คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 26 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2939/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พืชกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดโทษ ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดีเก่า
ทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบได้ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3 บัญญัตินิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย และนิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด" หมายความว่า เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับมาเนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาโดยการใช้เงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว ซื้อหรือกระทำไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ให้เงินหรือทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนสภาพกี่ครั้ง และไม่ว่าเงินหรือทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่น โอนไปเป็นของบุคคลอื่นหรือปรากฏตามหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลอื่นก็ตาม คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องเกี่ยวกับคดียาเสพติดที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 เวลา 11.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทราร่วมกันจับกุม ว. (ผู้คัดค้านที่ 1) ย. ป. และ จ. พร้อมยึด กัญชาแห้งอัดแท่ง 747 แท่ง น้ำหนักรวม 772.30 กิโลกรัม อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาผู้ร้องยื่นฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกดังกล่าวต่อศาลชั้นตันเป็นคดีหมายเลขดำที่ 3685/2558 (หลังจากนั้นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนด 15 ปี และปรับ 900,000 บาท ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1740/2559) ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ออกใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้พืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 อีกต่อไป การผลิต นำเข้า ส่งออกจำหน่าย หรือมีพืชกัญชาไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26/2, 26/3, 75, 76 และ 76/1 และ ป.ยาเสพติด มาตรา 93, 148 ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพันจากการเป็นผู้กระทำความผิด และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงสุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง เมื่อพืชกัญชา ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ฉะนั้น การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกตามที่ผู้ร้องบรรยายมาในคำร้องจึงไม่เป็นความผิดอีกต่อไป และไม่ปรากฏจากคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกและผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษโดยประการอื่น ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งริบได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 29 อีกต่อไป ประกอบกับไม่ปรากฏว่าเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสั่งให้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดไปแล้ว จึงต้องคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่เจ้าของและผู้คัดค้านทั้งสามแต่ทรัพย์สินรายการที่ 8 และที่ 11 ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้านแสดงตนเป็นเจ้าของเข้ามาในคดี จึงเป็นเรื่องที่เจ้าของที่แท้จริงจะมาแสดงตนและขอรับคืนในภายหลัง ปัญหาดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7243/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สนับสนุนการกระทำผิดคดียาเสพติด: ความผิดฐานสนับสนุนและบทลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 และข้อ 1.2 แยกต่างหากจากกัน โดยฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกที่หลบหนีไปยังไม่ได้ตัวมาฟ้องสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยมิได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 สมคบกับจำเลยที่ 1 ด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งกรณีไม่อาจนำเอาการบรรยายฟ้องข้อ 1.2 มาประกอบฟ้องข้อ 1.1 ได้ เพราะเป็นการฟ้องคนละฐานความผิดกัน ฟ้องโจทก์ข้อ 1.1 สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาในคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ข้อดังกล่าวได้บรรยายว่าจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าวโดยการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 กับพวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ได้ให้คำนิยาม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ว่าหมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือหรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย จึงพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 2 ช่วยเหลือและให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว ฟ้องโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจำหน่ายให้แก่สายลับในที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 2 ขับรถกระบะของกลางพาจำเลยที่ 1 กับ จ. ไปดูเงินที่จะใช้ล่อซื้อและมารับจำเลยที่ 1 ในที่เกิดเหตุ จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะจำเลยที่ 1 กระทำความผิดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ก่อนหรือขณะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13989/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลจำเลยให้ความร่วมมือไม่ถึงขั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปราบปรามยาเสพติด ศาลไม่ลดโทษ
เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบกัญชาอัดแท่งของกลางแล้วจับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และสอบถามเกี่ยวกับของกลาง ในระหว่างนั้น ด. ได้โทรศัพท์มาที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 1 บอกเปลี่ยนสถานที่ส่งกัญชาอัดแท่ง โดยให้ส่งแก่ ก. เจ้าพนักงานตำรวจจึงควบคุมพาจำเลยที่ 1 และที่ 2 เดินทางไปเพื่อติดต่อส่งกัญชาอัดแท่งให้แก่ ก. ตามที่ ด. สั่ง แล้วให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อนัดพบ ก. เมื่อพบ ก. กับพวกแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจึงแสดงตัวทำการจับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นแต่เพียงการสืบสวนขยายผลติดตามจับผู้กระทำผิดตามกฎหมายไปตามปกติของเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งกระทำอยู่แล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3805/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์จากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: การครอบครองเพื่อขายเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการปราบปรามยาเสพติด
การที่ผู้จะถูกริบทรัพย์ ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (อีเฟดรีน และ เพโมลีน) ไว้ในครอบครองเพื่อขาย ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ดังนี้ การมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขาย จึงอยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8410/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาอุทธรณ์ทุกประเด็น การลงโทษฐานครอบครองยาเสพติดไม่เข้าข่ายบทหนักตาม พ.ร.บ.มาตรการฯ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดสถานหนักตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุก ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลงโทษจำเลยสถานหนักตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลย ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8)
คำว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด... โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนและกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะระวางโทษเป็นสามเท่าตามมาตรา 10 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5316/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์ในการพิจารณาคดีริบทรัพย์จากความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด มาตรา 5 บัญญัติว่า กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความถึงกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดด้วย ดังนั้นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามความหมายของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ซึ่งพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มาตรา 3 แม้จะไม่ได้บัญญัติให้รวมความถึงคำร้องขอให้ริบทรัพย์ตามมาตรา 27 ด้วย แต่โดยเนื้อหาและลักษณะของคำร้องนี้ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำความผิดข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 โดยมาตรา 32 แห่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดต่อเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งหมายถึงการฟ้องคดีในข้อหาความผิดตามที่บัญญัติในมาตรา 3 นั่นเอง แสดงให้เห็นว่าการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นมูลเหตุโดยตรงและเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในการวินิจฉัยชี้ขาดว่าทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินสั่งยึดและอายัดไว้ น่าจะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่จะต้องริบหรือไม่ คำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 27 จึงเป็นส่วนหนึ่งของความผิดหรือมาตรการลงโทษในทางทรัพย์สินที่เกี่ยวโยงอยู่กับความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ต้องถือว่าคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามความหมายของ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์แต่เพียงศาลเดียวตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด มาตรา 15 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5289-5290/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในคดีฟอกเงิน ต้องพิสูจน์ความเกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐานและผู้กระทำผิด
ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ตามที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้นิยามความผิดมูลฐานไว้ ไม่รวมถึงความผิดฐานเสพหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะในสภาพความผิด ผู้กระทำความผิดไม่ได้ทรัพย์สินใดจากการกระทำผิด จึงไม่มีเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งให้ทรัพย์สินของผู้นั้นตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อ บ. ถูกศาลอาญาพิพากษาว่า มีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเพื่อเสพ มิใช่มีไว้เพื่อจำหน่าย บ. จึงมิใช่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน แม้ บ. จะเป็นสามีผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ไม่ใช่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ส่วน ส. และ ว. พี่สาวผู้คัดค้าน ช. สามีของ ว. และ พ. หลานของผู้คัดค้านเคยต้องหาว่า ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายและความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ก็ตาม แต่การที่บุคคลดังกล่าวเป็นญาติของผู้คัดค้าน ผู้ร้องต้องนำสืบให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านด้วย จึงจะต้องด้วยบทสันนิษฐานตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8646/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายและครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย ความผิดหลายกรรมต่างกันและการลดโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่ายโดยการขายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด อันเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 7,500 บาท จำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ก่อน เป็นการบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 26 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.531 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วจำเลยแบ่งจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวรวม 3 ครั้ง คือ จำหน่ายให้แก่สายลับ 3 เม็ด จำหน่ายให้แก่ ว. 3 เม็ด และจำหน่ายให้แก่สายลับ 20 เม็ด แต่ในครั้งหลังที่จำเลยยังไม่ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ก่อน การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 26 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นความผิดสำเร็จแต่แรกแล้ว 1 กรรม เมื่อจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวออกจำหน่ายรวม 3 ครั้ง ก็เป็นความผิดต่างกรรมอีก 3 กรรม แม้จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ 1 ครั้ง และพยายามจำหน่ายให้แก่สายลับซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวกัน แต่การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวาระกันและมีเจตนาต่างกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง และความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีโทษทั้งจำคุกและปรับ การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยเพียงอย่างเดียวเป็นการไม่ชอบ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ทำนองขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นในความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว 5 ปี เป็นลงโทษจำคุก 6 ปี จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6285-6286/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติด: โจทก์ไม่จำเป็นต้องระบุจำนวนเงินในคำร้อง
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 และมาตรา 27 มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำผิดว่าจะต้องระบุว่าเป็นเงินจำนวนเท่าใดแน่นอนลงไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่จำเป็นที่ต้องบรรยายถึงจำนวนเงินที่เหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากในคำร้อง แต่เป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา คำร้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5522-5523/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีเกี่ยวกับยาเสพติด: จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ไม่ใช่เพื่อจำหน่าย จึงไม่เข้าข่ายการริบทรัพย์สิน
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 3 ได้ใช้คำนิยามคำว่า ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเท่านั้น จึงมิได้อยู่ในความหมายของความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 3 ดังกล่าว
of 3