คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประมาณ ตียะไพบูลย์สิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 355 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3267/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเลื่อนคดีซ้ำโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ และการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ แม้มีการอุทธรณ์คำสั่ง
การที่ผู้ร้องขอเลื่อนคดีติดต่อกัน 5 ครั้งมาเป็นเวลานานเกือบ 1 ปี ไม่ยอมนำสืบพยานหลักฐาน การขอเลื่อนครั้งที่สี่ศาลชั้นต้นกำชับไว้แล้วว่าจะไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอีกและให้ผู้ร้องเตรียมพยานมาศาลให้พร้อมสืบ ผู้ร้องทราบคำสั่งศาลแล้ว ในวันสืบพยานครั้งที่ 5 ผู้ร้องไม่มีพยานมาศาล ขอเลื่อนคดีอ้างเหตุ ร. ทนายความติดหาเสียงเลือกตั้งทั้งที่ผู้ร้องแต่งตั้งทนายความไว้สองคนคือ ร. และ ท. เมื่อไม่ปรากฏว่า ท. ติดภาระใดหรือเจ็บป่วยเหตุขอเลื่อนคดีของผู้ร้องจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอแก่การรับฟัง มีลักษณะเป็นการประวิงคดี
แม้คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3) ไม่ถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาและอุทธรณ์ได้ เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคสาม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินคดีต่อไปและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีโดยไม่ต้องหยุดการพิจารณา เว้นแต่ศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการสมควรและมีคำสั่งให้งดการพิจารณาไว้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้งดการพิจารณาหรืองดการวินิจฉัย การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีและถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบ มีคำสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ จึงชอบด้วยเหตุผลและกระบวนพิจารณาแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3137/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดทรัพย์ล้มละลายต้องดำเนินการให้ได้ราคาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย
ภายหลังการยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดหลายครั้งราคาที่ดินซึ่งถูกยึดเพื่อขายทอดตลาดทั้งสามแปลงมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แม้ พ. จะเป็นผู้ประมูลได้โดยเสนอราคาสูงกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ตาม แต่เมื่อที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวไม่ได้อยู่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันและผู้คัดค้านไม่ได้มีเจตนาที่จะขายทรัพย์สินเหล่านั้นรวมกันมาตั้งแต่ต้น การที่ผู้คัดค้านอนุญาตให้ขายที่ดินทั้งสามแปลงรวมกันไปตามคำร้องขอของ พ. ผู้เข้าสู้ราคาเพียงรายเดียวนั้น จึงเป็นเหตุให้ขายได้ในราคาต่ำกว่าราคาที่แท้จริง ดังนั้นการขายทอดตลาดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยความมุ่งหมายแห่งการขายทอดตลาดเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 123

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3135/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้เพื่อขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ และขอบเขตการได้รับชำระหนี้
ก่อนยื่นคำขอรับชำระหนี้คดีนี้เจ้าหนี้ได้ฟ้องบริษัท ส. และลูกหนี้เป็นจำเลยในข้อหาผิดสัญญาซื้อขาย รับสภาพหนี้ และใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ โดยฟ้องว่า บริษัท ส. ผิดสัญญาไม่ชำระค่าสินค้าให้เจ้าหนี้ ซึ่งต่อมาบริษัท ส. ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 38,065,534.81 บาท และขอผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือน แต่ก็ผิดนัดชำระหนี้และปรากฏว่าก่อนหน้านี้ลูกหนี้ได้ว่าจ้างบริษัท ส. ดังกล่าว ก่อสร้างและติดตั้งระบบภายในอาคารของลูกหนี้ โดยมีการส่งมอบงานแก่ลูกหนี้ 3 งวด รวมทั้งสิ้น 76 ครั้ง คิดเป็นเงิน 127,000,000 บาท และบริษัท ส. รับสมอ้างว่าได้รับค่าจ้างจำนวนดังกล่าวไปจากลูกหนี้แล้วซึ่งไม่เป็นความจริง เจ้าหนี้จึงแจ้งให้บริษัท ส. ใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ดังกล่าวเพื่อจะได้นำมาชำระหนี้ค่าสินค้าแก่เจ้าหนี้ แต่บริษัท ส. เพิกเฉยทำให้เจ้าหนี้เสียหายและเสียประโยชน์ ขอให้บังคับบริษัท ส. และลูกหนี้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 38,065,534.81 บาท พร้อมดอกเบี้ย บริษัท ส. และลูกหนี้ให้การต่อสู้คดี แต่ระหว่างการพิจารณาคดีลูกหนี้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะลูกหนี้ชั่วคราว และต่อมาได้พิพากษาให้บริษัท ส. ชำระหนี้ดังกล่าวแก่เจ้าหนี้ คดีถึงที่สุด ดังนี้ การที่เจ้าหนี้ได้ฟ้องบริษัท ส. และลูกหนี้เป็นจำเลยในคดีแพ่งแทนการขอให้ศาลออกหมายเรียกให้บริษัท ส. เข้ามาในคดีในการใช้สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้ ก็ถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 234 ที่มุ่งหมายให้ลูกหนี้เข้ามาในคดีเพื่อรักษาสิทธิของตนแล้ว และการที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในนามตนเองแทนบริษัท ส. เป็นกระบวนการที่สืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัท ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้นั่นเอง เมื่อบริษัท ส. ไม่มีทรัพย์สินที่เจ้าหนี้จะบังคับมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ และบริษัท ส. ก็มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ด้วย จึงเป็นกรณีที่บริษัท ส. เพิกเฉยไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียประโยชน์ เจ้าหนี้จึงใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัท ส. ในนามตนเองขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามจำนวนหนี้ที่บริษัท ส. เป็นหนี้เจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์ในคดีล้มละลาย: จำเลยมีหน้าที่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ แม้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
จำเลยซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 5 วัน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยนำส่งหมายดังกล่าวย่อมมีความชัดเจนว่าจำเลยมีสิทธิใช้จ่ายเงินของตนได้แล้วตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 24 จำเลยจะอ้างว่าไม่มีสิทธิใช้ทรัพย์สินเพราะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่ได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นย่อมเป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งของศาลละเลยต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่เป็นหน้าที่ของตนจึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2450/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ต้องเป็นหนี้ซึ่งกันและกันในเวลาที่มีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ
การใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 90/33 บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นหนี้ลูกหนี้ในเวลาที่มีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้นั้นอาจใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในกรณีที่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการขอใช้สิทธิหักกลบลบหนี้โดยเฉพาะ หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้กับลูกหนี้ผู้ถูกฟื้นฟูกิจการต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกันอยู่ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้นั้นอาจใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้ อันจะยังผลให้หนี้ในส่วนนั้นระงับไป สำหรับข้อยกเว้นสำคัญคือเจ้าหนี้จะต้องไม่ได้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว ส่วนข้อความ "...ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ..." ในมาตราดังกล่าวก็คือในวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการนั่นเองหาได้มีความหมายเลยไปถึงช่วงเวลาภายหลังที่ศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเพราะหนี้ประเภทใดบ้างที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้น มาตรา 90/27 วรรคสาม ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ คดีนี้เมื่อเจ้าหนี้เป็นหนี้ลูกหนี้ในเงินที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายหลังเวลาที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงไม่ใช่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกันอยู่ในเวลาที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ย่อมไม่อาจใช้สิทธิขอหักกลบลบหนี้สำหรับหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2446/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลที่ไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ไม่อุทธรณ์ได้จนกว่ามีคำพิพากษา
การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นคำสั่งก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม มิใช่คำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2147/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย: สิทธิคงอยู่แม้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดถูกเพิกถอนและมีคำสั่งใหม่
เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางและให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไป คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถูกเพิกถอนไป และต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่เฉพาะในส่วนที่ผิดพลาดและถูกเพิกถอนเท่านั้น กระบวนพิจารณาในส่วนนี้ย่อมนำ ป.วิ.พ. มาใช้ได้แต่ในคดีล้มละลายยังมีกระบวนพิจารณาโดยเฉพาะซึ่งมีความแตกต่างไปจากคดีแพ่งทั่วไปตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 6 บัญญัติไว้ ซึ่งอาจกระทำโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเริ่มต้นที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเมื่อคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องไม่มีส่วนใดที่ผิดกฎหมาย จึงไม่ถูกเพิกถอนและยังคงมีผลใช้ได้ แม้ศาลอุทธรณ์จะยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลางแล้วต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งใหม่โดยมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเช่นเดิม คำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องที่ยื่นไว้เดิมจึงยังคงมีผลใช้ได้โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่
ในคดีล้มละลายเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางอีกครั้งหนึ่งนั้น การโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในครั้งที่สองนี้มีความประสงค์เพียงเพื่อให้เจ้าหนี้ที่จำเลยทั้งสองไปก่อหนี้สินขึ้นภายหลังวันที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของศาลล้มละลายกลาง จนถึงวันก่อนวันอ่านคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดครั้งที่สองของศาลล้มละลายกลางมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้เท่านั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วในคราวโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ครั้งแรกจึงถือได้ว่ายื่นคำขอใว้แล้วก่อนระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดครั้งที่สองสิ้นสุดลง ผลของการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องจึงยังคงมีอยู่โดยไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1639/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาล และผู้ซื้อไม่สามารถเลิกสัญญาซื้อขายได้หากการโอนกรรมสิทธิ์ล่าช้าจากกระบวนการทางกฎหมาย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินและฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ รวมทั้งกระทำการต่างๆ ในนามลูกหนี้อีกฐานะหนึ่งจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้
ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด ซึ่งหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดิน และประกาศขายทอดตลาด ไม่ได้กำหนดเวลาไว้โดยแจ้งชัดว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหกแปลงให้ผู้ร้องเมื่อใด แม้ผู้ร้องมีความประสงค์จะนำที่ดินทั้งหกแปลงไปพัตนาทำธุรกิจก็เป็นเหตุผลเฉพาะตัวโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตกลงด้วย จึงไม่อาจนำมาผูกมัดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ อีกทั้งผู้ร้องได้เข้าเป็นคู่ความในการร้องให้เพิกถอนการขายทอดตลาด เป็นการยอมรับถึงเหตุที่ทำให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องล่าช้าโดยเฉพาะเหตุแห่งความล่าช้านี้เป็นการที่จะต้องดำเนินตามกระบวนพิจารณาที่ ป.วิ.พ. ได้บัญญัติไว้ ยังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผิดสัญญา จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาใช้ได้ และเมื่อกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการร้องให้เพิกถอนการขายทอดตลาดถึงที่สุดแล้ว โดยศาลยกคำร้องให้เพิกถอนการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ย่อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องได้ การชำระหนี้หาได้ตกเป็นพ้นวิสัยอันจะเป็นเหตุให้ผู้ร้องเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องซ้ำเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ทำแผนและแผนฟื้นฟูที่ศาลเคยวินิจฉัยแล้ว เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำที่กฎหมายห้าม
ในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นข้อคัดค้านว่าผู้ทำแผนไม่มีคุณสมบัติและไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้บริหารแผน ทั้งแผนมีรายละเอียดที่ขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นธรรม ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทอ. มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดสามารถเป็นผู้บริหารแผนได้ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการชอบด้วยกฎหมายจึงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่เห็นชอบด้วยแผน ต่อมาวันที่ 5 กันยายน2544 ผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งมีข้อความเหมือนกับคำร้องฉบับลงวันที่เดียวกับที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนและมีคำสั่งว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นโมฆะ และให้ยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการ และเนื่องจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้เลือกบริษัท ท. เป็นผู้ทำแผนอันดับ 2 เมื่อบริษัท อ. ไม่สามารถเป็นผู้ทำแผนได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งบริษัท ท. เป็นผู้ทำแผนแทนอันเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1485/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องซ้ำในประเด็นที่ศาลวินิจฉัยแล้ว ถือเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายล้มละลาย
ผู้บริหารของลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งมีข้อความเหมือนกับคำร้องฉบับลงวันที่เดียวกันที่ยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง โดยขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งผู้ทำแผนและมีคำสั่งว่าแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นโมฆะ และให้ยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว โดยขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งบริษัท ท. เป็นผู้ทำแผนแทน ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยเป็นคำสั่งคำร้องศาลฎีกาว่า "คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว และประเด็นตามคำร้องได้มีการวินิจฉัยในคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว ให้ยกคำร้อง..." การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้บริหารของลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางมีข้อความทำนองเดียวกับที่ยื่นต่อศาลฎีกาในวันเดียวกัน กับทั้งประเด็นเดียวกับที่มีการอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน อันเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 14
of 36