คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 20.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรม การเลิกจ้างขัดต่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์
ประกาศของจำเลยเรื่องการลาออกเนื่องจากเกษียณอายุกำหนดให้พนักงานตั้งแต่หัวหน้าแผนกขึ้นไปที่มีอายุครบ 60 ปี เกษียณอายุในวันสิ้นรอบปีบัญชีของจำเลย เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 10 การที่จำเลยออกระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับต่อมากำหนดให้พนักงานหญิงเกษียณเมื่ออายุครบ 45 ปี เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างหญิง และจำเลยมิได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 13 ถึงมาตรา 19 ระเบียบและข้อบังคับฉบับหลังจึงไม่มีผลบังคับเพราะขัดกับมาตรา 20 จำเลยจะให้โจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกของจำเลยออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุก่อนโจทก์มีอายุครบ 60 ปีหาได้ไม่ การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ศาลแรงงานกลางเห็นว่าเอกสารท้ายฟ้องและที่คู่ความส่งต่อศาลกับคำแถลงของคู่ความเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้ จึงสั่งงดสืบพยานคู่ความ แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพิพากษายกฟ้อง เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำนวนเงินประเภทต่าง ๆ ที่โจทก์เรียกร้องมาเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางยังมิได้พิจารณาศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในส่วนนี้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 834/2530 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณต่อลูกจ้างเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชย
เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ท. ต่อมาได้โอนมาเป็นลูกจ้างของจำเลย ในครั้งแรกจำเลยใช้ระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จเดิมของบริษัท ท. ซึ่งในกรณีที่โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุ โจทก์มีสิทธิได้รับทั้งเงินบำเหน็จและค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน แต่ต่อมาจำเลยได้ออกข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 32 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จใหม่ ซึ่งตามข้อบังคับฉบับนี้โจทก์กลับมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเพียงเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวนค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเท่านั้นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในทางที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์จะนำมาใช้บังคับแก่โจทก์ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ดังนั้น แม้จำเลยจะได้จ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามข้อบังคับ ฉบับที่ 32 แล้วก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะได้รับค่าชดเชยจากจำเลยอีก.