแจ้งกิจการร่วมค้าให้ชำระเงินแก่ผู้ว่าจ้าง กิจการร่วมค้าปฏิเสธ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือค้ำประกันมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่ผู้ว่าจ้าง เมื่อโจทก์ชำระเงิน 179,447,022 บาท ให้แก่ผู้ว่าจ้างไปแล้ว กิจการร่วมค้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินเป็นต้นไป โจทก์นำเงินฝากมาหักชำระหนี้ดังกล่าว คงเหลือต้นเงินที่กิจการร่วมค้าต้องชำระแก่โจทก์ 141,358,355.91 บาท แต่ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี เป็นข้อตกลงการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ที่ศาลชั้นต้นปรับลดดอกเบี้ยลงเหลืออัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงเหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญาร่วมทุนในนามกิจการร่วมค้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันครอบคลุมความเสียหายจากตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไป ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้
ตามสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไว้กับโจทก์เพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้าจึงตกลงยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันรับรองความเสียหาย...และข้าพเจ้าทำสัญญานี้...ด้วยความสมัครใจ มีผลผูกพันข้าพเจ้าตามกฎหมายในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้ที่ข้าพเจ้าค้ำประกัน" และในข้อ 1 ระบุว่า "ในระหว่างเวลาที่บุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันปฏิบัติงานอยู่กับบริษัท ฯ ผูกพันตามสัญญาว่าจ้างหรือสัญญาแต่งตั้งผู้ขาย...หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่บริษัท รับไว้ในชั้นต้นหรือในตำแหน่งหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปในภายหน้าหากบุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันได้กระทำ หรือละเว้นกระทำ...เป็นเหตุให้บริษัท ฯ ได้รับความเสียหาย..." กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในขณะทำสัญญาค้ำประกันและในตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปในอนาคตอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว เมื่อปี 2549 แม้ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะสูงขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้นก็ตาม แต่มิได้อยู่นอกเหนือความตกลงของสัญญาค้ำประกันประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ในการขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้านำส่งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10657/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาอนุญาตใช้ลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ ค่าเสียหาย และการหักกลบลบหนี้
การตีความสัญญาต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรและต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 แม้สัญญาทั้งสองฉบับจะระบุชื่อว่า "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และ ตามข้อ 1 ของสัญญาฉบับที่ 1 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้... 1.1 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน E.M.T. (สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว)... 1.2 ลิขสิทธิ์หลักสูตร วิธีการสอน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T."... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet Smart English"...ซึ่งต่อไปตามสัญญานี้จะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" ส่วนข้อ 1 ตามสัญญาฉบับที่ 2 ระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ดังนี้ 1.1 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน สมาร์ทเซ็นเตอร์ คณิตคิดเร็ว... 1.2 ลิขสิทธิ์ หลักสูตร วิธีการสอน ตำราเรียน "EngGet Smart English"... 1.3 เครื่องหมายการค้า "E.M.T"... 1.4 เครื่องหมายการค้า "EngGet"... ซึ่งต่อไปนี้ในสัญญาจะเรียกว่า "ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า" และตามข้อ 2 ของสัญญาทั้งสองฉบับระบุว่า "ผู้อนุญาต (โจทก์) ตกลงอนุญาตและผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงรับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า..." ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความทั้งหมดตามสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว ในส่วน "สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์" แม้ข้อ 1.1 และ 1.2 ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะระบุว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในหลักสูตร วิธีการสอน และตำราเรียน แต่งานอันมีลิขสิทธิ์จะต้องเป็นงานอย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ตามที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าหลักสูตรและวิธีการสอนของโจทก์ โจทก์ได้แสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งใน 9 ประเภท ดังกล่าว หลักสูตรและวิธีการสอนดังกล่าวจึงเป็นเพียงความคิดและขั้นตอนการทำงานซึ่งมิได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคสอง คงมีเพียงตำราเรียนเท่านั้นที่เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรมอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ตามสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งตำราเรียนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่ข้อตกลงให้จำเลยต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์และห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่มีข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ ย่อมไม่ใช่สัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แต่เป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพียงแต่ชื่อเท่านั้น ในส่วนข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว ปรากฏว่าเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ในข้อ 1.3 และ 1.4 เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับบริการให้การศึกษา โดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น แม้จะใช้ถ้อยคำตามสัญญาว่า "เครื่องหมายการค้า" เมื่อไม่ได้นำเครื่องหมายคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ไปใช้กับสินค้าแต่ใช้กับบริการ เครื่องหมายดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายบริการ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 สัญญาในส่วนนี้จึงเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ นอกจากนี้สัญญาดังกล่าวยังมีข้อตกลงให้โจทก์สนับสนุนการถ่ายทอดนโยบายการทำงานและวิธีการสอนให้แก่บุคลากรของจำเลย จัดโครงสร้างการสอน การบริหารงานบุคคล ควบคุมและประเมินคุณภาพการเรียนของนักเรียน และจำเลยตกลงว่าจะปฏิบัติตามนโยบายแผนการปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนตามเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์เท่านั้น ห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา จำเลยจะไม่ประกอบกิจการอันมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับโจทก์เป็นระยะเวลา 10 ปี ดังนี้ ข้อตกลงอื่นในสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ ซึ่งข้อตกลงอื่นดังกล่าวรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ซึ่งสามารถแยกออกจากข้อตกลงที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนคำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ได้ ทั้งนี้ การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาและตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 และมาตรา 368 เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันให้ปฏิบัติแตกต่างจากปกติประเพณี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีข้อสัญญาส่วนหนึ่งที่โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรของโจทก์คำว่า "E.M.T." และคำว่า "EngGet" ซึ่งมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและตกเป็นโมฆะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 68 วรรคสอง ก็ตาม แต่ข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเพียงข้อสัญญาประกอบข้อหนึ่งของข้อตกลงอื่นรวมทั้งข้อตกลงที่ให้จำเลยใช้วิธีการสอนของโจทก์และให้จำเลยซื้อตำราเรียนจากโจทก์ในสัญญาเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยผู้เป็นคู่สัญญามีเจตนาจะผูกพันกันตามข้อตกลงอื่นดังกล่าวโดยให้มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยแยกต่างหากจากข้อสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการจดทะเบียนที่ตกเป็นโมฆะ ข้อตกลงตามสัญญาในส่วนอื่นจึงยังคงมีความสมบูรณ์และใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 173
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นั้น ปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 (เดิม) ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้
แม้จะมีการทำซ้ำแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 1" จำนวน 2 หน้า จากจำนวนทั้งหมด 50 หน้า และแบบเรียน "Smart Center Mental Arithmetic System Course 3 Book 2" จำนวน 4 หน้า จากทั้งหมด 50 หน้า ให้แก่นักเรียนจำนวนประมาณ 20 ถึง 30 คน แต่ในส่วนที่ทำซ้ำดังกล่าวเป็นโจทย์ฝึกทักษะด้วยระบบลูกคิดโดยในแต่ละหน้าประกอบด้วยโจทย์หลายข้อ ซึ่งโจทย์แต่ละข้อผู้สร้างสรรค์ต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะในการแสดงออกซึ่งความคิดของผู้สร้างสรรค์ในข้อนั้น ๆ ดังนี้ ในทุก ๆ หน้า จึงเป็นส่วนสาระสำคัญของแบบเรียนดังกล่าว โดยมิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้ ตามข้อ 6.1 และข้อ 8.1 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระบุว่า ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ตกลงว่าจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ และข้อ 6.3 และข้อ 8.3 กำหนดให้ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้ กับทั้งข้อ 6.18 และข้อ 8.16 ผู้รับอนุญาต (จำเลย) ต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น แสดงว่าจำเลยจะต้องใช้หลักสูตรและวิธีการสอนตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ผู้อนุญาต (โจทก์) กำหนดไว้โดยต้องใช้แบบเรียนและอุปกรณ์การเรียนการสอนภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อนุญาต (โจทก์) จากผู้อนุญาต (โจทก์) เท่านั้น ทั้งโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยทำซ้ำตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยอ้างว่าทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนเพื่อเป็นการฝึกทักษะจึงเป็นการกระทำนอกเหนือไปจากขอบเขตตามสัญญา โดยจำเลยประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อหากำไร แม้จะเป็นการทำซ้ำโดยผู้สอนเพื่อประโยชน์ในการสอน แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อหากำไรจากการประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาของจำเลย จึงไม่เข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (6) นอกจากนี้โจทก์ได้รับค่าลิขสิทธิ์ซึ่งรวมอยู่ในรายได้จากการจำหน่ายตำราเรียนให้แก่นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยเท่านั้น โดยโจทก์มิได้อนุญาตให้จำเลยใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมตำราเรียนของโจทก์ การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนอันเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์แม้เพียงบางส่วนโดยมิได้ชำระค่าลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และการกระทำดังกล่าวเป็นช่องทางให้นักเรียนที่มาเรียนที่โรงเรียนของจำเลยไม่จำต้องซื้อตำราเรียนจากโจทก์ ย่อมเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทำซ้ำตำราเรียนบางส่วนของโจทก์จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
เมื่อเปรียบเทียบสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย กับสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับผู้มีชื่อลงวันที่ 1 สิงหาคม 2547 และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 แล้วมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์ที่มีการกำหนดข้อความไว้ล่วงหน้าและนำมาใช้กับคู่สัญญาทุกราย จึงมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคสาม (3) ที่บัญญัติว่า ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่า ที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันอาจถือได้ว่าทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงขนาดว่าหากมีข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจะถือว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะมีผลทำให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 4 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าข้อตกลงที่เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาในข้อ 6 และข้อ 8 ของสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นข้อตกลงที่ห้ามมิให้จำเลยผู้รับอนุญาตกระทำสิ่งใดอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ผู้อนุญาต ให้จำเลยผู้รับอนุญาตตกแต่งสถานประกอบการ ติดตั้งป้ายโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ตามแบบของโจทก์ผู้อนุญาต และให้จำเลยผู้รับอนุญาตกำหนดจำนวนนักเรียนและวันเปิดปิดโรงเรียนตามนโยบายของโจทก์ผู้อนุญาต จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาให้โจทก์ผู้อนุญาตสามารถควบคุมรูปแบบของกิจการและคุณภาพของการเรียนการสอนตามหนังสือตำราเรียนที่โจทก์มีลิขสิทธิ์ในโรงเรียนของจำเลยให้เป็นไปในรูปแบบและแนวทางเดียวกัน ซึ่งจำเลยจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง การที่ให้สิทธิโจทก์บอกเลิกสัญญาได้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว จึงไม่ใช่ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ข้อตกลงดังกล่าวไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 ย่อมใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้เป็นคู่สัญญาได้
การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งกับในคดีอาญากฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบหรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ มาใช้บังคับกับการรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ ดังนั้น การรับฟังพยานหลักฐานในคดีแพ่งจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น"
เมื่อโจทก์และจำเลยต่างฝ่ายต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมีมูลหนี้อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ที่ต้องชำระให้แก่กันและกันเป็นเงินอย่างเดียวกันและหนี้เงินที่โจทก์และจำเลยต้องชำระให้แก่กันและกันนั้นถึงกำหนดชำระแล้วด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341 ดังนี้ เพื่อความสะดวกในการบังคับคดี จึงให้นำหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 725,148 บาท มาหักกลบลบกันกับหนี้เงินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 307,274 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้ว คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นต้นเงินจำนวน 417,874 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม, การบอกเลิกสัญญา, ค่าเสียหายจากการผิดสัญญา, การปฏิบัติตามสัญญา, สัญญาบอกรับเป็นสมาชิก
สัญญาบอกรับเป็นสมาชิกเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดหรือจัดทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีการกำหนดข้อสัญญาที่เป็นสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกจำนวน 13 ข้อ แม้สัญญาดังกล่าวโจทก์สามารถเจรจาต่อรองขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงได้ แต่ก็เป็นการตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วน ข้อสัญญาส่วนใหญ่ที่เป็นสาระสำคัญยังคงเดิมหรือเป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ฝ่ายที่นำสัญญาดังกล่าวมาใช้ยืนยันว่าจะต้องมีข้อสัญญาเป็นเช่นนั้น มิฉะนั้นจะไม่ทำสัญญาด้วย ซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ตกอยู่ในภาวะที่จะเลือกได้เพียงว่าจะเข้าทำสัญญาดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น และสัญญาดังกล่าวถูกจำเลยที่ 1 นำมาใช้ในการประกอบกิจการของตน ดังนั้น สัญญาบอกรับเป็นสมาชิกดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูปตามนัยแห่งมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540
เมื่อพิจารณาตามข้อกำหนดแนบท้ายสัญญาบอกรับเป็นสมาชิกข้อ 3 ระบุว่า "วันเริ่มต้นและระยะเวลาสัญญานี้ให้มีผลเริ่มตั้งแต่วันมีผลบังคับ และให้มีระยะเวลาต่อเนื่องไปโดยไม่มีกำหนดสิ้นสุด เว้นแต่จะถูกบอกเลิกโดย 3.1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แจ้งบอกเลิกสัญญาให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวัน หรือ" แม้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขหรือต้องให้เหตุผลที่จะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการให้สิทธิทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะสามารถบอกเลิกสัญญาได้เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย มิใช่กำหนดให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่าให้สัญญาเลิกหรือสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุอันสมควร เมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้ภาระตามสัญญาของฝ่ายตนหนักขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องมีการบอกเลิกสัญญาเลย และให้สิทธิแก่จำเลยที่ 1 ที่มีอำนาจต่อรองเหนือกว่ามีสิทธิเลือกแต่เพียงฝ่ายเดียวว่าจะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ก็ได้ แม้โจทก์มิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ฉะนั้นข้อกำหนดหรือข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบโจทก์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม (3) ข้อกำหนดสัญญาบอกรับสมาชิกข้อ 3. 3.1 จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 และกระทำการไม่สุจริตลักลอบนำสัญญายูบีซีของจำเลยที่ 1 ไปใช้และหรือจำหน่ายจ่ายแจก การบอกรับสมาชิกที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์เพื่อประโยชน์ทางการค้าของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตและเสียค่าตอบแทนให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญจึงจำเป็นต้องบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดตามสัญญาแต่งตั้งตัวแทนและสัญญาบอกรับเป็นสมาชิก ไม่ได้ฟ้องแย้งว่าโจทก์ละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง มิใช่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
โจทก์เชื่อมต่อสัญญาณไปให้บริการที่อาคารคงอ่ำอพาร์ตเมนต์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 โจทก์จึงประพฤติผิดสัญญาแต่งตั้งตัวแทนให้บริการจำหน่ายสัญญาณยูบีซี ประเภทโครงการและหน่วยงานราชการ จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายมีกำหนด 10 ปี มิใช่เป็นการกระทำละเมิดและมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพียง 1 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2848-2849/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมรับผิดชำระหนี้จากสัญญาซื้อกลับคืนพิพาท โดยจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบัน
บริษัท บ. จำกัด ต้องการที่จะใช้รถเครนและรถขุดพิพาท จำเลยที่ 1 ซึ่งต้องการขายรถเครนและรถขุดพิพาทจึงติดต่อกับโจทก์ที่เป็นแหล่งเงินทุนให้ซื้อรถเครนและรถขุดพิพาทเพื่อนำออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าแบบลิสซิ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านเทคนิคของรถเครนและรถขุดพิพาท โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบด้วยการซื้อกลับคืนเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระทั้งหมดหากบริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า ซึ่งจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6 ก็ตกลง โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเข้าทำสัญญาซื้อขายรถเครนและรถขุดพิพาทและทำสัญญาซื้อกลับคืนในวันเดียวกัน แล้วโจทก์นำรถเครนและรถขุดพิพาทออกให้บริษัท บ. จำกัด เช่าตามสำเนาแบบคำขอให้บริการเช่าโดยมีบริษัท ส. จำกัด และ ส. เป็นผู้ค้ำประกันการเช่ารถของบริษัท บ. จำกัด ดังกล่าว ในการนี้โจทก์ได้รับประโยชน์ที่รวมอยู่ในค่าเช่า และจำเลยที่ 1 ได้กำไรจากการขายรถดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามวิธีการประกอบธุรกิจการค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามปกติ และคู่กรณีต่างมีเจตนาเข้าทำสัญญาซื้อกลับคืนอย่างแท้จริงโดยทราบและเข้าใจวัตถุประสงค์ของการทำสัญญาว่า สัญญาซื้อกลับคืนเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์แยกต่างหากจากสัญญาเช่าและสัญญาซื้อขายฉบับเดิม ดังจะเห็นได้จากสัญญาซื้อกลับคืนเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน กล่าวคือ หากเกิดกรณีที่บริษัท บ. จำกัด ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า สัญญาซื้อกลับคืนจึงมีผลบังคับ กับมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนแตกต่างจากสัญญาค้ำประกันโดยแจ้งชัด และภายหลังจากที่บริษัท บ. จำกัด ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ก็เข้าผ่อนชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อกลับคืนและหนังสือรับสภาพหนี้ติดต่อตลอดเรื่อยมาจนถึงปี 2549 เป็นเงินรวม 40 ล้านบาทเศษและขอให้โจทก์ฟ้องบริษัท บ. จำกัด เพื่อจะได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไปตามสัญญาซื้อกลับคืนด้วย ซึ่งโดยสภาพแห่งสัญญาดังกล่าวมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 แสร้งแสดงเจตนาเข้าทำนิติกรรมแต่อย่างใด สัญญาซื้อกลับคืนจึงมิใช่นิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางสัญญาค้ำประกันหรือสัญญารับสภาพหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะไม่
โจทก์ จำเลยทั้งหก และบริษัท บ. จำกัด ต่างเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งบริษัท บ. จำกัด ก็เช่ารถเครนและรถขุดพิพาทแบบลิสซิ่งในอัตราค่าเช่าสูงถึงเกือบ 70 ล้านบาท ประกอบกับโดยสภาพของรถก็เป็นเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่นำไปใช้ในการประกอบกิจการก่อสร้างเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า จึงหาได้มีลักษณะเป็นการเช่ามาเพื่อใช้สอยตามปกติไม่ นอกจากนี้หนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีมูลหนี้มาจากสัญญาซื้อขายและสัญญาซื้อกลับคืนพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อการค้า จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 3 และมาตรา 4 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจและให้สัตยาบันแก่จำเลยที่ 6 โดยให้ถือว่านิติกรรมสัญญาต่าง ๆ และกิจการใด ๆ ที่จำเลยที่ 6 ทำในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะแทนจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยอมให้มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทุกประการ ไม่ว่านิติกรรมสัญญาหรือกิจการใด ๆ ดังกล่าวจะได้กระทำลงก่อนหน้านี้ก็ตาม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้แก่โจทก์ อันเป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย และจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือรับสภาพหนี้ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อย่างลูกหนี้ร่วมเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12170/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัตรเครดิตไม่เป็นโมฆะ แม้มีค่าธรรมเนียมหลายรูปแบบ หากไม่เกินวิสัยที่วิญญูชนคาดหมายได้
ธนาคารพาณิชย์โจทก์มีประกาศเรื่อง กำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยได้ตามที่ตกลงกันไว้เมื่อโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยเกินไปกว่าอัตราที่ปรากฏในประกาศดังกล่าว จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 อันจะทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะ
ข้อตกลงที่ให้ธนาคารโจทก์คิดค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสดซึ่งจะคิดต่อเมื่อมีการเบิกถอนเงินสด และค่าธรรมเนียมการเป็นสมาชิกซึ่งจะคิดเป็นรายปี มิใช่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยในฐานะผู้บริโภคปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติอันจะเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2298/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าเลิกแล้ว การคืนเงินบำรุงวัดต้องมีหลักฐานการชำระเงินก่อนทำสัญญา สัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยเป็นโมฆะ
สัญญาเช่าเป็นสัญญาแบบพิมพ์ที่โจทก์กำหนดขึ้นล่วงหน้าและโจทก์นำมาใช้กับผู้เช่าทุกคน อันเป็นการนำมาใช้ในการที่โจทก์นำตึกแถวไปให้บุคคลทั่วไปเช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 3
ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปอาจเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 4 ได้ หากปรากฏว่าข้อตกลงนั้นมีผลทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร โดยคู่สัญญาไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพแต่อย่างใด
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 4 (3) ที่บัญญัติว่าข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญนั้น เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อตกลงที่ถือว่าทำให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ถึงขนาดว่าหากเป็นไปตามลักษณะนี้ถือว่าเป็นข้อตกลงที่ได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะมีผลทำให้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
สัญญาเช่าข้อ 8 ระบุว่า ถ้าผู้ให้เช่าต้องการสถานที่เช่าคืนในระหว่างที่ยังไม่สิ้นสัญญาด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ผู้ให้เช่าจะบอกผู้เช่าให้ทราบล่วงหน้าก่อนไม่ต่ำกว่า 30 วัน และผู้เช่ายอมออกจากสถานที่เช่านั้นภายในกำหนดของผู้ให้เช่า โดยยอมรับว่าสัญญาเช่าฉบับนี้สิ้นสุดลงในวันที่ผู้ให้เช่ากำหนดนั้นแทนวันสิ้นสุดสัญญาเช่าในข้อ 1 และจะไม่ขอเรียกร้องค่าเสียหายหรือชดใช้ใดๆ ทั้งสิ้นจากผู้ให้เช่า แต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปราฏว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบฝ่ายผู้เช่าเกินสมควรอย่างไรเพราะเหตุใด อันจะเป็นประเด็นให้ศาลวินิจฉัยถึง ลำพังเพียงการตกลงตามข้อ 8 ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าได้เปรียบฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเกินสมควร จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ ทั้งไม่มีลักษณะเป็นข้อความอันบังคับไว้ให้สัญญาเช่าเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตตาม ป.พ.พ. มาตรา 182 แต่เป็นเรื่องของการตกลงให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก่อนที่อายุสัญญาตามที่ตกลงกันไว้จะสิ้นสุดลง โดยคู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ใช่เงื่อนไขของสัญญาเช่าแต่อย่างใด กรณีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ฝ่าฝืนกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาเลิกกันแล้วคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ชำระค่าทำสัญญาเช่าหรือเงินบำรุงวัดจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ โจทก์จึงต้องคืนเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แต่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังกล่าวจะต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้จากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อไม่ปรากฏจากคำฟ้องหรือคำให้การว่าจำเลยได้ชำระค่าทำสัญญาเช่าหรือเงินบำรุงวัดจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์ ก่อนมีการทำสัญญาเพื่อเป็นการตอบแทนการที่โจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลย ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานหลักฐานนอกเรื่องนอกประเด็น ไม่เกี่ยวกับที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ ศาลย่อมไม่อาจรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตามมาตรา 87

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2298/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าสำเร็จรูปที่ไม่เป็นธรรม การบอกเลิกสัญญา และการคืนเงินค่าบำรุงวัด
ข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปใดๆ อาจเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้ หากปรากฏว่าข้อตกลงนั้นมีผลทำให้ผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร ทั้งนี้โดยคู่สัญญาในสัญญาสำเร็จรูปไม่จำต้องเป็นสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ
แบบพิมพ์สัญญาเช่าที่โจทก์เป็นผู้กำหนดขึ้นล่วงหน้าและโจทก์นำมาใช้กับผู้เช่าทุกคนจึงเป็นสัญญาสำเร็จรูป เมื่อไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของจำเลยว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่า ข้อ 8 เป็นการเอาเปรียบฝ่ายผู้เช่าเกินสมควรอย่างไร เพราะเหตุใด ลำพังเพียงการตกลงให้สิทธิแก่ผู้ให้เช่าที่จะบอกเลิกสัญญาได้แม้สัญญาเช่ายังไม่สิ้นสุดแต่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนไม่ต่ำกว่า 30 วันนั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้ฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าได้เปรียบฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าเกินสมควร ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540
ตามสัญญาเช่าข้อ 8 ไม่มีลักษณะเป็นข้อความอันบังคับไว้ให้สัญญาเช่าเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตตาม ป.พ.พ. มาตรา 182 แต่เป็นเรื่องของการตกลงให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก่อนที่อายุสัญญาตามที่ตกลงกันไว้จะสิ้นสุด โดยคู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงไม่ใช่เงื่อนไขของสัญญาเช่า
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยกับ พ. หลอกลวงโจทก์จนหลงเชื่อเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยขอให้เพิกถอนสัญญาเช่า ประการหนึ่ง กับโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า ข้อ 8 ทำให้สัญญาเช่าสิ้นสุดลง อีกประการหนึ่ง สิทธิของโจทก์ทั้งสองประการแยกจากกันได้ไม่เป็นการขัดกัน แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยหลอกลวงโจทก์ในการทำสัญญาเช่าก็หาเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะใช้สิทธิตามสัญญาเช่าข้อ 8 เพื่อเลิกสัญญาแก่จำเลยไม่
ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้นั้นต้องเป็นข้อกฎหมายที่ได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เมื่อไม่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์หรือคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้ชำระค่าทำสัญญาเช่าหรือเงินบำรุงวัดแก่โจทก์ก่อนมีการทำสัญญาเช่า เพื่อเป็นการตอบแทนการที่โจทก์ทำสัญญาเช่ากับจำเลย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดจากพยานนอกเรื่องนอกประเด็นไม่เกี่ยวกับที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ ศาลไม่อาจรับฟังมาวินิจฉัยเป็นข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87
of 2