พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2765/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตีความสัญญาประกันภัยสำเร็จรูปต้องคำนึงถึงผู้บริโภค และกรณีผู้เอาประกันภัยไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มตามวงเงินคุ้มครอง
กรมธรรม์ประกันภัยหมาย ล.4 ข้อ 3.1.7 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยจะอ้างข้อสัญญาดังกล่าวเพื่อจำกัดความรับผิดไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นจึงมีได้เพียง 2 กรณี คือ (1) ผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือ (2) ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ในอุบัติเหตุนั้น ซึ่งตามกรมธรรม์ ฯ ข้อ 17 กำหนดว่า ความหมายและเจตนารมณ์ของข้อความที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยนี้ รวมทั้งเอกสารแนบท้ายและเอกสารประกอบให้ตีความตามที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบไว้ ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2552 ซึ่งสั่งให้ใช้คู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถได้ยกตัวอย่างอธิบายความหมายของข้อความที่ว่า ไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่ ทำให้เห็นว่า ข้อความดังกล่าวมุ่งเฉพาะกรณีไม่ทราบตัวผู้ที่ต้องรับผิด แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า ผู้ตายเป็นผู้ประสบภัยซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยมิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและมีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ตายคือ ท. ผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตาย เพียงแต่ ท. ถึงแก่ความตายไปก่อนถูกดำเนินคดีอาญา หาใช่เป็นกรณีไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะรับผิดเพียงไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นดังที่กำหนดไว้ในข้อ 3.1.7การตีความสัญญาประกันภัยซึ่งข้อความในสัญญาถูกกำหนดขึ้นฝ่ายเดียวโดยที่ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้บริโภคไม่สามารถแก้ไขเป็นอย่างอื่นได้ จึงต้องตีความโดยคำนึงถึงความเข้าใจและความคาดหมายของผู้บริโภคอันเป็นส่วนหนึ่งของเจตนาในการเข้าทำสัญญาประกอบด้วยเสมอ ดังนั้น ถึงแม้ว่าข้อความในกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 3 ตอนต้นจะตรงกับ เรื่องประกันภัยค้ำจุน แต่ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาประกันภัยที่ทำขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 และเมื่อพิจารณาต่อไปในข้อ 3.1.6 ที่กำหนดให้บริษัทผู้รับประกันภัยต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้เอาประกันภัยและบุคคลในครอบครัวในกรณีรถที่เอาประกันภัยเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องจากความผิดของผู้อื่นที่ขับขี่รถคันนั้น รวมทั้งข้อ 3.1.7 ดังที่ได้วินิจฉัยข้างต้น จะเห็นว่าทั้งสองข้อเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับความรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย ไม่ใช่ข้อตกลงว่าผู้รับประกันภัยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ สัญญาประกันภัยที่พิพาทจึงแตกต่างจากสัญญาประกันภัยค้ำจุน และการที่ข้อ 3.1.7 ซึ่งกำหนดว่า ผู้รับประกันภัยจะรับผิดเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นกล่างถึงแต่เฉพาะกรณีผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยเป็นฝ่ายต้องรับผิดหรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิด ย่อมทำให้ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นวิญญูชนเข้าใจโดยสุจริตว่า หากตนเองไม่ได้เป็นฝ่ายผิดแล้วจะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเหมือนผู้ประสบภัยคนอื่น ๆ ไม่ใช่ได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้น ทั้งการที่กฎหมายบังคับให้เจ้าของรถทุกคันต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยยิ่งทำให้ผู้ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายต่างคาดหมายว่าหากตนประสบอุบัติเหตุโดยที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ก็ต้องได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยเต็มตามวงเงินที่คุ้มครอง เมื่อข้อความในสัญญาไม่ชัดเจนทำให้เกิดปัญหาในการตีความและเป็นที่สงสัย เมื่อกรมธรรม์ ฯ หรือสัญญาประกันภัยในคดีนี้เป็นเอกสารสัญญาที่จำเลยกำหนดสาระสำคัญต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาสำเร็จรูปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 การตีความในกรณีมีข้อสงสัยจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรา 4 วรรคสอง จึงต้องตีความสัญญาไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายโจทก์ซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายเต็มจำนวนความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิต