พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7216/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนที่ดินมีใบจองก่อนมี น.ส.2 มิใช่การต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ที่ดิน และการสละการครอบครองไม่ขัดกฎหมาย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่าการที่ น โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีใบจอง (น.ส.2) ตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์เป็นการต้องห้ามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา8จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลชั้นต้นจำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง น. ได้โอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีใบจอง (น.ส.2) โดยส่งมอบการครอบครองให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนที่ทางราชการจะออกใบจอง (น.ส.2) ที่ดินพิพาทให้แก่ น. การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. กับโจทก์จึงไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 8 วรรคสอง ไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น (พ.ศ. 2530) ปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้รับคำรับรองจากนายอำเภอว่าได้ทำประโยชน์แล้ว การที่ น. โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อตีใช้หนี้ จะขัดต่อพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9หรือไม่นั้นแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 น. โอนที่ดินพิพาทขณะเป็นที่ดินที่ยังไม่มีใบจอง (น.ส.2) ให้แก่โจทก์โดยการส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา กรณีเป็นเรื่องที่ น. แสดงเจตนาสละการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การครอบครองของ น. ย่อมสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377วรรคแรก โจทก์จึงได้สิทธิครอบครอง กรณีมิใช่เป็นการโอนสิทธิครอบครองตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9 และการสละการยึดถือครอบครองในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย การโอนที่ดินพิพาทจึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 แม้ที่ดินพิพาทมีข้อบังคับห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 31แห่งประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่ทางราชการเพิ่งออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่ น.ภายหลังจากที่ น. ได้สละหรือโอนการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ไปแล้ว การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. กับโจทก์จึงมิได้กระทำภายในระยะเวลาห้ามโอน ไม่ตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2890/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาค่าทนายที่กำหนดค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งทรัพย์สินจากการฟ้องร้อง ถือเป็นโมฆะตามกฎหมายทนายความ
ตามสัญญาให้ค่าว่าจ้างทนายข้อ 2 มีว่า จ.ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าว่าจ้างเป็นค่าทนายตอบแทนแก่โจทก์ผู้รับจ้างเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000,000 บาท แต่เนื่องจากจ. ยากจนไม่มีเงินชำระให้แก่โจทก์ได้ จึงประสงค์ขอยกที่ดินพิพาทตามสัญญาว่าจ้างทนาย ข้อ 1 ชำระแทน โดยขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำนวน 40 ส่วนของที่ดินและตึกแถวทั้งหมด และหากได้เงินจากคดีดังกล่าวมาเป็นจำนวนเท่าใดจ. ขอแบ่งส่วนได้ให้แก่โจทก์เป็นจำนวนร้อยละ 40เช่นเดียวกันอีกด้วย ซึ่งที่ดินที่จะแบ่งให้ตามสัญญาข้อ 1เป็นที่ดินที่ จ. จะได้มาจากการฟ้องร้องคดี จึงเป็นข้อสัญญารับจ้างว่าความโดยวิธีทำสัญญาแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ จ. ลูกความเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2508 มาตรา 41 ประกอบพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2477 มาตรา 12(2) ซึ่งใช้บังคับในขณะทำสัญญา จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิมที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา แม้ต่อมาจะได้มีพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2508 แล้วและตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทเฉพาะกาล มาตรา 86กำหนดให้คณะกรรมการออกข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความมาตรา 53 ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่ข้อบังคับดังกล่าวมิได้กำหนดเรื่องค่าจ้างว่าความไว้ก็ตามก็ไม่ทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่เป็นโมฆะมาแต่แรกแล้วกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้ สัญญาให้ค่าว่าจ้างทนายมีนิติกรรมเพียงอย่างเดียวคือให้นำที่ดินสิ่งปลูกสร้าง และเงินจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทที่จะได้จากการชนะคดีจำนวนร้อยละ40 มาแบ่งให้แก่โจทก์เป็นค่าจ้างว่าความซึ่งเป็นโมฆะ และไม่มีนิติกรรมส่วนอื่นที่ไม่เป็นโมฆะที่จะแยกออกมาจากส่วนที่เป็นโมฆะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 ที่แก้ไขใหม่การที่กองมรดกของ จ. ได้รับเงินจากการขายทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทหลังจากพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528ใช้บังคับแล้วหาใช่เป็นนิติกรรมที่ใช้ได้แยกออกต่างหากจากสัญญาให้ค่าว่าจ้างทนายซึ่งเป็นโมฆะไม่ และกรณีไม่เข้าลักษณะที่เป็นนิติกรรมอย่างอื่นที่ไม่เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 174 ที่แก้ไขใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9326/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิครอบครองที่ดินจากการซื้อขายที่ขัดต่อกฎหมาย และการครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1 ให้คำนิยามคำว่า"ใบจอง" ว่าหมายถึง หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว จากคำนิยามดังกล่าวถือได้ว่าทางราชการยังไม่ได้ให้สิทธิครอบครองอย่างเด็ดขาดแก่จำเลย จำเลยมีเพียงแต่สิทธิเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โดยต้องปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด รวมทั้งเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนด แต่ในระหว่างที่จำเลยได้รับอนุญาตให้จับจองที่ดินพิพาท จำเลยจะต้องอยู่ภายในบังคับของพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497มาตรา 8 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ที่ดินที่ได้รับใบอนุญาตให้จับจอง ผู้ได้รับอนุญาตจะโอนไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดโดยมรดก เมื่อการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างนายค.กับจำเลยยังอยู่ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าวนิติกรรมการซื้อขายและส่งมอบที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแม้โจทก์ทั้งสองผู้เป็นทายาทจะครอบครองที่ดินพิพาทสืบต่อจากนาย ค. มานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐอันบุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง>ตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่โจทก์ทั้งสองเข้าครอบครองภายหลังจากประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับในปี 2497 แล้ว จึงมิใช่ผู้ได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับทั้งการยึดถือครอบครองของโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆแก่โจทก์ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9259/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาว่าจ้างทนายความโดยแบ่งส่วนจากทรัพย์สิน: โมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม
จำเลยทำสัญญากับโจทก์ซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพทนายความว่าจำเลยว่าจ้างสำนักงานทนายความ บ.ว่าความเรียกร้องที่ดินคืนจาก พ. ทั้งนี้จำเลยให้สำนักงานทนายความ บ. โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นไปก่อน หากได้เงินหรือที่ดินคืน จำเลยจะใช้คืนและจะให้บำเหน็จค่าจ้าง โดยหากได้ที่ดินกลับคืนมาจำนวน 5 ไร่เศษ จะแบ่งที่ดินให้จำนวน 2 ไร่หากได้ที่ดินน้อยกว่านี้จะแบ่งให้ลดหย่อนลงตามส่วนสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ผู้แทนสำนักงานทนายความ บ. กับจำเลยโจทก์จึงเป็นผู้ทำสัญญาดังกล่าวแทนทนายความในสำนักงานทนายความ บ.แม้ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528มาตรา 27(3)(จ) และมาตรา 51 จะมิได้มีข้อห้ามทนายความเรียกค่าจ้างว่าความโดยวิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความสัญญาดังกล่าวจึงไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายก็ตาม แต่การเรียกค่าจ้างว่าความโดยวิธีดังกล่าวเป็นการให้ทนายความเข้าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีทำนองเป็นการซื้อขายความกันและเป็นการยุยงส่งเสริมให้เป็นความกันสัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเป็นโมฆะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิมที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7246/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาโอนสิทธิทำไม้สมบูรณ์ แม้สัมปทานสิ้นสุดก่อนเงื่อนเวลา ชำระเงินแล้วต้องคืน
การชำระหนี้ของจำเลยตามสัญญาตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษจำเลยหรือนาย ป. ไม่ได้ ทำให้จำเลยเป็นอันหลุดพ้นจากการต้องชำระหนี้ของจำเลยที่จะต้องให้นาย ป.ได้รับสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ตามสัญญาที่ทำไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 219 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนจากนาย ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 372 วรรคหนึ่ง แม้สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยโดยนาย ป. จะทวงถามให้จำเลยโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้ให้นาย ป. ได้หลังจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2535ก็ตาม แต่เมื่อมีการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้สัมปทานทำไม้สิ้นสุดลงก่อนถึงเวลาที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้น ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนเป็นอันพ้นวิสัย โดยจะโทษจำเลยหรือนาย ป. ไม่ได้ จำเลยก็ไม่อาจถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นที่ได้กำหนดไว้เดิมนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ต่อไป เมื่อนาย ป. ชำระเงิน 8,000,000 บาท อันเป็นการชำระหนี้ของนาย ป. ตามสัญญาให้จำเลยรับไปครบถ้วนแล้ว นาย ป.จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้ เมื่อนาย ป.ตาย สิทธิดังกล่าวเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของนาย ป. จึงเป็นมรดกของนาย ป. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1600โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนาย ป. จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้จะเป็นโมฆะเพราะวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 63 ก็ต่อเมื่อบทบัญญัติดังกล่าว ห้ามมิให้มีการโอนสัมปทานทำไม้ แต่ปรากฏว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามมิให้ผู้รับสัมปทานโอนสิทธิตามสัมปทานให้แก่ผู้อื่น ทั้งไม่มีบทบัญญัติอื่นในพระราชบัญญัติป่าไม้ฯบัญญัติห้ามเด็ดขาดเช่นนั้นด้วย สัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ขัดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ อันจะทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113เดิม (มาตรา 150 ใหม่) นาย ป. ชำระเงินให้แก่จำเลยตามสัญญาโอนสิทธิการเป็นลูกช่วงทำไม้เป็นสัญญาที่สมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมายและเป็นการชำระหนี้โดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ เงินที่จำเลยได้รับจึงไม่เป็นลาภมิควรได้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 ดังกล่าวที่จะต้องฟ้องเรียกร้องภายใน 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5311/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อหุ้นที่เป็นโมฆะ การชำระหนี้ตามสัญญานั้นไม่อาจเรียกคืนได้
สัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทจำเลยที่ร่วมหุ้นกันซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113(เดิม) การที่โจทก์ชำระเงินค่าหุ้นให้แก่จำเลยตามสัญญาดังกล่าวย่อมเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่ายืนข้อห้ามตามกฎหมายตามมาตรา 411 จึงไม่อาจเรียกเงินคืนจาก จำเลยฐานลาภมิควรได้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6810/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายที่ดินช่วงห้ามโอนเป็นโมฆะ แม้เจตนาจดทะเบียนภายหลัง
ที่ดินที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ได้มาตามพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 นั้น ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันได้รับโอนที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และที่ดินประเภทนี้ก็ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาอันมีผลเป็นการโอนสิทธิในที่พิพาทโดยส่งมอบการครอบครองให้แก่กัน ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย แม้จะเป็นสัญญาจะซื้อขาย และโจทก์กับจำเลยมีเจตนาจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกันภายหลังเมื่อครบกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมายแล้วก็ตามก็เป็นกรรมสิทธิ์ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย สัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113(เดิม),140(ใหม่) จำเลยฎีกาว่าคดีเกี่ยวกับที่ดินอันเป็นที่ทำกินของประชาชนซึ่งมีราคาสูงขึ้น ผู้ทำสัญญาจะขายมักจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมขายทำให้เกิดความไม่ชอบธรรมสังคม ศาลชอบที่จะหยิบยกเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นวินิจฉัยนั้น เป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และมิได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6592/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนที่ดินมีข้อจำกัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน การซื้อขายที่ดินในช่วงเวลาห้ามโอนเป็นโมฆะ สิทธิของผู้ซื้อที่สุจริต
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากนาง จ. ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอน การซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113(เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา แม้นาง จ.จะสละสิทธิครอบครองก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สิทธิครอบครอง จำเลยที่ 3 ซึ่งได้รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิครอบครองเช่นเดียวกัน โดยถือหลักว่า ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางจ. หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลยที่ 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายสิทธิการเช่า: การบังคับให้โอนสิทธิการเช่าและการแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่า
สัญญาขายสิทธิการเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยจำเลยเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะเรียกร้องเอาราคาค่าโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ ในขณะเดียวกันก็เป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่าโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในการที่จะเรียกร้องให้จำเลยดำเนินการโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์ และเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระราคาค่ารับโอนสิทธิการเช่าให้แก่จำเลย และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยจึงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ตามกฎหมายเมื่อจำเลยผิดสัญญาไม่ดำเนินการโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ การโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทจะมีผลต่อเมื่อผู้ให้เช่ายินยอมเสียก่อนจึงจะโอนกันได้ จะถือเอาคำพิพากษาบังคับผู้ให้เช่ายอมให้โจทก์เช่าห้องพิพาทไม่ได้ ต้องพิพากษาให้จำเลยแสดงเจตนาต่อผู้ให้เช่ายอมโอนสิทธิการเช่าให้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6136/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมซื้อขายที่ดินโดยคนต่างด้าวผ่านคนไทยเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดตามกฎหมายที่ดินเป็นโมฆะ ผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิในที่ดิน
ซ. สามีของจำเลยเป็นคนต่างด้าวซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากอ.แต่ให้ส. เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน นิติกรรมการซื้อขายที่ดินและบ้านพิพาทระหว่าง ซ.กับอ.และนิติกรรมการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทของ ส.แทนซ.จึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 86 และมาตรา 113 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิม (มาตรา 150ที่แก้ไขใหม่)