พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4958/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจะซื้อขายที่ดิน: ศาลฎีกาวินิจฉัยลักษณะสัญญาจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน แม้เอกสารระบุเป็นสัญญาเช่าซื้อ
แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาโจทก์ก็ยังมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ตามฟ้องของตน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลย และโจทก์เบิกความว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินจากจำเลยตามเอกสารที่ระบุว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อ ดังนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายตามที่โจทก์ฟ้องและเบิกความ หรือเป็นสัญญาเช่าซื้อตามข้อความที่ระบุในเอกสาร ข้อความในเอกสารฉบับพิพาทระบุว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อแต่ในแผนผังท้ายเอกสารกลับระบุว่าเป็นที่ดินแบ่งขาย ซึ่งที่ดินที่พิพาทกันตามเอกสารฉบับนี้ก็รวมอยู่ในแผนผังนี้ด้วย เมื่อปรากฏว่าลักษณะของแผนผังดังกล่าวเป็นการนำที่ดินแปลงใหญ่มาจัดสรรแบ่งแยกเป็นแปลงเล็กออกขายให้แก่ลูกค้าและสาระสำคัญของเอกสารฉบับพิพาทคงมีแต่เรื่องจำนวนเงินทั้งหมดที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลยจำนวนเงินมัดจำ จำนวนเงินที่ต้องชำระเป็นรายเดือนเป็นเวลากี่เดือน เมื่อโจทก์ชำระครบตามจำนวนเงินดังกล่าว จำเลยจะมอบกรรมสิทธิ์โอนที่ดิน ให้แก่โจทก์ ถ้าโจทก์ไม่ผ่อนชำระเงินตามเวลา ที่กำหนดให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ไม่มีข้อความใน เอกสารฉบับพิพาทตอนใดที่ระบุว่าจำเลยซึ่งเป็น เจ้าของที่ดินเอาที่ดินออกให้เช่าและไม่มีเรื่อง การเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ รวมทั้งไม่มี เรื่องการกลับเข้าครอบที่ดินของจำเลย และนอกจากการผิดนัดชำระเงินแล้วก็ไม่มีการกระทำอื่นอัน จะถือว่าจำเลยได้กระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็น ส่วนสำคัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคแรก ดังนี้ เอกสารฉบับพิพาทจึง เป็นสัญญาจะซื้อขาย โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรง ต่อศาลฎีกา โดยข้อกฎหมายว่า สัญญาที่โจทก์ทำ กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายที่ดิน มิใช่สัญญาเช่าซื้อ ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย คดีรับฟังได้ว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดิน กับจำเลยตามฟ้องแต่เมื่อคดียังมีปัญหาต้องวินิจฉัย ต่อไปว่า โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยแล้วตามสัญญา หรือไม่ และจำเลยผิดสัญญาหรือไม่ซึ่งศาลชั้นต้น ยังไม่ได้วินิจฉัย และมิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจ วินิจฉัยได้ จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น วินิจฉัยปัญหาในคดีให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษา ใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อ ศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นที่ว่า สัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย หรือไม่ เมื่อศาลฎีกาฟังว่าเป็นสัญญาจะซื้อขายแล้ว แม้ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ได้ชำระเงิน ให้แก่จำเลยตามสัญญาแล้วหรือไม่ และจำเลยผิดสัญญา หรือไม่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัย ซึ่งมิใช่เป็นปัญหา ข้อกฎหมายที่โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ในปัญหา ว่าสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อขายหรือไม่ เช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล เพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินนี้ให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3019/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายคดีแพ่ง: การตีความมาตรา 1562 และ 1547 อย่างเคร่งครัด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ที่ห้ามฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาเป็นบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ ต้องตีความโดยเคร่งครัด ซึ่งหมายความว่าห้ามเฉพาะบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบุพการีของตนเท่านั้นโจทก์เป็นบุตรที่จำเลยรับรองแล้วแต่จำเลยและมารดาโจทก์มิได้จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยต่อเมื่อจำเลยและมารดาโจทก์สมรสกันภายหลังหรือจำเลยได้จดทะเบียนว่าโจทก์เป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547เมื่อไม่มีการดำเนินการดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีไม่ได้ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง20 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตาราง 1 ข้อ 2(ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลดังกล่าวเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2821/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจทนายประนีประนอมยอมความ - การฉ้อฉล - สัญญาประนีประนอมยอมความ
ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มาศาลแต่ทนายความของโจทก์ไล่โจทก์ออกนอกห้องพิจารณาแล้วทนายโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยโดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม หากโจทก์อยู่ในห้องพิจารณาโจทก์จะไม่ยอมตกลงด้วยนั้นแม้เป็นความจริงก็เป็นเรื่องทนายความของโจทก์ซึ่งมีอำนาจประนีประนอมยอมความตามใบแต่งทนายความกระทำการฝ่าฝืนความประสงค์ของโจทก์ โจทก์จะเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งหาใช่เป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138(1) ไม่ โจทก์ฎีกาว่าสัญญาประนีประนอมยอมความทำขึ้นโดยฉ้อฉล ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ และให้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ต่อไปตามรูปคดีโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เป็นฝ่ายชนะคดีคำขอตามคำฟ้องอุทธรณ์และคำฟ้องฎีกาของโจทก์ จึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเป็นค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ(2)(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2319/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพิจารณาเลื่อนคดีก่อนสั่งงดสืบพยาน: การยื่นบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 88 วรรคสอง ที่กำหนดให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน นั้น หมายความว่าจะต้องเป็นวันนัดที่ได้มีการสืบพยานกันจริง ๆ แต่ถ้าหากถึงวันนัดแล้วศาลอนุญาตให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลื่อนคดีได้ก็ไม่ถือว่าวันนัดดังกล่าวเป็นวันนัดสืบพยานตามความหมายของมาตรา 88 วรรคสอง ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์มาศาลและแถลงขอเลื่อนคดีอ้างว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ซึ่งต้องเบิกความเป็นพยานต่อศาลติดธุระไม่สามารถมาศาลได้ ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาสั่งเกี่ยวกับการขอเลื่อนคดีของโจทก์เสียก่อนเพราะถ้าหากศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์เลื่อนคดีได้วันนัดดังกล่าวก็ไม่เป็นวันนัดสืบพยานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสอง และโจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันนัดสืบพยานโจทก์ครั้งใหม่ให้ถูกต้องได้ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งงดสืบพยานโจทก์เสียก่อนโดยไม่ได้พิจารณาสั่งเรื่องการขอเลื่อนคดีของโจทก์เช่นนี้ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง โจทก์ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายโดยขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามรูปคดีจึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2 ก แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีประกันภัยค้ำจุน: นับจากวันเกิดวินาศภัย 2 ปี ศาลฎีกายกฟ้องข้ออ้างขาดอายุความ
โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามสัญญาประกันภัย ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่ชนรถยนต์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ ให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ไปแล้วนั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ซึ่งมีอายุความ2 ปีนับแต่วันเกิดวินาศภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 882 เหตุวินาศภัยเกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2534 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่1 มีนาคม 2536 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223ทวิ เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความแล้วจำเลยจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์เช่นนี้ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาทตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1ข้อ 2(ก) เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลดังกล่าวเกินมา จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับบัญชีระบุพยานแม้ยื่นก่อนวันชี้สองสถานไม่ครบ 15 วัน หากไม่มีเจตนาฝ่าฝืนหรือเอาเปรียบ
โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานวันที่ 4 ตุลาคม 2536 แม้จะเป็นเวลาน้อยกว่าสิบห้าวันก้อนวันชี้สองสถาน แต่ก็ปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานได้จนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2536 แต่วันดังกล่าวเป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ รุ่งขึ้นวันที่ 4 โจทก์ก็ยื่นบัญชีระบุพยานทันที ทั้งปรากฏด้วยว่าโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอส่งสำเนาเอกสารที่โจทก์ได้อ้างเป็นพยานตามบัญชีระบุพยานให้แก่ศาลและจำเลยได้รับไปจากศาลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2536แล้วเช่นนี้ เห็นได้ว่าโจทก์มิได้จงใจฝ่าฝืนและเอาเปรียบจำเลยฉะนั้นแม้โจทก์จะยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันชี้สองสถานน้อยกว่าสิบห้าวันและมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานต่อศาลแต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม สมควรได้รับบัญชีระบุพยานของโจทก์ได้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) จำเลยฎีกาโต้แย้งว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้รับบัญชีระบุพยานของโจทก์เป็นการไม่ชอบ เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาเพียง 200 บาท จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทจึงเสียเกินมา ชอบที่ศาลฎีกาจะสั่งคืนแก่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4875/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การถอดถอนและแต่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่เกินคำขอ
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ และแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ต่อไป จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลย และโจทก์ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทรวม 2 ประเด็น คือ สมควรถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่หรือไม่ เป็นประเด็นข้อแรกและสมควรตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่หรือไม่เป็นประเด็นข้อ 2 ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรและมีคำพิพากษาตั้งโจทก์เข้าร่วมเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ จึงเป็นการวินิจฉัยในข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นโดยชอบ และเป็นคำพิพากษาตามคำขอในประเด็นข้อ 2 ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์ของผู้ไม่อยู่ร่วมกับจำเลย เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันแล้วในศาลชั้นต้นโดยชอบ และเป็นการพิพากษาเกินคำขอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบนั้น เป็นฎีกาเกี่ยวกับคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาราง 1 ข้อ 2(ก)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2531
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีไม่มีทุนทรัพย์: การฟ้องรุกล้ำที่ดินและการเสียค่าขึ้นศาล
จำเลยมีที่ดินติดต่อกับที่ดินของโจทก์ร่วม และโจทก์จำเลยต่างเช่าที่ดินของโจทก์ร่วมบางส่วน โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่าจำเลยสร้างรั้วและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ร่วมซึ่งโจทก์เช่าอยู่ จำเลยให้การเพียงว่าไม่ได้ปลูกสร้างรั้วและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินส่วนที่โจทก์เช่าจากโจทก์ร่วม แต่รั้วและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินของจำเลยและบางส่วนของที่ดินที่จำเลยเช่าจากโจทก์ร่วม ไม่ได้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่โจทก์หรือจำเลยเช่าจากโจทก์ร่วม จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 2(ก)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 697/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การสละประเด็นข้อพิพาทและการสืบพยานในประเด็นเดียวที่เหลืออยู่ ศาลต้องวินิจฉัยตามรูปคดี
ก่อนสืบพยานคู่ความแถลงขอสละประเด็นข้อพิพาททุกข้อคงเหลือเพียงข้อเดียวว่าโจทก์รังวัดเข้ามาในที่ดินของจำเลยหรือไม่ แสดงว่าจำเลยสละข้อต่อสู้อื่น ๆ ทั้งหมด คงให้ศาลสืบพยานและวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวข้อเดียวเป็นข้อแพ้ชนะ ฉะนั้นหากสืบพยานเสร็จฟังได้ว่าโจทก์รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลย ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง แต่ถ้า ฟังได้ว่าไม่ได้รังวัดเข้าไปในที่ดินของจำเลยก็ต้องพิพากษาบังคับให้จำเลยรับรองแนวเขตที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง มิใช่ว่าแม้จะพิจารณาได้ความอย่างไรคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็ไม่อาจบังคับตามกฎหมายให้โจทก์ได้ ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาจึงชอบที่จะพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี โจทก์ฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ มิได้ฎีกาขอให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง ทั้งประเด็นค่าเสียหายโจทก์จำเลยก็สละแล้ว จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลสองร้อยบาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ 2(ก).