คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 113 เดิม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6059/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินมีข้อห้ามโอน และสิทธิครอบครองหลังสัญญาเป็นโมฆะ
ที่พิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)มีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31โจทก์ซื้อที่พิพาทจากนาย ส. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาทตลอดมา นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับนายส.เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113(เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญา คู่กรณีต้องกลับสู่ฐานะเดิม โดยถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินกัน แต่การที่โจทก์ยังยึดถือครอบครองที่ดินตลอดมาทั้งภายใน 10 ปี และหลัง 10 ปีนับจากวันห้ามโอนแล้ว โจทก์จะได้สิทธิครอบครองในที่ดินหรือไม่เพียงใดต้องแล้วแต่ข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ยึดถือที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตนหรือไม่ ไม่มีกฎหมายใดให้สิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องหรือร้องขอต่อศาลว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5487/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรสจากสิทธิการใช้ที่ดินที่ได้รับอนุญาต สัญญาไม่ขัดกฎหมาย
ถึงแม้ที่ดินที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้ตามหนังสืออนุญาตจะมีข้อความระบุว่าผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ 3(พ.ศ. 2515)ข้อ 12 โดยเคร่งครัด คือ ฯลฯ ต้องใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นตามประเภทของกิจการด้วยตนเอง ฯลฯ แต่ระเบียบข้อ 13 ก็ระบุว่า "ในกรณีที่ผู้ได้รับผ่อนผันให้เข้าอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ปฏิบัติตามข้อ 12 ไม่ว่าจะเป็นกรณีหนึ่งกรณีใด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรให้มีหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องและถ้าเห็นว่าไม่สมควรจะให้อยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อไปแล้วให้นำความในข้อ 5 ข้อ 2 ข้อ 7 ข้อ 8 และ ข้อ 9 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" เมื่อปรากฏว่าที่ดินนี้มีผู้อื่นร่วมใช้ประโยชน์อยู่ด้วย และหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินนี้มีการอนุญาตต่อเนื่องกันมาหลายฉบับหลายปีต่อเนื่องกัน โดยไม่ปรากฏว่ามีปัญหาโต้แย้งในเรื่องที่มีผู้อื่นเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใดแสดงว่าการใช้ประโยชน์ในที่ดินนี้ไม่จำต้องใช้ด้วยตัวจำเลยเองก็ได้ กรณีจึงมิใช่เรื่องเฉพาะตัว ข้อตกลงตามสัญญาหย่าที่ตกลงแบ่งสิทธิตามหนังสืออนุญาตดังกล่าว ซึ่งจำเลยได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ย่อมเป็นสินสมรสที่โจทก์มีสิทธิอยู่ด้วย การตกลงจึงหาได้มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะทำให้ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4780/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: กำหนดเวลาการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนที่ดิน ไม่เป็นโมฆะ แม้ต้องใช้เวลาประกาศ 30 วัน
โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยตกลงที่จะจดทะเบียนโอนที่ดินตาม น.ส.3 พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งมีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของให้แก่โจทก์โดยจะไปจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนภายใน 7 วันนับแต่วันทำสัญญาหากจำเลยไม่ไปโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ และจำเลยยอมให้ปรับเป็นเงิน 200,000 บาทกำหนดเวลาดังกล่าวเพียงแต่ให้ไปยื่นคำขอเท่านั้นหาได้หมายความถึงการจดทะเบียนโอนด้วยไม่ เนื่องจากการจดทะเบียนโอนที่ดินจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนซึ่งบางกรณีจำต้องประกาศ30 วันเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินมีโอกาสคัดค้านเสียก่อนดังนั้นกำหนดในสัญญาที่ให้คู่สัญญาไปจัดการยื่นคำขอจดทะเบียนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 7 วัน จึงไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 939/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาค้ำประกันและสัญญาใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญา รวมถึงการคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
แม้สัญญารับทุนจะใช้แบบตามที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้กับข้าราชการผู้รับทุน โดยที่จำเลยที่ 1 มิได้เป็นข้าราชการหรือได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สมัครใจทำสัญญาที่มีข้อความตามแบบดังกล่าว อันเป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เพื่อจะก่อให้เกิดสิทธิตามข้อความในสัญญาซึ่งชอบด้วยกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว สัญญาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 2 ที่ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ด้วย ศูนย์เอกสารทางหลวงเอเชียอยู่ในสังกัดของโจทก์ น.เป็นข้าราชการของโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าว น.ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ตามที่ได้รับมอบหมายจากโจทก์ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง องค์การสหประชาชาติเป็นผู้ออกค่าเดินทางระหว่างประเทศรัฐบาลอังกฤษภายใต้แผนโคลัมโบออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ระหว่างการฝึกอบรม ณ ประเทศอังกฤษ และต่อมารัฐบาลอังกฤษยินยอมขยายเวลาให้จำเลยที่ 1 ศึกษาขั้นปริญญาโททางบรรณารักษศาสตร์อีก 1 ปีด้วยทุนภายใต้แผนโคลัมโบ ผ่านกรมวิเทศสหการ จึงถือได้ว่าเป็นทุนที่รัฐบาลต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศมอบให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลไทยตกลงรับทุนนั้น โจทก์เป็นกรมในรัฐบาลไทยที่จะได้รับประโยชน์จากทุนดังกล่าว และได้ให้ตัวแทนทำสัญญากับจำเลยทั้งสองจึงถือได้ว่าเป็นทุนของโจทก์ แม้ทุนที่จำเลยที่ 1 ได้รับไปฝึกอบรมกับทุนศึกษาต่อขั้นปริญญาโท จะเป็นวิชาบรรณารักษศาสตร์เช่นเดียวกันก็ตาม แต่การศึกษาต่อขั้นปริญญาโทแตกต่างจากการฝึกอบรม มิใช่เรื่องที่ต่อเนื่องจากการฝึกอบรม ถือไม่ได้ว่าการศึกษาต่อขั้นปริญญาโทอยู่ภายในขอบของสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์ ดังนี้ แม้สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้แก่โจทก์จะมิได้กำหนดอายุของสัญญาไว้ก็ดี แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ตกลงค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ใหม่ในการที่จำเลยที่ 1 ได้รับทุนไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทจำเลยที่ 2 จึงหาต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับทุนไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทไม่ คงรับผิดเพียงเฉพาะการไปฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ก่อนศึกษาต่อขั้นปริญญาโท ตามสัญญารับทุนถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะต้องชดใช้ทุนและค่าเดินทางให้แก่โจทก์ตามส่วนเฉลี่ยที่ทำงานชดใช้ทุนคืนไม่ครบและเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ตลอดทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของจำนวนที่ต้องชดใช้คืนภายในกำหนดตามสัญญาด้วย เงินที่จะต้องชดใช้คืนทั้ง 3 ประเภทและดอกเบี้ยดังกล่าวมานี้เป็นเบี้ยปรับที่ลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะชดใช้ให้เมื่อตนไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้เจ้าหนี้ริบและเรียกเอาเบี้ยปรับได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 แต่แม้เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ก็ตาม ลูกหนี้จะต้องชำระเบี้ยปรับก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับนั้นก่อนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคแรก,381 วรรคแรก เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ทำงานชดใช้ทุนคืนให้ถูกต้องตามสัญญา แม้โจทก์จะมีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินทุนคืนและเบี้ยปรับอีก 1 เท่าเป็นเงินจำนวนหนึ่งต่ำกว่าเงินทุนและเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้คืนตามจำนวนที่ถูกต้องเพราะการคำนวณผิดพลาด ทั้งมิได้ทวงถามค่าเดินทางและเบี้ยปรับ 1 เท่าด้วยก็ตามก็ต้องถือว่าเบี้ยปรับในส่วนของเงินทุนนี้โจทก์ได้ทวงถามให้ชดใช้ทั้งหมดตามจำนวนที่ถูกต้องแล้ว หาใช่เพียงเรียกให้ชดใช้ตามจำนวนที่ผิดพลาดดังกล่าวไม่ สำหรับเบี้ยปรับในส่วนของค่าเดินทางแม้โจทก์จะมิได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระด้วย แต่การฟ้องเรียกเอาเบี้ยปรับในส่วนนี้ก็คือการทวงถามหรือการเรียกเอาเบี้ยปรับนั่นเองจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับในส่วนของเงินทุนจำนวนที่ถูกต้องพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ครบกำหนดตามหนังสือทวงถามเป็นต้นไป และเบี้ยปรับในส่วนของค่าเดินทางพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 เฉพาะในการค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมนั้น ทางพิจารณาไม่ปรากฏชัดว่ารัฐบาลอังกฤษได้ออกทุนให้เฉพาะการฝึกอบรมเป็นเงินจำนวนเท่าใด คงได้ความว่าทุนที่ให้ทั้งการฝึกอบรมและการศึกษาต่อขั้นปริญญาโทรวมเป็นเงินจำนวนหนึ่งสำหรับการไปฝึกอบรมและศึกษาต่อนาน 2 ปี 45 วัน หรือเท่ากับ 775 วัน จำเลยที่ 1 จะต้องทำงานใช้ทุนอีก 424 วัน ตามคำของจำเลยที่ 2 ก็คงอ้างลอย ๆ มาว่า เท่าที่ทราบมาค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 9 เดือน เป็นเงินจำนวนที่น้อยกว่าเท่านั้น ศาลฎีกากำหนดให้คิดเงินทุนในการฝึกอบรมโดยเฉลี่ยตามระยะเวลา โดยคำนวณจากเงินทุนในการฝึกอบรมและการศึกษาต่อขั้นปริญญาโท คูณด้วยระยะเวลาในการไปฝึกอบรม หารด้วยระยะเวลาในการไปฝึกอบรมและศึกษาต่อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง บัญญัติว่า "การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน" อัตราแลกเปลี่ยนเงินตามมาตรานี้จึงหมายถึงอัตราที่จะแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรี ซึ่งตามปกติจะคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ที่ทำการขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ และเพื่อความสะดวกแก่การบังคับคดี จึงให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในวันที่อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราการขายในวันนั้นก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายเช่นว่านั้นก่อนวันมีคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน - การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการประกวดราคา - ความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
การที่บุคคลใดจะเข้าประกวดราคาตามใบแจ้งความประกวดราคาหรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่บุคคลนั้นจะต้องพิจารณาเองว่าสมควรเข้าประกวดราคาเช่นนั้นหรือไม่ ใบแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ระบุว่าโจทก์ไม่จำต้องสนองรับการเสนอราคาใดก็ตามที่ส่งมาโดยไม่จำเป็นต้องแสดงเหตุผลดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเสนอราคางานเสาเข็มเจาะระบบอื่นนอกเหนือจากระบบตามใบแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะไม่พิจารณาและไม่สนองรับการเสนอราคาเสาเข็มเจาะระบบอื่นดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องให้เหตุผลแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดไม่ยอมทำสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะตามที่ได้ตกลงในการประกวดราคา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ ในการประกวดราคาจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดเงื่อนไขในการประกวดราคาโดยไม่ยอมเข้าทำสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาหลักประกันอันเป็นเบี้ยปรับตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบแจ้งความประกวดราคา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคสอง ส่วนความเสียหายของโจทก์ที่เกิดจากการที่โจทก์เริ่มงานเสาเข็มเจาะล่าช้าทำให้งานโครงการของโจทก์เสร็จช้าไปก็ดี ความเสียหายที่เกิดจากการที่โจทก์ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ผู้ควบคุมงานรายใหม่เพิ่มขึ้นก็ดีความเสียหายอันเกิดจากความล่าช้าเพราะเกิดอุปสรรคในการสร้างงานเสาเข็มเจาะของผู้รับจ้างรายใหม่ก็ดี การว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ทำให้โจทก์ต้องจ่ายเงินค่างวดเร็วขึ้นและทำให้โจทก์ต้องรับภาระในการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารมากขึ้นก็ดี ค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสารและค่าปรึกษาด้านกฎหมายและเอกสารในการทำสัญญาใหม่ก็ดี ต่างเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะกับโจทก์ทั้งสิ้น แต่ตามใบแจ้งความประกวดราคาได้ความว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือตามแบบในการประกวดราคาฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกันแต่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะ สัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เกิดขึ้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ อันเกิดจากการผิดสัญญานั้นได้ การต่อรองในเรื่องราคาและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการลดราคาค่าว่าจ้างลง มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขในการประกวดราคาใหม่ เพราะโจทก์มีสิทธิต่อรองราคาเช่นนั้นตามใบแจ้งความประกวดราคา ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3600/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายทรัพย์สินหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นโมฆะ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอเพิกถอนการจดทะเบียน
การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ผู้คัดค้านที่ 1 ขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1เด็ดขาดแล้ว สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1ย่อมเป็นนิติกรรมที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 22,24 แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 เพราะตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้ว อำนาจในการจัดการทรัพย์สินย่อมตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนเว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาลเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้เท่านั้นดังนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ไม่มีผลบังคับจำเลยที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ย่อมกลับสู่ฐานะเดิมโดยผลแห่งกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ผู้คัดค้านที่ 1 ภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วก็ต้องปรับบทตามมาตรา 24 ไม่ใช่ปรับบทตามมาตรา 114,115 เพราะคำว่า"การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างเวลาสามปีหรือสามเดือนแล้วแต่กรณีก่อนมีการขอให้ล้มละลายหรือภายหลังนั้น"ตามมาตรา 114,115 หมายถึงการโอนหรือการกระทำที่กระทำกันก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ หาใช่การโอนหรือการกระทำหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อการโอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นโมฆะผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพ*พิพาทที่จะโอนขายต่อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านที่ 2 ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนอันจะได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา 116 หรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานที่ดินให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนในสารบัญที่ดินไว้แล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนในสารบัญที่ดินได้ และเจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลโดยศาลไม่ต้องสั่งเจ้าพนักงานที่ดินอีก ไม่เกินคำขอแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินช่วงห้ามโอนเป็นโมฆะ, สิ่งปลูกสร้างเป็นส่วนควบของที่ดิน
การที่ผู้ร้องและจำเลยซึ่งเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทำสัญญาเพื่อให้มีผลเป็นการโอนสิทธิในที่ดินโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่กันภายในกำหนดเวลาห้ามโอนนั้นแม้จะเรียกว่าสัญญาจะซื้อจะขายและระบุในสัญญาว่าจะมีการโอนทางทะเบียนเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้วก็ตาม การทำสัญญาเช่นนี้เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายสัญญาจึงเป็นโมฆะ จำเลยจึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว ส่วนบ้านและอาคารซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ร้องปลูกสร้างในที่ดินของจำเลยโดยผู้ร้องมิใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินและตกเป็นของจำเลย โจทก์ย่อมสามารถนำยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2140/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์และการยึดถือเพื่อตนเองในที่ดินมรดก แม้การแลกเปลี่ยนที่ดินของผู้เยาว์เป็นโมฆะ
เดิมมารดาจำเลยได้ยกที่ดินมี น.ส.3 ให้โจทก์จำเลย โดยจำเลยเป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ต่อมาบิดาโจทก์ได้ตกลงมอบที่ดินส่วนของโจทก์ให้จำเลย ส่วนจำเลยได้ซื้อที่ดินของบุคคลอื่นมอบให้ฝ่ายโจทก์เป็นการแลกเปลี่ยนกันแล้ว แม้ขณะนั้นโจทก์อายุ 14 ปี ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ และไม่ปรากฏว่าบิดาโจทก์ได้รับอนุญาตจากศาลให้แลกเปลี่ยนที่ดินของโจทก์กับจำเลยได้อันทำให้การแลกเปลี่ยนนี้เป็นโมฆะก็ตาม ก็ถือว่าจำเลยซึ่งอยู่ในฐานะครอบครองที่ดินส่วนของโจทก์แทนโจทก์มาตั้งแต่ได้รับการยกให้นั้นได้ยึดถือเพื่อตนในส่วนของโจทก์แล้ว จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินทั้งหมด หาใช่ยังคงครอบครองแทนในส่วนของโจทก์ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งทรัพย์สินหลังหย่า: สัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา, สินสมรส, และการบังคับตามสัญญา
โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน ต่อมาโจทก์ได้ทำร้ายจำเลยทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะเป็นสามีภริยากันต่อไป จึงไปทำความตกลงกันที่สถานีตำรวจ โดยให้เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกว่า โจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันและจะแบ่งทรัพย์สินกันตามบันทึก ซึ่งมีร้อยตำรวจโทส. และจ่าสิบตำรวจ จ. เป็นพยาน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการหย่าและเพื่อให้จำเลยไม่ติดใจเอาความโจทก์ โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เป็นการตอบแทน เมื่อมิได้เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลใช้เป็นหลักฐานแห่งการหย่าได้ตามมาตรา 1514 วรรคสอง และยังใช้บังคับในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกนั้นได้ด้วย ข้อตกลงเรื่องการหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นข้อตกลงที่แบ่งแยกจากกันมิได้ จึงมิได้เป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอย่างเดียวโดยตรง อันจะมีผลทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 ข้อตกลงในการหย่าและแบ่งทรัพย์สินที่ว่าโจทก์ตกลงขายรถยนต์ที่โจทก์ใช้อยู่โดยจะแบ่งเงินที่ขายได้ให้แก่โจทก์ 20,000 บาทจำเลยจะจ่ายให้ทันที่ 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะจ่ายเป็นเช็คให้อีก 10,000 บาท มีกำหนด 1 เดือน นั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังใช้รถยนต์อยู่มิได้ขายตามข้อตกลง ส่วนจำเลยก็ชำระเงินให้โจทก์ไปเพียง 10,000 บาท ดังนั้น เมื่อข้อตกลงดังกล่าวมิได้กำหนดถึงกรณีที่มิได้ขายรถไว้ว่าคู่กรณีตกลงกันอย่างไร จึงต้องตีความโดยนัยที่จะทำให้เป็นผลบังคับได้ เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์จะได้เงินจากการขายรถเพียง 20,000 บาท เงินส่วนที่เหลือจากการขายเป็นของจำเลยทั้งหมด เมื่อไม่มีการขายรถ จำเลยจึงควรจะเป็นผู้มีสิทธิจัดการเกี่ยวกับรถนั้นโดยชำระเงินส่วนที่เหลือตามข้อตกลงจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องส่งมอบรถให้แก่จำเลย บันทึกข้อตกลงในการหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจะใช้บังคับทรัพย์สินอื่นที่มีอยู่ก่อนหรือได้มาหลังข้อตกลงนอกจากที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงนั้นไม่ได้ เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างนั้นจึงต้องเป็นสินสมรสที่จะต้องนำมาแบ่งครึ่งกั สร้อยคอทองคำและพระเครื่องที่จำเลยซื้อให้แก่โจทก์ระหว่างสมรสเป็นทรัพย์ที่เป็นเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะของโจทก์โดยเฉพาะ จึงเป็นสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากมีการตกลงจะหย่ากัน เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินนั้นต้องเป็นสินสมรส การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาตามคำขอท้ายฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อที่ดินของผู้เช่านาตาม พ.ร.บ.เช่าที่ดินฯ การแจ้งสิทธิก่อนโอนไม่ทำให้สัญญาซื้อขายเป็นโมฆะ
พระราชบัญญัติ ญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524มาตรา 53 บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เช่านา ให้มีสิทธิที่จะซื้อนาพิพาทที่เช่าจากผู้ให้เช่าได้ก่อนบุคคลอื่น สิทธิดังกล่าวย่อมมีอยู่ไม่ว่านาพิพาทจะโอนไปยังบุคคลใดก็ตาม ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา 54 ที่บัญญัติทางแก้ไว้ว่า ถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ว่านานั้นจะถูกโอนต่อไปยังผู้ใด ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน แต่ทั้งนี้ผู้เช่านาจะต้องใช้สิทธิซื้อนาดังกล่าวภายในกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันที่ผู้เช่านารู้หรือควรจะรู้หรือภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่ผู้ให้เช่านาโอนนานั้น และบัญญัติไว้ในวรรคสองว่า ถ้าผู้รับโอนตามวรรคหนึ่งไม่ยอมขายนาให้แก่ผู้เช่านา ผู้เช่านาอาจร้องขอต่อคชก.ตำบลเพื่อวินิจฉัยให้ผู้นั้นขายนาได้ ดังนั้น การที่จำเลยผู้ให้เช่านามิได้แจ้งให้ผู้เช่านามีโอกาสซื้อนาได้ก่อน จึงไม่ทำให้สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยตกเป็นโมฆะ ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ผู้เช่านาพิพาทได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นขอให้จำเลยผู้ให้เช่านาปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคชก.ตำบล และได้มีการประนีประนอมยอมความโดยศาลได้พิพากษาตามยอมในวันเดียวกันกับที่ฟ้อง ต่อมาผู้เช่านาได้นำคำพิพากษาไปจดทะเบียนโอนที่พิพาทเป็นของตนแล้ว แต่คดีดังกล่าวมีปัญหาซึ่งเป็นประเด็นพิพาทแตกต่างจากคดีนี้และคู่ความต่างกัน การวินิจฉัยคดีนี้ต้องขึ้นกับพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้โดยชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คำพิพากษาในคดีอื่นที่จำเลยอ้างถึงเกิดขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีนี้ จึงไม่ทำให้ผลของคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนผลของแต่ละคดีเป็นอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในชั้นบังคับคดีต่อไป จึงไม่เป็นเหตุที่จะทำให้ไม่อาจพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่นาพิพาทให้โจทก์ในคดีนี้ได้.
of 3